แต่ว่าสำหรับระบบอาวุธอื่นๆแล้ว อาวุธของจีนนั้นยังคงมีจุดเด่นอยู่ตรงที่ว่าเป็นสิ่งที่มีราคาถูกมากสำหรับหลายรัฐบาลในภูมิภาค สามารถขายให้กับรัฐบาลต่างๆได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคว่ำบาตรในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เหมือนกับอาวุธของสหรัฐฯ อีกทั้งกระบวนการจัดซื้ออาวุธจากจีนนั้นก็เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยง่าย และง่ายยิ่งกว่ามาก ถ้าหากจะดำเนินการจัดซื้อโดยมีข้อทุจริตแอบแฝงอยู่ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับกองทัพบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ในการอภิปรายงบประมาณในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ประเด็นเรื่องการจัดซื้ออาวุธ เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาโจมตีโดยฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามโต้เถียงว่านี่คือความจำเป็นในการป้องกันประเทศ
อย่างไรก็ตาม ย้อนไปในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์นิวแมนเดลา ซึ่งเป็นเว็บไซต์ลงบทความวิเคราะห์สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียได้วิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วเสียงวิพากวิจารณ์นั้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการจัดซื้ออาวุธของกองทัพไทยเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสินสำคัญในการจัดซื้ออาวุธต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีเรื่องเรือดำน้ำ ที่ขณะนี้ดูว่ากำลังประสบปัญหาในเรื่องการจัดหาเครื่องยนต์ตามสัญญา แม้ว่ากองทัพเรือจะยืนยันว่าสามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็ตาม
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ย้อนไปเมื่อปี 2560 ประเทศไทยได้มีการเจรจาเพื่อจะจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในรุ่น S26T ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นส่งออกของประเทศจีน หรือที่เรียกกันในอีกชื่อว่าเรือดำน้ำรุ่นไทป์ 039A คลาสหยวน ด้วยแพคเกจซื้อจะมีการซื้อหนึ่งลำก่อน และจึงจะมีการซื้อเรือดำน้ำอีกเป็นจำนวนสองลำตามมาในภายหลัง ซึ่งเรือดำน้ำหนึ่งลำที่ว่านี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,369 ล้านบาท)
สำหรับรายละเอียดสัญญานั้นพบว่าเป็นการทำสัญญากับบริษัทจีนชื่อว่าบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Company โดยบริษัทจะมีกำหนดส่งมอบเรือดำน้ำนี้ในปี 2567 ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น กองทัพเรือไทยก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการที่จะมีการฝึกร่วนระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ และต้องการที่จะซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีกสองคำ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นเกิดปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ทำให้สาธารณชนไทยได้ทักท้วงกองทัพเรือไปว่าขอให้ชะลอการจัดซื้อเอาไว้ก่อน กองทัพเรือก็ได้ชะลอแผนการจัดซื้อไป และประกาศแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งใหม่ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา แต่ผลก็เหมือนเดิม นั่นก็คือความไม่พอใจของสาธารณชนนั้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นี่ส่งผลทำให้ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่งให้ชะลอข้อตกลงการจัดซื้อเอาไว้ก่อน ส่งผลทำให้รายละเอียดข้อตกลงนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไป และราคาเรือดำน้ำต่อหน่วยนั้นพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 403 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,810 ล้านบาท)
ทว่าไม่ใช่ปัญหาด้านข้อวิจารณ์จากสาธารณชน,ปัญหาข้อวิจารณ์ว่าอ่าวไทยตื้นเกินไปสำหรับการปฏิบัติการณ์ของเรือดำน้ำสมัยใหม่หรือประเด็นการตรวจสอบจากรัฐสภาเกี่ยวกับการใช้จ่ายมูลค่าสูงในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นสาเหตุทำให้ข้อตกลงการจัดซื้อนั้นเป็นหมันแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา หลังจากการรัฐประหาร 2557 กองทัพไทยมักจะหาวิธีการกรุยทางเพื่อให้ได้การจัดซื้อที่ต้องการมาเสนอ ไม่ว่าการจัดซื้อนั้นจะตรงตามความต้องการที่แท้จริงทางยุทธศาสตร์หรือไม่ก็ตาม
@ปัญหาที่มาจากทางกรุงเบอร์ลิน
แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้ข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นล่มมาจากประเทศเยอรมนีที่ตอนนี้ห้ามไม่ให้มีการส่งออกเครื่องยนต์ที่ทำในประเทศเยอรมนีที่ชื่อว่าเครื่องยนต์ดีเซล MTU396 ซึ่งเครื่องยนต์นี้นั้นควรจะเป็นเครื่องยนต์ที่จะนำไปใช้กับเรือดำน้ำที่ถูกผลิตในประเทศจีน
เครื่องยนต์ดีเซล MTU396 (อ้างอิงวิดีโอจาก Dyno Smith)
โดยเยอรมนีได้อ้างว่าการห้ามนั้นมานจากมาตรการควบคุมการส่งออกของสหภาพยุโรปหรือว่าอียูที่ควบคุมการส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นที่น่าสงสัย เพราะว่าก่อนหน้านี้เยอรมนีได้ละเลยมาตรการควบคุมนี้มาอย่างยาวนาน และมีการส่งออกเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ได้สองทาง (สินค้าที่สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธได้)ไปให้กับประเทศจีนเป็นจำนวนนับร้อยชิ้น
คาดกันว่าเหตุผลที่เยอรมนีได้อนุมัติให้มีการส่งออกเครื่องยนต์ไปยังประเทศจีนในช่วงเวลาทีผ่านมา เพราะเยอรมนีอาจจะโน้มน้าวให้ตัวเองเชื่อว่าเครื่องยนต์เหล่านี้นั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ในกองเรือดำน้ำของจีนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่าไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบในกองเรือดำนี้ได้ว่ามีการใช้เครื่องยนต์เหล่านี้โดยผิดกฎหมาย
แต่ย้อนไปเมื่อต้นปี 2565 นายฟิลิปป์ ดอร์ท ทูตทหารเยอรมนีประจำกรุงเทพได้กล่าวว่าทางกรุงเบอร์ลินนั้นจำกัดไม่ให้มีการส่งออกเครื่องยนต์จำนวนสามชิ้น ทำให้ข้อตกลงเรือดำน้ำอยู่บนความเสี่ยง และเขายังระบุต่อด้วยว่า “ประเทศจีนนั้นไม่ได้มีการถาม หรือประสานงานกับเยอรมนีมาก่อนเลย ก่อนที่จะเซ็นสัญญาร่วมกันระหว่างจีน และเยอรมนี ในการมอบเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมนี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ตามสัญญา”
โดยมีการวิเคราะห์กันว่าท่าทีที่แข็งกร้าวของเยอรมนีที่มีต่อจีนนั้น แท้จริงแล้วว่ามาจากการที่ประเทศจีนได้เพิ่มการอ้างสิทธิ์ในดินแดนทางทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการวิพากษ์วิจารณ์กิจการของนาโต
กลับมาที่ปัญหาเรือดำน้ำในประเทศไทย ซึ่งจากกรณีนี้ประเทศจีนได้พยายามแก้ปัญหาโดยการเสนอเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ผลิตในประเทศจีนให้กับประเทศไทย แต่ว่าประเทศไทยก็ได้ปฏิเสธไปและเรียกร้องให้มีการดำเนินตามสัญญาเดิมแทน ซึ่งสาเหตุของการปฎิเสธนั้นก็เนื่องมาจากการที่เครื่องยนต์ดังกล่าวนั้นมีเสียงดังมาก อีกทั้งเรือดำน้ำรุ่น S26T ก็ยังเป็นเรือดำน้ำที่ผลิตโดยยึดโยงกับลักษณะของเครื่องยนต์ของประเทศเยอรมนี ดังนั้นจึงการแทนที่เครื่องยนต์จึงไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำกันได้ง่ายๆ
ทำให้ ณ เวลานี้ทั้งทางประเทศไทยและประเทศจีนต้องมีการเจรจาหารือกันเพื่อจะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
แต่ว่าประเด็นเรื่องปัญหาเรือดำน้ำของประเทศไทยนั้นได้นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่า ก็คือว่าประเทศจีนนั้นยังคงมีศักยภาพในการเป็นผู้จัดหาอาวุธที่น่าเชื่อถือให้กับภูมิภาคนี้หรือไม่ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศจีนได้มีการขยับขยายการส่งออกยุทโธปกรณ์จากเดิมที่ส่งออกแค่อาวุธประจำกาย มาส่งออกอาวุธเช่นรถหุ้มเกราะและเรือรบต่างๆ
สำหรับประเทศไทยนั้น จีนได้เคยจัดส่งรถหุ้มเกราะ รถถังรุ่นใหม่ เรือรบ และยานยกพลขึ้นบกรุ่นไทป์ 017 E คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6,866.4 ล้านบาท) ขายเรือลาดตระเวนให้กับประเทศมาเลเซียจำนวนสี่ลำ ดังนั้นการเดินหน้าขายเรือดำน้ำของจีนให้กับประเทศไทยนั้นก็จะทำให้ประเทศจีนเข้าไปเป็นคู่แข่งในตลาดเรือดำน้ำของอาเซียนที่กำลังเติบโตร่วมกับประเทศอื่นๆอันได้แก่รัสเซีย,เยรมนี,ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้
อนึ่งการที่ประเทศไทยเข้าหาประเทศจีนนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะว่าประเทศไทยนั้นเคยถูกลงโทษและถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากนานาชาติ เนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารทั้งในปี 2549 และในปี 2557 ทำให้รัฐบาลที่สนับสนุนโดยทหารต้องเข้าหาประเทศจีน และฝ่ายกองทัพไทยรวมไปถึงกลุ่มรอยัลลิสต์แบบสุดโต่งในประเทศไทยนั้นก็เริ่มจะมีความคิดแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นอาจจะไม่ใช่แค่ภัยต่อฐานอำนาจของตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นเหตุทำให้ไทยต้องมีการนำเอาแนวคิดแบบเผด็จการของจีนมาใช้ในบางประการอาทิ กฎหมายทางไซเบอร์และการเพิ่มการควบคุมอินเทอร์เน็ต
ขณะที่กิจกรรมบางอย่างกับสหรัฐอเมริกานั้นกลับพบว่าถูกลดลง และกองทัพไทยในทุกแขนงนั้นก็มีการไปฝึกร่วมกับประเทศจีนภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีมากขึ้น และ ณ เวลานี้ ประเทศจีนก็ได้กลายเป็นประเทศที่จัดหาอาวุธให้กับประเทศไทยมากที่สุดแซงหน้าสหรัฐฯไปแล้ว
@นี่เป็นข้อบ่งชี้ถึงอะไร
ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดคำถามสำคัญสามข้อเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศไทยที่ดูเหมือนว่าจะชะงักไปแล้ว
หนึ่ง นี่เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนหรือไม่ สำหรับการที่ประเทศไทยนั้นปฏิเสธการซื้อเรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์จากจีน และการที่ประเทศจีนปฏิเสธจะคืนเงินในส่วนประเทศไทยได้จ่ายไปแล้ว ซึ่งในกรณีดังกล่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยออกมาแถลงไปแล้วว่าจะไม่ยอมให้ปัญหาข้อตกลงนี้มากระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนที่กำลังขยายตัว
คำตอบก็คือไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น สิ่งที่จะเกิดผลกระทบกับเรื่องนี้แน่ๆก็คือว่าการที่ข้อตกลงเรือดำน้ำชะงักอาจจะกระทบต่อความทะเยอทะยานของกองทัพเรือบ้างในเรื่องของความต้องการที่จะมีเรือดำน้ำ แต่ว่าในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นเดิมพันที่สูงมากเกินกว่าที่จีนจะละทิ้งไปได้ โดยขณะนี้นั้นประเทศจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของตลาดส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย และไทยนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมด 22 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมีความประเทศจีนนั้นยังเป็นผู้ลงทุนและคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญกับประเทศไทย โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ กองทัพก็ยังจะสามารถควบคุมผลการเลือกตั้งได้อยู่ดี ดังนั้นนี่จึงทำให้ความจีนต้องให้ความสำคัญกับความแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีนเอาไว้
สอง เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศจีนในฐานะผู้จัดหาอาวุธที่น่าเชื่อถือหรือไม่ คำตอบก็คือ ก็อาจจะไม่อีกเช่นกัน เพราะแม้ว่าเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบทำให้จีนอาจจะขายเรือดำน้ำให้กับประเทศอื่นในอาเซียนได้ลำบากขึ้น จนทำให้รัฐบาลในอาเซียนต้องหันไปหาประเทศผู้ขายเรือดำน้ำรายอื่นๆ
แต่ว่าสำหรับระบบอาวุธอื่นๆแล้ว อาวุธของจีนนั้นยังคงมีจุดเด่นอยู่ตรงที่ว่าเป็นสิ่งที่มีราคาถูกมากสำหรับหลายรัฐบาลในภูมิภาค สามารถขายให้กับรัฐบาลต่างๆได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคว่ำบาตรในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เหมือนกับอาวุธของสหรัฐฯ อีกทั้งกระบวนการจัดซื้ออาวุธจากจีนนั้นก็เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยง่าย และง่ายยิ่งกว่ามาก ถ้าหากจะดำเนินการจัดซื้อโดยมีข้อทุจริตแอบแฝงอยู่ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับกองทัพบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน
สาม ข้อตกลงนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯหรือไม่ คำตอบคือก็อาจจะมีบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯนั้นมีความห่างเหินไปบ้าง เนื่องจากว่าความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยและสหรัฐฯนั้น ไม่ปรากฏว่ามีภัยคุกคามเดียวกันแต่อย่างใด ประเทศไทยไม่ได้มองว่าจีนนั้นเป็นศัตรู ส่วนในเรื่องประเด็นอื่นๆในภูมิภาค อาทิ เรื่องการรัฐประหารที่เมียนมาร์นั้นก็ต้องยอมรับว่ามีเห็นพ้องต้องกันในเชิงยุทธศาสตร์ที่น้อยมาก ระหว่างพันธมิตรของสหรัฐฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนในประเทศไทยนั้นจะยินดีกับความห่างเหินกันระหว่างพันธมิตรไทยและสหรัฐฯ เพราะทางกองทัพไทยเองก็เข้าใจว่าต้องรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯเอาไว้ เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญยิ่งในเรื่องของความมั่นคงในระดับภูมิภาค
ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลทำให้มีการจัดซื้ออาวุธจำนวนชุดใหญ่จากสหรัฐฯ อาทิ เฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนและโจมตีเบารุ่น AH-6 มูลค่า 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,541.14 ล้านบาท)ในช่วงเดือน มี.ค. การส่งสัญญาณว่าจะจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่น F35 จำนวนสี่ลำมูลค่า 415 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (14,267.7 ล้านบาท) เพื่อมาแทนเครื่องบินรุ่น F-16 ที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างจะเก่าแล้ว แต่ ณ เวลานี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯนั้นจะยอมขายเครื่องบินรุ่น F35 ให้กับไทยหรือไม่
บทวิเคราะห์ว่าทำไมไทยถึงต้องการ F35 (อ้างอิงวิดีโอจาก Military Related)
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า เริ่มเกิดความกังวลกองทัพไทยว่ากองทัพนั้นอาจจะไปพึ่งพาจีนมากจนเกินไป ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้วที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งจีนนั้นได้เข้ามาดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติดาราสาคร แต่การก่อสร้างสนามบินดังกล่าวนี้ก็มีข้อครหาตามมาว่าต้องการจะเชื่อมต่อกับฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาที่กำลังขุดลอกอยู่ ณ เวลานี้
โดยการก่อสร้างดังกล่าวนั้นจะสร้างความได้เปรียบทางด้านข่าวกรองของประเทศจีนต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของความสามารถในการตรวจสอบข่าวกรอง,การเฝ้าระวัง,และการลาดตระเวน โดยเฉพาะกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ
ดังนั้นนี่ก็อาจจะเป็นเหตุทำให้ประเทศไทยนั้นต้องหาทางกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯนั้นไม่ได้เป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ให้กับไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่โดยทั่วไปแล้วในทางการเมืองและทางการทูตนั้น ประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะมีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
เรียบเรียงจาก:https://www.newmandala.org/thailands-long-anticipated-submarine-deal-has-hit-yet-another-snag/