กรุงวอชิงตันนั้นพยายามที่จะวางบทบาทของตัวเองว่าจะให้เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรทางด้านกลาโหมของอินเดีย ดังนั้นทำให้การออกมาตรการต่างๆเพื่อลงโทษอินเดีย ต่อกรณีรัสเซียบุกยูเครนนั้นดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง รัฐบาลอินเดียเองก็เชื่อว่าจะสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯเอาไว้ได้ เพื่อบทบาทของตัวเองนั้นก็ถือว่าสำคัญยิ่งในการถ่วงดุลการการขยายตัวของประเทศจีน
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ เวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ ทำให้เกิดการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่ไม่ต้องการจะสนับสนุนการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย เพื่อที่จะตัดท่อน้ำเลี้ยงไม่ให้รัสเซียนำเงินเหล่านี้ไปสนับสนุนการทำสงคราม
ทำให้รัสเซียนั้นต้องหาทางออกด้วยการขายน้ำมันและพลังงานของตัวเองในราคาถูก เพื่อมาเป็นแหล่งรายได้ให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตาม มีกรรีที่น่าสนใจก็คือประเทศอินเดีย ที่แม้จะแสดงจุดยืนเป็นกลาง และสงวนท่าทีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาตลอด แต่ล่าสุดประเทศนี้ก็ได้มีการจัดซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย โดยไม่ได้เกรงกลัวต่อมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาบทวิเคราะห์ในต่างประเทศมานำเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นว่าทำไมประเทศอินเดียนั้นถึงสามารถที่จะจัดซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียได้ ซึ่งท่าทีของอินเดียดังกล่าวนี้อาจจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศไทยที่แสดงจุดยืนเป็นกลางเช่นเดียวกับอินเดียได้ในบางแง่มุม ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
ที่ผ่านมาประเทศอินเดียแสดงจุดยืนเป็นกลางมาโดยตลอดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ท่าทีของอินเดียนั้นตอนนี้ไปไกลกว่าแค่การแสดงจุดยืนของตัวเองในหลายเวทีรระดับโลกที่ประกอบด้วยมหาอำนาจหลายชาติแล้ว
เนื่องจากว่าความเป็นกลางของอินเดียที่ว่นั้นพัฒนาขึ้นไปกลายเป็นการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะข้อตกลงการจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จนทำให้อินเดียไม่อาจจะละเลยได้
มีรายงานว่าอินเดียได้เพิ่มการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียนับตั้งแต่วันที่สงครามได้ระเบิดขึ้น โดยในช่วงเดือน ธ.ค.ถึง ม.ค. ไม่พบว่าอินเดียได้ซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเลย และต่อมาปริมาณการซื้อน้ำมันดิบนี้ก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 300,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงเดือน มี.ค. และพอมาถึงเดือน เม.ย. ปริมาณน้ำมันดิบจากรัสเซียที่เข้าสู่อินเดียก็พุ่งไปอยู่ที่ 700,000 บาร์เรลต่อวัน
รายงานข่าวการซื้อน้ำมันดิบรัสเซียจากอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจากบลูมเบิร์ก)
โดยถ้าหากคิดเป็นสัดส่วน จะพบว่าน้ำมันดิบนำเข้าจากรัสเซียนั้นพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์ จากสัดส่วนน้ำมันดิบทั้งหมดในประเทศอินเดีย เมื่อเปรียบเทียบกับตอนก่อนการุกยูเครน จะพบว่าสัดส่วนน้ำมันดิบรัสเซียในอินเดียนั้นอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา จะพบว่าอินเดียได้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 33,000 บาร์เรล
และแน่นอนว่าการที่น้ำมันรัสเซียถูกแบนจากสหรัฐอเมริกาและจากยุโรป ด้วยมาตรการคว่ำบาตรก็ทำให้อินเดียสามารถจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียได้ในราคาลดพิเศษ และผลของการที่น้ำมันรัสเซียมีราคาถูก โรงกลั่นน้ำมันในอินเดียก็สามารถใช้น้ำมันดิบนี้เพื่อการทำผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศ อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน โดยได้อัตรากำไรที่ดีกว่ากำไรปกติในต่างประเทศตามมาด้วย
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าอินเดียนั้นใช้ประโยชน์จากสงครามส่วนหนึ่งเพื่อมาสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่เจอกับวิกฤติโรคระบาด โดยมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่การค้าระหว่างอินเดียและรัสเซียจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ในช่วงเวลาที่วิกฤติลากยาวออกไป
ขณะที่นักวิเคราะห์ก็มองว่าการที่อินเดียได้ดำเนินการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย ทำให้ความพยายามของยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต้องการดำเนินมาตรการบีบรัสเซียทางเศรษฐกิจนั้นดูมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และสหรัฐฯเองก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์กับอินเดียเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะรับมือกับประเทศจีน
“ถ้าหากมีน้ำมัน พร้อมด้วยราคาถูกแบบนี้ ทำไมผมจะไม่ซื้อมัน ผมต้องการมันเพื่อประชาชนของผม” นายนิรมล ศิธารามาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดียกล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา
อนึ่งการปรับเปลี่ยนที่หมายปลายทางการส่งออกน้ำมันของรัสเซียนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากการที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียได้สั่งให้บุกยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. โดยเรือน้ำมันในทะเลดำที่มักจะแล่นไปยังท่าเรือในยุโรปตอนเหนือได้เบนเข็มไปที่อินเดียแทน
และมีการคาดกันว่าหลังจากที่สหภาพยุโรปหรือว่าอียูได้ประกาศว่าจะยกระดับการแบนน้ำมันจากรัสเซียในช่วงไม่กี่เดือนหลังตากนี้ เส้นทางการส่งน้ำมันจากรัสเซียไปอินเดียก็น่าจะมีความหนาแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่วันที่รัสเซียได้มีการตัดแก๊สที่ส่งไปยังโปแลนด์และบัลแกเรีย ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆที่จะเกิดสงครามด้านพลังงานตามมา
อินเดียงดเว้นการออกเสียงในเวทีสหประชาชาติต่อกรณีรัสเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Hindustan Times)
“ความต้องการของยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือนั้นถูกกำจัดไปโดยสิ้นเชิง และความต้องการอันสำคัญนี้ก็ได้ถูกยึดครองโดยอินเดียเป็นหลัก” นายวิคเตอร์ คาโตนา นักวิเคราะห์จากบริษัท Kpler ซึ่งเป็น บริษัท ที่ติดตามการขนส่งพลังงานกล่าว
มีความย้อนแย้งประการหนึ่งก็คือแม้ว่ายุโรปพยายามที่จะไม่เอาน้ำมันดิบจากรัสเซีย แต่ยุโรปก็แสดงท่าทีกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะซื้อน้ำมันที่ถูกกลั่นมาแล้วจากโรงกลั่นในอินเดีย ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นปัญหาเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของความพยายามที่จะตัดรายได้จากการขายพลังงานของรัสเซีย
โดยการส่งออกน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์อื่นๆจากโรงกลั่นของอินเดียไปยังยุโรปนั้นพบว่าพบว่าขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุด 219,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะลดลงมาในเดือน เม.ย. เนื่องจากความต้องการน้ำมันในอินเดียเองก็พุ่งสูงขึ้น
พร้อมกันนี้รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของอินเดียจำนวนหลายแห่งเองก็ได้มีการซื้อน้ำมันดิบรัสเซียเป็นจำนวนหลายล้านบาร์เรลสำหรับตลาดในประเทศ ซึ่งการกระทำเช่นนี้นั้นก็ทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นั้นสามารถรอดพ้นปัญหาการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันไปได้ หลังจากที่ราคานั้นมีการปรับตัวขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.
สหรัฐฯเองก็ไม่ได้มีการดำเนินมาตรการการคว่ำบาตรอันเข้มข้นกับประเทศอย่างเช่นอินเดีย เพื่อให้ประเทศเหล่านี้หยุดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียแต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินการอย่างระมัดระวังของสหรัฐฯดังกล่าวนั้นอาจจะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเด้น เองก็กังวลว่าการเคลื่อนไหวใดๆเพิ่มเติมอาจทำให้ราคาน้ำมันสำหรับชาวอเมริกันนั้นสูงขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจเลยว่าทำไมน้ำมันจากรัสเซียจึงเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ซื้อในอินเดียและในที่อื่นๆ แม้ว่าการซื้อดังกล่าวนั้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงว่าจะทำให้เกิดตำหนิตามมาจากประเด็นเรื่องยูเครน เนื่องจากตอนนี้นั้นส่วดลดน้ำมันจากรัสเซียนั้นพุ่งขึ้นไปถึง 30 เหรียญต่อบาร์เรล หรือว่ามากกว่านั้น ในช่วงเวลาที่น้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนดราคาน้ำมันเอาไว้ว่าอยู่ที่ 105 เหรียญต่อบาร์เรล
ทางรัฐบาลอินเดียเองยังได้เคยออกมาวิจารณ์กลุ่มประเทศในยุโรปว่ามีท่าทีที่เสแสร้ง เพราะพวกเขานั้นได้เรียกร้องให้อินเดียได้ลดการค้ากับรัสเซียลง แต่ว่าพวกยุโรปเอง ณ เวลานี้ก็ยังคงมีการซื้อน้ำมันจากรัสเซียอยู่ และยังได้โต้แย้งอีกว่าอินเดียนั้นเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นจึงไม่มีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะไม่รับพลังงานซึ่งลดราคาไปได้
ความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับรัสเซียและอินเดียนั้น อันที่จริงแล้วสามารถย้อนไปได้ไกลจนถึงในช่วงวันแรกๆที่ประเทศในเอเชียใต้เพิ่งจะเป็นประเทศเอกราช โดยในตอนนั้นอินเดียมีปัญหาเรื่องการไม่มีประวัติอันน่าเชื่อถือ และสกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับ รัสเซียก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคู่ค้ารายแรกๆที่แสดงความต้องการจะซื้อสินค้าจากอินเดีย และยินดีที่จะรับเงินรูปีจากอินเดีย ซึ่งแม้ในช่วงเวลานั้นอินเดียจะแสดงตัวชัดเจนว่าไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใดในช่วงสงครามเย็น แต่ว่าข้อตกลงการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศก็ยังคงดำเนินต่อไป เป็นสาเหตุทำให้อินเดียสามารถหาอาวุธลอตใหญ่เพื่อป้องกันประเทศได้จากรัสเซีย
ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียยังให้ความช่วยเหลือกับอินเดียในเรื่องของการสนับสนุนทางการเมือง ในที่ประชุมสหประชาชาติ ด้วยการที่มอสโกแสดงจุดยืนว่าเป็นพันธมิตรกับนิวเดลีอย่างคงเส้นคงวา ผิดกับวอชิงตันที่แสดงจุดยืนไม่พอใจนิวเดลีเป็นบางครั้ง ไปจนถึงการสนับสนุนปากีสถาน ที่ถือว่าเป็นศัตรูของอินเดีย และการดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรต่ออินเดียในข้อหาว่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ดังนั้นการที่อินเดียได้เลือกที่จะงดออกเสียงลงมติเพื่อประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียนั้นก็อาจหมายความว่าเป็นสิ่งตอบแทนของอินเดียก็เป็นไปได้
กลับมาที่ในปัจจุบัน กรุงวอชิงตันนั้นพยายามที่จะวางบทบาทของตัวเองว่าจะให้เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรทางด้านกลาโหมของอินเดีย ดังนั้นทำให้การออกมาตรการต่างๆเพื่อลงโทษอินเดีย ต่อกรณีรัสเซียบุกยูเครนนั้นดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง รัฐบาลอินเดียเองก็เชื่อว่าจะสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯเอาไว้ได้ เพื่อบทบาทของตัวเองนั้นก็ถือว่าสำคัญยิ่งในการถ่วงดุลการการขยายตัวของประเทศจีน
ขณะที่ทางด้านของนาย ซาเมียร์ เอ็น. คาปาเดีย หัวหน้าฝ่ายการค้าที่บริษัท Vogel Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในวอชิงตันกล่าวว่าปัญหาก็คือว่าผลประโยชน์ของอิสเดียนั้นไม่ใช่มีแค่ส่วนลดในด้านสินค้าภาคภัณฑ์เท่านั้น แต่ตอนนี้พวกเขายังได้พยายามจะหาตลาดส่งออกอาหารและยาไปยังรัสเซียด้วย ซึ่งตัวเขาก็ไม่เห็นว่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดในอนาคต
โดยตอนนี้นั้นยุโรปเองกำลังเดินหน้าแบนน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มจะกระชากขึ้นสูง และอินเดียก็มีแนวโน้มว่าจะมีกำไรมากขึ้นมาจากการกลั่นน้ำมันของรัสเซียและขายมันให้กับยุโรป
และอินเดียเองก็ถือว่าเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ โดยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเป็นอันดับสามของโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งสัดส่วนน้ำมันดิบที่นำเข้าอินเดียจากแหล่งอื่นๆนั้น พบว่ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียและอิรัก ดังนั้นถ้าหากประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียพบว่าตัวเองกำลังเสียส่วนแบ่งการตลาดที่อินเดียไปให้กับรัสเซีย สิ่งที่เกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะมีความตึงเครียดระหว่างกลุ่มโอเปคพลัสที่นำโดยซาอุดิอาระเบียกับประเทศรัสเซียก็เป็นไปได้
ทั้งนี้คาดกันว่าหลังจากวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และอินเดียเองก็เป็นผู้ที่อยู่ในตลาดพลังงานในทุกๆแห่งเท่าที่จะหามาได้
ดังนั้นจึงได้มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีการทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีฉบับใหม่กับประเทศออสเตรเลียที่เป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ด้วยเช่นกัน และอินเดียก็หวังด้วยว่าจะมีการเจรจากับรัสเซียเพิ่มเติมอีก เพื่อที่จะมารองรับกับการเติบโตของตลาดอินเดีย
แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานเมื่อประมาณวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นอาจทำให้ความพยายามของอินเดียในการเลิกใช้พลังงานถ่านหินนั้นเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก เนื่องจากปัญหาว่าราคาพลังงานทางเลือกอื่นๆนั้นพุ่งสูงขึ้น
ความท้าทายของอินเดียในการเลิกใช้พลังงานถ่านหิน (อ้างอิงวิดีโอจาก The Hindu)
เรียบเรียงจาก:https://www-nytimes-com.translate.goog/2022/05/04/world/asia/india-russia-oil.html?_x_tr_sl=en&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=th&_x_tr_pto=op,sc