“..อาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย สามารถดีขึ้นเองได้เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการดูแลตนเองอย่างดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารดี มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง จะช่วยให้สมองและระบบประสาทฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติได้เร็วและดียิ่งขึ้น..”
เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีเต็มของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มาตั้งแต่เริ่มการระบาด และสถานการณ์ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น เราสามารถเตรียมตัวรับมือได้ ไม่ว่าจะเป็น การฉีดวัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย หรือการรักษา
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของโควิดที่มีต่อร่างกายและสมองของคนเรา ภายหลังจากการหายป่วย
เมื่อปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ผลการวิจัยใหม่เกี่ยวกับโควิด-19 และภาวะสมองเสื่อม ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2564 (Alzheimer's Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2021) มีรายละเอียดที่ น่าสนใจ ดังนี้
ภาวะสมองเสื่อมถอยลงมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้กลิ่นในระยะยาวในผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว
นายแพทย์ Gabriel de Erausquin จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ซานอันโตนิโอ มหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas Health Science Center at San Antonio Long School of Medicine) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสมองและประสาทสัมผัสการรับกลิ่นในกลุ่มผู้สูงอายุชาวอเมริกันอินเดียนเกือบ 300 คนจากอาร์เจนตินาซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มตัวอย่างหลังจากติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 3-6 เดือน พบว่ามากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับการหลงลืม
ราว 1 ใน 4 มีปัญหาทางสมองเพิ่มเติม เช่น ความบกพร่องทางภาษาและการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับปัญหาการรับกลิ่นในระยะยาว แต่ไม่รุนแรงเท่ากับตอนที่ติดเชื้อโควิด-19
“เราเริ่มมองเห็นภาพความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างโควิด-19 กับปัญหาทางสมองหลังติดเชื้อนานหลายเดือน เราจำเป็นต้องเดินหน้าศึกษาประชากรกลุ่มนี้และกลุ่มอื่นทั่วโลกในระยะยาวกว่านี้ เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อระบบประสาทในระยะยาว” นายแพทย์ Erausquin กล่าว
ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมถอยลง หลังหายจากโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะมีสภาพร่างกายอ่อนแอและระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ
นายแพทย์ George Vavougios จากมหาวิทยาลัยเทสซาลี (University of Thessaly) และทีมงาน ได้ทำการศึกษาภาวะสมองเสื่อมถอยลงและปัจจัยชี้วัดด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว จำนวน 32 คน ภายหลัง 2 เดือนหลังจากหายป่วย พบว่า 56.2% ประสบภาวะสมองเสื่อมถอยลง โดยอาการที่พบมากที่สุดคือความจำบกพร่องในระยะสั้น และความบกพร่องทางสมองหลายด้านโดยไม่มีความจำบกพร่องในระยะสั้น
จากการศึกษายังพบด้วยว่า คะแนนทดสอบการทำงานของสมองที่แย่กว่า มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากกว่า รอบเอวที่มากกว่า และอัตราส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพกที่มากกว่า นอกจากนี้ หลังจากปรับข้อมูลอายุและเพศแล้ว พบว่าคะแนนทดสอบความจำและความคิดที่แย่กว่า มีความสัมพันธ์กับระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ จากการทดสอบเดิน 6 นาที ซึ่งปกติใช้ในการประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมของผู้ป่วยโรคหัวใจและปอด
“สมองที่ขาดออกซิเจนไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดออกซิเจนในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสมอง ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกลไกทางชีวภาพระหว่างภาวะสมองเสื่อมถอยลงอันเป็นผลมาจากโควิด-19 กับความอ่อนล้าหลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการรายงานเพียงเล็กน้อยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา” นายแพทย์ Vavougios ระบุ
นายแพทย์ธเนศ เติมกลิ่นจันทร์ แพทย์ประจำทางประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจแล้ว และยังสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและสมองได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทและสมองได้โดยตรง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้เกิดการอักเสบขึ้น ทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา มีผลต่อหลอดเลือดที่ไปทำหน้าที่ละเลียงก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงระบประสาทต่างๆ ได้ลดลง
ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับผลกระทบหลังติดเชื้อโควิด-19 คือ อาการสมองเสื่อมถอย มักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังจากติดเชื้อ ซึ่งเป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะในการตัดสินใจ การวางแผน และความจำระยะสั้น โดยจะมีอาการรู้สึกสมองล้า (brain fog) รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม ทำให้ส่งผลเสียในระยะยาวได้
“สมองเป็นอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนไปเลี้ยงค่อนข้างมาก การที่ติดเชื้อลงปอด ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง ออกซิเจนจึงไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ส่งผลกระทบทำให้สมองเสียหายได้ ซึ่งสมองส่วนนั้นอาจจะเกี่ยวกับตรรกะ สมาธิ เป็นผลให้ผู้ป่วยบางคนเมื่อรักษาโควิดหายแล้ว รู้สึกว่ามึนๆ เบลอๆ ไม่มีสมาธิ ทำให้หลงลืมได้” นายแพทย์ธเนศ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของอาการสมองเสื่อมถอย เกิดจากผู้ป่วยมีโรคทางระบบประสาทและสมองอยู่เดิม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 แบบเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง จะทำให้มีภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล มีอาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย กลุ่มสีเขียว หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วม เช่น การมีโรคประจำตัว อายุมาก โอกาสที่จะสมองเสื่อมจากภาวะโควิดก็จะน้อยกว่า ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบ และทำให้อาการของตัวโรคแย่ลงเร็วกว่าคนที่ไม่มีการติดเชื้อ อีกทั้งการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือทำให้อาการโรคเดิมแย่ลงได้มากกว่า
นายแพทย์ธเนศ กล่าวด้วยว่า สำหรับความเกี่ยวโยงระหว่างผู้ป่วยโควิดกับระบบประสาทและสมองอีกหนึ่งอาการ คือ ภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาหายแล้ว คือ อาการในส่วนของระบบประสาท อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ภาวะสมองล้า (Brain Fog) หรือการที่สมองมีการทำงานลดลง โดยส่งผลให้การคิดและตัดสินใจช้าลง การวางแผนและแก้ปัญหาลดลง รวมถึงการลดลงของสมาธิ (Attention) บางคนอาจเป็นมากจนส่งผลให้ลืมความจำระยะสั้น หรือทำให้ไม่สามารถทำงานที่เคยทำเป็นประจำได้
นอกจากนี้ ยังพบอาการความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Dysfunction) มี 2 ภาวะที่มักพบ ได้แก่
-
กลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome: POTS) โดยมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติเวลาเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืนหรือนั่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ไปจนถึงหน้ามืดและหมดสติได้
-
ภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Myalgia Encephalitis/Chronic Fatigue Syndrome, ME/CFS) โดยมีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สมองล้าคิดได้ช้าลง ขาดสมาธิ และมีปัญหาเรื่องการนอน
แต่ทั้งนี้ อาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย สามารถดีขึ้นเองได้เมื่อเวลาผ่านไป การดูแลตนเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารดีและมีประโยชน์ โดยเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกสมาธิ หรืองานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย จะช่วยให้สมองและระบบประสาทฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติได้เร็วและดียิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือผลการศึกษาผลกระทบของโควิดกับระบบประสาทและสมอง แต่ทั้งนี้ ผลระยะยาวจะเป็นอย่างไรจะต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังหายป่วย หากมีอาการผิดปกติ หรือมีภาวะลองโควิด มีอาการสมองเสื่อมถอยแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 6 เดือน ควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป