“..โรคฝีดาษลิง เป็นโรคเกิดที่จากเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น ซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลเดียวกับโรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (Smallpox) แต่อาการรุนแรงน้อยกว่ามาก แม้ว่าโรคไข้ทรพิษจะถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว ตั้งแต่ปี 2523 แต่โรคฝีดาษลิง ยังเกิดประปรายในบางพื้นที่ และเป็นโรคประจำถิ่นทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ..”
จากกรณีพบการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงหรือไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) ที่กำลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร และมีแนวโน้มกำลังระบาดในยุโรปแล้ว ซึ่งการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง มีลักษณะการติดต่อแบ่งเป็นจากสัตว์สู่มนุษย์ จึงทำให้เกิดการตื่นตัวและมีผู้คนสนใจเกี่ยวกับฝีดาษหรือไข้ทรพิษลิงกันมากว่า เกิดมาจากการติดจากสัตว์ชนิดไหน และเป็นตัวเดียวกับไข้ทรพิษหรือฝีดาษในคนที่สาบสูญไปแล้วใช่หรือไม่?
เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบครั้งแรก เมื่อปี 2501 ในลิงที่นำมาศึกษาในห้องวิจัย จึงเป็นที่มาของชื่อโรค และพบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 2513 ในคองโก โดยมีรายงานการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา
เมื่อปี 2546 เกิดการระบาดในสหรัฐอเมริกา นับเป็นครั้งแรกที่ฝีดาษลิงระบาดนอกแอฟริกา ผู้ป่วยในสหรัฐฯ ได้รับเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับแพรี่ด็อก (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมฟันแทะตระกูลกระรอก) ที่ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กที่นำเข้ามาในประเทศ รวมแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
ต่อมาในปี 2560 ไนจีเรียเผชิญกับการระบาดที่มีหลักฐานบันทึกไว้ขนาดใหญ่ที่สุด ราว 40 ปี หลังจากที่ไนจีเรียพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันรายสุดท้าย การระบาดครั้งนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อราว 172 ราย และ 75% ของเหยื่อ เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี
เมื่อปลายเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อในคนที่สิงคโปร์ เป็นชายชาวไนจีเรียวัย 38 ปี คาดว่าติดเชื้อไข้ทรพิษลิงจากการรับประทานเนื้อในงานแต่งงานจากประเทศไนจีเรีย ซึ่งเมื่อตรวจพบ ทางการสิงคโปร์ได้ออกมาประกาศทำการกักตัวผู้ติดเชื้อนี้ไว้ในสถานที่ปลอดภัยทันที
ล่าสุด ในปีนี้มีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อหลายสิบคนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 พบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วประมาณ 80 ราย และผู้สงสัยติดเชื้ออีกมากกว่า 50 รายใน 11 ประเทศนอกทวีปแอฟริกา อย่างน้อย 9 ประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร รวมถึง สหรัฐอเมริกา สวีเดน และออสเตรเลีย
ขณะเดียวกัน อิสราเอลเป็นประเทศล่าสุดที่ออกมาเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยชายอายุ 30 ปี มีอาการคล้ายกับติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง หลังจากที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากยุโรปตะวันตก แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงหรือไม่
ส่วนสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขกำลังสอบสวนหาสาเหตุของโรคอยู่
โรคฝีดาษลิง เป็นโรคเกิดที่จากเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น ซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลเดียวกับโรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (Smallpox) แต่อาการรุนแรงน้อยกว่ามาก แม้ว่าโรคไข้ทรพิษจะถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว ตั้งแต่ปี 2523 แต่โรคฝีดาษลิง ยังเกิดประปรายในบางพื้นที่ และเป็นโรคประจำถิ่นทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (Vaccinia Virus) ไวรัสฝีดาษวัว (Cowpox Virus) ไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) เป็นต้น
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จึงสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ด้วย
ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษไปได้นั้น มีการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกกันว่า การปลูกฝี แต่ได้มีการยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2523 หมายความว่าเด็กที่เกิดภายหลังจะไม่เคยได้รับการปลูกฝี และจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ซึ่งอัตราตายของโรคฝีดาษลิงพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก อาจสูงถึง 10%
สำหรับการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง มีลักษณะการติดต่อแบ่งเป็นจากสัตว์สู่มนุษย์ พบว่าสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือกเช่น จมูก ปาก หรือตา กับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง หรือ การนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร รวมทั้งการถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัส เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น
ส่วนการติดต่อจาก มนุษย์สู่มนุษย์มีโอกาสน้อยมาก โดยทางหลักติดต่อผ่านละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7 - 14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 21 วัน
อาการเบื้องต้น ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กระสับกระส่าย จากนั้นจะเริ่มมีผื่นหรือตุ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่เริ่มจากใบหน้า ก่อนจะกระจายไปตามส่วนอื่นของร่างกาย ที่พบบ่อยคือฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มที่ขึ้นอาจทำให้คันหรือเจ็บและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ลักษณะผื่นคล้ายกับโรคอีสุกอีใส เริ่มจากผื่นราบ ผื่นนูน กลายเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำเหลือง ก่อนจะกลายเป็นสะเก็ดและร่วงออกมา อาการจะปรากฏราววันที่ 6-13 หลังได้รับเชื้อ การติดเชื้ออาจหายเองโดยไม่ต้องรักษาและคงอยู่ประมาณ 14-21 วัน
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า ทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค หากมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จัดการประชุมฉุกเฉินคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์และเทคนิคด้านภัยอันตรายจากโรคติดเชื้อ (STAG-IH) เพื่อหารือมาตรการรับมือโรคฝีดาษลิง หลังมีรายงานพบผู้ป่วยในทวีปยุโรปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ราย
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุว่า การตีตรา (Stigmatizing) กลุ่มบุคคลเนื่องด้วยโรคเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะผู้ติดเชื้อจะไม่กล้ามารับการรักษา และส่งผลให้ไม่สามารถตรวจพบการแพร่ระบาดได้
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่มีข้อมูลว่า วัคซีนที่ใช้ต่อต้านโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ให้ผลในการป้องกันฝีดาษลิงได้สูงสุด 85%
นายฮันส์ คลูจ (Hans Kluge) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ออกมาแถลงเตือนว่า จำนวนผู้ป่วยฝีดาษลิงอาจเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และไวรัสมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปทั่วยุโรป
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของฝีดาษลิงครั้งนี้มีความผิดปกติอยู่ 3 ประการคือ
-
ผู้ป่วยเกือบทุกรายไม่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษลิง
-
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม “ชายรักชาย” ซึ่งเมื่อแสดงอาการป่วยจึงไปพบหมอที่คลินิกรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
-
การพบผู้ติดเชื้อในกว่า 10 ประเทศแสดงให้เห็นว่าโรคมีการแพร่กระจายมาสักระยะหนึ่งแล้ว
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่เนื่องจาก ในระยะที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ไทยเริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อติดตามสถานการณ์โรค พร้อมจัดทำแผนระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์และมาตรการให้เหมาะสม
ทั้งหมดนี้ คือรายละเอียดของโรคฝีดาษลิง จะต้องติดตามกันต่อว่า สาเหตุการระบาดครั้งนี้มาจากอะไร ทั้งนี้ จะต้องเฝ้าระวังกันต่อไป