“..หลักการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. มีหลักการหลักๆ คือ จะต้องกำหนดขอบเขตการรับมือน้ำท่วม ว่าสามารถรับมือได้ที่ระดับไหน รวมถึงประเมินปัจจัยการเกิด เช่น รอบปีการเกิดซ้ำ (Return Period) และโอกาสการเกิดฝนมีเท่าไหร่ พร้อมทั้งพิจารณาระบบระบายน้ำในปัจจุบันว่าสามารถรับมือน้ำได้ที่จุดไหน ควรจะก่อสร้างหรือปรับปรุงจุดไหนเพิ่มที่ตรงไหน และการบริหารจัดการน้ำ จะต้องมีการวางแผนว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด..”
‘ปัญหาน้ำท่วม’ หรือที่หลายๆ เรียกอย่างประชดประชันว่า ‘น้ำรอการระบาย’ เป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ มานานหลายสิบปี
สำหรับสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ มีปัจจัยมาจากทั้งเหตุผลทางภูมิศาสตร์และสาเหตุที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ฝนตกปริมาณมาก น้ำจากทางเหนือไหลลงมาปริมาณมาก น้ำทะเลหนุนสูง การวางผังเมืองที่ไม่เป็นระบบ ช่องระบายน้ำไม่เพียงพอ และการจัดการขยะไม่ดีทำให้อุดตันช่องทางระบายน้ำ เป็นต้น
เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 กรีนพีซ องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ตีพิมพ์รายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี 2573 (The Projected Economic Impact of Extreme Sea-Level Rise in Seven Asian Cities in 2030) ระบุถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่งว่า ภายในปี 2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5 รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง
‘อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี (Ten-Year Flood)’ หมายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งและระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยมีโอกาส 10% ต่อปีที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเกินระดับน้ำทะเล ซึ่งหากเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม โดย กรุงเทพฯ จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ และประชากร 10.45 ล้านคน อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573 ซึ่งคิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 96% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของกรุงเทพฯ (GDP) (มูลค่าดังกล่าวคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐโดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หรือ Purchasing Power Parity - PPP)
ในรายงานของกรีนพีซ ระบุถึงสาเหตุความเปราะบางของกรุงเทพฯ ว่า จากการเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และเสี่ยงจมน้ำ เนื่องมาจากดินอ่อน การขยายตัวของความเป็นเมือง และการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงอิทธิพลของน้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเล
ฉะนั้น ‘ปัญหาน้ำท่วม’ จึงถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำคัญสำหรับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมารับช่วงต่อในสมัยต่อไป เพราะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ หากเกิดปัญหาน้ำท่วม ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ และวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแน่นอน
ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลักการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. มีหลักการหลักๆ คือ จะต้องกำหนดขอบเขตการรับมือน้ำท่วม ว่าสามารถรับมือได้ที่ระดับไหน รวมถึงประเมินปัจจัยการเกิด เช่น รอบปีการเกิดซ้ำ (Return Period) และโอกาสการเกิดฝนมีเท่าไหร่ พร้อมทั้งพิจารณาระบบระบายน้ำในปัจจุบันว่าสามารถรับมือน้ำได้ที่จุดไหน ควรจะก่อสร้างหรือปรับปรุงจุดไหนเพิ่มที่ตรงไหน และการบริหารจัดการน้ำ จะต้องมีการวางแผนว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวว่า สาเหตุของน้ำท่วมใน กทม. มาจาก 3 น้ำ คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ซึ่งมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน
-
น้ำฝน คือ น้ำที่ค้างท่วมขังจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ฉะนั้นการจัดการหลักคือการระบายน้ำ ซึ่งระบบหลัก คือคลองสายหลัก อุโมงค์ การควบคุมประตูน้ำ ระบบสูบน้ำ ต่อมาระบบรอง คือ ระบบท่อต่างๆ จะต้องมีการบริหารจัดการให้สามารถระบายน้ำไปสู่คลองหรืออุโมงค์ได้ดี ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการให้สัมพันธ์กัน นอกจากนี้จะต้องมีการเก็บกักน้ำในพื้นที่ (แก้มลิงในพื้นที่) เพื่อกักเก็บสำหรับรอระบาย และการควบคุมการใช้พื้นที่อีกด้วย
-
น้ำเหนือ คือน้ำที่มาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่มาร่วมกันที่ปากน้ำโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ จะมีการกระจายน้ำออกอย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ ไม่เพียงแค่สำหรับผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้น แต่ก็ต้องมีการประสานว่าจะจัดการอย่างไร ถ้าน้ำมาจำนวนมาก จะต้องมีที่พักน้ำเพื่อชะลอยหรือลดน้ำ (ค้างทุ่ง) เพื่อป้องกันน้ำเข้าเมือง ซึ่งจะมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ฉะนั้นควรจะต้องมีแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา นอกจากนี้ จะต้องมีระบบระบายน้ำอ้อมเมืองสำหรับน้ำที่ไหลมา
-
น้ำทะเลหนุน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใน กทม. เนื่องจากเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุน น้ำในคลองหรือในท่อก็จะไม่สามารถระบายออกไปได้ เนื่องจากพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ราบ สำหรับวิธีการบริหารจัดการคือ จะต้องดูคันป้องกันน้ำ ยกระดับสูงเพียงพอหรือไม่ เมื่อน้ำทะเลหนุน จะต้องมีการระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ แลมีคันป้องกันน้ำหนุน รวมถึงมีการควบคุมประตูน้ำที่สัมพันธ์กับการขึ้นลงของระดับน้ำหนุน/น้ำทะเล
ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมนโยบายแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 เสนอนโยบาย 5 ข้อ แก้ปัญหาท่วมขัง ดังนี้
-
เปลี่ยนงบอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้านบาท/ปี มาเพิ่มการลงทุนการขยายศักยภาพท่อระบายน้ำ
-
ระบุตำแหน่งปัญหาด้วยข้อร้องเรียนของประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมด้วย
-
ศูนย์ Single Command จัดการน้ำท่วม โดยมีหัวใจสำคัญ 2 เรื่อง คือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน-น้ำขัง และภาวะผู้นำของผู้บริหาร ในการตัดสินใจสั่งการต่างๆ
-
มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
-
ผู้ว่าฯ กทม. ต้อง ‘ใส่ใจ’ ตรวจสอบความพร้อมท่อระบายน้ำ-เครื่องสูบน้ำ อย่างสม่ำเสมอ
นายสกลธี ภัททิยกุล หมายเลข 3 ระบุว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครนั้น นอกจากจะสร้าง Water Bank แก้มลิง และอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำแล้ว จะต้องมีการขุดลอกท่อในกรุงเทพมหานครทั้งท่อใหญ่ ท่อย่อยที่มีความยาวรวมแล้วถึง 6,400 กิโลเมตร ให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อให้การระบายน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องวางแผนในการขุดลอกโดยนำเทคโนโลยี Pipe Jacking หรือการดันท่อมาใช้ รวมทั้งต้องทำบ่อหน่วงน้ำบริเวณที่มีอาคารต่างๆ เพื่อเป็นจุดพักและชะลอการไหลของน้ำในช่วงฝนที่มีตกหนัก
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4 กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะต้องแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
-
ระยะสั้น จะมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำ
-
ระยะกลาง จะสร้างระบบเก็บน้ำใต้ดินหรือแก้มลิงขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำในช่วงที่ฝนตก จากนั้นจึงค่อยๆ ระบายไปยังทางระบายน้ำปกติ ซึ่งวิธีนี้จะป้องกันปัญหาน้ำท่วมในช่วงฝนตกหนักได้เป็นอย่างดี และเป็นระบบที่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน โดยจะสร้างระบบนี้ในจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมหนักในช่วงฝนตก
-
ระยะยาว จำเป็นต้องทำโครงการป้องกันผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้นเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน โดยจะร่วมกับสมุทรปราการในการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลบริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะต้องซ่อมเขื่อนกันน้ำทะเลในจุดที่ชำรุดอยู่เพื่อให้การป้องกันน้ำทะเลหนุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6 ระบุว่า เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมนั้นในแต่ละพื้นที่นั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหลักๆ คือ น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน โดยจะพัฒนาระบบระบายน้ำโดยรวม ขุดลอกท่อในระบบพื้นฐาน จัดเก็บขยะ ผลักดันให้มีอุโมงค์ และแก้มลิงพร้อมทั้งปรับระบบผังเมือง
สำหรับน้ำเหนือ การแก้ปัญหาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ และระยะยาว จะประสานงานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาผังเมือง เพื่อให้จุดที่เคยเป็นทางน้ำหรือพื้นที่รับน้ำยังคงเป็นจุดรับน้ำ
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุน โดยแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น โดยจะผลักดันให้มีการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมที่สูงและแข็งแรงมากขึ้น และการแก้ไขปัญหาจุดฟันหลอ และระยะยาว ลดปัจจัยการเกิดภาวะโลกร้อนที่มีผลให้เกิดน้ำทะเลหนุน เช่น ผลักดันให้มีการใช้พลังงานสะอาด เพิ่มพื้นที่สีเขียว
น.ส.รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. จำเป็นต้องดำเนินการ 2 อย่างควบคู่กัน คือ การขุดลอกคูคลอง เนื่องจากในปัจจุบันคูคลองส่วนใหญ่ตื้นเขิน ไม่สามารถระบายน้ำได้ เวลาฝนตกจึงเกิดปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น จึงต้องขุดลอกคูคลองต่างๆ และการลอกท่อระบายน้ำ เนื่องจากปัจจุบันมีบ้านเรือนและอาคารสูงเกิดขึ้นมากมาย นอกจากจะมีขยะและน้ำเสียเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งทำให้ท่อตัน การระบายน้ำติดขัดแล้ว ฐานรากของอาคารยังกีดขวางทางเดินน้ำด้วย
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 เปิดเผยถึงนโยบายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า จะดำเนินการ 5 ประการด้วยกัน คือ
-
ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที
-
แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำโดยจะยกระดับถนน หรือเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำในพื้นที่
-
ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำท่วมระหว่างคลองสายหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย กับอุโมงค์ยักษ์ ซึ่งเหมือนเส้นเลือดใหญ่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
-
เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำ หลักการคือจะเป็นจุดพักน้ำและผ่องถ่ายน้ำในแก้มลิงที่เก็บกักออกจากพื้นที่หลังจากฝนหยุดตก
-
พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) โดยรวบรวมข้อมูลทั้งจากหน่วยงาน
น.ต.ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า กรุงเทพฯ สร้างในพื้นที่ลักษณะแอ่งกระทะ การสูบระบายน้ำ จึงไม่สามารถใช้ตามปกติ อีกทั้งพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ฉะนั้น การรับน้ำจากที่สูง เมื่อฝนตกมากหรือน้ำเหนือไหลมาเร็วกว่า 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้
ที่ผ่านมา กทม.ลงทุนไปแล้ว หนึ่งแสนล้านบาท แต่ประสิทธิผลเพียง 60% เท่านั้น โดยเห็นว่าหากมีการจัดการที่ดีสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ขณะที่ลำคลองต้องนำใช้ในการระบายน้ำและพร่องน้ำให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพด้วย
สำหรับการพร่องน้ำจะทำให้คลองที่มีอยู่เป็นเสมือนแก้มลิงที่อยู่ในทุกพื้นที่ เมื่อฝนตกลงมาไม่ต้องขังบนถนน ไม่ต้องรอระบาย แต่น้ำจะลงมาในคลองระบายน้ำเอง มีระบบตรวจความเร็วน้ำและปริมาณน้ำที่พร่องไว้เพื่อบริหารจัดการให้ดีได้
ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวถึงนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ว่า ผู้สมัครแต่ละคนมีการวางนโยบายการบริหารจัดการน้ำท่วม กทม. โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มองถึงสาเหตุปัญหาจากทั้ง 3 น้ำ และกลุ่มที่มองสาเหตุและการบริหารจัดการน้ำเพียงแค่สาเหตุเดียว คือ การจัดการน้ำฝน ซึ่งการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะต้องดูควบคู่กันทั้งหมด เพราะปัจจัยแต่ละอย่างส่งผลต่อกัน ส่วนเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ ในการแจ้งเตือนหรือแก้ปัญหานั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมโยงระบบเข้าหากัน ซึ่งนโยบายของผู้สมัครฯ บางคนยังมองเพียงแค่เฉพาะเรื่องท่อ หรือเรื่องระบายน้ำเพียงแค่ด้านเดียวเท่านั้น แต่ส่วนการแก้ปัญหาในการขุดลอกคลอง บริหารจัดการท่อระบายน้ำ พร้อมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำท่วมระหว่างคลองสายหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย กับอุโมงค์ยักษ์ ซึ่งเหมือนเส้นเลือดใหญ่ เป็นเรื่องที่มาถูกทางแล้ว
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายที่น่าสนใจว่า สำหรับนโยบายการกักเก็บน้ำใต้ดิน โดยสร้างแก้มลิงขนาดใหญ่ คำว่าใต้ดินนี้ อาจจะเป็นมุมมองแค่เฉพาะใต้ผิวดินเท่านั้น ไม่ใช่ใต้ดินชั้นบาดาล แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างยาก และต้องลงทุนสูง
ส่วนกรณีที่กล่าวว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นแอ่งกระทะนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้เยอะ แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้ลดลงไปเยอะแล้ว และการสูบน้ำยังใช้งานได้ปกติ แต่วิธีการไม่ใช่เพียงการสูบแค่ที่เดียว เช่นการสูบที่ปลายคลองบางเขนออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้น้ำไหลออกได้เลย เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบสนิท หลักการการสูบน้ำในคลองต่างๆ คือการสูบทอย เป็นการกั้นประตูน้ำเป็นระยะๆ แล้วใช้การสูบน้ำเป็นระยะ เพื่อให้น้ำวิ่งจากอีกจุดไปอีกจุดได้
สำหรับนโยบายการเปลี่ยนงบสร้างอุโมงค์ เป็นขยายศักยภาพท่อระบายน้ำ ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากการระบายน้ำ จะต้องขึ้นอยู่กับระดับน้ำในคลองด้วย ซึ่งมีปัจจัยจากน้ำเหนือหรือน้ำทะเลหนุน อีกทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบ ที่ผ่านมาใช้ระบบการสูบทอย แต่ก็ยังระบายไม่ทัน เป็นสาเหตุที่เปลี่ยนมาเป็นอุโมงค์ยักษ์ เพื่อย่นระยะเวลาในการระบายน้ำ แต่เนื่องจากอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ส่งผลให้ระดับน้ำที่อยู่ต้นท่อกับปลายท่อ แตกต่างกันเยอะ แต่ทั้งนี้อุโมงค์จึงถือเป็นอีกหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ในการระบายน้ำและเป็นสุดจำเป็น เนื่องจากต่อให้มีระบบระบายน้ำที่ดี แต่คลองและปลายทางน้ำเต็มก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่ดี
ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวเน้นย้ำว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือการเชื่อมโยงทุกส่วนเข้าหากัน เพราะต่อให้ฝนตกลงจากบ้านเรือนไหลลงท่อ แต่น้ำในคลองจะต้องอยู่ในระดับต่ำ ไม่ใช่แค่ว่าท่อสะอาด น้ำลงคลองได้จบ เนื่องจากลักษณะพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นที่ราบ จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำ แต่ถ้าปริมาณน้ำฝนมาก ระบายไม่ทัน ก็จะต้องมีแก้มลิงกักเก็บน้ำไว้
ถ้าส่วนต่างๆ มีการร้อยเรียงกันให้เห็นภาพว่าจะมีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างไร ก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำ และการระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมก็จะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้น และในทางปฏิบัติ ผู้ที่ทำงานในแต่ละส่วนจะได้เข้าใจถึงความสำคัญมากขึ้น
“อย่างที่เห็นเรื่องอุโมงค์ยักษ์ ที่มีภาพโปสเตอร์อุโมงค์ แต่มีน้ำท่วมใต้โปสเตอร์ เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงอุโมงค์ใช้ได้จริงหรือไม่ ในส่วนนี้ก็ต้องมีการอธิบายให้ความรู้ว่าอุโมงค์ช่วยพื้นที่ในส่วนไหนบ้าง เพราะการมีอุโมงค์ไม่ใช่แปลว่าจะช่วยในการระบายน้ำทั้งกรุงเทพฯ นอกจากนี้ จะได้ทราบว่าในพื้นที่ไหนมีปัญหา จะได้เข้าใจและบริหารจัดการเติมเต็มในส่วนที่ขาดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐ กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากท่านใดเข้ามาดูแล ต้องมองระบบทั้งระบบให้เป็นหนึ่งเดียว ตั้งแต่ท่อ คลอง อุโมงค์ การสูบน้ำ ฯลฯ เชื่อมโยงแต่ละส่วนให้ได้ และดึงศักยภาพของระบบที่มีในปัจจุบันให้เต็มที่ที่สุด และวางโครงการในส่วนพื้นที่ที่ยังขาด
ทั้งหมดนี้ คือนโยบายการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ของผู้สมัครฯ แต่ละคน จะต้องติดตามต่อไปว่าใครจะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. และจะดำเนินการแก้ไขตามที่ได้ประกาศนโยบายไว้หรือไม่