“..ผู้ที่หายป่วยสามารถปฏิบัติตัวเหมือนคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องกักตัวต่อและไม่ต้องตรวจหาเชื้อช้ำ เพราะอาจตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งไม่สามารถแพร่กระจายได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จะต้องรักษามาตรการอย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด..”
จากสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนในปัจจุบัน ที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว คือไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถรักษาตัวแบบแยกกักกันตนเองที่บ้านได้ก็ตาม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว
แต่ทั้งนี้ ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่า หากติดเชื้อโควิด แม้จะรักษาหายแล้ว ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร หรือจะต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงภาวะลองโควิด (Long Covid) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังหายป่วยโควิด และเป็นยาวนานกว่า 2 เดือน ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกาย ถึง 6 ระบบที่จะเกิดขึ้นภายหลังหรือไม่ รวมถึงจะสามารถฉีดวัคซีนหลังติดโควิดได้หรือไม่ และควรฉีดได้เมื่อไหร่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว มีรายละเอียดดังนี้
“ผู้ที่หายป่วยสามารถปฏิบัติตัวเหมือนคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องกักตัวต่อและไม่ต้องตรวจหาเชื้อช้ำ เพราะอาจตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งไม่สามารถแพร่กระจายได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จะต้องรักษามาตรการอย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ เช่น มีไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจลำบาก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อโรงพยาบาลที่เคยรับการรักษา หรือสายด่วน 1422 หรือ 1668” แนวทางการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 อ้างอิงจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
คำแนะนำในการกักตัวตามอาการ
- ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ
ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่กักตัวข้องรัฐอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
- ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย
ให้แยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่กักตัวของรัฐอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังมีอาการให้กักตัวต่อจนกว่าจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ให้รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลของรัฐ หากมีอาการดีขึ้นสามารถกลับได้แต่ต้องแยกกักตัวที่บ้านให้ครบ 21 วัน นับจากวันที่มีอาการ
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว แต่กลับไปพักฟื้นที่บ้าน
-
สังเกตอาการอยู่บ้านอย่างน้อย 10-14 วัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ให้สะอาด และเว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคล
-
ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละ 2- 2 ลิตรครึ่ง ผู้สูงอายุดื่มน้ำประมาณ 1-2 ลิตร
-
รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เน้นอาหารย่อยง่าย
-
พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนให้เร็ว
-
อย่าใช้สายตามากจนเกินไป พักสายตาจากโทรศัพท์มือถือหน้าจอคอมพิวตอร์หรือโทรทัศน์ ให้สายตาได้พัก
-
ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระหรือ ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
-
ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำ หรือของใช้อื่นๆ ร่วมกับ
-
ควรออกไปโดนแดดบ้าง เช่น แดดอ่อนๆ ตอนช้าหรือตอนเย็นประมาณ 10-15 นาที
-
ออกกำลังกายเบาๆ ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวตามความเหมาะสม เพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือด
-
เมื่อกลับไปทำงาน ให้เน้นมาตรการป้องกันตัวเช่นเดิม และงดเว้นการรับประทานอาหารร่วมกัน
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงพักฟื้น
-
หลีกเลี่ยงข่าวสารด้านลบ
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-
ยาชุด หรือยาที่นอกเหนือจากที่แพทย์แนะนำ
-
อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด หมักดอง ย่อยยาก
ผู้ป่วยโควิด มีอาการหลังกลับบ้านแล้ว
จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 จะยังคงมีอาการแสดงหลังรักษาโควิด-19 หายแล้ว
โดยจะยังมีอาการภายใน 4 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ หายไป
- กลุ่มที่ 2 ยังคงมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 1 เดือน และอาการจะหายช้า
จะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มที่มีอาการมากกว่า 4-6 สัปดาห์ จะเป็นอาการที่ลองโควิด (Long Covid) หรือภาวะแทรกซ้อนภายหลังการป่วยเป็นโควิด-19 (Post COVID syndrome) อ้างอิงจากนิยามองค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้หลายระบบ และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ
จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ พบว่ามีผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,300 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง พบได้หลายอาการ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไปของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ลดลงจากก่อนป่วย โดยอาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่
-
อ่อนเพลีย
-
หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
-
ไอ
-
นอนไม่หลับ
-
ปวดศีรษะ
-
ผมร่วง
-
เวียนศีรษะ
-
วิตกกังวล/ เครียด
-
ความจำสั้น
-
เจ็บหน้าอก
สำหรับสาเหตุ ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุและพยาธิสภาพของการเกิดภาวะ Long COVID ที่ชัดเจน มีเพียงสมมติฐานที่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับ Fragments of Viral Genome or Viral Antigens ซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อแล้ว แต่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภาวการณ์อักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิด (Long Covid)
ยังไม่ทราบแน่ชัด มีเพียงข้อสังเกตว่ามีปัจจัยที่พบได้ในหลายๆ การศึกษา เช่น
-
ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง
-
ผู้ที่มีโรคประจำตัว
-
ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
-
ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน
-
โดยเพศหญิงมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย
อาการลองโควิดที่มักพบได้บ่อยล่าสุด
-
ระบบประสาท พบได้ 27.33% ได้แก่ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
-
ระบบทางจิตใจ พบได้ 32.1% ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
-
ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบได้ 22.86% ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
-
ระบบทางเดินหายใจ พบได้ 44.38% ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
-
ระบบผิวหนัง พบได้ 22.8% ได้แก่ ผมร่วง ผื่นแพ้
-
ระบบทั่วไป พบได้ 23.41% ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
แนวทางการฉีดวัคซีนหลังติดเชื้อโควิด-19
ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 หลังจากรักษาจนหายดีแล้ว ประมาณ 1-3 เดือน ควรฉีดวัคซีน 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น แม้ว่าหลังจากติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายในระดับหนึ่งก็ตาม แต่การได้รับวัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายมากขึ้น
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยเสี่ยงสูง
หากอยู่ในระยะกักตัว เพื่อสังเกตอาการ แนะนำว่าไม่ควรรับวัคซีนในตอนนี้ แต่ควรรอจนพ้นระยะสังเกตอาการและมั่นใจว่าไม่ติดเชื้อก่อน ขณะเดียวกันหากได้รับวัคซีนในขณะที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการโดยไม่รู้ตัว ก็ไม่มีอันตรายใดๆ
- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19
เมื่อหายจากโรคแล้วจะยังมีภูมิต้านทานในร่างกายอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะค่อยๆ ลดลง จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้
- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายดีแล้ว
หลังจากที่รักษาหายแล้วประมาณ 1-3 เดือน ควรฉีดวัคซีน 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นระดับภูมิต้านทานให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีระดับภูมิต้านทานสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด
สามารถฉีดวัคซีนเข็มต่อไปได้ แต่ควรฉีดหลังจาก 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ นับจากวันที่ทราบผลการติดเชื้อ
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อคำแนะนำและข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว กลับมารักษาตัวที่บ้านต้องป้องกันเฝ้าระวัง และสังเกตอาการต่อไป เพื่อพักฟื้นและรักษาร่างกายให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเคยติดเชื้อแล้ว ก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง รักษามาตรการป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำได้อีก