"...ผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนสองภาษา หลักสูตรไทย-อังกฤษ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2563 ต่ำกว่าเป้าหมายเชิงปริมาณที่กำหนด โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 18 แห่ง และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 1 แห่ง ขณะที่การบริหารจัดการตามโครงการโรงเรียนสองภาษา หลักสูตรไทย-อังกฤษ ก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปในตอนที่แล้วว่า ประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร ตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ฉบับปรับปรุง ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินหลายประการ อาทิ จัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ที่มีความล่าช้า การส่งเสริม สนับสนุนเทคโนโลยี และพัฒนาระบบสารสนเทศทางการศึกษา ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เสื่อมเก่า ชำรุดจำนวนมาก พร้อมแจ้งเรื่องให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว
ขณะที่การเสริมสร้างนักเรียนให้มีทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ตามโครงการโรงเรียนสองภาษา และการดำเนินงานสะเต็มศึกษา ตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ฉบับปรับปรุง รวมไปถึงประเด็นโรงเรียนบางแห่งการประกันคุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่ถูก สตง. ตรวจสอบพบ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ ปัญหาโครงการโรงเรียนสองภาษา
ประเด็นการเสริมสร้างนักเรียนให้มีทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ตามโครงการโรงเรียนสองภาษา
จากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินงานโครงการโรงเรียนสองภาษาต่ำกว่าเป้าหมายและไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
กล่าวคือ ผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนสองภาษา หลักสูตรไทย-อังกฤษ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2563 ต่ำกว่าเป้าหมายเชิงปริมาณที่กำหนด โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 18 แห่ง และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 1 แห่ง
ขณะที่การบริหารจัดการตามโครงการโรงเรียนสองภาษา หลักสูตรไทย-อังกฤษ ก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด โดยจากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียน 11 แห่ง พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีการทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยมีโรงเรียน จำนวน 8 แห่ง ที่ต้องทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
แต่ไม่ปรากฏข้อมูลผลการทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษที่ใช้แบบทดสอบมาตรฐานจากสถาบันซึ่งได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ โดยเทียบเคียงระดับความสามารถกับกรอบ CEFR ของผู้เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือจากสถาบันอื่นที่ได้รับรองมาตรฐาน สำหรับโรงเรียนอีกจำนวน 3 แห่ง จัดการเรียนการสอนไม่ถึงระดับที่ต้องทดสอบ อย่างไรก็ตามสำนักการศึกษาได้มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยการทดสอบด้วยแบบทดสอบกลางทุกระดับชั้นตามหลักเกณฑ์การประเมินของโครงการโรงเรียนสองภาษา
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบประเด็นบุคคลภายนอกช่วยปฏิบัติราชการด้านการสอนภาษาอังกฤษ (ครูต่างชาติ) ของโรงเรียนบางแห่งไม่ตรงวิชาเอกและไม่เพียงพอตามแนวทางที่กำหนด ดังนี้
1.) ครูต่างชาติไม่ตรงวิชาเอกที่โรงเรียนต้องการ จำนวน 7 โรงเรียน โดยส่วนใหญ่ขาดครูที่จบวุฒิการศึกษาวิชาเอกวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
2.) ครูต่างชาติจำนวนไม่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนสองภาษาจำนวน 6 แห่ง โดยมีโรงเรียน จำนวน 3 แห่ง ที่จัดการเรียนการสอนโดยไม่ประสงค์ขอรับครูต่างชาติเพิ่มและมีโรงเรียน จำนวน 3 แห่ง ที่ครูต่างชาติไม่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้บุคลากรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่ยังมีปัญหาและข้อจำกัดในการจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดค่อนข้างยาก การใช้ประโยคและไวยากรณ์ที่ถูกต้องตรงตามตัวชี้วัดและหลักสูตร รวมถึงปัญหาการสื่อสารระหว่างครูชาวไทยกับครูต่างชาติ โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษการดำเนินโครงการโรงเรียนสองภาษาต่ำกว่าเป้าหมายและไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดส่งผลให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วนที่มีความต้องการเข้าร่วมโครงการเสียโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนสองภาษาที่เป็นมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด และนักเรียนกลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมีสาเหตุจากขาดการเตรียมความพร้อมข้อมูลอย่างเป็นระบบ
กล่าวคือ ยังขาดการรวบรวมข้อมูลภาพรวมที่แสดงถึงโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีองค์ประกอบและคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ขาดการส่งเสริมสนับสนุนและการกำหนดแนวทางการประเมินผลที่มีมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด การบริหารจัดการอัตรากำลังครูต่างชาติมีข้อจำกัด ขาดการส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ร่วมโครงการ การพัฒนาทักษะทางภาษาโดยเฉพาะครูชาวไทยสาระวิชาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ สุขศึกษา และศิลปะ
เบื้องต้น ประเด็นนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาสั่งการให้สำนักการศึกษาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณของโครงการที่เหมาะสมจากฐานข้อมูลที่ถูกต้องให้สอดคล้องกับศักยภาพและคุณสมบัติของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจ และส่งเสริมโรงเรียนที่มีคุณสมบัติตามโครงการในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมโครงการ
2. กำหนดแนวทางการส่งเสริมการประเมินผลผู้เรียนโครงการโรงเรียนสองภาษาให้มีการทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษ (English Proficiency) โดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ โดยเทียบเคียงระดับความสามารถกับกรอบ CEFR ที่กำหนดตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2564-2569) ให้มีความชัดเจนและซักซ้อมทำความเข้าใจโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
3. สำรวจโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยรวบรวมข้อมูลครูต่างชาติตามโครงการที่โรงเรียนได้รับครูต่างชาติไม่ครบตามหลักเกณฑ์ และข้อมูลครูต่างชาติตามสาขาวิชาเอกที่โรงเรียนมีความต้องการในการจัดการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวิเคราะห์และวางแผนการรับสมัครคัดเลือกครูต่างชาติขึ้นบัญชีไว้ล่วงหน้าในปริมาณที่เพียงพอ สามารถบริหารจัดการครูต่างชาติให้กับโรงเรียนที่ร่วมโครงการได้ครบและตรงตามความต้องการของโรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
4. ส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ร่วมโครงการทั้งครูต่างชาติและครูชาวไทยในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามมาตรฐานและตัวชี้วัด และการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะครูชาวไทยสาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สุขศึกษา และศิลปะ ที่เข้าร่วมโครงการ
@ การดำเนินงานสะเต็มศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา (คือ แนวทางการศึกษาที่ได้บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆเช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และความรู้ด้านคณิตศาสตร์ รวมเข้าด้วยกัน) ของกรุงเทพมหานครไม่มีประสิทธิภาพ
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครบางแห่งไม่มีการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในโรงเรียน
จากการตรวจสอบการดำเนินการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครตามแนวทางการนำกิจกรรมสะเต็มศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) โดยสุ่มตรวจสอบโรงเรียน จำนวน 22 แห่งพบว่า โรงเรียนบางแห่งไม่มีการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในโรงเรียนตามแนวทางการนำกิจกรรมสะเต็มศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน จำนวน 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 40.91 จำแนกเป็นโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 2 แห่ง และโรงเรียนเครือข่ายของศูนย์จำนวน 7 แห่ง
กล่าวคือ ไม่มีการจัดกิจกรรมสอดแทรกไปตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องของแต่ละรายวิชาภายในคาบเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีการจัดกิจกรรมไว้ในรายวิชาเพิ่มเติมหรือเลือกเสรี และไม่มีการจัดกิจกรรมไว้ในกลุ่มกิจกรรมนอกชั้นเรียน
ขณะที่ โรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีการจัดตั้งชมรมSTEM & Robotics จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 8แห่ง พบว่าโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 6 แห่ง ไม่มีการจัดตั้งชมรม STEM & Robotics ในโรงเรียน
นอกจากนี้ ศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษาบางแห่งไม่มีการนิเทศติดตามการสอนของครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรม จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 8 แห่ง พบว่าศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 4 แห่ง ไม่มีการนิเทศติดตามการสอนของครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรม ตามที่ สสวท. กำหนด และศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 4 แห่ง มีการนิเทศติดตาม ซึ่งพบปัญหา ได้แก่ การจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาสอดแทรกในชั้นเรียนไม่มีความต่อเนื่อง อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาไม่เพียงพอ และครูพี่เลี้ยงยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอจึงไม่สามารถให้ความเห็นในการนิเทศติดตามได้อย่างมั่นใจ
การขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาของกรุงเทพมหานครไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ครูเสียโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทำให้ขาดการพัฒนา ไม่เกิดการเรียนรู้และการบูรณาการความรู้ไปใช้เชื่อมโยงหรือแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริงผ่านกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษาได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET) วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ยังมีค่าเฉลี่ยของโรงเรียนบางแห่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
ซึ่งมีสาเหตุจากขาดการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในโรงเรียนที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และขาดการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในโรงเรียน ขาดการกำกับติดตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงานของศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษาและการดำเนินงานสะเต็มศึกษาในโรงเรียน และโรงเรียนขาดการให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านสะเต็มศึกษา ประกอบกับบุคลากรของโรงเรียนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาอย่างเพียงพอ
เบื้องต้น สำหรับประเด็นนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาสั่งการให้สำนักการศึกษาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดแนวทาง วิธีดำเนินการสะเต็มศึกษาในโรงเรียน และศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษาให้ชัดเจน สอดคล้องกับแนวทางที่ สสวท. กำหนด เพื่อให้การดำเนินการสะเต็มศึกษา
เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการสะเต็มศึกษาในโรงเรียน และศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา โดยจัดทำแผนงาน โครงการหรือกิจกรรม เพื่อรองรับการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาให้ครูกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนข้อมูลหรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการ
ดำเนินการสะเต็มศึกษา
3. ติดตามผลการดำเนินการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินการสะเต็มศึกษาในโรงเรียน และศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษาโดยผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถให้คำแนะนำปรับปรุงแก้ไขได้อย่างถูกต้อง รวมถึงติดตามและรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินตามตัวชี้วัดที่กำหนด
@ โรงเรียนบางแห่งการประกันคุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
รายงานข่าวจาก สตง. แจ้งด้วยว่า ในการตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ฉบับปรับปรุง ยังมีประเด็นเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการจัดการศึกษา
จากการตรวจสอบการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ปีการศึกษา 2561-2562โดยการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 22 แห่ง พบว่า โรงเรียนบางแห่ง
ดำเนินการประกันคุณภาพภายในไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนี้
1.)โรงเรียนกำหนดเกณฑ์การประเมินความสำเร็จของประเด็นพิจารณาในแต่ละมาตรฐานไม่เป็นไปตามแนวทาง จากการตรวจสอบพบว่า โรงเรียนทั้ง 22 แห่ง ได้กำหนดเป้าหมายและเกณฑ์การประเมินแต่โรงเรียนกำหนดเกณฑ์การประเมินความสำเร็จของประเด็นพิจารณาในแต่ละมาตรฐานไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด จำนวน 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 59.09 ดังนี้
- โรงเรียนไม่กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายความสำเร็จย่อยของแต่ละประเด็นพิจารณาตามมาตรฐานการศึกษา จำนวน 4 แห่ง โดยโรงเรียนไม่มีการกำหนดหรือจัดทำเอกสารตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายความสำเร็จย่อยของแต่ละประเด็นพิจารณาตามมาตรฐานการศึกษาที่จะใช้เป็นเกณฑ์การตรวจสอบและการประเมินตามสภาพบริบทของสถานศึกษา หรือเกณฑ์ความสำเร็จ
- โรงเรียนกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายความสำเร็จย่อยตามเป้าหมายของแต่ละประเด็นพิจารณาตามมาตรฐานการศึกษาไม่ชัดเจน จำนวน 9 แห่ง โดยโรงเรียนดำเนินการกำหนดและจัดทำเอกสารตามหัวข้อประเด็นพิจารณาตามมาตรฐานการศึกษา และค่าเป้าหมายเป็นระดับความสำเร็จจากเกณฑ์การตัดสินคุณภาพ 5 ระดับ หรือร้อยละ และได้กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย
ความสำเร็จย่อยของแต่ละประเด็นพิจารณา แต่ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายย่อยดังกล่าวยังไม่ชัดเจนยังไม่มีรายละเอียดที่จะแสดงถึงคุณภาพหรือปริมาณของความสำเร็จที่จะใช้เป็นเกณฑ์การตรวจสอบและการประเมินตามสภาพบริบทของสถานศึกษา
2.) โรงเรียนไม่กำหนดวิธีการประเมินความสำเร็จ และเครื่องมือการประเมินเพื่อการตรวจสอบและการประเมินผลการดำเนินงาน จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 77.27 โดยโรงเรียนไม่มีการกำหนดและจัดทำเอกสารวิธีการประเมินและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด รวมถึงแหล่งข้อมูลและหลักฐานอ้างอิงที่สนับสนุนการประเมินในแต่ละมาตรฐานการศึกษาและประเด็นพิจารณา และไม่สามารถระบุที่มาของคะแนนตามระดับผลการประเมินได้หรือระบุเหตุผลการตัดสินได้ว่า ผลที่ตัดสินมาจากกิจกรรมหรือผลการดำเนินงานเรื่องใด
3.) โรงเรียนไม่ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา จากการตรวจสอบพบว่า โรงเรียนไม่ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 18.18 ทำให้ไม่ทราบว่าบุคลากรที่มาทำหน้าที่ประเมินมีคุณสมบัติเป็นไปตามแนวทางที่สำนักการศึกษากำหนดหรือไม่ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งได้มอบหมายบุคลากรของสถานศึกษาด้วยวาจา และบางแห่งใช้วิธีทำหนังสือเชิญคณะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก
การดำเนินการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดส่งผลต่อการสร้างความน่าเชื่อถือต่อการจัดการศึกษา ที่ผลการประเมินอาจจะไม่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานการศึกษาอย่างชัดเจน และส่งผลต่อการนำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งมีสาเหตุจากครูบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุค่าเป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้ การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีวิเคราะห์ และสรุปข้อมูลตามมาตรฐาน และวิธีดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน ขาดการติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสำนักการศึกษา ในขั้นตอนการดำเนินการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา เช่น การกำหนดค่าเป้าหมาย การกำหนดตัวชี้วัดการกำหนดวิธีการประเมินความสำเร็จ และการจัดทำเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการตรวจสอบ
โดย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาสั่งการให้สำนักการศึกษาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดแนวปฏิบัติในการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน และส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่กำหนดในทิศทางเดียวกัน และพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากร
ในโรงเรียนให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา รวมถึงพัฒนาความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำกรอบแนวทางในการประกันคุณภาพไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา
2. กำหนดแนวทางการติดตามกระบวนการในการประกันคุณภาพของโรงเรียน เพื่อให้ทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ และหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาที่โรงเรียนกำหนด