"...จากการตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ในช่วงปีการศึกษา 2561-2563 โดยสุ่มตรวจสอบโรงเรียน จำนวน 22 แห่ง พบว่า ผลการดำเนินการ จัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ของสำนักงานเขตหรือโรงเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานครไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษา แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการจัดซื้อไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน..."
ประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร ตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ฉบับปรับปรุง ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินหลายประการ อาทิ จัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ที่มีความล่าช้า การส่งเสริม สนับสนุนเทคโนโลยี และพัฒนาระบบสารสนเทศทางการศึกษา ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เสื่อมเก่า ชำรุดจำนวนมาก พร้อมแจ้งเรื่องให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ
กรุงเทพมหานคร ตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 วรรคสาม กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อมความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น ซึ่งการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นการศึกษาภาคบังคับที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขกรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ การจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครถือเป็นภารกิจสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อรองรับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประเทศชาติ โดยมีสำนักการศึกษาและฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขต เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานประเภทสามัญศึกษาของกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบริหารงานโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของโรงเรียน
จากการตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ในช่วงปีการศึกษา 2561-2563 โดยสุ่มตรวจสอบโรงเรียน จำนวน 22 แห่ง พบว่า ผลการดำเนินการ จัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ของสำนักงานเขตหรือโรงเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานครไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษา แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการจัดซื้อไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนดังนี้
1. การดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียน ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อ ไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100.00 มีโรงเรียนที่ใช้ระยะเวลามาก สุดถึง 105 วัน ภายหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว และปีการศึกษา 2562 โรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อไม่ แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 68.18 มีโรงเรียนที่ใช้ระยะเวลามากสุดถึง 78 วัน ภายหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว
2. การดำเนินการจัดซื้อหนังสือเสริมการเรียน และหนังสือแบบฝึกหัด
2.1 การดำเนินการจัดซื้อหนังสือเสริมการเรียน ปีการศึกษา 2561 โรงเรียน ที่ดำเนินการจัดซื้อไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100.00 มีโรงเรียน ที่ใช้ระยะเวลามากสุดถึงจำนวน 125 วัน ภายหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว และปีการศึกษา 2562 โรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 77.27 มีโรงเรียนที่ใช้ระยะเวลามากสุดถึงจำนวน 70 วัน ภายหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว
2.2 การดำเนินการจัดซื้อแบบฝึกหัด ปีการศึกษา 2561 มีโรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อ ไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100.00 มีโรงเรียนที่ใช้ระยะเวลามาก ที่สุดถึงจำนวน 125 วัน ภายหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว และปีการศึกษา 2562 โรงเรียนที่ดำเนินการ จัดซื้อไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน จำนวน 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 72.73 มีโรงเรียนที่ใช้ระยะเวลา มากสุดถึงจำนวน 70 วัน ภายหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว สำหรับการดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด ในปีการศึกษา 2563 โรงเรียนส่วนใหญ่จัดซื้อได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน เนื่องจากมีการประกาศให้โรงเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานครเลื่อนการเปิดภาคเรียน จากเดิมกำหนดเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จึงทำให้มีระยะเวลาในการดำเนินการจัดซื้อมากขึ้น การที่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจัดซื้อหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียนและแบบฝึกหัด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร ไม่แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน ส่งผลกระทบทำให้นักเรียนขาดความเข้าใจในการ เรียนรู้ เนื่องจากไม่มีหนังสือใช้ประกอบการเรียนการสอน และไม่สามารถทบทวนความเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนหลังการเรียนการสอน และทำให้โอกาสในการใช้หนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และ แบบฝึกหัด ของนักเรียนลดลง เนื่องจากนักเรียนได้รับหลังจากเปิดภาคเรียน จึงไม่ได้ใช้อย่างเต็ม ประสิทธิภาพ
สตง. ระบุว่า ปัญหามีสาเหตุจากโรงเรียนขาดการให้ความสำคัญต่อการวางแผนและการดำเนินการจัดซื้อ หนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียนและแบบฝึกหัดให้แล้วเสร็จตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด โดยโรงเรียนยังขาดกระบวนการวางแผนที่ชัดเจน ทำให้มีการดำเนินการในบางขั้นตอนล่าช้า และขาด การกำกับ ติดตามให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินการเป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามหลักเกณฑ์และ แนวทางที่กำหนด รวมทั้งขาดการซักซ้อมเพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เบื้องต้น ผู้ว่าฯ สตง. มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาสั่งการให้ สำนักงานเขตดำเนินการดังนี้
1. กำชับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีการวางแผนโดยกำหนดกรอบระยะเวลาในแผน ให้ชัดเจน โดยพิจารณาให้สอดคล้องตามกรอบระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ทั้งการจัดทำ และขออนุมัติแผนการใช้จ่ายเงิน การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียน หนังสือ เสริมการเรียน และแบบฝึกหัด การรายงานผลการพิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียน หนังสือเสริมการเรียน และแบบฝึกหัด และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาในแต่ละ ขั้นตอนโดยให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย สนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
2. กำกับติดตามโรงเรียนในสังกัดอย่างต่อเนื่อง ให้การดำเนินการเป็นไปตามกรอบระยะเวลา ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอน กระบวนการจัดทำเอกสาร ตลอดจนซักซ้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนและปฏิบัติเป็นไปใน ทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ นอกจากปัญหาการดำเนินการจัดซื้อหนังสือเสริมการเรียน และหนังสือแบบฝึกหัดแล้ว ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ยังระบุถึงปัญหาการส่งเสริม สนับสนุนเทคโนโลยี และพัฒนาระบบสารสนเทศทาง การศึกษาด้วย จากการตรวจสอบ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561–2563 พบว่า โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ยังขาดเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบที่เพียงพอและมีคุณภาพ โรงเรียนส่วนใหญ่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน
โดยจากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียน จำนวน 21 แห่ง พบว่า โรงเรียน จำนวน 20 แห่ง มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน 1 คน ต่อ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และมีโรงเรียน เพียง 1 แห่ง ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทั้งนี้มีโรงเรียนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ตั้งแต่ร้อยละ 50.00 ขึ้นไป ของจำนวนห้องเรียนทั้งหมด จำนวน 13แห่ง โดยในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนทุกห้อง จำนวน 6แห่ง ซึ่งส่วนมากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่
ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์ และครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานครไม่มีคุณภาพ โรงเรียนทุกแห่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์ และครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับตามโครงการเช่าระบบและพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2559
เบื้องต้น จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียน จำนวน 21 แห่ง พบดังนี้
1) เครื่องคอมพิวเตอร์เก่า เสื่อมสภาพ และชำรุด โดยคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานได้แต่มีสภาพเก่าและเสื่อมสภาพ จำนวน 861 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 69.94 และมีคอมพิวเตอร์ ที่มีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ จำนวน 370 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 30.06
2) ครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์เก่า เสื่อมสภาพ และชำรุด โดยโต๊ะคอมพิวเตอร์ชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ จำนวน 47 ตัว คิดเป็นร้อยละ 3.61 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบเก้าอี้คอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้แต่มีสภาพเก่าและเสื่อมสภาพ จำนวน 996 ตัว คิดเป็นร้อยละ78.98 มีเก้าอี้ชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ จำนวน 265ตัว คิดเป็นร้อยละ 21.02 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบและเครื่องเสียงสำหรับใช้งานในห้องคอมพิวเตอร์มีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ จำนวน 7 เครื่องคิดเป็นร้อยละ 25.00 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบการที่โรงเรียนส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนติดขัด ส่งผลต่อครูผู้สอนและผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาขาดความรู้ ความสามารถ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ตลอดจนไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาที่พร้อมต่อการรองรับการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้ซึ่งมีสาเหตุจากขาดการเร่งรัดการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2563) ฉบับปรับปรุงโดยโครงการมีความล่าช้าต้องใช้ระยะเวลาเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างขอบเขตของงานและราคากลางซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งชะลอการดำเนินงานโครงการ ทำให้สำนักการศึกษาไม่สามารถดำเนินการลงนามสัญญาโครงการได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
สตง. ยังมีข้อสังเกต การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษาไม่เป็นไป ตามแผนที่กำหนด จากการตรวจสอบโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษา พบว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามแผน ที่กำหนด โดยมีผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนการดำเนินงานโครงการอย่างน้อยเป็นระยะเวลา ประมาณ 6 เดือน
กล่าวคือ สำนักการศึกษาได้กำหนดแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบ สารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษา โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานไว้ 2 ปี คือ ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึง เดือนกันยายน 2564) แต่ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษามีระยะเวลาการดำเนินงาน ตั้งแต่เริ่มขออนุมัติโครงการเมื่อเดือนตุลาคม 2562 จนถึงระยะเวลาสิ้นสุดตามสัญญาจ้างในวันที่ 12 เมษายน 2565 รวมใช้ระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 2 ปี 6 เดือน โดยในขั้นตอนการจัดทำ ขอบเขตของงาน (TOR) และราคากลาง มีการขอขยายระยะเวลาดำเนินการกำหนดร่างขอบเขต ของงาน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง เดือนกรกฎาคม 2563 รวมระยะเวลาประมาณ 7 เดือน เนื่องจากต้องใช้เวลามากในการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบของ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการศึกษา ส่งผลให้สำนักการศึกษาและ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเสียโอกาสในการใช้งานระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัด การศึกษา
ผู้ว่าฯ สตง. ได้มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาสั่งการให้สำนักงานเขตดำเนินการเร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และ ควบคุม กำกับดูแลให้ผู้รับจ้างมีการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้โครงการ แล้วเสร็จทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และควรมีการจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจจะ เกิดขึ้นเพื่อป้องกันความล่าช้าในการดำเนินโครงการที่อาจเกิดจากปัจจัยภายในองค์กรและภายนอก องค์กร
หากมีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันเช่นนี้อีกในอนาคต ให้กำชับและกำกับดูแล หน่วยงานที่รับผิดชอบให้มีการวางแผนการดำเนินงานโครงการที่ชัดเจนและจัดเตรียมข้อมูลที่เพียงพอ และครบถ้วนทั้งข้อมูลทางด้านพื้นฐานและข้อมูลทางด้านเทคนิคที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการ สนับสนุนการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้เป็นไปตามแผน ไม่ให้เกิด ความล่าช้าในการดำเนินการ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในรายงานการสอบสวนเรื่องนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการเสริมสร้างนักเรียนให้มีทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ตามโครงการโรงเรียนสองภาษา และการดำเนินงานสะเต็มศึกษา ที่ สตง. ตรวจสอบพบปัญหาเช่นกัน
รายละเอียดเป็นอย่างไร จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป