แต่ก็พอจะมีความโชคดีในข่าวที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติด้านวัคซีนอยู่บ้าง เนื่องจากว่าผลการวิจัยจากประเทศอาร์เจนตินาที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Regional Health เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ก่อนหน้านี้นั้นเผยให้เห็นว่าหลายประเทศที่ประสบปัญหากับการจัดหาวัคซีนสปุตนิกวีนั้นสามารถหาวัคซีนชนิดอื่นๆทดแทนได้ในการใช้งานโดสที่สอง
จากวิกฤติสงครามการสู้รบระหว่างประเทศยูเครนและประเทศรัสเซียที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดปัญหาในหลายด้านนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เคยนำเสนอรายงานไปแล้วตอนหนึ่งว่า ปัญหาจากสงครามในครั้งนี้อาจจะส่งผลทำให้วิกฤติไวรัสโควิด-19 นั้นมีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามสำนักข่าว Nature ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการรายงานข่าวว่าอีกปัญหาหนึ่งที่สงครามในครั้งนี้จะส่งผลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็คือปัญหาในแง่ของอุปทานด้านวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะยี่ห้อสปุตนิกวี ที่ผลิตจากประเทศรัสเซียเอง
โดยสำนักข่าวอิศราได้นำเอารายงานผลกระทบเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
วัคซีนสปุตนิกวี ของประเทศรัสเซียเป็นวัคซีนที่ตั้งชื่อตามดาวเทียมดวงแรกของประเทศรัสเซีย โดยเป็นวัคซีนประเภทอะดีโนไวรัส เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งวัคซีนชนิดนี้นั้นถูกผลิตและเผยแพร่สู่ตลาดในช่วงปี 2563 และตอนนี้ก็ได้มีการใช้งานวัคซีนนี้ในลักษณะฉุกเฉินไปแล้วมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยมีรายงานว่ามีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนนั้นจะได้รับวัคซีนชนิดนี้เป็นโดสแรก ซึ่งวัคซีนที่ว่านี้นั้นถือว่าเป็นวัคซีนที่มีราคาถูกมาก ถ้าหากเปรียบเทียบกับวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นทั้งในยุโรป,สหรัฐอเมริกา และในประเทศจีน
โดยวัคซีนสปุตนิกวีนั้นจะมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันออกไปในโดสที่หนึ่งและโดสที่สอง ซึ่งวัคซีนโดสที่หนึ่งจะประกอบไปด้วยอะดีโอไวรัส Ad26 ที่บรรจุรหัสพันธุกรรมของโปรตีนหนามสำหรับไวรัสโควิด-19 เอาไว้ และตามมาด้วยวัคซีนที่จะฉีดในโดสที่สองที่จะบรรจุอะดีโนไวรัสประเภท Ad5 เอาไว้
อย่างไรก็ตาม การใช้วัคซีนสปุตนิกวีที่เพิ่งจะเริ่มต้นฉีดเป็นโดสแรกในหลายประเทศทั่วโลกนั้นอาจจะเผชิญกับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องมาจากการที่ประเทศรัสเซียได้ตัดสินใจรุกรานประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ซึ่งการรุกรานดังกล่าวนั้นได้บดบังการค้าในอนาคตของวัคซีนสปุตนิกตามไปด้วย
แต่ก็พอจะมีความโชคดีในข่าวที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติด้านวัคซีนอยู่บ้าง เนื่องจากว่าผลการวิจัยจากประเทศอาร์เจนตินาที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Regional Health เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ก่อนหน้านี้นั้นเผยให้เห็นว่าหลายประเทศที่ประสบปัญหากับการจัดหาวัคซีนสปุตนิกวีนั้นสามารถหาวัคซีนชนิดอื่นๆทดแทนได้ในการใช้งานโดสที่สอง
รายงานข่าวผลการทดลองผสมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและสปุตนิกวีที่ประเทศอินเดีย เบื้องต้นพบว่าไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง (อ้างอิงวิดีโอจาก IndiaTVnews)
โดย นพ.อเลฮานโดร มัคเคีย นักระบาดวิทยาที่ทํางานให้กับกระทรวงสาธารณสุขของกรุงบัวโนสไอเรสได้กล่าวว่าจากการศึกษาวิจัยนั้นพบว่าส่วนประกอบของวัคซีนสปุตนิกวี ที่จะต้องฉีดในโดสที่สองนั้นสามารถจะทดแทนได้ด้วยการใช้วัคซีนประเทศ RNA หรือไม่ก็วัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้าในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ
ขณะที่ นพ.เฟอร์นัน กีรอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กรุงบัวโนสไอเรสได้แสดงความเห็นด้วยกับ นพ.มัคเคีย โดยระบุว่าการทดลองที่กรุงบัวโนสไอเรสนั้นพบว่าการใช้วัคซีน RNA นั้นมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้ทดแทนกันได้
โดยข่าวดังกล่าวนั้นอาจจะถือได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอุปทางวัคซีนสปุตนิกวีอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น สํานักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างประเทศของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้มีการบัญญัติให้ผู้พัฒนาวัคซีนสุปตนิกวี ซึ่งก็คือกองทุนรวมเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (RDIF) และผู้บริหาร RDIF ซึ่งก็คือนายคิริล ดิมิทรีฟนั้นอยู่บนบัญชีของหน่วยงานและบุคคลสำคัญของประเทศรัสเซียที่ต้องถูกคว่ำบาติ และต่อมาในวันที่ 12 มี.ค. สหภาพยุโรปก็ได้มีการคว่ำบาติ RDIF เช่นกัน
“RDIF นั้นถูกพิจารณาว่าเป็นกองทุนสำหรับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และถือเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองของประเทศรัสเซีย” แถลงการณ์จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุ
ส่วนที่ทำการ RDIF ในกรุงมอสโกนั้น ทางด้านของนายอเล็กซีย์ อูราซอฟ ผู้อํานวยการฝ่ายสื่อสารภายนอกของ RDIF ก็ไม่ได้มีการตอบอีเมลขอสัมภาษณ์แต่อย่างใด และเว็บไซต์ของ RDIF ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว ณ เวลานี้ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวทาสก์ที่ถือว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลรัสเซียก็ได้มีการลงถ้อยแถลงการณ์ของ RDIF ไว้ตอนหนึ่งว่า RDIF นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองใดๆ,ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการโต้ตอบประเทศยูเครน, และได้ปฏิบัติตามแนวทางการลงทุนที่ถือว่าดีที่สุดในโลก
RDIF ยังได้ออกคำเตือนด้วยว่าการจำกัดและการขัดขวางนั้นท้ายที่สุดแล้วอาจจะส่งผลทำให้ประชาชนนับพันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่ถือว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุดซึ่งผลิตในประเทศรัสเซียได้
ขณะที่ศูนย์วิจัยระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาลียา ในกรุงมอสโก นพ.เดนิส โลกูนอฟ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนในการเขียนบทความของ Lancet เกี่ยวกับผลการศึกษาวัคซีนสปุตนิกวีในปี 2564 นั้นก็ไม่ได้ตอบคำถามเช่นเดียวกัน
กลับมาที่กรุงบัวโนสไอเรส นพ.มัคเคียกล่าวว่าที่ผ่านมา ในช่วงแรกนั้นประเทศอาร์เจนตินามีการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะไม่เหมาะสม เกี่ยวกับการใช้งานวัคซีนในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลอาร์เจนตินาได้เลือกที่จะใช้วัคซีนสปุตนิกวีเพียงชนิดเดียวเลยแทนที่จะใช้วัคซีนอื่นๆประกอบกันไป
“การตัดสินใจของรัฐบาลแห่งชาติที่จะพึ่งพาแค่ความพร้อมของวัคซีนสปุตนิกวีนั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด”นพ.แมคเคียกล่าววิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากว่าในช่วงประมาณกลางปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ก่อนการรุกรานประเทศยูเครนนั้น ก็พบเหตุการณ์ที่ประเทศรัสเซียนั้นไม่สามารถจะจัดส่งวัคซีนในโดสที่สองที่บรรจุอะดีโนไวรัส Ad5 มาให้ได้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว มีประชาชนของอาร์เจนตินาจำนวน 2 ใน 3 ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว
“ผู้ผลิตวัคซีนในรัสเซียไม่สามารถที่จะส่งมอบวัคซีนได้ตามที่มีการตกลงกันเอาไว้ และส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนมากที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ตามกำหนดนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยง” นพ.แมคเคียกล่าวและตำหนิการผลิตในประเทศรัสเซียว่าทำให้เกิดความล่าช้า
อย่างไรก็ตาม นพ.แมคเคียยังได้กล่าวโทษอีกว่าปัญหาการขาดวัคซีนอื่นๆที่เกิดในปี 2564 นั้นมาจากการที่กลุ่มประเทศจี 7 ได้มีการกักตุนวัคซีนในปริมาณมากเกินไป ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประชากรจำนวนมาก
โดยในช่วง ส.ค. 2564 มีรายงานว่ามีประชาชนในกรุงบัวโนสไอเรสกว่า 170,000 ราย ที่ต้องรอวัคซีนสปุตนิกวีในโดสที่สอง ซึ่งทางออกสำหรับวิกฤติในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือว่ารัฐบาลสหรัฐฯได้มีการบริจาควัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาคิดเป็นจำนวนมากกว่า 3 ล้านโดสให้กับประเทศอาร์เจนตานาในช่วงฤดูร้อนปี 2564
แต่ทว่าไม่เคยมีหลักฐานปรากฎให้เห็นมาก่อนเลยเกี่ยวกับการใช้วัคซีนผสมกันระหว่างวัคซีนสปุตนิกกับวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา โดย นพ.แมคเคียได้อธิบายว่ามีการแบ่งแยกงานวิจัยกันชัดเจนระหว่างประเทศที่ร่ำรวย กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและประเทศที่มีรายได้ต่ำ
“ที่ผ่านมามีการทดลองทางคลินิกที่ทดสอบความปลอดภัยของการใช้วัคซีนผสมกันระหว่างวัคซีนที่ใช้อะดีโนไวรัสอย่างแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ แต่ไม่พบว่ามีวัคซีนสปุตนิกแต่อย่างใด” นพ.แมคเคียกล่าว
ส่วนที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย นพ.แอนทอน บาร์ชุก หัวหน้าสถาบันวิจัยสหวิทยาการสุขภาพที่มหาวิทยาลัยยุโรปที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และยังเป็นผู้วิจัยวัคซีนสปุตนิกนั้นก็ได้กล่าวว่าตัวเขาไม่เคยทราบถึงการศึกษาก่อนหน้านี้อันเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนสปุตนิกเป็นโดสแรก และตามด้วยวัคซีนชนิดอื่นเป็นโดสถัดไป
“สำหรับในประเทศรัสเซีย มันเป็นเรื่องที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่จะมีประชาชนจำนวนมากจะได้รับวัคซีนอื่นหลังจากได้วัคซีนสปุตนิก” นพ.บาร์ชุกกล่าวผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 8 มี.ค.
อนึ่งประเด็นเรื่องการขาดข้อมูลเกี่ยวกับการผสมวัคซีนที่แตกต่างกันสำหรับวัคซีนสปุตนิกวีนั้น ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่วัคซีนยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
“ WHO ยังไม่มีการออกคำแนะนำเชิงนโยบายใดๆสำหรับวัคซีนสปุตวิกวี รวมไปถึงการผสมวัคซีนกับวัคซีนชนิดอื่น ” พญ.มาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษก WHO กล่าวและกล่าวต่อว่าการกำหนดนโยบายสำหรับวัคซีนนั้นจะออกให้สำหรับผลิตภัณฑ์วัคซีนที่มีรายชื่อการอนุมัติการใช้งานฉุกเฉินของ WHO หรือว่า EUL หรือไม่ก็เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ถูกขึ้นทะเบียนโดย WHO (WLA)
WHO ประกาศเลื่อนการประเมินวัคซีนสปุตนิกวี อันเนื่องมาจากปัญหาความยากลำบากในการเดินทางไปประเทศรัสเซียในช่วงวิกฤติยูเครน (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวอารีรัง)
อย่างไรก็ตามทางด้านของ นพ.กีรอสเองได้ยืนยันว่า ณ เวลานี้นั้นความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการผสมวัคซีนนั้นถือเป็นที่ประจักษ์แล้ว ดังนั้นการใช้เขาเชื่อว่าผู้ใช้ฉีดวัคซีนสปุตนิกวีเป็นโดสแรกจะมีความมั่นใจได้ว่าจะสามารถรับวัคซีนในโดสอื่นเป็นโดสที่สองต่อไปได้
เรียบเรียงจาก:https://www.nature.com/articles/d41591-022-00042-y