"...สำหรับความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทรมาน และ อุ้มหาย มีอายุความ 40 ปี อย่างไรก็ตาม กรณีความผิดเกี่ยวกับอุ้มหาย ไม่ให้เริ่มนับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย..."
"การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย"
เป็นเหตุผลที่ระบุในการตรา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... หรือที่เรียกันว่า 'ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย' เพื่อกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย
ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED)
อีกประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ไทยไม่เคยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว ทำให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีกรณีที่มีบุคคลถูกซ้อมทรมาน-อุ้มหาย และมีอีกหลายคดีที่ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของบุคคลเหล่านั้นจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากการจัดนิทรรศการ 'แด่นักสู้ผู้จากไป' For Those Who Died Trying เมื่อปี 2560 ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ องค์กร PROTECTION international พบว่า ตั้งแต่ปี 2547-2560 มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชน ถูกบังคับให้สูญหายหรือเสียชีวิตกว่า 59 คน
อาทิ กรณี นายสมชาย นีละไพจิตร หรือ 'ทนายสมชาย' นักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 , กรณีของ 'บิลลี่' หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมนำตัวไปสอบสวน ก่อนหายตัวไปอ่ยางไร้ร่องรอยเมื่อปี 2557
หลังหลายฝ่ายพยายามผลักดันกันมาหลายครั้ง ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ได้ผ่านการพิจารณาของผู้แทนราษฎรวาระสาม เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 จากนั้นวุฒิสภาจะต้องพิจารณาอีกสามวาระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
ซึ่งก่อนปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 วุฒิสภาได้ลงมติรับหลักการวาระที่หนึ่ง พร้อมตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) 25 คนให้ทำหน้าที่
โดย กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ได้มีมติเลือก พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธาน เหลือเวลาอีก 55 วัน นับแต่วันเปิดสมัยประชุมในวันที่ 22 พ.ค.2565
ภาพจาก For Those Who Died Trying
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ส่งถึงมือวุฒิสภา มีทั้งหมด 5 หมวด 46 มาตรา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ ดังนี้
'ผู้เสียหาย'ครอบคลุมถึงคนรอบตัวผู้ที่ถูกทำให้สูญหาย
ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดความหมายของคำสำคัญไว้ 4 คำ ประกอบด้วย
'ผู้เสียหาย' หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ จากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึงสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกับฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย
'เจ้าหน้าที่รัฐ' หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจหรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย จากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย
'คณะกรรมการ' หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
'ควบคุมตัว' หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกันอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล
นิยามความผิดฐาน'ทรมาน-ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์'
กำหนดให้ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน
- ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
- ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
- ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
- เหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การกระทำความผิดตามาตรา 5 ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติหรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย
'อุ้มหาย'เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรม
สำหรับการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ทั้งนี้ยังกำหนดด้วยว่า การกระทำความผิดข้างต้นให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น
ต้องสืบสวนจนกว่าจะพบผู้ที่ถูก'อุ้มหาย'
รายละเอียดของกฎหมาย ยังกำหนดให้ การกระทำความผิดฐานทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการทำให้บุคคลสูญหาย แม้เกิดนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับโทษในราชอาณาจักร โดยให้นำความในมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
นอกจากนี้ ความผิดฐานทรมาน และ การทำให้บุคคลสูญหาย ไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
ยังกำหนดให้การทำให้บุคคลสูญหาย ให้สืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้ถูกกระทำความผิด
นิรโทษกรรม-ยกเว้นความผิดเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้
นอกจากนั้น ร่างกฎหมายยังกำหนดว่า พฤติการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามกฎหมายนี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ กฎหมายนิรโทษกรรมและข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายใดไม่ให้นำมาใช้บังคับกับความผิดตามกฎหมายนี้
และยังกำหนดด้วยว่า ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย
รมว.ยุติธรรม นั่งประธาน กก.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ชื่อว่า 'คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย'
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ มี รมว.ยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งข้าราชการของกรมเป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่เกิน 2 คน
นอกจากนั้นยังให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหา 7 คน แบ่งเป็น ผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 2 คน ด้านกฎหมาย 1 คน แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ 1 คน แพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ 1 คน และผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหาย 2 คน
โดยการสรรหา ให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา 1 ชุด มี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน มีกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสภาทนายความ ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 8 คน แบ่งเป็นฝ่ายค้านและรัฐบาล ฝ่ายละ 4 คน
กำหนดหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- เสนอความเห็นต่อ ครม.หรือหน่วยงานของรัฐให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมาตรการอื่นที่จำเป็น
- กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหา
- กำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหายอย่างครอบคลุม โดยคำนึงถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้
- กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาด้านการเงินและจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แก่ผู้เสียหาย โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
- กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการปกปิดการควบคุมตัวบุคคลรวมทั้งมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูล
- ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน
- ตรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวโดยพลัน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด ทั้งนี้หากสถานที่ไม่อยู่ในการครอบครองของรัฐหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม ให้เข้าไปเมื่อมีหมายของศาล
- พิจารณารายงานสถานการณ์ รายงานผลการดำเนินการประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อเผยแพร่ต่อประชาชน
- ตั้งที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
- วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่
- วางระเบียบอื่นๆ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายนี้
ภาพจาก For Those Who Died Trying
ร้องศาลเปิดเผยข้อมูลการควบคุมตัวได้
สำหรับแนวทางการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างน่าสนใจ ดังนี้
การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถบันทึกได้ ทั้งนี้ให้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ นามสกุล ตำหนิรูปพรรณ วัน เวลา และสถานที่ของการควบคุมตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุม เช่น ญาติ ผู้แทนหรือทนายความ หรือคณะกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวได้ หากได้รับการปฏิเสธ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งเปิดเผยข้อมูลได้
กรณีผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตาย ให้เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ แจ้งคณะกรรมการทราบ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมานในระหว่างควบคุมตัวโดยพลัน
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการทรมาน
กรณีที่ปรากฎต่อศาลว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาเนื่องจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้
ผู้ใดพบเห็นหรือทราบการกระทำความผิด ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้หากผู้แจ้งกระทำโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดตามที่แจ้ง
ไม่นับอายุความคดีอุ้มหายจนกว่าจะทราบชะตากรรม
ความผิดตามร่างกฎหมายนี้ ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
สำหรับความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทรมาน และ อุ้มหาย มีอายุความ 40 ปี อย่างไรก็ตาม กรณีความผิดเกี่ยวกับอุ้มหาย ไม่ให้เริ่มนับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย
สำหรับความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีอายุความ 10 ปี
ทรมาน-อุ้มหายโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1 ล.
สำหรับบทกำหนดโทษ ผู้ใดกระทำผิดฐานทรมาน หรือ ทำให้บุคคลสูญหาย ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท ถ้าทำให้เสียชีวิตระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000 – 1,000,000 บาท
ผู้ใดกระทำผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่ผู้ถูกกระทำเป็นผู้ที่อายุไม่เกิน 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ เพราะอายุหรือความเจ็บป่วย ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง
ผู้ใดสมคมเพื่อกระทำความผิด ระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
หากผู้กระทำความผิด ช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกกระทำให้สูญหายก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัส หรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้
ผู้บังคับบัญชาทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิด และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด ระวางทากึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ยังคงมีสถานะเป็นร่างกฎหมาย ที่ต้องรอให้ผ่านการพิจารณาในสภา และประกาศให้มีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน ดังนั้นรายละเอียดทั้งหมดยังสามารถูกปรับเปลี่ยนได้ระหว่างการพิจารณา