“..การตั้งครรภ์จะต้องมีการเตรียมตัววางแผนที่ดี โดยคนไทยยังขาดเรื่องนี้ และพบว่า มีการตั้งครรภ์บังเอิญ ตั้งครรภ์ไม่ต้องการ โดยการวางแผนตั้งครรภ์ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น ลดน้ำหนักเตรียมตั้งครรภ์ รักษาโรคประจำตัวให้ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันครรภ์พิการ ยังมีโครงการแบบนี้น้อยในประเทศไทย ขณะที่การตั้งครรภ์คุณภาพต้องเกิดจากการดูแลที่มีคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องอายุของหญิงตั้งครรภ์ที่มากขึ้น ก็มีโอกาสทำให้เด็กในครรภ์พิการทางสมองได้..”
เมื่อปี 2563 ไทยเข้าสู่ยุคที่เด็กเกิดใหม่น้อยลงเหลือ 5.4 แสนคน ลดลงจากปี 2562 ถึง 4.2 หมื่นคน สวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิต 5.6 แสนคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าจำนวนการเกิดถึง 1.9 หมื่นคน เป็นปรากฎการณ์ที่การเกิดน้อยกว่าตายครั้งแรก ซึ่งแสดงได้เห็นว่าประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และหากปล่อยให้อัตราการเกิดน้อยลงต่อไปเรื่อย ๆ จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตได้
ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่า ไทยอาจเหลือประชากรไม่ถึง 40 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และปัญหาโครงสร้างประชากรนี้ จะกระทบกับอีกหลายเรื่อง ทั้งด้านสังคม ที่ทำให้กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้านเศรษฐกิจ ที่อาจมีปัญหาเรื่องแรงงานตามมาอีกด้วย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นับตั้งแต่การประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา เมื่อปี 2562 ถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนการเกิดต่ำกว่า 6 แสนคน และล่าสุดเหลือเพียง 5.4 แสนคน ทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ลดเหลือแค่ 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคงในอนาคต
ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง 12.8% วัยทำงาน 56% วัยสูงอายุ 31.2% ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งนับเป็นภาระหนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้อีกด้วย
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2565 เป็นปีเริ่มต้นขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะครึ่งแผนหลัง (พ.ศ. 2565 – 2570) ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ในระยะ 4 ปี สำหรับการผลักดันสิทธิประโยชน์การช่วยเหลือภาวะมีบุตรยาก ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. ให้เป็นบริการที่เข้าข่ายการให้สิทธิ (Inclusion) การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุต่ำว่า 3 ปี ซึ่งมีการขับเคลื่อนต่อโดยลดอายุ ลงเป็นต่ำกว่า 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรอบรมครูพี่เลี้ยงและการจัดทำแบบการก่อสร้าง และมีโครงการจากความร่วมมือหลายโครงการ แต่ยังพบว่า จำนวนการเกิด อัตราการเจริญพันธุ์รวม อัตราการคลอดในหญิงอายุ 20 - 34 ปี ลดลง และมีแนวโน้มจะลดลงอีก
“ส่วนคุณภาพการเกิด และการเจริญเติบโตของเด็กไทยยังคงเป็นปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการจัดการในทุกด้านแบบองค์รวม โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ เสนอให้รัฐบาลมีการประกาศนโยบายประชากร ‘รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อม มีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน’ โดยการมีบุตรนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผน และมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงมีการช่วยเหลือคู่ที่ประสบภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น” นายสาธิต กล่าว
โดยมีมาตรการคู่ขนานไปกับข้อเสนอ ดังนี้
-
เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมแก่คนรุ่นใหม่ในการสร้างครอบครัวและมีบุตรในวัยอันควร
-
ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็ก อายุ 0 - 5 ปี
-
ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อน ก่อนวัยเรียนในเวลากลางวัน ที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ
-
ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลง เพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรการในการส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้นในด้านคุณภาพของการมีบุตร กรมอนามัยได้มีการขับเคลื่อนผ่านทางคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และการดูแลในช่วงคลอด เพื่อให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ และเด็กที่เกิดมาทุกรายมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะเติบโตและมีพัฒนการสมวัยต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 นายสาธิต กล่าวถึงการแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดต่ำสุดในรอบ 50 ปี ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นปัญหาเหมือนกันว่าจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหากันตั้งแต่วันนี้ โดยมีคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือรัฐบาลเปลี่ยนแปลง โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเข้าใจและตระหนักดี และพยายามผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ในส่วนของคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ก็เดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งทำแล้วระดับหนึ่ง แต่หากจะปรับเปลี่ยนค่านิยม ต้องทำให้น่าสนใจขึ้นมา
“เบื้องต้นได้มอบให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสุขสนุกในการเลี้ยงลูก มาเป็นตัวอย่างการวางแผนครอบครัว ซึ่งจะมีต้นแบบในแต่ละพื้นฐานรายได้ครอบครัว หากรัฐบาลช่วยกันทั้งหมดทุกกระทรวง ก็จะค่อยๆทำให้ฐานความคิดคนเริ่มเปลี่ยน อาจจะอย่างน้อย 5 ปี” นายสาธิต กล่าว
ขณะที่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว ‘ทางออกประเทศไทยในยุคเด็กเกิดน้อย’ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ราชวิทยาลัยส่งเสริมการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยการรักษาผู้มีบุตรยาก ขณะนี้ มีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นแต่คาดว่ายังไม่เพียงพอ การรักษาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด รักษา 100 คน ที่สำเร็จ จะมีประมาณ 30 คน ค่าใช้จ่ายสูงถึงล้านบาท ทั้งนี้ เราจะไปร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อออกระเบียบรักษาผู้มีบุตรยากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนประเด็นการตั้งครรภ์ ขอเน้นย้ำว่า จะต้องมีการเตรียมตัววางแผนที่ดี โดยคนไทยยังขาดเรื่องนี้ และพบว่า มีการตั้งครรภ์บังเอิญ ตั้งครรภ์ไม่ต้องการ โดยการวางแผนตั้งครรภ์ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น ลดน้ำหนักเตรียมตั้งครรภ์ รักษาโรคประจำตัวให้ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันครรภ์พิการ ยังมีโครงการแบบนี้น้อยในประเทศไทย ขณะที่การตั้งครรภ์คุณภาพต้องเกิดจากการดูแลที่มีคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องอายุของหญิงตั้งครรภ์ที่มากขึ้น ก็มีโอกาสทำให้เด็กในครรภ์พิการทางสมองได้
ฉะนั้น ราชวิทยาลัยฯ จึงได้พัฒนาการดูแลหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองภาวะปัญญาอ่อนในเด็ก รักษาเบาหวานของแม่ ดูแลครรภ์ภาวะเป็นพิษ ไปจนถึงปัญหาครรภ์แฝดที่เส้นเลือดเชื่อมกัน ก็ใช้เทคโนโลยีแยกครรภ์ให้เด็กรอดทั้งคู่ ซึ่งจะพัฒนากันต่อเนื่องต่อไป
ทางด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยมีสาเหตุมาจากคนมีลูกช้าลง เพราะกว่าจะเรียนจบ สร้างฐานะครอบครัว เมื่อมีบุตรก็ไม่มีเวลาเลี้ยง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนจึงไม่ต้องการมีภาระในการเลี้ยงดูบุตร หรือคู่แต่งงานแล้วไม่อยากมีบุตร และด้วยความรู้เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ที่เข้าถึงได้ง่าย
“ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ตอนนี้ทางยุโรป ฝรั่งเศส ดีขึ้นในการรักษาประชากรให้คงที่ ส่วนไทยเราเกิดประชากรเฉลี่ย 1.3 ต่อหญิงหนึ่งคน เราต้องการเป็น 2.1-2.3 เพื่อรักษาประชากรให้คงที่ เพราะตอนนี้ลดลงเรื่อย ๆ อีกไม่กี่ปีจะเหลือ 40 ล้านคนได้ ดังนั้น หากจะรักษาประชากรต้องมีลูก 2-3 คน อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนเด็กควรจะให้เป็นระยะยาว ส่วนการทำงานที่บ้านก็จะช่วยให้พ่อแม่มีเวลาดูแลลูกที่บ้านได้ อบรมให้พ่อมีส่วนช่วยดูแล อย่างต่างประเทศที่ให้พ่อหยุดงานเพื่อดูแลลูกด้วย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการนำเสนอแนวทางและแผนที่จะดำเนินการในงาน ‘ทางออกประเทศไทยในยุคเด็กเกิดน้อย’ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
กระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย
-
มอบสิทธิตรวจดาวน์ซินโดรมครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ในทุกกลุ่มอายุ และทุกการตั้งครรภ์
-
สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์
-
คัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
-
ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 25 - 59 ปี
-
เพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองซิฟิลิส และในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
-
กําหนดให้การรักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม
-
จัดบริการแบบ ONE STOP SERVICE ณ คลินิกฝากครรภ์
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
-
เฝ้าระวัง คุมเข้มการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์
-
ผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ หรือกฎหมายอุ้มบุญ โดยส่วนที่จะปรับแก้ไข คือ สามารถรับจ้างอุ้มบุญได้ โดยคนที่จะมาเป็นแม่ ที่อุ้มบุญต้องขึ้นทะเบียนและมีรายได้ เพื่อจะได้ไม่ไปลักลอบ รับจ้างผิดกฎหมาย เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาทาอุ้มบุญในไทย รวมถึงเปิดฝากไข่ สเปิร์ม และตัวอ่อนได้ด้วย สำหรับหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นสายเลือดเดียวกันกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเคยมีบุตรมาแล้ว โดยคลอดทารกตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หากผ่าคลอดต้องไม่เกิน 1 ครั้ง และมีอายุระหว่าง 20 - 40 ปี ทั้งนี้ หญิงรับตั้งครรภ์แทนรับอุ้มได้ไม่เกิน 2 ครั้ง คู่สมรสที่ใช้วิธีการอุ้มบุญต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และห้ามเลือกเพศทารก
กระทรวงมหาดไทย
กรมการปกครอง
-
ให้คู่สมรสเข้าร่วมแพลตฟอร์ม ‘วิวาห์ สร้างชาติ’ เพื่อยกระดับการสร้างความรู้ด้านอนามัย การเจริญพันธุ์
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
-
จัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 3 ปี และ จัดให้บริการทางการศึกษาให้กับเด็กอายุ 2 – 5 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายปัจจุบัน
-
การพัฒนาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็ก
-
การส่งเสริมการทำงานของ รพ.สต. เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนในพื้นที่
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กรมกิจการเด็กและเยาวชน
-
จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (Child Support Grant) ให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย สมาชิกครัวเรือนมีรายได้ เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปีแก่เด็กที่มีสัญชาติไทย และเกิดตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป รายละ 600 บาท ต่อเดือน จนมีอายุครบ 6 ปี
-
เชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรก เกิด กับฐานข้อมูลคลังสุขภาพ (HDC)
-
การขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติที่เป็น มาตรฐานกลางของประเทศ
-
การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Dataด้านเด็กและเยาวชน
กรมกิจการสตรีและ สถาบันครอบครัว
-
สนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพครอบครัว
-
พัฒนาระบบการให้คำปรึกษา Family Line / Web Application ‘เพื่อนครอบครัว’ พัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย
-
เชื่อมโยงฐานข้อมูล Family Big Data
-
ให้คนมีบุตรเพิ่มมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้ข้าราชการหญิงลาคลอดได้เพิ่มขึ้น สนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมมารดาอย่างเดียวนาน 6 เดือน การอนุญาตให้ข้าราชการชายลาเพื่อดูแลภรรยาและบุตร หรือการให้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีเวลาเปิด-ปิดให้สอดคล้องกับวิถี ชีวิตคนงานทำงานตามบริบทพื้นที่
กระทรวงแรงงาน
กรมการสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน
-
ส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ
-
ส่งนมแม่ถึงลูกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
-
ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กเพื่อผู้ใช้แรงงาน เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ
-
ส่งเสริมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์
สำนักงานประกันสังคม
-
ให้สิทธิการลาคลอด หญิงตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ 98 วัน ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการลา คลอดบุตร แบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนโดยเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน
-
ผู้ประกันตนจะได้ค่าตรวจและฝากครรภ์ จํานวน 1,500 บาท ไม่เกิน 5 ครั้ง พร้อมจ่ายค่าคลอดบุตร เพิ่ม เป็น 15,000 บาท
-
ให้สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร 800 บาท ต่อบุตร 1 คน โดยได้รับคราวละ ไม่เกิน 3 คน จนกว่า บุตรจะมีอายุครบ 6 ปี
-
เสริมวิตามินก่อนตั้งครรภ์ วิตามินโฟลิก ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน ต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์จนถึง 6 เดือนหลังคลอดขณะให้นมบุตร
-
การจัดตั้งมุมนมแม่
-
ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กเพื่อผู้ใช้แรงงาน ให้นายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการให้ความสําคัญในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ สําหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 3 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 4,000 บาท
-
ให้บริการตรวจสุขภาพให้กับ ผู้ประกันตนจำนวน 14 รายการ เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจเต้านม ตรวจตา ตรวจไต X-ray ปอด เป็นต้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ทั้งหมดนี้ คือแผนการส่งเสริมการเกิดของแต่ละหน่วยงาน จะต้องติดตามต่อไปว่าจะได้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากการแก้ปัญหาอัตราการการเกิดที่ลดลง ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น