"..ผลการทดสอบเพิ่มเติมจากการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเซลล์ที่แสดงโปรตีนขัดขวางของ BA.1 และทดสอบแอนติบอดีกับ BA.1 และ BA.2 อีกครั้ง พบว่า BA.2 มีความทนทานมากกว่า BA.1 ถึง 6.4 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มแฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อ BA.2 มีความผิดปกติด้านสุขภาพ เช่น น้ำหนักลดมากกว่ากลุ่มที่ติดเชื้อ BA.1 และปริมาณของเชื้อ BA.2 ในปอดก็สูงกว่าของ BA.1 ด้วย.."
จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน พุ่งทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ทั้งที่สถานการณ์ดูมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเฝ้าระวังและจับตาเป็นพิเศษ
โดยสาเหตุมาจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน BA.2’ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสโควิดโอไมครอน ‘B.1.1.529’ หรือ ‘BA.1’ ที่กลายพันธุ์มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยสายพันธุ์ BA.2 ยังถูกเรียกขานว่าเป็น ‘สายพันธุ์ล่องหน’ เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกการตรวจหาเชื้อโควิด RT-PCR ได้ เรียกได้ว่าแม้จะตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่านี่เป็นสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่
นายแพทย์จอห์น เคนกาซอง (John Nkengasong) ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกา (Africa's Director of the Centers for Disease Control: CDC) กล่าวยืนยันเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันเชื้อโอไมครอน BA.2 เป็นตัวแปรสำคัญของการระบาดของโควิด-19 ในแอฟริกาใต้
ส่งผลให้เกิดคำถามว่า การคืบคลานอย่างต่อเนื่องของ SARS-CoV2 ใหม่ทั่วโลกนี้ อาจมาลดความหวังที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่?
“เรามีข้อมูลจากแอฟริกาใต้ว่าสายพันธุ์ BA.2 ได้กลายเป็นสายพันธุ์การระบาดหลักในแอฟริกาใต้แล้ว” นายแพทย์จอห์น กล่าว
โดยสายพันธุ์ดังกล่าวได้รับการตรวจพบแล้วในบอตสวานา เคนยา มาลาวี มอริเชียส และโมซัมบิก และมีแนวโน้มว่าจะมีอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของทวีปด้วยเช่นกัน ต่อจากรายงานก่อนหน้านี้จากยุโรป โดยเฉพาะเดนมาร์ก และอินเดียที่เชื้อ BA.2 มีมากขึ้นแซง BA.1 แล้ว จึงทำให้ BA.2 กลายเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่น่าจับตามองทั่วโลก
โควิดล่องหน กระจายตัวเร็วกว่าโอไมครอนดั้งเดิม
องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) เริ่มติดตาม BA.2 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ควบคู่ไปกับสายพันธุ์อื่นๆ ของโอไมครอน ได้แก่ BA.1.1 และ BA.3
ส่วน BA.2 ถูกเรียกว่าเป็น 'โควิดล่องหน' เพราะมีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่อาจทำให้แยกแยะได้ยากจากตัวแปรเดลต้ารุ่นก่อน ๆ เมื่อเทียบกับโอไมครอนดั้งเดิมตามข้อมูลของสมาคมการแพทย์อเมริกัน
WHO ได้จำแนกโอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลของ SARS-CoV2 ควบคู่ไปกับอัลฟ่า เบต้า และเดลต้า
แต่เนื่องจาก BA.2 เกี่ยวข้องกับโอไมครอนจึงเป็นข้อกังวลที่แตกต่างออกไป
แพทย์หญิงดอริส นิซซาน (Dorit Nitzan) ผู้ประสานงานของภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพสำหรับภูมิภาคยุโรปของ WHO อธิบาย ความกังวลรูปแบบต่างๆ (Variants of concern: VOCs) คือตัวแปรที่ WHO มีข้อมูลหรือสัญญาณเพียงพอให้กังวล และเตือนประชาชนให้ดูแลเป็นพิเศษ
ศาสตรจารย์วิลเลียม มอส (William Moss) ผู้อำนวยการศูนย์การเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ ในเมืองบัลติมอร์ กล่าวว่า เชื้อ BA.1 กับ BA.2 อาจจะเรียกว่าเชื้อที่มีความเชื่อมโยงเหมือนพี่สาว-น้องสาว
“สายพันธุ์นี้มีมานานแล้ว มันถูกระบุในช่วงเวลาเดียวกับ BA.1 ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมเหมือนพี่น้อง แต่เราไม่รู้จริง ๆ ว่าลำดับชั่วขณะซึ่งตัวแปรเหล่านี้พัฒนาขึ้น” ศาสตรจารย์วิลเลียม กล่าว
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจคือ BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า โดยอิงจากหลักฐานที่ปรากฎจากอินเดีย เดนมาร์ก และขณะนี้ในแอฟริกาใต้ เชื้อ BA.2 กำลังมีบทบาทสำคัญในการตั้งค่าเหล่านี้ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่ BA.1 แพร่กระจายมากที่สุด
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก รายงานว่า BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนเดิม ประมาณ 33%
"เราสรุปได้ว่าโอไมครอน BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้ดีกว่า BA.1 โดยเนื้อแท้ และยังมีคุณสมบัติในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ลดผลการป้องกันของการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อลงได้อีก" กลุ่มนักวิจัย ระบุ
แพร่เชื้อได้มากกว่า แต่ไม่อันตรายร้ายแรงถึงตาย
จากการศึกษาอื่น ๆ พบว่า เชื้อ BA.2 สามารถถ่ายทอดได้มากถึง 50% แต่ แพทย์หญิงดอริส กล่าวเสริมว่า เปอร์เซ็นต์นั้นไม่สำคัญจริงๆ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือคุณสามารถติดเชื้อได้เร็วขึ้น และก่อนที่ WHO จะติดป้ายกำกับจัดประเภทสายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ (VOC) จะต้องมีการจัดประเภทความน่าสนใจ (Variant of Interest: VOI) ซึ่หมายความว่านักวิทยาศาสตร์กำลังติดตามตัวแปรดังกล่าว แต่ยังคงเรียนรู้เกี่ยวกับตัวแปรดังกล่าว
“องค์การอนามัยโลกกำลังติดตามสายพันธุ์ต่างๆ ในหลายสายพันธุ์ และพบว่าหลายสายพันธุ์ไม่มีการพัฒนาหรือกลายพันธุ์” แพทย์หญิงดอริส กล่าว
แพทย์หญิงดอริส กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทุกคนมีเชื้อโควิด หากไม่สามารถป้องกันตนเองด้วยหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการฉีดวัคซีนด้วย
ศาสตรจารย์วิลเลียม กล่าวด้วยว่า แม้ BA.2 จะแพร่เชื้อได้ดีกว่า แต่ข่าวดีก็คือ ดูเหมือนว่าเชื้อจะไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงกว่าสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน แม้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนนั้น จะต่ำกว่าที่พบในสายพันธุ์ก่อนหน้านี้มาก แต่ก็ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้
“การเกิดขึ้นของ BA.2 จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป แต่อาจจะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อไปอีกหน่อย” ศาสตรจารย์วิลเลียม กล่าว
NeoCoV ไวรัสที่คนสนใจเกินควร
ไวรัสโคโรน่าอีกตัวที่ค้นพบในค้างคาวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนต้องตกใจกับ 'NeoCoV' ไวรัสค้างคาวชนิดใหม่ ที่ถูกพบในแอฟริกาใต้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับไวรัส MERS-CoV ที่ร้ายแรง ที่ทำให้เกิดการระบาเมื่อปี 2555 ในประเทศรอบคาบสมุทรอาหรับ โดยติดต่อจากอูฐสู่คน
ซึ่งแตกต่างจาก MERS NeoCoV ที่ใช้ตัวรับ ACE-2 เพื่อติดเชื้อในเซลล์ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับที่ทำให้ SARS-CoV2 และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานกรณีการพบ NeoCoV ในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 โดยนักวิทยาศาสตร์สถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่น ประเทศจีน ได้ออกมาเตือนว่า NeoCoV อาจอยู่ที่เกณฑ์ของการติดเชื้อของมนุษย์ เนื่องจากการดูดซับยีนส์ตัวรับ ACE-2
“การศึกษาแสดงให้เห็นกรณีแรกของการใช้ ACE2 ในไวรัสที่เกี่ยวข้องกับ MERS ซึ่งเผยให้เห็นถึงภัยคุกคามความปลอดภัยทางชีวภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดขึ้นของมนุษย์ของ ACE2 โดยใช้ 'MERS-CoV-2' ที่มีทั้งอัตราการเสียชีวิตและอัตราการแพร่เชื้อสูง”
ผลการศึกษา ระบุด้วยว่า NeoCoV มีลักษณะจีโนมบางอย่างของ MERS-CoV ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตมากกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าถึง 20 เท่า แม้ว่าจะแพร่เชื้อได้น้อยกว่ามาก
นอกจากนี้ ผลการศึกษา ระบุด้วยว่า การฉีดวัคซีนโควิดในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอต่อการปกป้องมนุษย์จากการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส
ขณะที่ ศาสตรจารย์วิลเลียม กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนคิดว่า NeoCoV ได้รับความสนใจมากกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถถ่ายทอดจากค้างคาวสู่มนุษย์ได้ สิ่งที่ได้จาก NeoCoV เป็นเพียงเครื่องเตือนใจว่ามีไวรัสที่มีศักยภาพมากมายที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดอีกได้
ภาพจาก: businessinsider.com
BA.2 ทนทานต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.1 ถึง 2.9 เท่า
ข้อสรุปจากการศึกษาตลอดต้นเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา พบว่า BA.2 มีความเป็นไปได้ว่าจะแพร่เชื้อมากกว่า BA.1 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่ามีศักยภาพในการแพร่กระจายเร็วขึ้นผ่านประชากร แต่ลักษณะสำคัญอื่น ๆ เช่น จะนำไปสู่การเพิ่มการรักษาในโรงพยาบาลหรือดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด
และข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (Health Sciences Authority:HSA) ระบุว่า วัคซีนมีผลกับ BA.2 เท่ากับ BA.1 ในแง่ของการป้องกันโรคตามอาการ โดยพิจารณาจากผู้ที่ได้รับการฉีดกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2565 กลุ่มนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นได้เผยแพร่ผลการศึกษาว่า BA.2 อาจเป็นสาเหตุของโรคได้มากกว่า ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคได้ และต้านทานต่อภูมิคุ้มกันก่อนหน้านี้ได้ดีกว่า BA.1 แต่ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวยังไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบประเมินคุณภาพ
นักวิจัยชาวญี่ปุ่น เปิดเผยว่า แฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อ BA.1 และได้รับซีรั่มฟื้นฟู จากการตรวจสอบตัวอย่างเลือด พบว่า หลังจากที่ร่างกายของพวกมันถูกกระตุ้นและตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน นั่นหมายความว่าเลือดของพวกมันมีแอนติบอดี
และเมื่อนำตัวอย่างแอนติบอดีของแฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อ BA.1 และ BA.2 มาเปรียบเทียบกัน พบว่า เชื้อ BA.2 มีความทนทานต่อแอนติบอดีมากกว่า BA.1 ถึง 2.9 เท่า
ผลการทดสอบเพิ่มเติมจากการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเซลล์ที่แสดงโปรตีนขัดขวางของ BA.1 และทดสอบแอนติบอดีกับ BA.1 และ BA.2 อีกครั้ง พบว่า BA.2 มีความทนทานมากกว่า BA.1 ถึง 6.4 เท่า
นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มแฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อ BA.2 มีความผิดปกติด้านสุขภาพ เช่น น้ำหนักลดมากกว่ากลุ่มที่ติดเชื้อ BA.1 และปริมาณของเชื้อ BA.2 ในปอดก็สูงกว่าของ BA.1 ด้วย
กลุ่มนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ระบุว่า จากผลการศึกษา เชื้อ BA.2 ควรได้รับการตั้งชื่อของตัวมันเอง และควรจัดให้เป็น 'สายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ ( Variant of Concern: VOC)'
แต่ทั้งนี้ มีข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงคือ การศึกษายังไม่ได้รับการตรวจสอบและประเมินผล ดังนั้นการค้นพบนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวัง ฟังหูไว้หู นอกจากนี้ การทดสอบในสัตว์ทดลองไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเช่นเดียวกันสำหรับมนุษย์เสมอไป
รองศาสตราจารย์เจเรมี คามิล (Jeremy Kamil) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยสุขภาพชรีฟพอร์ทหลุยเวียนาสเตท (Louisiana State University Health Shreveport) กล่าวว่า การศึกษาของนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นน่าเชื่อถือ แต่ตนก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในแบบจำลองการเพาะเชื้อในสัตว์ทดลองและเซลล์กับสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโรคของมนุษย์ อาจจะแตกต่างกัน
"ผมคิดว่าภูมิคุ้มกันต่อ BA.1 จะลดลง แต่ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อในผู้คนส่วนใหญ่ได้ จากการติดเชื้อ BA.2 ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ได้" รองศาสตราจารย์เจเรมีกล่าว
ขณะที่ ศาสตราจารย์เอียน โจนส์ (Ian Jones) นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้งในสหราชอาณาจักร (University of Reading, U.K.) กล่าวว่า ตนไม่เห็นข้อบกพร่องใดๆ ในการศึกษาของนักวิจัยชาวญี่ปุ่น แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เซลล์สัตว์และเซลล์มนุษย์มีความแตกต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ตรงกันอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตนก็เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ระบุว่า BA.2 นั้น สมควรได้รับการจัดประเภทว่าเป็น 'สายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ (VOC)' แต่ก็คิดว่าการเฝ้าติดตามในปัจจุบันก็เพียงพอแล้ว
"การทดลองที่แท้จริงกำลังดำเนินต่อไปในประชากรของโลกและเห็นได้ชัดว่ามีความรุนแรงของโรค น้อยลงกว่าเดิมมาก" ศาสตราจารย์เอียน กล่าว
ศาสตราจารย์มาร์ก แฮร์ริส (Mark Harris) นักชีววิทยาระดับโมเลกุลและเซลล์ มหาวิทยาลัยลีตในสหราชอาณาจักร (School of Molecular and Cellular Biology at the University of Leeds, U.K.) กล่าวว่า การศึกษาของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นนั้นน่าสนใจ แต่ก็สงสัยในความเป็นไปได้ที่การคาดการณ์ข้อมูลในห้องปฏิบัติการกับการติดเชื้อในมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 จะต้องติดตามต่อไปว่า จะมีการตั้งชื่อแยกสายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่ และความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น หรือวัคซีนจะมีประสิทธิภาพป้องกันได้มากน้อยเพียงใด
เรียบเรียงจาก:
Stealth Omicron BA.2 COVID Variant Could Be More Dangerous, Immune-Resistant Than BA.1—Study