“..เสียใจและเสียดายเพราะ โรงเรียนวรรณวิทย์ เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสในการผลิตเด็กๆ ที่เป็นทรัพยากรของประเทศโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้เติบโตจนกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศไทยมากว่า 70 ปี..”
‘โรงเรียนวรรณวิทย์’ เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ท่ามกลางตึกสูงราคาแพง ย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่กว่า 3 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี 2489 หรือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว โดย ‘หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา’ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2489
แรกเริ่มเมื่อ 68 ปีที่แล้ว กลุ่มเด็กซึ่งเป็นบุตรหลานของชาวบ้านในละแวกนั้น ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน หม่อมผิวเกิดความสงสาร และนำมาสอนหนังสือ โดยหม่อมผิวทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และสอนด้วยตัวเอง และไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน มีนักเรียนกลุ่มแรกเพียง 7 คนเท่านั้น ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ‘โรงม้า’
ต่อมาได้มีการซื้อที่เพื่อขยับขยายสร้าง ‘โรงเรียนวรรณวิทย์’ ขึ้น และเริ่มมีการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาตามสมควร แต่ก็อนุญาตให้ค้างค่าเล่าเรียนได้ เนื่องจากผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีความเป็นอยู่ขัดสน
ภายหลังเมื่อหม่อมผิว มีอายุมากขึ้น จึงให้ธิดาคนเล็กคือ ‘หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์’ สานต่ออุดมการณ์ เป็นผู้จัดการและครูใหญ่แทน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2497
หม่อมราชวงศ์รุจีสมร ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในบ้านหลังเล็กๆ รั้วเดียวกันกับโรงเรียน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ครูใหญ่จะพูดอยู่เสมอว่า “วรรณวิทย์เป็นที่ของแม่ โรงเรียนของแม่ และบ้านของแม่”
ปัจจุบัน โรงเรียนวรรณวิทย์มีครูและบุคลากรโรงเรียน จำนวนทั้งสิ้น 19 คน และนักเรียน จำนวนทั้งสิ้น 147 คน แบ่งเป็น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 9 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 17 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 17 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 27 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 31 คน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 0 คน (ไม่รับนักเรียนเพิ่มตั้งปีการศึกษา 2563) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 18 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 16 คน
หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์
ครูวราพร พงษ์รูป ผู้อำนวยโรงเรียนวรรณวิทย์คนปัจจุบัน ที่เป็นทั้งศิษย์เก่าและครูของโรงเรียนวรรณวิทย์ เล่าว่า ตนเติบโตมากับโรงเรียนแห่งนี้ เรียนที่นี่จบที่นี่ และกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึงปัจจุบัน
ในอดีต โรงเรียนวรรณวิทย์ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานยาสูบ ที่มีพนักงานจำนวนมาก โรงเรียแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน
คุณพ่อของตนเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่โรงงานยาสูบ ตนจึงได้เข้าเรียนโรงเรียนนี้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่จะเรียนต่อก็ลำบาก เนื่องด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดีนัก จึงมาขอโอกาสครูใหญ่ หรือ หม่อมราชวงศ์รุจีสมร เป็นคุณครูสอนในโรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 15 ปี
ครูวราพร กล่าวว่า ครูใหญ่ยังมอบโอกาสให้ตนไปศึกษาต่อ จึงได้สอนหนังสือไปด้วย และเรียนไปด้วยจนจบชั้นปริญญาตรี นอกจากนี้ยังได้รับความเมตตาจากครูใหญ่ ในการสอนงานด้านการบริหาร และส่งให้ไปศึกษาต่อจนจบชั้นปริญญาโทและได้ช่วยงานครูใหญ่มาโดยตลอด
จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องด้วยอายุที่มากและร่างกายที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลาของครูใหญ่ จนทำให้ทำงานเองไม่ไหว ตนจึงได้รับโอกาสในการเข้ามาบริหารงานแทน จนถึงปัจจุบัน
ครูวราพร เปิดเผยถึงสาเหตุที่จะต้องปิดตำนานโรงเรียนวรรณวิทย์ ว่า จำนวนนักเรียนลดลง เนื่องจากจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมเมือง บ้านพักอาศัย หายไปจำนวนมาก เกิดเป็นอาคารและห้างร้านขึ้นมาแทน ประกอบกับการย้ายไปของโรงงานยาสูบ ซึ่งเดิมนักเรียนของโรงเรียนจำนวนหนึ่งคือบุตรหลานของพนักงานโรงงานยาสูบ และชุมชนโดยรอบ เช่น ชุมชนตลาดอโศก ชุมชนไผ่สิงโต ชุมชนพระเจน ชุมชนมักกะสัน ส่งผลให้จำนวนนักเรียนลดลงมาก
อีกหนึ่งเหตุผล คือ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคล จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เดือนละ 134,000 บาท (จัดสรรตามจำนวนนักเรียน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายรายหัวภาครัฐ แต่มีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 303,000 บาท (ค่าเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 290,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟและค่าอื่น ๆ ประมาณ 13,000 บาท) ซึ่งปกติจะมีเงินจากค่าธรรมเนียมการศึกษามาใช้จ่ายในส่วนนี้
แต่ปัจจุบัน จำนวนนักเรียนลดลง และนักเรียนบางส่วนไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ เพราะผู้ปกครองไม่มีรายได้ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
ครูวราพร กล่าวด้วยว่า ด้วยความที่ครูใหญ่เก็บค่าเทอมนักเรียนถูกมาก ตนเคยถามว่าเพราะอะไรจึงเก็บค่าเทอมในราคาถูกก็ได้ทราบคำตอบว่า “ถ้าเราเก็บค่าเทอมมากกว่านี้เด็กยากจนเขาจะเรียนที่ไหน” แม้แต่เด็กบางรายที่ยากจนไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ครูใหญ่ก็ยกให้โดยไม่คิดค่าเทอม แม้โรงเรียนจะขาดทุน แต่ครูใหญ่ก็ยอมสละ ทรัพย์สมบัติส่วนตัว เพื่อประคับประคองโรงเรียนวรรณวิทย์มาจนถึงทุกวันนี้
“ท่านให้จนหมดตัว สมบัติมีเท่าไหร่ ท่านให้หมด เอามาโปะเงินเดือนคณะครูหมด ท่านพูดว่าครูต้องมีเงินเดือนต้องมีกินนะ เด็กนักเรียนต้องมีที่เรียน ส่วนตัวท่านไม่มีไม่เป็นไร เพราะตัวคนเดียว นั่นทำให้เรารู้สึกว่าคิดไม่ผิดเลยที่มาอยู่ใกล้ชิดท่าน อยู่ใกล้ท่านที่จิตใจดี มันคุ้มมาก เพราะเราได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่ตัวเรา เราโชคดีที่ได้อยู่กับท่าน” ครูวราพร กล่าว
แม้ว่าที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือรวมไปถึงนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เข้ามาในโรงเรียนรับรู้ถึงปัญหาภายในโรงเรียนและประทับใจในปณิธาน ของครูใหญ่ ที่ตั้งใจจะช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีการศึกษา ถึงได้เป็นจุดกำเนิดให้คนได้รู้จักโรงเรียนวรรณวิทย์ และรู้ถึงปัญหาที่โรงเรียนประสบอยู่ ทำให้มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนอยู่สม่ำเสมอ
ครูวราพร กล่าว่า เสียใจเพราะอุดมการณ์ของครูใหญ่คือจะปิดโรงเรียนก็ต่อเมื่อไม่มีนักเรียนแม้แต่คนเดียว แต่ปัจจุบันเหลือนักเรียนกว่าร้อยชีวิต แต่จำเป็นที่จะต้องปิดตัวลง เพราะสุดทางยื้อ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียนตัดสินใจที่จะยุติการเดินต่อของโรงเรียน เนื่องจากไม่สามารถที่จะหาเงินมาชำระยอดที่ขาดทุนในทุกเดือนละ 1.6 แสนบาททุกเดือนได้
“เสียใจและเสียดายเพราะ โรงเรียนวรรณวิทย์ เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสในการผลิตเด็กๆ ที่เป็นทรัพยากรของประเทศโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้เติบโตจนกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศไทยมากว่า 70 ปี” ครูวราพร กล่าว
ครูวราพร กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมาย ณ ขณะนี้ คือการส่งนักเรียนในปีการศึกษา 2564 นี้ให้ถึงฝั่ง โดยส่งนักเรียนปัจจุบันทั้งหมดให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแห่งใหม่ และสะสางหนี้ต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะส่งมอบคืนเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นทายาทของครูใหญ่ต่อไป
ครูวราพร พงษ์รูป
ครูพะเยา บุญส่ง ศิษย์เก่าและครูปัจจุบัน เปิดเผยว่า ตนเป็นศิษย์เก่าที่โรงเรียนวรรณวิทย์ เรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แม้ว่าบ้านอยู่ที่บางจาก ก็ยอมที่จะเดินทางมาเรียน และเมื่อจบการศึกษา ก็อยากจะกลับมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะมีความผูกพันธ์และคุ้นเคย และครูใหญ่ก็ได้มอบโอกาสให้ โดยเริ่มต้นจากการเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ก็นับว่าใช้ชีวิตในการเป็นครูมากว่า 30 ปีแล้ว
ครูพะเยา เปิดเผยความรู้สึกเมื่อรู้ข่าวว่าโรงเรียนวรรณวิทย์จะปิดตัวลง ว่า ตนรู้สึกใจหาย แต่ก็ถึงเวลาตามวาระโอกาส เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน เป็นเมือง ตึกสูง และย่านการค้า จากเดิมที่มีลูกหลานของบุคคลากรโรงงานยาสูบ เมื่อโรงานย้าย เด็กๆ ก็ต้องย้ายตามผู้ปกครอง อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนพานักเรียนกลับต่างจังหวัดอีกด้วย ส่วนตนเมื่อโรงเรียนปิดแล้ว ก็คงถึงเวลาที่ต้องพักผ่อน เนื่องจากชีวิตการเป็นครูมากว่า 30 ปีก็ถือว่าอิ่มตัวแล้ว ประกอบกับปัญหาสุขภาพ
“มันเป็นไปตามวัฏจักร ตามโลก ตามยุคสมัย และก็ตามโรคที่มาด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องทำใจ” ครูพะเยา กล่าว
ครูพะเยา กล่าวถึงความรูู้สึกที่มีต่อโรงเรียนวรรณวิทย์ในฐานศิษย์เก่าและครูว่า รักครูใหญ่ แม้ว่าจะไม่ได้พบมา 2 ปีแล้ว แต่ก็รับรู้ข่าวตลอด รักท่านมาก และรักครูทุกคน เพราะครูที่นี่ก็เป็นครูที่สอนตนมาอีกทีหนึ่ง เราผูกพันกันเหมือนครอบครัว เรียกครูว่าแม่
“จริงๆ แล้วเราไม่อยากให้โรงเรียนปิดหรอก แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนเอกชน ไม่ใช่โรงเรียนของรัฐบาล พร้อมทั้งฝากถึงนักเรียนว่าเมื่อไปเรียนต่อที่อื่น ก็อยากให้ตั้งใจเรียน แม้ว่าความอบอุ่นที่อื่นอาจจะไม่ได้รับเหมือนที่โรงเรียนนี้ แต่ก็ขอให้ปรับตัว” ครูพะเยากล่าวทิ้งทาย
ครูพะเยา บุญส่ง
ครูศราวุธ เหลี่ยมสิงขร ศิษย์เก่าและคณะครูปัจจุบันที่อายุน้อยที่สุดของโรงเรียนวรรณวิทย์ เปิดเผยว่า ตนเป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เนื่องจากคุณพ่อต้องโยกย้ายมาทำงาน เลยทำให้ได้มาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับหนึ่งของประชานชาวรากหญ้า และเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ อีกทั้งได้รับโอกาสจากครูใหญ่ที่ช่วยอนุเคราะห์ในเรื่องค่าทำเนียมการศึกษา ที่ให้สามารถผ่อนจ่ายได้อีกด้วย พร้อมเผยความรู้สึกถึงครูใหญ่ หรือหม่อมราชวงศ์รุจีสมร ว่า ท่านเป็นครูที่รักนักเรียนแบบลูก เป็นคนมีอบอุ่น ทำให้อยากเข้าไปหา
ครูศราวุธ เล่าถึงเหตุที่กลับมาเป็นครูที่โรงเรียนวรรณวิทย์ว่า เพราะเป็นโรงเรียนที่รัก ประทับใจในเรื่องการสอนเรียนการสอน มีคณะครูมากประสบการณ์ อีกทั้งเป็นผู้ให้ทั้งความรู้ และมอบความรักและเอาใจใส่ ทำให้รู้สึกอบอุ่นเหมือนครอบครัวเดียวกัน
“โรงเรียนแห่งนี้ ไม่เน้นในเรื่องของทรัพย์ ไม่เน้นของเรื่องของปัจจัย แต่เน้นฝนเรื่องของการศึกษาเป็นหลัก เมื่อเรียนจบแล้วจึงอยากจะตอบแทนโรงเรียน ครูใหญ่ และคณะครู ที่เป็นแม่ครู ได้อบรมสั่งสอนจนทุกวันนี้ ที่ตนเป็นคุณครูโรงเรียนนี้ได้ก็เพราะโรงเรียนวรรณวิทย์นี้” ครูศราวุธ กล่าว
ครูศราวุธ เผยถึงความรู้สึกเมื่อได้ยินข่าวว่าโรงเรียนจะปิดตัวลงว่า เมื่อได้ยินครั้งแรก รู้สึกเหมือนหัวใจจะละลาย รู้สึกเสียใจที่โรงเรียนที่มีคุณภาพแห่งนี้จะต้องปิดตัวลง ทั้งในฐานะที่เป็นลูกศิษย์และในฐานะที่เป็นครู ผู้ให้การศึกษา รู้สึกเสียใจมาก ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากจะให้ปิดกิจจการ อยากให้กิจการการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้ได้ดำเนินการต่อ รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก
“ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ โรงเรียนแห่งนี้เปรียบเหมือนครอบครัว เปรียบเสมือนต้นแบบทางการศึกษา สร้างคนให้เป็นคน เป็นโรงเรียนที่เน้นการศึกษาประชาชนคนทั่วไป ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์และครู มีความรักในโรงเรียน และคณะครู ที่ปัจจุบันได้เป็นเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรค ตั้งแต่ปี 2560 โรงเรียนเริ่มที่คลาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ก็อยู่ด้วยกันจนถึงปี 2565 ซึ่งจะเป็นปีสุดท้ายที่จะต้องปิดกิจจการลง” ครูศราวุธ กล่าว
ครูศราวุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าโรงเรียนวรรณวิทย์จะปิดตัวลง แต่ตนจะยึดมั่นในอุดมการณ์ และจะเป็นครูผู้ที่ให้การศึกษาเด็ก เป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา และจะรักและเคารพ บูชาครูใหญ่ ผู้เป็นต้นแบบตลอดไป
ครูศราวุธ เหลี่ยมสิงขร
นอกจากนี้ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นนักเรียนรุ่นสุดท้ายของโรงเรียนวรรณวิทย์ เปิดเผยความรู้สึกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยส่วนมากแทบจะทุกคนจะเรียนมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 รวมระยะเวลาเกือบ 10 ปี เมื่อรู้ข่าวว่าจะปิด ก็รู้สึกตกใจ ใจหายเพราะต่างมีความผูกพันธ์
“พวกเราขอขอบคุณครูทุกคนมากๆ ที่ช่วยเหลือมาตลอด ขอบคุณทุกอย่างที่คอยสั่งสอนทั้งเรื่องการเรียน ตลอดจนการใช้ชีวิต พวกเรารักคุณครูและโรงเรียนวรรณวิทย์” นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวความประทับใจ ความทรงจำของโรงเรียนวรรณวิทย์ สถานศึกษาเล็กๆ ที่อยู่ใจกลางเมืองที่คอยสร้างและขัดเกลานักเรียนด้วยความรักและความอบอุ่นมาตลอด 76 ปี แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่โรงเรียนแห่งนี้จะต้องปิดตัวลง แต่ความทรงจำแสนอบอุ่น และอุดมการณ์ที่น่าจะประทับใจของครูใหญ่ หรือหม่อมราชวงศ์รุจีสมรจะคงอยู๋และเป็นต้นแบบให้กับคนในสังคมตลอดไป
“แม้จะสิ้นเสียงระฆัง ที่ดังกังวนมากว่า70 ปี แต่เสียงระฆังนี้จะยังคงดังอยู่ในหัวใจ ของบุคลากร ครูผู้สอน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ของ โรงเรียนวรรณวิทย์ ให้หวล นึกถึง สตรีผู้ให้ คุณหญิงอุ้ม คุณยายอันเป็นที่รัก ของชาววรรณวิทย์ และจะเป็นเสียงระฆังในตำนานของคนไทยต่อไป”