“…คนที่จะฉีดเข็มกระตุ้น เข็มที่สามขอให้เว้นระยะห่างหลังจากฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่า ให้ฉีดทุกๆ 3-6 เดือน เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ของไวรัสนี้ต่อไป และอีกไม่กี่เดือนจะมีวัคซีนรุ่นสองออกมาอีก ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่ามีอะไรเพิ่มเติม…”
ผ่านมานานกว่า 2 เดือนแล้ว หลังองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศเจอโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ และจัดให้อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ถัดมาจากสายพันธุ์เดลต้า เบต้า แกมม่า และอัลฟ่า เพราะมีการกลายพันธุ์กว่า 32 ตำแหน่ง นับว่ากลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก
โดย นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้อัปเดตสถานการณ์การระบาดของโอไมครอน ไขข้อสงสัยในเรื่องการรับวัคซีน การใช้ยารักษา และให้ข้อเสนอแนะเป็นแนวทางในการใช้วิถีชีวิต NEXT Normal หลังการระบาดใหญ่นี้ ผ่านเฟซบุ๊ก Mahidol University
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมา มีรายละเอียดดังนี้
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 23 ม.ค. 2565 การระบาดของโอไมครอนลามไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งสายพันธุ์โอไมครอนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และไวรัสสายพันธุ์นี้ได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าเรียบร้อยแล้ว
ทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ทวีปยุโรป (Europe) พบติดเชื้อ 131,002,165 ราย อเมริกา (Americas) 127,975,395 ราย ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asia) พบติดเชื้อ 50,112,782 ราย เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (Eastern Mediterranean) 18,299,374 ราย เอเชียตะวันออก (Western Pacific) 14,308,548 ราย และแอฟริกา (Africa) 7,942,093 ราย
แต่ทวีปแอฟริกาตอนนี้ สถานการณ์การระบาดของโอไมครอนผ่านจุดสุดยอดแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงขาลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เจอการระบาดของโอไมครอนเป็นที่แรก
โดยในภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลก จากสถิติย้อนหลังไป 10 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13-22 ม.ค. 2565) เดิมเคยพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักแสนราย หรือแม้แต่กระทั่งในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าสูงสุดแตะที่หลัก 1 ล้านราย ตอนนี้หลังจากเจอโอไมครอน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไปที่หลัก 2-3 ล้านรายต่อวัน แสดงให้เห็นว่าโอไมครอนสามารถแพร่กระจายได้เร็ว
ขณะที่อัตราการเสียชีวิตการระบาดระลอกใหม่ ใกล้เคียงกับช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เหมือนเดิมอยู่ที่หลัก 6-8 พันราย อย่างไรก็ตามหากเทียบกับสัดส่วนยอดผู้ติดเชื้อ จะพบว่าผู้เสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 9,911,929,210 โดส ฉีดเฉลี่ยวันละ 36,588,814 โดส และประชากรทั่วโลกเกือบ 8 พันล้านรายได้รับวัคซีนแล้ว
อัปเดตสถานการณ์โควิด 13 ประเทศน่าจับตา
นอกจากนี้ นพ.ประสิทธิ์ ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์การระบาดของต่างประเทศที่น่าสนใจ ทั้ง 13 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีข้อมูลดังนี้
สหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ฉีดวัคซีนได้จำนวนมาก ฉีดไปแล้วกว่า 533,915,132 โดส ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก 74.7% ได้รับเข็มที่สอง 62.7% และได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว 24.9%
โดยกราฟหลังเจอโอไมครอน ยอดผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าการระบาดในรอบอื่นๆ มาตลอด บางวันติดเชื้อทะลุ 1.5 ล้านราย แม้อัตราเสียชีวิตจะอยู่ที่หลัก 2-3 พันรายแต่เมื่อดูที่กราฟจะเห็นว่าตัวเลขยังวิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง อย่างไรก็ตามคนในสหรัฐอเมริกายังมีจำนวนหนึ่งไม่ฉีดวัคซีน แม้รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทาง
แคนาดา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากเช่นเดียวกัน ฉีดไปแล้ว 75,717,363 โดส ทั้งที่มีประชากรประมาณ 38 ล้านรายเท่านั้น ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก 83.4% ได้รับเข็มที่สอง 77.5% และได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว 33.5%
ทั้งนี้แคนาดาคล้ายๆ จะเป็นช่วงขาลง เพราะยอดผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง จาก 3 หมื่นกว่า ลงมาเรื่อยๆ เหลือประมาณ 1.5 หมื่นในวันที่ 22 ม.ค. ส่วนผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้น แต่ยังเหมือนเดิม คือ อยู่ที่ประมาณราว 100 ราย
บราซิล ฉีดวัคซีนแล้ว 352,744,617 โดส ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 79.3% ได้รับเข็มที่สอง 75.9% และได้รับเข็มกระตุ้น 19.4% โดยโควิดยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อัตราผู้เสียชีวิตลดลง เป็นผลมาจากการฉีดวัคซีน
สหราชอาณาจักร เป็นที่จับตามองหลังประกาศ Freedom Day หรือประกาศอิสรภาพที่ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะมองว่าฉีดวัคซีนมากพอแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่หลังจากโอไมครอนเข้ามา การติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น สูงสุดแตะถึงแสนคน แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังพบวันละ 2-3 ร้อยราย
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรจะประกาศผ่อนคลายในวันที่ 27 ม.ค.นี้อีก เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมาก คือฉีดไปแล้ว 137,271,605 โดส จากประชากร 68 ล้านรายซึ่งใกล้เคียงไทย และมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับการฉีดกระตุ้นแล้ว จึงมีมาตรการผ่อนคลาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย นักเรียนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่ทุกคนก็ต้องจับตามองต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้
เยอรมัน ฉีดวัคซีนแล้ว 161,709,631 โดส ประชาชนได้รับเข็มแรก 75.4% ได้รับเข็มที่สอง 73.3% และได้รับเข็มกระตุ้น 50.1% จากกราฟโควิด ตัวเลขเริ่มลดลงในช่วงเดลต้าระบาด แต่เมื่อมาเจอโอไมครอนอีกครั้งยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ตัวเลข 3 หลัก
ฝรั่งเศส ฉีดวัคซีนแล้ว 133,813,979 โดส ประชาชนได้รับเข็มแรก 82.3% ได้รับเข็มที่สอง 80.4% และได้รับเข็มกระตุ้น 50.9% อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่าจะไม่บังคับการฉีดวัคซีน ทำให้ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อประมาณ 3-4 แสนราย ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกอื่นๆ ขณะที่อัตราเสียชีวิตยังพบสูง ส่วนใหญ่เลข 3 หลัก
อินเดีย ฉีดวัคซีนแล้ว 1,660,874,022 โดส ประชาชนได้รับเข็มแรก 67.3% ได้รับเข็มที่สอง 49.4% และได้รับเข็มกระตุ้น 0.6% เดิมในช่วงการระบาดของเดลต้า มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูง หลังจากนั้นเริ่มสงบลง จนกระทั่งเจอโอไมครอน โดยพบผู้ป่วยใหม่วันละ 2-3 แสนรายอัตราการเสียชีวิตอยู่ในตัวเลข 400-500 รายต่อวัน เรียกได้ว่าขณะนี้โควิดอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นการติดเชื้อของอินเดียจะวิ่งอยู่ระยะหนึ่งและจะเลยยอดที่เคยติดเชื้อสมัยเดลต้า
“สิ่งที่เราต้องระวัง คือ การแพร่ระบาดจากอินเดียไปสู่เมียนมา และจากเมียนมามาสู่ไทยซึ่งใช้เวลาไม่นาน คือ ไม่เกิน 2 สัปดาห์เข้ามาประเทศไทยแล้ว ดังนั้นต้องเฝ้าระวังมากขึ้น” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ญี่ปุ่น ฉีดวัคซีนแล้ว 202,865,566 โดส ประชาชนได้รับเข็มแรก 80.5% ได้รับเข็มที่สอง 79.9% และได้รับเข็มกระตุ้น 1.5% ขณะสถานการณ์การระบาดดีขึ้นมาก แม้ยอดติดเชื้อจะยังอยู่ที่หลักหมื่น แต่ผู้เสียชีวิตน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นตัวเลข 2 หลัก
อิสราเอล เป็นประเทศที่ฉีด mRNA แพลตฟอร์มเดียวกัน โดยฉีดไปแล้ว 17,754,995 โดส มีประชากร 8.8 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มแรก 72.5% ได้รับเข็มที่สอง 67.7% และได้รับเข็มกระตุ้นไปแล้ว 54.4% แม้ผู้ติดเชื้อจะยังอยู่ที่หลักหมื่น แต่ผู้เสียชีวิตน้อยลงมากเช่นเดียวกัน
ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าสามารถควบคุมโควิดได้ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเจอโอไมครอนกลับพบการติดเชื้อหลักแสน อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มลงเหลือหลักหมื่นแล้ว และอัตราการเสียชีวิตอยู่ในเลข 2 หลัก อาจอยู่ในช่วงขาลงได้ ต้องติดตามอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 47,934,083 โดส ได้รับเข็มที่สอง 78.3% และได้รับเข็มกระตุ้นไปแล้ว 25.1%
นิวซีแลนด์ ที่ผ่านมาควบคุมโควิดได้ดีมาโดยตลอด เพราะเป็นเกาะแยกออกมาและมีมาตรการเข้มงวด แต่เมื่อโอไมครอนเข้ามา ก็พบผู้ป่วยเป็นตัวเลข 2 หลักเท่านั้น และไม่พบผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยฉีดวัคซีนแล้ว 8,917,444 โดส ฉีดวัคซีนเข็มแรก 78.5% ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง 76.9% และได้รับเข็มกระตุ้น 19.9%
สิงคโปร์ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,444,673 โดส ประชาชนฉีดเข็มแรกแล้ว 85.6% ได้รับเข็มที่สอง 83.2% และได้รับเข็มกระตุ้น 50% แม้จะมีผู้ป่วยสูงอยู่ แต่อัตราผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ราย บางวันพบเพียง 1-3 ราย แต่การฉีดวัคซีนในสิงคโปร์เกิดปรากฏการณ์หนึ่ง คือ มีคนจำนวนหนึ่งต้องการฉีดวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งหากใครจะฉีดเชื้อตายต้องเสียเงินเอง เขาก็ยอม
มาเลเซีย ฉีดวัคซีนแล้ว 62,109,995 โดส ประชาชนฉีดเข็มแรกแล้ว 79.1% ได้รับเข็มที่สอง 78% และได้รับเข็มกระตุ้น 32.1% ซึ่งผู้ป่วยมาเลเซียอยู่ที่ 3-4 พันรายในช่วง 2 สัปดาห์นี้ นับว่าน้อยกว่าไทยตอนนี้ และเสียชีวิตยังอยู่ในเลข 2 หลัก
ไทยคุมโควิดได้ดี ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดภายในประเทศไทยว่า สำหรับไทย การบริหารจัดการในช่วงการระบาดของเดลต้า เราจัดการได้ดี จากยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวันก็เริ่มลง จากนั้นก็เจอโอไมครอน ขณะนี้ป่วยอยู่ประมาณ 7-8 พันคนต่อวันเป็นสัปดาห์แล้ว และยอดผู้เสียชีวิตยังตัวเลข 2 หลัก ส่วนใหญ่อยู่ที่สิบราย หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย
ขณะนี้เราฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดส จากประชากรกว่า 70 ล้านคน ซึ่งฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 15.8% แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น
‘โอไมครอน’แพร่เร็วกว่าเดลต้า แต่รุนแรงน้อยกว่า
นพ.ประสิทธิ์ สรุปสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาว่า โอไมครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลต้า แต่การแพร่เร็วนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ แต่มาจากคุณสมบัติของโอไมครอนเอง
ส่วนความจำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าน้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ในไทยจึงมีการจัดระบบการรักษาในบ้าน แต่หากอาการเพิ่มขึ้นก็จะต้องนอนโรงพยาบาล แต่อัตราการนอนโรงพยาบาลของโอไมครอนมีเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 เนื่องจากอาการรุนแรงน้อยกว่า
“ผลจากการแพร่ระบาดเร็วของโอไมครอน แต่ก่อให้เกิดอาการน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับความสามารถหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้น โอไมครอนสามารถหลบได้ทั้งภูมิที่เกิดจากการหายจากการติดเชื้อหรือจากการฉีดวัคซีน ซึ่งหลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่าสายพันธุ์เดลต้า
ขณะเดียวกันเราไม่สามารถแยกอาการได้ชัดเจนว่า แบบไหนเป็นอาการของผู้ป่วยโอไมครอนหรือเดลต้า แต่แยกได้หลักๆ บ้าง คือ น้ำมูกไหล ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้รส ซึ่งพบไม่บ่อยเหมือนเดลต้า ทั้งนี้สถานการณ์ภายในเดือนนี้คาดว่าจะเป็นโอไมครอนทั้งประเทศ
ยังไม่มีหลักฐานว่าจะต้องฉีดวัคซีนทุกๆ 3-6 เดือน
ส่วนการศึกษาในสัตว์พบว่าเชื้อโอไมครอน มักติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนเดลต้า ทำให้อาการไม่ค่อยรุนแรง แต่แพร่ง่าย แพร่เร็ว เพราะจามง่ายขึ้นได้ ทั้งนี้ มีการศึกษาจาก Imperial College ในกรุงลอนดอนพบว่า การจะมีภูมิฯช่วยลดการติดเชื้อ หรือติดเชื้อที่มีอาการมากจำเป็นต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม
โดยคนที่จะฉีดเข็มกระตุ้น เข็มที่สามขอให้เว้นระยะห่างหลังจากฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่า ให้ฉีดทุกๆ 3-6 เดือน เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ของไวรัสนี้ต่อไป และอีกไม่กี่เดือนจะมีวัคซีนรุ่นสองออกมาอีก ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่ามีอะไรเพิ่มเติม
ดังนั้นคนฉีดเข็มที่สอง ให้ฉีดเข็มที่สาม แต่คนฉีดเข็มที่สามแล้วขอให้ติดตามข้อมูลก่อน ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงมากๆ ต้องฉีดเข็มที่สี่ นี่คือเหตุผลทั่วโลกมีการฉีดเข็มกระตุ้นเหมือนไทย
“การจะชนะโอไมครอน ทั่วโลกต้องช่วยกัน พลโลกส่วนใหญ่ต้องได้รับวัคซีนให้ครบ และการหวังให้เกิดมีภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ที่สำคัญหากได้เชื้อเข้าไป ตัวท่านอาจไม่มีอะไร แต่ท่านอาจนำเชื้อไปติดผู้ใหญ่ที่บ้านได้ อย่าไปหวังผล การเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ฉีดวัคซีนครบ ลดภาวะ Long COVID ได้ 49%
ส่วนภาวะ Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่พบได้หลังจากติดเชื้อ อาจพบได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ มีมากกว่า 50 อาการที่พบ ส่วนระยะเวลาที่มีอาการ และจะถือว่าเป็น Long COVID ในสหราชอาณาจักรถือว่าต้องมีอาการไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในสหรัฐระบุ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นแล้ว
แต่การได้รับการฉีดวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสเกิดได้ถึง 49% ส่วนโอไมครอนหรือเดลต้าจะแตกต่างอย่างไรหากเป็นลองโควิด ยังไม่มีหลักฐานตรงนี้
ขณะที่ยารักษาโควิด ที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อโอไมครอนนั้น ได้แก่ ยา Favipiravir, Molnupiravir, Nirmatrelvir และ Remdesivir ถือว่ายังได้ผลดี ส่วนกลุ่ม Monoclonal antibody ตามรายงานของ US-FDA ยังได้ผลดีต่อโอไมครอ อยู่ แต่ยาที่มีรายงานว่าอาจไม่ได้ผล คือ Regeneron
กว่า 20 ปี เจอระบาดใหญ่ 5 รอบ มีโอกาสเจออีก
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากดูบทเรียนจากอดีตจะพบว่าในช่วงศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เราเจอการระบาดใหญ่มาด้วยกัน 5 รอบ คือ ปี 2002 เจอซาร์ส ปี 2009 เจอไข้หวัดหมู ปี 2012 เจอเมอร์ส ปี 2015 เจอซิกา และปี 2019 เจอโควิด
“โลกยังมีโอกาสเจอการแพร่ระบาดเช่นนี้อีก เพราะสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมแยกจากกันไม่ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งแย่ก็กระทบกันหมด อย่างโลกร้อนขึ้น ก็มีโอกาสเจอเชื้อใหม่ๆ ดังนั้นการใช้ชีวิตเราไม่ได้กลับมาปกติเหมือนก่อนแพร่ระบาด แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ คือ ใช้ชีวิตที่พร้อมถ้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคใหม่ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ยกตัวอย่างก่อนการระบาดของโควิดมา เราทำงานที่ทำงาน ตอนนี้หลายบริษัททั้งในและต่างประเทศให้ทำงานที่บ้าน อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งพบว่าประสิทธิภาพไม่ลดลง แถมยังช่วยลดความเสี่ยง ลดมลภาวะจากการใช้รถบนถนน ลดค่าใช้จ่ายในออฟฟิศ เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตใหม่ที่คุณภาพต้องไม่ด้อยกว่าเดิม
โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาวะตัวเราเอง อย่างเราล้างมือบ่อยขึ้นก็อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม เราปรับตัวมา 2 ปีกว่าก็รักษาสิ่งเหล่านี้ เมื่อแพร่ระบาดใหม่ก็ป้องกันตัวเองได้จากการมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ทำจนปกติรูปแบบใหม่ เจออะไรก็อยู่ร่วมกันได้ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การรักษาก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลอีกต่อไป
โควิดอาจเปลี่ยนแปลงได้ ย้ำยังต้องยกการ์ดสูง
อย่างไรก็ตาม แม้โอไมครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ไม่ใช่ไม่รุนแรง การป้องกันตนเองไม่ให้รับเชื้อจึงสำคัญ เมื่อรัฐบาลไทยพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่อนคลายกิจกรรมมากขึ้น นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไป แต่ย้ำว่าต้องลดเสี่ยงแพร่เชื้อรับเชื้อ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง เพราะโอไมครอนติดง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงถอดหน้ากากพูดคุยรับประทานอาหารมีความเสี่ยงที่สุด
“อย่าเพิ่งเร็วเกินไปที่เอาการ์ดลง ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ต้องการ์ดสูง ต่างชาติคิดว่าโควิดอาจอยู่กับเราถึงกลางปีหรือปลายปี แต่ก็อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้อีก ขอย้ำว่าต้องรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ จำเป็นรับเข็ม 3 ใครยังไม่ฉีดให้รีบมาฉีด” นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย