“…หากเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า พังงาและกระบี่ไม่ได้เป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เท่ากับว่านักท่องเที่ยวจะลดลงเกือบครึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะท่องเที่ยวภาคใต้นั้น จะเป็นสายอันดามัน คือ ชอบเดินทางไปหลายพื้นที่รอบๆแหล่งท่องเที่ยวบริเวณทะเลอันดามัน และกว่า 50% อยากบินมาลงในสนามบินที่ใกล้ที่สุด คือ สนามบินภูเก็ต เพื่อจะไปท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงต่อมากกว่า เช่น เขาหลัก ใน จ.พังงา เป็นต้น…”
การท่องเที่ยว นับเป็นหนึ่งในรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนถึง 16% ของ GDP ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นรายได้หลักถึง 61%
แต่เมื่อทั่วโลกประสบกับการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ จำนวนนักเที่ยวไทยลดลงราว 80% และรายได้จากนักท่องเที่ยวซบเซาอย่างมาก ผู้ประกอบการด้านธุรกิจด้านการท่องเที่ยวหลายรายต้องปิดตัว หรือบางคนต้องผันตัวไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อยังชีพ
การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว หรือ Test and Go จึงกลายเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ได้อีกแนวทางหนึ่ง
หากดูจากสถิติการนำเข้านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ จะเห็นว่าต้นปี ม.ค.-มิ.ย. 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณกว่า 40,000 ราย เดือน ก.ค. 2564 เข้ามาราว 18,000 ราย และเดือน ส.ค. 2564 เข้ามาอีกประมาณ 15,000 ราย
กระทั่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and go ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 แล้วกว่า 100,000 ราย ส่วนข้อมูลวันที่ 1-11 ม.ค. 2565 เข้ามาแล้ว 49,774 ราย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว มีความสัมพันธ์กับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
แต่การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่ค้นพบครั้งแรกปลายเดือน พ.ย. 2564 สร้างความท้าทายอีกครั้งให้กับภาคธุรกิจนักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะไวรัสกลายพันธุ์ใหม่นี้สามารถแพร่ระบาดได้เร็ว ลามไปหลายประเทศทั่วโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนให้หลายประเทศอย่าประมาทต่อสายพันธุ์ดังกล่าว เพราะหากการ์ดตก อาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว เราอาจต้องสูญเสียอีกหลายชีวิต
ส่งผลให้ประเทศไทย ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนมาจากนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทั่ง 21 ธ.ค. 2564 พบยอดผู้ติดเชื้อโอไมครอนที่มาจากกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศชะลอรับ Test and Go และ Sandox ยกเว้นภูเก็ตจนถึง 4 ม.ค. 2565
ก่อนวันที่ 11 ม.ค. 2565 จะขยายแซนด์บ็อกซ์ไปอีก 3 พื้นที่ คือ สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า) พังงาทั้งจังหวัด และกระบี่ทั้งจังหวัด เพื่อลดความแออัดของนักท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกตัวกันอยู่ในพื้นที่เดียว ซึ่งจะทำให้ที่พัก เตียง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Sandbox จะเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยท่ามกลางการระบาดของโอไมครอนได้หรือไม่นั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมสถิติการรับนักท่องเที่ยวของภูเก็ต หลังการชะลอรับ Test and Go มีรายละเอียดดังนี้
ช่วงวันที่ 21-27 ธ.ค. 2564 : 21 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 25 ราย มาจาก Sandbox 1 ราย, 22 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 33 ราย มาจาก Sandbox 2 ราย, 23 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 31 ราย ไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใน Sandbox, 24 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 37 ราย มาจาก Sandbox 1 ราย, 25 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 27 ราย มาจาก Sandbox 2 ราย, 26 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 26 ราย มาจาก Sandbox 12 ราย และวันที่ 27 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 31 ราย มาจาก Sandbox 2 ราย
ช่วงวันที่ 28 ธ.ค. 2564-3 ม.ค. 2565 : 28 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 30 ราย มาจาก Sandbox 15 ราย, 29 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 43 ราย มาจาก Sandbox 13 ราย, 30 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 86 ราย มาจาก Sandbox 9 ราย, 31 ธ.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 64 ราย มาจาก Sandbox 22 ราย, 1 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 85 ราย มาจาก Sandbox 22 ราย, 2 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 64 ราย มาจาก Sandbox 27 ราย และวันที่ 3 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 149 ราย มาจาก Sandbox 21 ราย
ช่วงวันที่ 4-10 ม.ค. 2565 : 4 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 156 ราย มาจาก Sandbox 46 ราย, 5 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 227 ราย มาจาก Sandbox 46 ราย, วันที่ 6 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 256 ราย มาจาก Sandbox 97 ราย, วันที่ 7 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 385 ราย มาจาก Sandbox 70 ราย, วันที่ 8 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 416 ราย มาจาก Sandbox 142 ราย, วันที่ 9 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 513 ราย มาจาก Sandbox 133 ราย และวันที่ 10 ม.ค. ติดเชื้อในจังหวัดทั้งหมด 468 ราย มาจาก Sandbox 184 ราย
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการพบการระบาดของโอไมครอนที่เพิ่มมากขึ้น แต่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภายในจังหวัดภูเก็ตแบบแซนด์บ็อกซ์นั้นยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่า
'พังงา'ยันไม่เคยพบการระบาดของ นทท.ไปสู่คนไทย
โดย นายชยพล หิรัณย์กนกกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา หนึ่งในจังหวัดที่ได้กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Sandbox อีกครั้ง กล่าวยืนยันความเชื่อมั่นสถานการณ์โควิดภายในจังหวัดด้วยว่า แม้การระบาดของโอไมครอนจะทำให้อัตราของนักท่องเที่ยวติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังน้อยกว่าการติดเชื้อภายในจังหวัด และยังอยู่ในเกณฑ์ที่สาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เพิ่มห้องพักสำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อเป็น 500 ห้องแล้ว ซึ่งมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์จากสถิติว่าจะเข้ามา 200 ราย
“ในช่วงก่อนการพบการระบาดของโอไมครอน เราจะพบผู้ติดเชื้อในระดับ 0.2-0.3% เท่านั้น แต่หลังการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามา การตรวจพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อใน Day 0 ยังไม่ถึง 1% แต่จะไปเจอใน Day 5-7 เพิ่มขึ้นมาประมาณ 4% กล่าวคือใน 100 คน จะพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อ 4 คน หากนักท่องเที่ยวเข้ามา 10,000 คน ก็จะเจอผู้ติดเชื้อ 40 คน ซึ่งระบบสาธารณสุขยังสามารถควบคุมได้ แต่อัตราการติดเชื้อภายในจังหวัดจะสูงกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า” นายชยพล กล่าว
นายชยพล กล่าวอีกว่า ตลอดการเปิด ‘พังงาแซนด์บ็อกซ์’ ที่ผ่านมา ไม่พบการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวไปสู่พนักงานธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพนักงงานขับรถโรงแรม คนขับรถรับส่งแขกจากสนามบิน พนักงานโรงแรม หรือแม้แต่แม่บ้าน
นักท่องเที่ยวจะลดลงเกือบครึ่ง หากไร้ 3 พื้นที่แซนด์บ็อกซ์
“Sandbox เป็นนโยบายที่ช่วยให้เศรษฐกิจกับมาตรการทางสาธารณสุขสามารถไปด้วยกันได้ เพราะหากใช้แต่มาตราการทางสาธารณสุขอย่างเดียว แม้คนจะไม่เจ็บป่วยล้มตาย แต่จะตายเพราะไม่มีอะไรจะกินมากกว่า” นี่เป็นสิ่งที่นายชยพล กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่านักท่องเที่ยวจะไม่ได้กลับเข้ามาจำนวนมากเท่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด แต่นโยบายนี้ช่วยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังอยู่ได้ ไม่ล้มหายจากไป ไม่ใช่ธุรกิจโรงแรมจะได้รับประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสายการบิน พนักงานขับรถตู้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร และชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบด้วย
จะเห็นได้ชัดว่าหลังจากมีนโยบายนี้ร้านอาหารต่าง ๆ ที่เคยปิดไป ก็กลับเข้ามาปัดฝุ่น ปัดเก้าอี้กันใหม่ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะไม่ได้มาก แต่พอประคับประคองได้ ไม่ทำให้ลำบากจนต้องหยุดกันไปใหม่
ทั้งนี้ หากเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า พังงาและกระบี่ไม่ได้เป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เท่ากับว่านักท่องเที่ยวจะลดลงเกือบครึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะท่องเที่ยวภาคใต้นั้น จะเป็นสายอันดามัน คือ ชอบเดินทางไปหลายพื้นที่รอบๆแหล่งท่องเที่ยวบริเวณทะเลอันดามัน และกว่า 50% อยากบินมาลงในสนามบินที่ใกล้ที่สุด คือ สนามบินภูเก็ต เพื่อจะไปท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงต่อมากกว่า เช่น เขาหลัก ใน จ.พังงา เป็นต้น
นายชยพล หิรัณย์กนกกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา
กระบี่รับไม่กังวลโอไมครอน ฉีดวัคซีนกว่า 70%-ระบบสาธารณสุขพร้อม
ด้าน น.ส.ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจาก Sandbox ด้วยว่า ทางสมาคมฯ เชื่อว่าการจะป้องกันผลกระทบจากโอไมครอนได้ จะต้องให้ความรู้กับผู้ประกอบการและชุมชนโดยรอบ จึงได้ร่วมมือกับร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความรู้ในมาตรการต่าง ๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ 'VUCA' V ฉีดวัคซีน Uป้องกันตัวเองสูงสุด C ใช้ชีวิตปลอดภัย A ตรวจ ATK หรือแม้แต่ 'DMHTTA' D การเว้นระยะห่าง M ใส่หน้ากากอนามัย H หมั่นล้างมือ T ตรวจวัดอุณหภูมิ T ตรวจหาเชื้อ และ A แอปพลิเคชัน พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดขึ้นมาดูแลนักท่องเที่ยวในสถานการณ์การระบาดโดยเฉพาะ
"เรามีความมั่นใจมากว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Sandbox ในช่วงการระบาดของโอไมครอน เราจะสามารถรับมือได้ ประกอบกับประชาชนในจังหวัดได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกว่า 70% แล้ว ขณะเดียวกันกลุ่ม 608 หรือ ผู้สูงวัย ป่วยเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ สธ. และในกลุ่มผู้ประกอบการพนักงานธุรกิจการท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนกันหมดแล้วเกือบ 100%" น.ส.ศศิธร กล่าว
นอกจากนี้ จากเดิมกระบี่มีเพียงโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA Extra Plus เท่านั้นที่สามารถดูแลนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อได้ ตอนนี้ได้ขยายให้ทุกโรงแรม ซึ่งมีมาตรฐาน SHA อยู่แล้ว สามารถทำได้แล้ว หลังจากพบว่าผู้ติดเชื้อมักจะเจอในช่วงวันหลัง ๆ จึงได้เตรียมความพร้อมให้กับทุกโรงแรม เผื่อสถานการณ์เจอนักท่องเที่ยวติดเชื้อหลังจากครบจากวันกำหนดกักตัว 7 วันไปแล้ว
ส่วนในเรื่องระบบสาธารณสุข เราได้เตรียม Hotel Isolation, Hospitel หรือ Alternative State Quarantine เอาไว้มากกว่า 70 แห่งแล้ว สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 5,000 ห้อง และได้พัฒนาการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งใน 1 วันสามารถตรวจคัดกรองได้ราว 3,200 เทส ขณะที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างมากที่สุดวันละ 1,000 ราย ถือได้ว่านักท่องเที่ยวจะได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ
ส่วนกรณีมีนักท่องเที่ยวแอบเดินทางเข้ามาก่อนจะได้รับผลตรวจโควิดนั้น ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สามารถขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวให้รอผลตรวจก่อนได้เสมอ ขณะเดียวกันกรณีนักท่องเที่ยวไม่สวมหน้ากากอนามัย ก็จะมีชาวบ้านในพื้นที่รวมถึงตำรวจ หน่วยงานปกครองด้านต่าง ๆ ช่วยกันดูแลด้วย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยพบการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวไปสู่ผู้ให้บริการธุรกิจการท่องเที่ยว
"การเข้ามาของโอไมครอน และการประกาศชะลอหรือยกเลิก Test and Go ของรัฐบาล แม้จะทำให้ยอดจองโรงแรมหรือนักท่องเที่ยวที่เดิมเราเคยตั้งเป้าไว้เข้ามาลดลง แต่เข้าใจได้ว่าทุกๆ คน ทุกๆ หน่วยงานพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ช่วงที่รัฐบาลขอประเมินสถานการณ์การเปิดรับท่องเที่ยวที่ผ่านมา ภาคเอกชน ประชาชน และรัฐเองก็ร่วมมือกันทำงานได้ดี ทำให้เรากลับมาสู่จุดมุ่งหมายเดิมที่เราสามารถเปิดประเทศได้ การที่กระบี่ได้เปิด Sandbox อีกครั้ง นับเป็นเรื่องที่ดีที่คนในจังหวัดได้มีโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้อีกครั้ง" น.ส.ศศิธร กล่าว
น.ส.ศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่
ชู'อยู่ร่วมโอไมครอน'ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยวไทย
นายสมเชาว์ โกศล สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น กล่าวด้วยว่า การเข้ามาของโอไมครอนนั้น เป็นความท้าทาย แต่ทางเกาะพงัน เกาะเต่า เกาะสมุยได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ก่อนช่วงเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go แล้ว คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ไวรัสโดยธรรมชาติสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอด ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นที่จะสร้างความชิน และอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะตนเองเชื่อว่าการดูแลรักษาความสะอาด ความเคร่งครัดมาตรการของคนในพื้นที่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ปลอดโควิด
“เชื่อว่าหลายคนคงกลัวมีหนี้สิน มากกว่าโควิด แต่เรามีการรักษา มีการฉีดวัคซีน มีการประเมินมาตรฐานต่าง ๆ ในการให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจึงพบนักท่องเที่ยวนำเชื้อมากระจายสู่พนักงานภาคบริการน้อยมาก” นายสมเชาว์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการที่รัฐจะประกาศชะลอหรือยกเลิกการเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อยากให้มีการวางแผน และตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ชัดเจน ไม่สั่งเปิดหรือปิดแบบเปลี่ยนไปมา เพราะเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับความหวัง รวมถึงการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งด้วย แต่หากเปิดได้อย่างยั่งยืน อีกกลุ่มอาชีพหนึ่งที่จะได้กลับมาอีกครั้ง คือ อาชีพมัคคุเทศก์ ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ในจังหวัดเหลือผู้ประกอบอาชีพนี้เพียงหลักสิบรายเท่านั้น จากเดิมที่มีกว่า 2,000 - 3,000 ราย
การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Sandbox ในภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะพงัน เกาะเต่า เกาะสมุย) เป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวท่ามกลางการระบาดของโอไมครอนที่ช่วยหล่อเลี้ยงหลายชีวิต แต่เรื่องนี้จะสำเร็จคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน ประชาชน และรัฐเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง
นายสมเชาว์ โกศล สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์