"...องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ตรวจสอบพบข้อมูลว่าโรค ASF นั้น มีศักยภาพเพียงพอที่จะกวาดล้างประชากรสุกรไปถึง 1 ใน 4 ของประชากรสุกรทั่วโลก ซึ่งนับตั้งแต่ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่าทวีปเอเชียต้องเผชิญกับการพุ่งขึ้นของโรค ASF อันมีที่มาจากโรคที่มาจากประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก และการระบาดของโรคอันเป็นเหตุทำให้สุกรจำนวนมากเสียชีวิตนั้นได้ลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์..."
สืบเนื่องจากปัญหาราคาสุกรแพง ที่ปรากฎเป็นข่าว ณ เวลานี้ มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมคาดการณ์กันว่าจากโรคระบาดในสุกร หรือ ที่มีชื่อโรคว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ส่งผลทำให้ผลผลิตสุกรลดจาก 20 ล้านตัว เหลือ 10 กว่าล้านตัว เมื่อสุกรตายไปกว่า 50% ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาราคาอาหารสุกรเพิ่มขึ้น 30% ส่งผลทำให้ราคาเนื้อสุกรแพง ราคาสุกรหน้าเขียงขายกันอยู่ที่ 230 บาท/กก.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลรายงานข่าวเกี่ยวกับโรค ASF ในสื่อต่างประเทศ พบว่าเว็บไซต์ข่าว Greenqueen.com ของฮ่องกง ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวเกี่ยวกับระบบนิเวศ อาหารและสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ไว้ว่าในช่วงปี 2562 โรค ASF จะส่งผลทำให้ต้องสูญเสียประชากรสุกรไปอย่างน้อยกว่า 1 ใน 4 ของประชากรสุกรทั่วโลก
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ตรวจสอบพบข้อมูลว่าโรค ASF นั้น มีศักยภาพเพียงพอที่จะกวาดล้างประชากรสุกรไปถึง 1 ใน 4 ของประชากรสุกรทั่วโลก ซึ่งนับตั้งแต่ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่าทวีปเอเชียต้องเผชิญกับการพุ่งขึ้นของโรค ASF อันมีที่มาจากโรคที่มาจากประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก และการระบาดของโรคอันเป็นเหตุทำให้สุกรจำนวนมากเสียชีวิตนั้นได้ลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์
รายงานข่าวโรค ASF ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน (อ้างอิงวิดีโอจาก Quartz)
ส่งผลทำให้เกิดการพุ่งขึ้นของราคาสุกรในภูมิภาคและตามมาในส่วนของระดับโลกด้วยเช่นกัน และปัญหานี้ดูท่าว่าจะไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงง่าย ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเนื้อสุกรเทียมจากพืชเข้ามาตีช่องว่างความต้องการตลาดทั้งในประเทศจีนและในทวีปเอเชียมากขึ้นด้วยเช่นกัน
OIE ซึ่งเป็นองค์การระดับโลกที่รับผิดชอบในด้านการประสานงานเพิ่มควบคุมโรคติดต่อที่เกิดในสัตว์นั้นยังได้ออกคำเตือนด้วยว่าโรค ASF นั้นอาจจะทำให้ต้องสูญเสียประชากรสุกรไปกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่โรคนี้นั้นได้เริ่มการระบาดนับตั้งแต่ในปี 2557 ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก แล้วไวรัสก็ระบาดมายังทวีปเอเชียจนกลายเป็นถิ่นฐานหลักทั้งในเกาหลีใต้, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์และจีน
โดยทวีปเอเชียนั้นถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงที่สุด เฉพาะประเทศจีนมีการฆ่าสุกรไปกว่า 100 ล้านตัว และเนื่องจากเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลกไปยังต่างประเทศ ก็ส่งผลทำให้ราคาเนื้อสุกรทั่วโลกขึ้นด้วยเช่นกัน
นายมาร์ค ชิพ รองประธานของ OIE ได้กล่าวถึงความกังวลเรื่องนี้ว่า “ถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อปศุสัตว์ในรุ่นของเรา และจะจุดประกายนำไปสู่วิกฤติทั่วโลก"
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงพยายามที่จะหาวัคซีนสำหรับไวรัส แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากโรคนี้นั้นเป็นอันตรายถึงต่อชีวิตสุกร 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการติดเชื้อในประชากรสุกรผ่านการสัมผัส หรือผ่านเห็บสัตว์โดยตรงแล้ว ไวรัสยังจะสามารถอยู่รอดในเนื้อสัตว์แปรรูปได้อีกเป็นเวลาหลายเดือน และอยู่ได้อีกเป็นระยะเวลาหลายปีในผลิตภัณฑ์เนื้อแช่แข็ง
เรียบเรียงจาก:https://www.kela.health/asia-update-african-swine-fever/,https://www.greenqueen.com.hk/african-swine-fever-predicted-to-wipe-out-1-4-global-pig-population/
@หนทางแก้ไข
ขณะที่เว็บไซต์ Kela.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ธุรกิจยาและสุขภาพของประเทศเบลเยียม ได้เสนอแนวทางป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ASF ว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่พอจะทำได้ก็คือการมุ่งเน้นไปยังการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ การดูแลพื้นที่เลี้ยงสัตว์ สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในอนาคตประเด็นเรื่องของผู้จัดจำหน่าย ผู้ดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์ และผู้ดำเนินการขนส่งเนื้อสุกรจะต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความเป็นมืออาชีพดังกล่าวนั้นจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ใช้การลงทุน และใช้ความกล้าหาญของผู้ประกอบการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
@ประเทศไทยกับโรค ASF
สำหรับข้อมูลโรค ASF ในประเทศไทยนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลจากแผนที่ Google Maps ที่บันทึกข้อมูลประเทศของประเทศที่เคยมีการระบาดของ ASF พบว่าเกือบทุกประเทศในทวีปเอเชียรวมไปถึงประเทศเกาหลีเหนือนั้นต่างพบกับการระบาดของโรค ASF ด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ไม่เคยมีการปักหมุดว่ามีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยแต่อย่างใด
ข้อมูลประเทศที่เคยมีการระบาดของไวรัส ASF
การระบาดของโรค ASF ที่ประเทศเกาหลีเหนือที่พบว่ามีสุกรติดเชื้อ 99 ตัว เสียชีวิตจากโรค 77 ตัว และต้องฆ่าสุกรอีก 22 ตัว
ข้อมูลแผนที่ที่ไม่ได้มีการปักหมุดว่าประเทศไทยเคยมีโรค ASF แต่อย่างใด
ที่น่าสนใจคือ การระบาดของโรค ASF ในช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 ที่ จ.เชียงรายพบกรณีการฆ่าฝังกลบสุกรไปเป็นจำนวนกว่า 200 ตัว
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการชี้แจงว่าการฆ่าสุกรจำนวนดังกล่าวนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากไทยรัฐออนไลน์)