ประเด็นเรื่องของการขึ้นราคาของเครื่องบิน F-35 นั้น ที่ผ่านมามีการบอกเป็นนัยยะแล้ว นับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2564 เมื่อนาย John Tirpak บรรณาธิการของนิตยสารของกองทัพอากาศชื่อว่า Air Force Magazine ได้เขียนบทความสัมภาษณ์นายเกรกอรี อุลเมอร์ รองประธานบริษัทล็อคฮีด ซึ่งนายอุลเมอร์ได้แนะนำว่าการลดราคาเครื่องบินรบ F-35 นั้นน่าจะต้องยุติลงในช่วงการเปิดตัวเครื่องบินรบล็อตที่ 15-17 ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตต่อจากนี้ และบริษัทก็กำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อจะรักษาราคาต้นทุนเอาไว้
สืบเนื่องข่าวในแวดวงกองทัพอากาศที่กำลังเป็นกระแส อยู่ ณ เวลานี้ เมื่อ พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า กองทัพอากาศกำลังพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่า ที่ล้าสมัย ซ่อมบำรุงยาก และไม่คุ้มค่า ไม่ปลอดภัยในการบิน โดยเห็นว่าเครื่องบินขับไล่ F-35 ของบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน ประเทศสหรัฐฯเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันราคาลดลงจากเดิม จากช่วงที่ออกสู่ตลาดใหม่ๆ ราคาเครื่องเปล่า 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,712,483,000 บาท) เครื่อง เมื่อมีความต้องการและผลิตมากขึ้นทำให้ราคาลดต่ำลง ด้วยกลไกของการตลาดและการเมืองจาหการรวมกลุ่มพันธมิตรทำให้ราคาลดลงเหลือ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเครื่อง ขณะที่เครื่องบิน gripen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,820,597,500 บาท) และถ้าหากมีการต่อรองที่เหาะสม กองทัพอากาศก็อาจจะสามารถซื้อเครื่องบินนี้ได้ในราคาหลัก 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,322,845,000 บาท) ขึ้นไป
รายงานข่าวกองทัพอากาศวางแผนจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 (อ้างอิงวิดีโอจากไทยพีบีเอส)
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับรายงานข่าวในเรื่องประเด็นของราคาเครื่องบินรบ F-35 ก็พบรายงานข่าวที่น่าสนใจจากสำนักข่าวฟอร์บ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่รายงานว่า ที่ผ่านมานั้นมีประเด็นเรื่องการถกเถียงเกี่ยวกับราคาของเครื่องบินรบ F-35 มาโดยตลอด ซึ่งตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่าราคาของเครื่องบินรบรุ่น F-35 A นั้นลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,588,508,000 บาท) และการลดราคาดังกล่าวนั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าโครงการใดก็ตามที่มีค่าใช้จ่ายสูงและยืดเยื้อนั้นจะมีราคาเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจเมื่อผลิตภัณฑ์ของโครงการดังกล่าวเข้าสู่การใช้งานจริง
อย่างไรก็ตาม เทรนด์ในเรื่องของการลดราคาดังกล่าวนั้นดูเหมือนว่าจะยุติลง ในปี 2564 ที่ผ่านมา อย่างน้อยก็สำหรับเครื่องบินรบรุ่น F-35 A ที่มีราคาถูกกว่าและมีจำนวนมากกว่าที่ใช้งานโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ
โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา นายเคนเน็ธ พอสเซนริด ผู้บริหารของบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน กล่าวว่าเนื่องจากประเด็นว่าเรากำลังศึกษาเรียนรู้,ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ ณ เวลานี้ และประเด็นเรื่องที่เราต้องอยู่กับคุณสมบัติที่ทางพวกเขา (กองทัพสหรัฐฯ) ต้องการให้ใส่ลงไปในเครื่องบิน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่คุณจะเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาจากที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม นายพอสเซนริดคาดการณ์ต่อไปว่าในอนาคตนั้นราคาของเครื่องบินรบที่แพงกว่าอย่างเครื่องบินรบรุ่น F-35 B ที่เป็นเครื่องบินรบมีขีดความสามารถในการขึ้นลงในแนวดิ่งและเครื่องบินรบรุ่น F-35C ที่มีความสามารถในด้านการขึ้นบินจากเครื่องดีดนั้นจะมีราคาคงตัวต่อไปหรือว่าจะถูกลงในอนาคต
ทั้งนี้เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ว่าในสหรัฐฯนั้นมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นพิเศษ อยู่ที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 เมื่อเทียบกับอัตรา 1-2 เปอร์เซ็นต์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และนอกจากนี้มีรายงานว่าเครื่องบินรบรุ่น F-35 นั้นยังมีโครงการอัพเกรดในบล็อกที่ 4 ซึ่งประกอบไปด้วยการติดตั้งจอแสดงผลความละเอียดสูง ระบบคอมพิวเตอร์ที่เร็วขึ้น ระบบกำหนดเป้าหมายทางอิเล็กทรอนิกส์อีก ดังนั้นนี่จึงส่งผลทำให้ราคาของต้นทุนของเครื่องบินรบในอนาคตนั้นอาจจะเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องของการขึ้นราคาของเครื่องบิน F-35 นั้น ที่ผ่านมามีการบอกเป็นนัยยะแล้ว นับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2564 เมื่อนาย John Tirpak บรรณาธิการของนิตยสารของกองทัพอากาศชื่อว่า Air Force Magazine ได้เขียนบทความสัมภาษณ์นายเกรกอรี อุลเมอร์ รองประธานบริษัทล็อคฮีด ซึ่งนายอุลเมอร์ได้แนะนำว่าการลดราคาเครื่องบินรบ F-35 นั้นน่าจะต้องยุติลงในช่วงการเปิดตัวเครื่องบินรบล็อตที่ 15-17 ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตต่อจากนี้ และบริษัทก็กำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อจะรักษาราคาต้นทุนเอาไว้
นายอุลเมอร์ยังได้อธิบายถึงการอัพเกรดเครื่องบินรบในบล็อกที่ 4 ที่จะมีเป้าหมายเพื่อการลดจำนวนการผลิตเครื่องบินรบต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ภายใต้คำสั่งซื้อเครื่องบินรบที่มีจำนวนประมาณ 100 ลำ ดังนั้นจึงหมายความว่าในอนาคตเนื่องจากการผลิตเครื่องบินรบในจำนวนที่น้อยลง ราคาก็จะไม่สามารถลดลงไปได้ตามจำนวนเครื่องบินที่ผลิตเป็นจำนวนมากอีกแล้ว
อนึ่งสำหรับการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 ทั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาและในอนาคตนั้น พบว่าเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ใช้เงินทุนจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นนี้ไปแล้วกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13.295 ล้านล้านบาท) คิดเป็นจำนวน 2,500 ลำ ซึ่ง 2,500 ลำดังกล่าวนั้น แบ่งออกเครื่องบินรบรุ่น F-35A ให้กับกองทัพอากาศสหรัฐฯจำนวนกว่า 1,763 ลำ, เครื่องบินรบรุ่น F35 B แบบขึ้นลงทางดิ่งให้กับเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ จำนวน 353 ลำ,เครื่องบินรบรุ่น F-35C ให้กับเหล่านาวิกโยธินและกองทัพเรือสหรัฐฯ อีกจำนวนกว่า 340 ลำ,และนอกจากก็ยังมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะส่งออกเครื่องบินรบ F-35 ทั้งหมดรวมกว่า 900 ลำ ไปจนถึงปี 2589
โดยในช่วงปี 2564 มีการจัดส่งเครื่องบินรบ F-35 ไปให้กับกองทัพสหรัฐฯแล้วจำนวนกว่า 400 ลำ ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นมีการส่งออกไปยัง 15 ประเทศคู่ค้าคิดเป็นจำนวนกว่า 200 ลำ อย่างไรก็ตาม เพนตากอนกลับไม่สามารถบรรลุสัญญาในระยะยาวสำหรับการผลิตเครื่องบินรบในอัตราเต็มกำลังได้ อันเนื่องมาจากสถานะความไม่สมบูรณ์ของเครื่องจำลองการฝึกขั้นสูงสำหรับเครื่องบินรบ F-35
ตารางราคาเครื่องบิน F-35 ในปัจจุบัน ที่มีการผลิตรวมแล้วกว่า 14 ล็อต คิดเป็นจำนวนรวม 478 ลำ ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา 291 ลำ และมีการคาดการณ์ว่าเครื่องบินรุ่น F-35A ที่จะผลิตในล็อตที่ 15 เป็นต้นไปนั้นอาจจะมีราคาที่แพงขึ้นเพราะมีการผลิตที่น้อยลงและจะเน้นคุณภาพมากขึ้น
@การเปรียบเทียบราคาขาย
สำหรับเรื่องราคาของเครื่องบินรบ F-35 นั้นพบว่า ในช่วง ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาเครื่องบินรบ F-35A ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 นั้นอยู่ที่ประมาณ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ในขณะที่เครื่องบินรบรุ่นที่ 4.5 ยี่ห้ออื่นๆ ของประเทศตะวันตก อาทิ เครื่องบินรบราฟาล,เครื่องบินรบไต้ฝุ่น,เครื่องบินรบ Gripen-E และเครื่องบินรบ F-15 EX นั้นกลับมีราคาที่แพงกว่า อยู่ที่ 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,320,450,000 บาท) ต่อลำ ขณะที่เครื่องบินรบที่เก่ากว่าอย่าง F-16 และ F-18 ซุปเปอร์ฮอร์เน็ตมีราคาอยู่ที่ประมาณ 65-75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,158,487,500- 2,490,562,500 บาท) ต่อลำ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่องบินรบรุ่น F-35A นั้นจะมีราคาถูกกว่าเครื่องบินรบรุ่น Gripen-E แต่ก็มีรายงานระบุด้วยว่าราคาค่าใช้จ่ายเครื่องบินรบต่อชั่วโมงของ Gripen-E จะอยู่ที่ประมาณชั่วโมงละ 4,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (156,103 บาท) แต่เครื่องบินรบรุ่น F-35A นั้นกลับมีราคาค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงอยู่ที่ 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (697,483 บาท) ส่วนเครื่องบินรบรุ่น F-35B และ F-35C มีราคาค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงอยู่ที่ 31,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,029,200 บาท)
*หมายเหตุ:กองทัพอากาศไทยใช้เครื่องบินรบรุ่น Gripen C/D
อีกทั้งราคาของเครื่องบินรบ F-35 ดังกล่าวนั้นก็ยังไม่ได้รวมไปถึงในส่วนของค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิค่าใช้จ่ายด้านอะไหล่และค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง
รายงานข่าวเครื่องบินรบ F-35B ของสหราชอาณาจักรตกหลังเทคออฟจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ควีน อลิซาเบธ เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนักบินสามารถดีดตัวออกมาได้อย่างปลอดภัย (อ้างอิงวิดีโอจากบีบีซี)
@ราคาจัดซื้อในต่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรา ยังได้สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ www.aviacionline.com เพื่อตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 ในต่างประเทศเพิ่มเติม ก็พบว่าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศฟินแลนด์ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่จัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 เช่นกัน โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีจ่ายเงินซื้อเครื่องบินรบรุ่น F-35A อยู่ที่ประมาณ 4.029 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (133,825,249,500 บาท) เพื่อจะจัดซื้อเครื่องบิน F-35A ในบล็อกที่ 4 คิดเป็นจำนวนกว่า 36 ลำ หรือถ้าหากคิดเป็นราคาต่อลำจะพบว่าอยู่ที่ประมาณลำละ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,719,352,000 บาท)
ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์จะจ่ายเงินซื้อเครื่องบินรบ F-35A บล็อก 4 คิดเป็นจำนวน 64 ลำด้วยราคารวม 5.349 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (179,126,649,000 บาท) หรือคิดเป็นราคาต่อเครื่องจะอยู่ที่ลำละ 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,756,222,500 บาท)
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์บนเว็บไซต์ www.aviacionline.com ว่าราคาเครื่องบินรบ F-35A ต่อเครื่องที่แตกต่างกันมากระหว่างประเทศฟินแลนด์และประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมาจากปัจจัยทั้งในด้านจำนวนเครื่องบินรบที่ทั้ง 2 ประเทศได้สั่งซื้อและเงื่อนไขทางการเงินที่มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งในมูลค่าสัญญาการจัดซื้อของทั้งสองประเทศนั้นยังไม่ครอบคลุมไปถึงราคาในเรื่องของระบบขนส่ง แพ็คเกจอาวุธ และการสนับสนุนต่างๆ
ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าประเทศไทยจะสามารถจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35 ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศฟินแลนด์และประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาก เพราะว่าจัดซื้อแค่ไม่กี่ลำเท่านั้นแต่กลับได้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ ซึ่งเรื่องนี้นั้นดูเป็นไปไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง
และอีกประเด็นที่สำคัญก็คือว่า จนถึง ณ เวลานี้นั้นยังไม่มีรายงานออกมาเลยว่าสหรัฐฯได้ดำเนินการขายเครื่องบินรบ F-35 ให้กับประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่พันธมิตรใกล้ชิด (เกาหลีใต้,ญี่ปุ่น,ออสเตรเลีย และอิสราเอล) หรือประเทศอื่นๆนอกเหนือจากในภูมิภาคยุโรปแต่อย่างใด
เรียบเรียงจาก:https://www.aviacionline.com/2022/01/f-35-cheaper-than-the-gripen/,https://www.forbes.com/sites/sebastienroblin/2021/07/31/f-35a-jet-price-to-rise-but-its-sustainment-costs-that-could-bleed-air-force-budget-dry/?sh=3b873b9f32df,https://stratpost.com/gripen-operational-cost-lowest-of-all-western-fighters-janes/