"..ถ้าคนในสังคมมองว่าคนพิการเป็นคนไม่มีความสามารถ ต้องให้คนช่วยตลอดเวลา ก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสของคนพิการ ถ้ามองว่าทำอะไรไม่ได้ บริษัทต่างๆ ก็ไม่อยากจะรับคนพิการเข้าทำงาน หรือแม้ว่าคนพิการไปทำธุรกรรมต่างๆ เปิดบัญชี ก็จะไม่ให้เปิด แต่ถ้าคนในสังคมมีความเชื่อมั่น สื่อต่างๆ นำเสนอภาพลักษณ์ในเชิงบวก เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้คนพิการมีโอกาสทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น.."
'คนพิการ' หมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป
โดย 'คนพิการ' ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางในสังคมที่รัฐจะต้องความสำคัญ ดูแล คุ้มครอง และส่งเสริมให้สามารถมีดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัว 2,095,205 คน คิดเป็น 3.17% จากจำนวนประชากรไทยกว่า 66.18 ล้านคน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 1,094,210 คน คิดเป็น 52.22% และเพศหญิง 1,00,995 คน คิดเป็น 52.22%
หากแยกตามภูมิภาค พบว่าคนพิการส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 833,830 คน หรือคิดเป็น 39.80% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 22.12% ภาคกลาง 20.88% ภาคใต้ 12.52% และกรุงเทพมหานคร 4.64%
อย่างไรก็ตามจำนวนคนพิการที่กล่าวมานี้ อาจยังไม่ใช่จำนวนที่แท้จริงของคนพิการ เนื่องจากยังมีคนพิการที่ไม่ได้รับมาขึ้นทะเบียนอีก
โดยสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ สำหรับคนพิการที่ได้ขึ้นทะเบียนและมีบัตรประจำตัวคนพิการแล้ว มีสิทธิที่จะยื่นคำขอใช้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ ตามมาตรา 20 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด มีรายละเอียด ดังนี้
- เบี้ยความพิการ
คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจะได้รับเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถยื่นขอรับเบี้ยความพิการได้ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามทะเบียนบ้านคนพิการ
- การกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ
คนพิการที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ดูแลตามกฎหมาย สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ คนกพิการได้ไม่เกิน 120,000 บาท และกู้รายกลุ่มไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยผ่อนชำระไม่เสียดอกเบี้ยภายใน 5 ปี
- การช่วยเหลือทางกฎหมาย
คนพิการสามารถขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่าง แก้ต่างให้คนพิการที่มีความยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม
- ปรับสภาพที่อยู่อาศัย
การปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับคนพิการ เช่น การปรับห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ การปรับสภาพผิวทางเดิน รายละไม่เกิน 20,000 บาท
- สิทธิทางอาชีพ
คนพิการสามารถเข้ารับการฝึกอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น ในส่วนการจ้างงาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดเข้าทำงาน
- สิทธิทางการศึกษา
คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเรียนจนถึงปริญญาตรี และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดสกสื่อบริการความช่วยเหลือทางการศึกษา
- สิทธิทางการแพทย์
สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟื้นฟูสมรรถภาพ การรักษาพยาบาล กายอุปกรณ์และเครื่องช่วยคนพิการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำปรึกาทางการแพทย์
แม้ว่า รัฐจะมอบสิทธิ สวัสดิการ และให้ความช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ในบางครั้งสิทธิ และสวัสดิการต่างๆ นั้น อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในการดำเนินชีวิตของคนพิการ ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2565 นี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับตัวแทนคนพิการในกลุ่มต่างๆ ถึงของขวัญปีใหม่ที่พวกเขาอยากจะได้จากรัฐ
พ.ต.ศิริชัย ทรัพย์ศิริ นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล ตัวแทนคนพิการ และคณะทำงานช่วยเหลือคนพิการตลอดเกือบ 20 ปี กล่าวว่า สวัสดิการที่คนพิการอยากจะได้เป็นของขวัญปีใหม่ปี 2565 จาก ภาครัฐนั้น สามารถแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
- อยากเพิ่ม 'เบี้ยยังชีพคนพิการ' จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท
พ.ต.ศิริชัย กล่าวอธิบายว่า เนื่องจากคนพิการในสถานการณ์ปกติ ก็ถือว่าดำเนินชีวิตได้ยากลำบากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ประพกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีงานทำในการหารายได้เลี้ยงชีพ
- อยากเพิ่มสิทธิการค้าขายของคนพิการจาก 1 สิทธิ เป็น 2 สิทธิ
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือสถานประกอบการไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการนั้น อาจดำเนินการให้สัมปทาน/จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ/จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษ/ฝึกงาน/จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก/จัดให้มีล่ามภาษามือ/ให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้
"เพราะว่าบางพื้นที่ที่สถานประกอบการจัดสรรให้นั้น ทำเลไม่ดี ขายของไม่ได้ ถ้ามี 2 ที่ อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาได้ ทีหนึ่งขายไม่ได้ อีกหนึ่งที่ก็ยังขายได้ เพื่อให้ได้มีรายได้ แต่ถ้าพูดว่าจะมีปัญหาเรื่องการลดหย่อนภาษี 2 ที่ รัฐก็ควรแก้ไขปัญหาในการจัดสรรแบ่ง 2 ส่วนในการลดหย่อนภาษี เช่น สามารถลดหย่อนได้ 1 แสนบาท ก็แบ่งเป็นที่ละ 5 หมื่นบาท เป็นต้น" พ.ต.ศิริชัย กล่าว
- อยากให้คนพิการสามารถต่อใบขับขี่รถสาธารณะได้
พ.ต.ศิริชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับคนพิการจะได้รับอนุญาตให้ทำใบขับขี่เฉพาะรถยนต์/รถจักยานยนต์ ประเภทส่วนบุคคลเท่านั้น แต่อยากจะขอให้คนพิการสามารถขออนุญาตขับรถสาธารณะได้ เนื่องจากคนพิการบางส่วน สามารถขับรถได้อยู่แล้ว ก่อนที่จะประสบเหตุทำให้พิการภายลัง
"การที่รัฐไปจำกัดว่าคนพิการไม่สามารถขับรถรับจ้างได้ แต่ในทางปฏิบัติสามารถทำได้ ทำให้เขาไม่สามารถต่อใบขับขี่ได้ อีกทั้งบางครอบครัวคนพิการเหล่านั้นคือเสาหลักครอบครัว ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก แต่ไม่ได้รับการต่อใบขับขี่เพื่อประกอบอาชีพ เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถหกล้อรับจ้าง" พ.ต.ศิริชัย กล่าว
พ.ต.ศิริชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า คนพิการส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิทธิของตนเอง แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่ดีมาก นอกจากนั้น ปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการ ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ขั้นตอนช่วยเหลือที่มีข้อจำกัดและยากลำบาก รวมถึงงบประมาณไม่เพียงพอ
พ.ต.ศิริชัย ทรัพย์ศิริ นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล
นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ที่อยากได้จากภาครัฐว่า ประเด็นแรก คือ การขึ้นเบี้ยดำรงชีพคนพิการถ้วนหน้า จากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ผลักดันกันมาตลอด
"ที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรีจะมีการปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 1.2 ล้านคน จากคนพิการทั้งหมดราว 2 ล้านคน เหลืออีกประมาณ 8 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร" นายเอกกมล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุม กพช.ได้เห็นชอบการปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับกลุ่มคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยได้มอบให้ พก.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
นายเอกมล กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การจ้างงานคนพิการ ตามที่การจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจ้างงานคนพิการเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสังคม มีโอกาสในการเข้าถึงการประกอบอาชีพ ได้ใช้ศักยภาพของตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ
ที่ผ่านมาในภาคเอกชนเกือบจะทั้งหมด 100% ได้มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว เหลือในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ที่แม้จะมีการจ้างงานคนพิการบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไปตามสัดส่วน จ้างเพียงแค่ราว 10% เท่านั้น อาจเป็นเพราะว่า ในส่วนของภาครัฐอาจจะไม่ได้มีข้อกำหนดไว้ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาส่งเสริมคนพิการได้ หรืออาจเป็นเพราะหน่วยงานนั้นๆ ไม่แน่ใจว่าต้องไปจ้างงานคนพิการจากที่ไหน หรือไม่ทราบว่าอาจจะช่วยเหลืออื่นใดได้
"ยิ่งเฉพาะสภาวะโควิด-19 ถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนในการจ้างงานคนพิการ จะทำให้คนพิการมีรายได้ ก็จะช่วยยกระดับชีวิตได้ อีกทั้งจะได้ช่วยเหลือคนพิการอีกนับหมื่นคนให้สามารถดูแลเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติได้" นายเอกมล กล่าว
นายเอกมล กล่าวถึงการประกอบชีพคนพิการทางสายตาว่า การขายสลากินแบ่งรัฐบาล เป็นอาชีพที่คนตาบอดยึดเป็นอาชีพหลักนับหมื่นคน และอยากจะให้คนตาบอดประกอบอาชีพค้าสลากต่อไป จึงไม่อยากให้มีแพลตฟอร์มออนไลน์มาทดแทน และการเปิดลงทะเบียนการขายสลากเสรี ที่มีการเปิดให้คนทั่วไปลงทะเบียนผ่านไปรษณีย์ อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยสงวนโควตาสลากส่วนหนึ่งไว้ให้คนพิการได้มีโอกาสลงทะเบียน และเป็นผู้จำหน่ายสลากกับทางภาครัฐ เพื่อที่จะเป็นหนทางช่วยให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง
ในส่วนของการดำเนินชีวิตประจำวัน นายเอกมล กล่าวว่า อยากจะให้ระบบสาธารณะเอื้ออำนวยต่อคนพิการมากขึ้น เพราะคนพิการ เช่น คนตาบอด ก็จะมองไม่เห็นสายรถเมล์ รถเมล์ก็ไม่เอื้อให้คนนั่งวีลแชร์ เป็นต้น
แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะในมุมมองของคนพิการทางสายตา นายเอกมล กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทะเบียนรับสวัสดิการ หรือการติดตามข่าวสารจะเป็นผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งคนตาบอดก็จะมีแอปพลิเคชัน หรือฟังก์ชันโปรแกรมสำหรับการอ่านหน้าจอ แต่ในบางครั้งเว็บไซต์หรือแอปฯ ของหน่วยงานภาครัฐ ก็ไม่รองรับในการใช้งานร่วมกัน จึงอยากให้ช่วยกวดขันเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงข่าวสารและสวัสดิการต่างๆ ได้
นายเอกมล กล่าวเน้นย้ำว่า ตนเชื่อว่าทัศนคติของคนในสังคมมีผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ ไม่ว่าภาครัฐหรือคนในสังคมมองคนพิการอย่างไรนั้น จะส่งผลต่อนโยบายการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการโดยตรง
"ถ้าคนในสังคมมองว่าคนพิการเป็นคนไม่มีความสามารถ ต้องให้คนช่วยตลอดเวลา ก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสของคนพิการ ถ้ามองว่าทำอะไรไม่ได้ บริษัทต่างๆ ก็ไม่อยากจะรับคนพิการเข้าทำงาน หรือแม้ว่าคนพิการไปทำธุรกรรมต่างๆ เปิดบัญชี ก็จะไม่ให้เปิด แต่ถ้าคนในสังคมมีความเชื่อมั่น สื่อต่างๆ นำเสนอภาพลักษณ์ในเชิงบวก เข้าใจอย่างถูกต้อง จะทำให้คนพิการมีโอกาสทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น" นายเอกมล กล่าวทิ้งท้าย
นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ แผ้วมานะกุล และ นายกิตติชัย เปี่ยมสุวรรณศิริ ตัวแทนคนพิการทางการได้ยินจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับสวัสดิการของคนพิการจากภาครัฐที่เห็นได้ชัด คือ เบี้ยยังชีพ จำนวน 800 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่เพียงพอ จึงอยากให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยเดือนละ 1,000 บาทขึ้นไป หรืออาจจะมีการช่วยเหลือในด้านสิ่งของดำรงชีพอื่นๆ เช่น ตู้เย็น อาหารแห้ง เป็นต้น
นายกิตติชัย กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคในชีวิตประจำวันของคนหูหนวก คือเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งในสังคมปัจจุบัน คนทั่วไปหรือคนหูดี ยังไม่ค่อยเข้าใจคนหูหนวก บางครั้งที่คนหูหนวกต้องการขอความช่วยเหลือ จะต้องสื่อสารการสัมผัส มีการสะกิด บางครั้งคนหูดีก็ไม่เข้าใจ ตกใจกลัว รวมถึงแสดงท่าทีรังเกียจหรือเมินเฉย จึงอยากขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนหูดีเข้าใจเพื่อให้คนหูหนวกใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกันได้
เช่นเดียวกับ นายเกียรติศักดิ์ ที่เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ประสบว่า ตนเคยเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นจะต้องสอบถามถึงสถานีปลายทาง จึงได้มีการต่อแถวเพื่อสอบถามพนักงานผ่านการสื่อสารด้วยการเขียน แต่สิ่งที่พบคือ การแสดงสีหน้าที่ไม่พอใจจากทั้งพนักงานและผู้คนที่ต่อแถว
"อยากจะฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการต่างๆ รวมถึงระบบขนส่งสาธสาธาณะ ให้ความสำคัญ ทำความเข้าใจ และเรียนรู้พฤติกรรมของคนหูหนวก เพื่อที่จะได้สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้าใจคนพิการมากยิ่งขึ้น" นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ปัญหาที่พบคือ ธนาคารหรือการทำธุรกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเงิน มักจะให้เปิดโอกาสให้คนหูหนวกกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพก็ตาม โดยสาเหตุอาจจะกลัวว่าจะติดต่อสื่อสารได้ยาก
นายกิตติชัย เปี่ยมสุวรรณศิริ และนายเกียรติศักดิ์ แผ้วมานะกุล ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ นายเกียรติศักดิ์ กล่าวถึงปัญหาในการทำงานคนหูหนวกว่า การหางานทำของหนวกค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากติดปัญหาด้านการสื่อสาร อีกทั้งบางบริษัท เมื่อรับเข้าทำงานแล้ว ก็ไม่ให้ความสำคัญกับคนหูหนวก ทำให้คนหูหนวกรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และแปลกแยกจากสังคม รวมถึงการไม่เข้าถึงข่าวสารต่างๆ เนื่องจากถูกปล่อยปะละเลยอีกด้วย
"ฤกษ์ดีปีใหม่แล้ว อยากจะฝากให้กระทรวงแรงงาน พม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอีเว้นท์ มหกรรมรวมงาน เพื่อศูนย์รวมระหว่างผู้ประกอบการ และคนพิการที่ต้องการหางานทำ มีโอกาสพบปะกัน" นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
นายกิตติชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากจะฝากถึงคนในสังคมให้เข้าใจ รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะเข้าใจว่าการเหยียดกันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกคมก็ตาม แต่ก็อยากให้ลบทัศนคติที่ไม่ดีออกไป และอยากจฝากไปถึงภาครัฐให้มอบสวัสดิการที่ถ้วนหน้าและเท่าเทียมให้กับคนพิการทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม
ทั้งนี้ จะต้องติดตามต่อไปว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีของขวัญปีใหม่เป็นข่าวดีให้กับคนพิการหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้กคนพิการบางส่วนที่ยังไม่รับการขึ้นทะเบียน สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม