“… เดิมเรามองว่าหากการตั้งเกณฑ์การลงโทษที่เข้มงวดอย่างการจำคุก เป็นการป้องกันการกระทำผิด เป็นสาเหตุที่ทำให้คดีล้นศาลและผลิตนักโทษเข้าสู่เรือนจำจำนวนมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นคดีเกี่ยวกับเช็ค คคีละเมิดลิขสิทธิ์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรายย่อย ทั้งผู้ค้า ผู้เสพ หรือผู้ครอบครองไว้เพื่อเสพ ต่างได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกหมด…”
‘นักโทษล้นคุก’ เป็นหนึ่งในปัญหาที่กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญ เมื่อเรือนจำแต่ละแห่งมีผู้ต้องขังจำนวนมากเกินกว่าความจุของเรือนจำ
ปัจจุบันข้อมูลจากกรมราชฑัณฑ์ เปิดเผยสถิติจำนวนผู้ต้องขังปี 2553-2563 ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 สถิติแตะถึง 300,000 รายต่อปี และในปี 2563 มีผู้ต้องขัง 356,509 คน
ขณะที่เรือนจำภายในประเทศไทยสามารถรับผู้ต้องขังได้ราว 200,000 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่าประมาณ 100,000 คน ส่งผลให้เกิดความแออัด กระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการ และการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้ต้องขัง
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ได้ออกมาตรการที่หลากหลาย เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการนำนักโทษออกจากคุก เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษ การให้อาสาสมัครทำงานสาธารณะเพื่อลดวันต้องโทษ รวมถึงการผลักดันมาตรการชะลอการฟ้องเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นสาย แต่ส่วนใหญ่ผู้ต้องขันชั้นเยี่ยมเท่านั้นที่มักจะได้รับโอกาสมากกว่าผู้ต้องขังชั้นอื่นๆ
กระทรวงยุติธรรมจึงออกกฎกระทรวง ลดวันต้องโทษและพักการลงโทษ ให้แก่นักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป โดยตั้งกฎการลดโทษไว้ให้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษเดิม
เพื่อบรรเทาปัญหาเรือนจำแออัดอย่างเป็นรูปธรรม และให้โอกาสแก่ ‘นักโทษเด็ดขาด’ หรือผู้ต้องขังที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว ซึ่งกระทำความผิดซ้ำ และเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางที่มีความประพฤติดีและได้รับโทษจำคุกมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ให้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เร็วขึ้น
นายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ประเทศไทยเราประสบปัญหาผู้ต้องขังแออัดล้นเรือนจำมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยสถิติของกรมราชทัณฑ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดอยู่ประมาณ 380,000 คน และเมื่อได้รับการปล่อยตัวผู้ต้องขังออกมาก็ยังเหลือราว 300,000 คน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทุกปี
เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วโลก ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดของโลก รองจากประเทศที่เขามีพื้นที่และประชากรจำนวนมาก จึงมีจำนวนผู้ต้องขังมากตามมา เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย บราซิล
ผู้ต้องขังล้นเรือนจำทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เพราะทำให้เสียทรัพยากรมากและลดประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ขณะที่การเร่งนำผู้ต้องขังออกจากเรือนจำเพื่อลดความแออัด ส่งผลให้คนที่ยังไม่พร้อมต้องถูกนำออกจากเรือนจำด้วย ซึ่งเขาจะกลับไปทำความซ้ำผิดอีก นอกจากนี้ความแออัดก็ทำให้สุขภาวะในเรือนจำไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อันเป็นการลดทอนสิทธิมนุษยชนของเขาด้วยเช่นกัน
นายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4 เหตุผลนักโทษล้นเรือนจำ-แนวทางแก้ไข
หากมองในภาพรวมแล้ว การแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.บุคคลากร หากเราได้คนที่ดีและมีความสามารถเข้ามาทำงานในกระบวนการยุติธรรม การดำเนินงานย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน และ 2.ระบบ แม้เราจะได้บุคคลากรที่ดีและเก่งเข้ามา แต่หากระบบของเรายังเป็นเช่นเดิม เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้
เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกถึงสาเหตุที่ประเทศยังเผชิญกับปัญหาผู้ต้องขังนักโทษล้นเรือนจำอยู่ตลอด นายปกป้องเปิดเผยว่าเกิดจากสาเหตุและมีแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้
1.กฎหมายอาญาเฟ้อ เดิมเรามองว่าหากการตั้งเกณฑ์การลงโทษที่เข้มงวดอย่างการจำคุก เป็นการป้องกันการกระทำผิด เป็นสาเหตุที่ทำให้คดีล้นศาลและผลิตนักโทษเข้าสู่เรือนจำจำนวนมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นคดีเกี่ยวกับเช็ค คคีละเมิดลิขสิทธิ์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรายย่อย ทั้งผู้ค้า ผู้เสพ หรือผู้ครอบครองไว้เพื่อเสพ ต่างได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกหมด
ทั้งที่คดีบางส่วนเป็นคดีทางแพ่งอย่างชัดเจน จึงไม่ควรนาโทษทางอาญามาใช้ เพราะเป็นการสร้างภาระเพิ่มเติมให้เจ้าพนักงานต้องเป็นผู้ทวงหนี้ตามเช็คให้อีกด้วย
ขณะเดียวกันผู้ต้องขังกว่า 80% ของทั้งประเทศ เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพยาเสพติดหรือมีไว้ครอบครองเพื่อเสพ การลงโทษจำคุก อาจไม่จำเป็น ควรหันไปใช้กระบวนการฟื้นฟู หรือบำบัดรักษาแทน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำได้อย่างตรงจุด ซึ่งหากตัดคดียาเสพติดออกไป เรือนจำไทยจะไม่ล้น เพราะจะเหลือผู้ต้องขังคดีอื่นเพียง 20%
“นับเป็นก้าวที่ดีที่ประเทศไทยได้มีประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีหลักการสำคัญคือแยกผู้ค้ายา และผู้เสพ ผู้ครอบครองเพื่อเสพออกจากกัน โดยมองว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย และใช้กระบวนการทางสาธารณสุขในการแก้ปัญหา อีกไม่นาน 2-3 ปี เราคงให้เห็นระบบยุติธรรมไทยที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” นายปกป้อง กล่าว
2.โทษปรับยังไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากโทษปรับไม่สอดคล้องกับค่าของเงินในปัจจุบัน จึงไม่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ในการใช้โทษปรับได้อย่างแท้จริง ส่งผลกระทบให้ศาลเลือกใช้โทษจำคุกเป็นหลัก
ในความเป็นจริงแล้ว การลงโทษจำคุกควรเป็นมาตรการการสุดท้ายในการลงโทษ เพราะการจำคุกทำให้เราเสียต้นทุน และทรัพยากรมากมาย ซึ่งในหลายประเทศเองก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ จะลงโทษนักโทษคดีเล็กๆ ด้วยปรับหรือริบทรัพย์ทางการเงินไว้ก่อน และจะลงโทษหนักต่อเมื่อเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์เท่านั้น
3.ขาดมาตรการโทษทางเลือก หากเราสังเกตคำพิพากษาของศาล จะไม่เห็นการลงโทษอื่น นอกจากการสั่งจำคุก ในขณะที่การลงโทษอื่นๆ เรายังใช้น้อย เช่น การลงโทษเชิงเยียวยา การทำงานบริการสังคม การคุมความประพฤติแบบเข้มงวด และการกักขังที่บ้าน เป็นต้น
4.ระบบการปล่อยตัวชั่วคราวให้มีประสิทธิภาพ การเรียกหลักประกันเป็นทรัพย์สินก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้กระทำผิดที่ยากไร้ไม่สามารถประกันตัวได้ ทั้งที่อาจเป็นการทำผิดเล็กน้อยก็ต้องถูกขังเอาไว้ก่อนระหว่างสอบสวนดำเนินคดีอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่ผู้มีเงินก็สามารถวางเงินหลักประกันแล้วกลับบ้าน
ดังนั้นหากเราลดหลักประกันให้ต่ำลงสามารถระบายคนเหล่านี้ออกไปได้ ปัญหานักโทษล้นคุกจะบรรเทาลง อย่างไรก็ตามก็ควรพิจารณาเบื้องหลัง รวมถึงความประพฤติของผู้ต้องหาหรือจำเลยประกอบในการปล่อยชั่วคราวด้วย
กฎหมายป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ป้องกันสังคมให้ปลอดภัย
ตามกฎกระทรวงใหม่ที่ประกาศปรับเกณฑ์ลดวันต้องโทษและการพักโทษนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ทำให้หลายคนกังวลว่าจะกระทบกับความปลอดภัยของสังคมในอนาคต นายปกป้อง กล่าวว่า หลายคนอาจกังวลถึงการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหลังได้รับการปล่อยตัว อย่างไรก็ตามขณะนี้กฎหมายป้องกันการกระผิดซ้ำของผู้พ้นโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืน และการกระทำความผิดทางเพศ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว กำลังเข้าสู่รัฐสภา อีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้
“กฎหมายฉบับนี้นับเป็นความหวังใหม่ เพราะจะช่วยคุ้มครองทั้งสังคมและคุ้มครองสิทธิของผู้พ้นโทษเหล่านี้อย่างสมดุลด้วย จะมีการกำกับติดตามเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการก่อเหตุซ้ำ จะไม่ปล่อยให้เมื่อผู้พ้นโทษออกจากคุกแล้วก็พ้นแบบแล้วไปเลยเหมือนที่ผ่านมา ถ้าเขาก่อเหตุซ้ำ ก็จะมีมาตรการลงโทษ”นายปกป้อง กล่าว
‘พัฒนาโทษปรับ’คดีทุจริต ช่วยคืนความยุติธรรมให้สังคม
ส่วนอีกกลุ่มที่ได้รับการลดโทษและสังคมกำลังให้ความสนใจ คือ กลุ่มผู้ต้องขังคดีทุจริต ซึ่งนายปกป้อง มองว่า การลดโทษสามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีการพัฒนาโทษปรับให้มีประสิทธิภาพใช้ควบคู่กันไปด้วย
ที่ผ่านมาแม้การลงโทษคดีทุจริต เช่น คดีรับสินบน ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยบัญญัติโทษปรับเอาไว้เพียง 400,000 บาท ซึ่งยังไม่มีผลเพียงพอที่จะยับยั้งการกระทำผิดคดีทุจริตได้ ขณะที่ต่างประเทศเขาปรับและริบทรัพย์เป็นจำนวน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ผู้กระทำผิดก่อไว้ ยกไปเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือของแผ่นดิน
นายปกป้อง มองว่า ถ้าพัฒนาระบบค่าปรับให้มีประสิทธิภาพจะเป็นการยับยั้งและคืนความยุติธรรมให้สังคม ส่วนการลงโทษจำคุกก็ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของการกระทำความผิด
“ปัจจุบันค่าปรับเรายังไม่มีผลพอที่จะยับยั้งการกระทำทุจริตได้ เราก็เลยใช้วิธีจำคุก แต่การจำคุกอย่างเดียว สุดท้ายเมื่อเรือนจำแออัดเราก็ต้องปล่อยตัวออกมา สังคมจึงรู้สึกว่าลงโทษไม่สาสม เพราะไม่นานก็ปล่อยตัวออกมาแล้ว ดังนั้นการพัฒนาการลงโทษปรับและริบทรัพย์ให้ได้ผล เข้ามาเสริมกับการจำคุกจะเป็นช่วยคืนความยุติธรรมให้กับสังคมได้” นายปกป้อง กล่าวทิ้งท้าย
นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์
‘ราชทัณฑ์’แจงลดโทษผู้ต้องขัง เป็นไปตามกรอบกฎหมาย
ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวชี้แจงประเด็นหลักเกณฑ์การลดโทษอาจมีการให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม ผ่านเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ ว่า การอภัยโทษมีการสืบทอดเป็นโบราณราชประเพณีเนื่องในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้กลับตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่ากรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาล ขอชี้แจงว่า การพิพากษากำหนดโทษเป็นอำนาจของศาล ในส่วนการบริหารโทษ เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ภายใต้อำนาจของกฎหมาย
สำหรับหลักเกณฑ์ในการที่นักโทษจะได้รับอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี ตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ส่วนจะได้รับการลดโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและประเภทคดีเป็นสำคัญ ประกอบด้วย คดีอาญาทั่วไป คดีอาญาร้ายแรง คดียาเสพติดรายย่อย และคดียาเสพติดรายใหญ่ โดยจะได้รับการลดโทษตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
คดีอาญาทั่วไป
-
ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2
-
ชั้นดีมาก 1 ใน 3
-
ชั้นดี 1 ใน 4
-
ชั้นกลาง 1 ใน 5
คดีอาญาร้ายแรง
-
ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3
-
ชั้นดีมาก 1 ใน 4
-
ชั้นดี 1 ใน 5
-
ชั้นกลาง 1 ใน 6
คดียาเสพติดรายย่อย
-
ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5
-
ชั้นดีมาก 1 ใน 6
-
ชั้นดี 1 ใน 7
-
ชั้นกลาง 1 ใน 8
คดียาเสพติดรายใหญ่
-
ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6
-
ชั้นดีมาก 1 ใน 7
-
ชั้นดี 1 ใน 8
-
ชั้นกลาง 1 ใน 9
โดยตัวอย่างการคำนวณการลดโทษ สำหรับคดีอาญาทั่วไป นักโทษเด็ดขาดชาย ก. อยู่ในชั้นเยี่ยม กำหนดโทษจำคุก 30 ปี จะได้ลด 1 ใน 2 ตามเกณฑ์ข้างต้น คือจะได้ลด 15 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 15 ปี แต่หากเป็นคดีอาญาร้ายแรง ถ้านักโทษเด็ดขาดชาย ก. เป็นผู้กระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรง มีกำหนดโทษจำคุก 30 ปี และเป็นชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกัน จะได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 คือจะได้ลด 10 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 20 ปี
ด้านกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คดีจำนำข้าวที่ปรากฏเป็นข่าว ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง ศาลได้ตัดสินจำคุก มีกำหนดโทษ 48 ปี และได้รับการอภัยโทษจำนวน 4 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 15 สิงหาคม 2563 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดีมาก) เหลือโทษจำคุก 36 ปี
ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ธันวาคม 2563 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 24 ปี
ครั้งที่ 3 วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ได้ลดโทษ 8 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 16 ปี
ครั้งที่ 4 วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ได้ลดโทษ 5 ปี 4 เดือน (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน
“กรมราชทัณฑ์ขอให้สังคมและประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ต้องขังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ พร้อมให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดทุกคนได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป” นายณรงค์ กล่าว
ปัญหานักโทษล้นคุกของประเทศไทย เกิดมาจากการมองว่าคนทำผิดต้องติดคุก การตั้งโทษไว้รุนแรงจะช่วยป้องกันการกระทำผิดของมนุษย์ได้ ซึ่งกว่า 80% พบว่าเป็นผู้ต้องขังคดีเสพยาหรือมียาเสพติดไว้ครอบครอง ขณะที่มีนักโทษคดีอุกฉกรรจ์เป็นส่วนน้อย ดังนั้นแล้วถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะพัฒนามาตรการโทษทางเลือก ควบคู่ไปกับการลดวันต้องโทษ