"...ไม่ว่าจะมีข้อมูลต่างๆ มากแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องยึดถือว่า ความแฟร์คืออะไร คือควรต้องมีพื้นฐานว่า อะไรคือสิ่งที่เหมือนกัน เท่ากัน แล้วจึงค่อยคิดบวกเข้าไปเพิ่มเติม ถึงในรูปการปกครองให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมาย และเสมอหน้ากัน..."
‘หลักนิติธรรม (Rule of Law)’ เป็นกฎเกณฑ์เพื่อกำหนดว่าบุคคลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ตลอดจนรัฐบาลและสถาบันทุกสถาบันในชาติจำต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ เมื่อหลักนิติธรรมมีผลบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดที่ได้ออกมาใช้บังคับแก่ประชาชน จะเป็นหลักประกันได้ว่าบุคคลในชาติทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาก็มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กล่าวว่า ความยุติธรรม คือ ความแฟร์ (Fair) ซึ่งความยุติธรรมในสารพัดระบบในโลกนี้ ล้วนก็เริ่มต้นจากตรงนี้เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากความเข้าใจว่า ความแฟร์ของแต่บุคคลคนต่างกัน ทั้งมีความคิดเห็น ผลประโยชน์ จุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ทั้งหลาย ทำให้ความแฟร์ ก็เริ่มแตกต่างออกไปเติมไปเรื่อยๆ
ทำให้ต้องมีระบบกฎหมายเข้ามาจัดการ สร้างเงื่อนไข สร้างปัจจัยองค์ประกอบของความแฟร์ออกมาสารพัด จนกระทั่งสุดท้ายเลยเถิดไปถึงขนาดที่ว่า ความแฟร์ในทางกฎหมายที่เป็นจริงทุกวันนี้ในระบบมีเยอะแยะ จนไม่เหลือรูป และทำให้เกิดการบิดเบือนว่าอะไรที่เรียกว่าความแฟร์กันแน่
“ไม่ว่าจะมีข้อมูลต่างๆ มากแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องยึดถือว่า ความแฟร์คืออะไร คือควรต้องมีพื้นฐานว่า อะไรคือสิ่งที่เหมือนกัน เท่ากัน แล้วจึงค่อยคิดบวกเข้าไปเพิ่มเติม ถึงในรูปการปกครองให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมาย และเสมอหน้ากัน” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวด้วยว่า รากฐานนิติศาสตร์ไทยไม่ใช่นิติศาสตร์ที่เป็น Rule of Laws แต่เป็นนิติศาสตร์ ที่รัฐมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน เพราะฉะนั้นกฎหมายไทยทั้งระบบก็พัฒนาการโดยมีสิ่งนี้เป็นรากฐานอยู่ ไม่ว่าจะก่อตัวหรือปรับตัวอย่างไร รากฐานนี้ก็ไม่ได้ถูกรื้อหรือแก้ไข ไม่ได้รับการสะสางอย่างจริงจัง ในระบอบนี้ รัฐมีอภิสิทธิ์ต่างๆ เยอะแยะ และมักจะใช้กระบวนการยุติธรรมเข้าข้างตัวเอง ใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง และถือเป็นอภิสิทธิ์ที่อันตรายที่สุด
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องระบบต่างๆ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าระบบต่างๆ เหล่านี้มีตัวละครอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง หรือว่าถูกจำกัดวงอยู่ในแวดวงวิชาชีพ หรือว่าผู้รู้กลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่างเช่น ระบบการแพทย์ ก็จะเป็นเรื่องของพวกแพทย์ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่ระบบการแพทย์กลายเป็นเรื่องเฉพาะของแพทย์ ก็น่าจะเป็นหายนะอย่างหนึ่งของประเทศ
“คล้ายกับระบบยุติธรรมเหมือนกัน ถ้าหากว่าพูดถึงเรื่องระบบยุติธรรมในความหมายที่มันมีใจความอยู่แค่เพียงตำรวจ ผู้ต้องหา อัยการ ศาล และกรมราชทัณฑ์เท่านั้น ก็อาจจะเป็นหายนะในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว
ดร.นพ.โกมาตร กล่าวต่อว่า ฉะนั้นเมื่อมองเรื่องระบบ สิ่งที่จำเป็น คือต้องมาสลายเส้นแบ่ง หรือขอบเขตออกไป เนื่องจากจะทำให้ระบบไม่เป็นระบบที่ผูกขาดโดยวิชาชีพ หรือกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือระบบนั้นๆ อยู่แต่เพียงฝ่ายเดียว
ระบบยุติธรรม ไม่ได้เป็นระบบที่แยกขาดออกไปจากระบบอื่นๆ เช่นเดียวกับระบบการแพทย์ ซึ่งซ้อนทับกับระบบยุติธรรมอย่างมหาศาลไม่ใช่เพียงเพราะว่า แพทย์จะต้องไปชันสูตรพลิกศพ ถ้าหากว่ามีคนถูกฆ่าหรือว่าตายอย่างผิดธรรมชาติเท่านั้น แต่หมายถึงการเข้าถึงวัคซีน การบริหารจัดการทรัพยากรทั้งระบบสาธารณสุขต่างๆ ที่ต้องมีความเป็นธรรมให้กับผู้คนที่หลากหลาย รวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
ดร.นพ.โกมาตร เปิดเผยว่า เคยสนับสนุนการทำบทความเกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมบนท้องถนน พูดถึงการขับรถไปในที่ต่างๆ นั้นก็เป็นการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นผิวถนน หรือว่าที่จอดรถหรือว่าเวลาที่จะต้องใช้มากเกินไปบนถนนกว่าจะไปถึงที่ทำงาน ก็จะมีการแย่งชิงกัน ซึ่งระบบจราจรนั้น ก็แฝงด้วยระบบยุติธรรมด้วยเช่นกัน ว่าจะเป็นการให้อภิสิทธิ์ต่อรถยนต์มากกว่าคนเดินหรือไม่ หรือว่าเป็นการให้อภิสิทธิ์ต่อรถใหญ่มากกว่ารถเล็ก หรือพนักงานจราจรที่ขับรถย้อนศรโดยไม่มีใครมาจับ
แต่ทั้งนี้ ระบบยุติธรรม ก็มีขอบเขตที่ซ้อนทับกับระบบอื่นๆ อยู่ค่อนข้างเยอะ
ดร.นพ.โกมาตร แสดงความคิดเห็นว่า เช่นเดียวกับเวลาที่ทำงานเรื่องระบบสุขภาพ ก็อยากจะให้ระบบเป็นระบบเปิดรับความเห็นความคิดหลากหลาย ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่คนในแวดวงดั้งเดิม ที่มีแนวคิดเฉพาะ การที่รับฟังความคิดเฉพาะในคนในแวดวงเดิม ซึ่งจะคุ้นเคยกับวิธีคิดชุดเดิม หากลองฟังจากคนอื่นๆ บ้าง เปิดรับความคิดใหม่ๆ จากหลายหมายมุมมอง ก็จะนำพาระบบเดิมไปหาจินตนาการอันใหม่ได้ ซึ่งวิธีการนี้ เป็นวิธีที่นักมานุษยวิทยา ใช้ในการศึกษา การออกจากแนวคิดที่คุ้นเคย จะทำให้กลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยชินได้มากขึ้น
“ถ้าเราจะนิยามความเป็นธรรม หรือนิยามระบบยุติธรรม เราจะนิยามมันอย่างไรดี มันมีคุณค่าของมันอยู่ในแง่ไหน ผมก็คิดว่าความไม่ยุติธรรม เป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ที่มันซับซ้อนและหลากหลาย เป็นกระบวนความหลากหลายอยู่ด้วยกัน หากผลลัพธ์ออกมาเป็นในทางที่พึงประสงค์ ที่เรียกว่า มีความยุติธรรมขึ้น ทั้งนี้บางที ความยุติธรรม อาจจะย่อมาจากคำว่า ยุติลงด้วยความเป็นธรรมก็ได้” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า เวลามองว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเลวร้ายมากไหน จะต้องมองว่า ถ้าลองไล่ดูหลักการพื้นฐานที่มีกฎหมายเป็นองค์ประกอบ มีหลักข้อไหนที่ได้รับการเคารพ ซึ่งปัญหาในขณะนี้ ค่อนข้างที่จะซับซ้อน เพราะว่าไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ เราสามารถยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ไม่ตรงตามหลักการของกฎหมายได้เสมอ อย่างเช่นหลักความเสมอภาคตามกฎหมาย ใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
“การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่าเป็นกติกาที่ช่วยได้ แต่ในวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ความจำเป็นหมดไปแล้ว แต่ก็ยังบังคับใช้ต่อมาเรื่อยๆ เห็นชัดว่า ใช้ในการปราบปรามและหยุดยั้งการชุมนุมมากกว่า นี่คือตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้นเองที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องของการเลือกปฏิบัติ ยังไม่รวมถึงคดีทางการเมืองอีกจำนวนมาก” น.ส.สฤณี กล่าว