“…เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการป้องกันการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า ระหว่างผู้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (BNT162b2) ครบ 2 โดสแล้ว ผู้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงในการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้ามากกว่า 13 เท่า กล่าวคือ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบลุกลาม 5.96 เท่า และความเสี่ยงต่อการป่วยโควิดแบบมีอาการเพิ่มขึ้น 7.13 เท่า...”
วัคซีนถือเป็นอาวุธที่สำคัญในการต่อสู้กับโควิด เพราะมีข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ชี้ให้เห็นว่า ผู้ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันโควิดได้มากกว่าผู้ป่วยโควิดที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคตามธรรมชาติ
แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโควิดตามธรรมชาติ ยังสามารถพัฒนาแอนติบอดีภายในร่างกาย และพัฒนาเซลล์ร่างกายให้ป้องกันไวรัสได้ แม้จะน้อยกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแล้วก็ตาม ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขวอชิงตัน (DOH) ระบุว่า มีพลเมืองวอชิงตันประมาณ 745,000 คน ที่หายจากอาการป่วยของโควิดแล้ว ร่างกายของพวกเขาสามารถสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติป้องกันกับไวรัสได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับโควิด
อย่างไรก็ตามล่าสุดกลับมีข้อมูลจากทีมนักวิจัยอิสราเอล เปิดเผยผลการศึกษาว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มมีโอกาสการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้ามากกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติกว่า 13 เท่า
ดังนั้นแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติที่ได้รับหลังป่วยโควิด ให้การป้องกันโรคที่ดีกว่าวัคซีนหรือไม่ และผู้ที่มีภูมิต้านทานธรรมชาติแล้ว ควรได้รับการฉีดวัคซีนอีกหรือไม่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง
โดยเว็บไซต์ ClarkCountryToday ระบุถึงข้อแตกต่างระหว่างการศึกษาของ CDC และทีมวิจัยอิสราเอลว่า การศึกษาของ CDC แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ดีกว่า ตรงกันข้ามกับผลการศึกษาจากอิสราเอลที่พบว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาตินั้นดีกว่า
สำหรับผลการศึกษาของ CDC ที่มีข้อสรุปที่แตกต่างกันออกไป พบว่า นักวิจัยจาก CDC ได้รวบรวมข้อมูลประชากรทั้งหมด 7,348 คน จากโรงพยาบาล 187 แห่ง ทั่วทั้ง 9 รัฐในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย นิวยอร์ก มินนิโซตา วิสคอนซิน ยูทาห์ แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน อินดีแอนา และโคโลราโด
ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีผู้ฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้ว จำนวน 6,328 คน เป็นผู้ป่วยโควิด 324 คน และมีจำนวนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 1,020 คน เป็นผู้ป่วยโควิด 89 คน
ผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด ระหว่างกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนมาก่อนหน้านี้ 90-179 วัน กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ดีกว่ากลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันเองตามธรรมชาติ
การพัฒนาภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย หลังจากป่วยโควิด
‘อิสราเอล’ชี้ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มเสี่ยงติดโควิด 13 เท่า
ขณะที่ผลการศึกษาจากอิสราเอลที่พบว่าเมื่อระยะเวลาผ่านภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของผู้ป่วยโควิด ต่อสายพันธุ์เดลต้า จะลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า
เว็บไซต์ ClarkCountryToday ระบุว่า อิสราเอล เป็น 1 ในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก ล่าสุดกลับประสบปัญหาการระบาดระลอกที่ 4 อีกครั้งของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยอิสราเอลปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิดราว 1.3 ล้ายคน และเสียชีวิตกว่า 8,000 คน
ทีมนักวิจัยอิสราเอลจึงได้ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการป้องกันการติดโควิดระหว่างการเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนโควิด โดยใช้ฐานข้อมูลขององค์กรด้านสุขภาพที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศอิสราเอล หรือ Maccabi Healthcare Service (MHS)
เก็บเอาข้อมูลสมาชิกที่มีอยู่จำนวน 2.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 26% ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 - 14 สิงหาคม 2564 เอามาเป็นข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้
การศึกษานี้ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการป้องกันการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า ระหว่างผู้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (BNT162b2) ครบ 2 โดสแล้ว ผู้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงในการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้ามากกว่า 13 เท่า กล่าวคือ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบลุกลาม 5.96 เท่า และความเสี่ยงต่อการป่วยโควิดแบบมีอาการเพิ่มขึ้น 7.13 เท่า
ข้อจำกัดงานวิจัยเปรียบเทียบการป้องกัน‘เดลต้า’
ข้อแตกต่างทางการศึกษานี้ หากมองในมุมของบุคลากรการแพทย์และนักวิชาการนั้น เว็บไซต์ ClarkCountryToday ระบุว่า บางคนกล่าวว่าผลลัพธ์ของความสามารถในการป้องกันการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันเองตามธรรมชาติและกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน อาจเกี่ยวข้องกับความแตกต่างในการศึกษาและข้อจำกัดด้านระยะเวลาของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด มีข้อสังเกตว่าการศึกษาของอิสราเอลมีกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่าการศึกษาของ CDC ถึง 10 เท่า และพวกเขายังใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นหลัก
ขณะที่ Dr. William Schaffner แพทย์แผนกโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ รัฐเทนเนสซี แสดงความเห็นด้วยว่า “เป็นเวลานานแล้ว ที่เรารู้ว่าผู้ป่วยโควิด หากได้รับวัคซีนภายหลังจะมีแอนติบอดีสูงกว่าคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน การติดเชื้อตามธรรมชาติบวกกับการฉีดวัคซีน ย่อมดีกว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว”
ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดภายใน 6 เดือน
ผลการศึกษาของอิสราเอล อาจทำให้หลายคนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ มีความกังวลต่อการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า แต่ล่าสุดได้มีนักวิจัยค้นพบปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไฟเซอร์ลดลง ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์อาจนำไปพิจารณาเพื่อชะลอภูมิคุ้มกันตกได้
โดย เว็บไซต์ News Medical Life Sciences เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่มา เราจะเริ่มเห็นว่าการป้องกันที่เกิดจากวัคซีนลดลงใน 6 เดือน หลังการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 แม้ว่าจะยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าผู้ได้รับวัคซีนทุกคนจะประสบปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่
งานวิจัยใหม่จากประเทศญี่ปุ่นพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการที่ภูมิคุ้มกันลดลงหลังการฉีดวัคซีน กล่าวคือ ‘วัยชรา’ และ ‘การสูบบุหรี่’ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีระดับแอนติบอดีต่ำที่สุด และ ‘ผู้หญิง’ มากกว่าผู้ชาย มีแนวโน้มมีแอนติบอดีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3-6 เดือน หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2
การศึกษาการลดระดับของภูมิคุ้มกันในช่วง 3-6 เดือน หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2
3 ปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันจาก‘ไฟเซอร์’เสื่อม
การทำความเข้าใจว่าใครบ้างที่มีความเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันจะตก สามารถช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการปรับสูตรการฉีดวัคซีนให้เหมาะกับบุคคลที่มีแอนติบอดีต่ำที่สุดได้ ไม่เฉพาะการลำดับความสำคัญของการฉีดเข็มกระตุ้น ยังรวมถึงการกำหนดการฉีดเฉพาะบุคคล หรือการใช้วัคซีนที่อิงจากอะดิโนไวรัส อย่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มากกว่าวัคซีนชนิด mRNA
สำหรับการศึกษาเรื่องการลดลงของระดับแอนติบอดีในช่วง 3-6 เดือน หลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครั้งที่ 2 ที่มีการตั้งสมมติฐานว่าขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ระดับแอนติบอดีลดลง จากประเทศญี่ปุ่นนั้น
เว็บไซต์ News Medical Life Sciences เปิดเผยว่า นักวิจัยเริ่มศึกษามาจากการคัดเลือกบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 365 คนจากโรงพยาบาลในจังหวัดโทชิงิ แบ่งเป็น หญิง 250 คน และชาย 115 คน มีอายุเฉลี่ยคือ 44 ปี พยาบาลและแพทย์คิดเป็น 56.2% ของประชากรทั้งหมดที่ทำการศึกษา
จากนั้นวัดระดับแอนติบอดีของผู้เข้าร่วมโครงการศึกษานี้ทั้งหมด หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 6 เดือน มีค่ามัธยฐานของแอนติบอดีไทเตอร์ในกลุ่มประชากรตามรุ่น คือ ประมาณ 539 U/mL.
ผลการตรวจดูระดับแอนติบอดี ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ภูมิคุ้มกันตก พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งมีระดับแอนติบอดีลดลงมากเมื่อบุคคลมีอายุเพิ่มขึ้นจาก 20 ปี เป็น 70 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีระดับแอนติบอดีต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
และในการศึกษาปัจจัยเสี่ยงตัวแปรภายนอก เช่น ความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ พบว่า มีเพียงการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวที่ส่งผลต่อระดับแอนติบอดีที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงเรื่องเพศนั้น นักวิจัยพบว่าผู้หญิงมีอัตราการลดลงของภูมิคุ้มกันที่เร็วกว่าผู้ชาย 6.5% และสำหรับเพศหญิงนั้น อายุ และเพศไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการลดลงของภูมิคุ้มกัน
เนื่องจากนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูระดับแอนติบอดีในช่วง 3 และ 6 เดือนหลังการฉีดวัคซีนระหว่างชายและหญิงที่สูบบุหรี่กับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างชายและหญิงที่สูบบุหรี่ แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเพศของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่ได้สูบบุหรี่
การศึกษาอัตราความเปลี่ยนแปลงของ Ab titre ในช่วง 3-6 เดือนหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามเพศ
ข้อจำกัดการศึกษาปัจจัยเสี่ยงทำภูมิจาก‘ไฟเซอร์’ลด
การศึกษานี้มีข้อจำกัด อยู่ด้วยกัน 3 ประการ โดยเว็บไซต์ News Medical Life Sciences เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดมาจากโรงพยาบาลแห่งชาติแห่งเดียวในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดภาพรวมส่วนที่เหลือของประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก
และมีความเป็นไปได้เล็กน้อยที่ผู้เข้าร่วม 5 คนที่แสดงระดับแอนติบอดีต่อโควิดที่เพิ่มขึ้น 80% เทียบกับโปรตีนขัดขวางอาจติดเชื้อโควิด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมหรือการยืนยันการทดสอบของโควิด ผู้เข้าร่วม 5 คนจึงไม่ถูกแยกออกจากการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย
ผลการศึกษาจากอิสราเอลชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อาจป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าเทียบเท่าการเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติไม่ได้ อย่างไรก็ตามการลองให้ตัวเองป่วยโควิดอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะตามชุดข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ของประเทศไทยรายวัน ยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนทำให้มีอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ถึง 90% แต่เราสามารถชะลอการตกของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ หรือฉีดเข็มกระตุ้นได้
ภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์
อ้างอิง :
https://www.clarkcountytoday.com/news/israeli-study-shows-natural-immunity-delivers-13-times-more-protection-than-covid-vaccines/
https://www.news-medical.net/news/20211121/Scientists-discover-several-factors-influencing-waning-immunity-with-the-Pfizer-COVID-Vaccine.aspx
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage