"...เรารู้สึกท้อแท้เมื่อเห็นว่ามีกรณีการกำหนดข้อบังคับอันเข้มงวดในการออกใบอนุญาตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของโรคระบาด ในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่ง ณ เวลานี้ทั่วทั้งโลกได้รับทราบแล้วว่าการเข้าถึงเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นสิ่งที่ควรจะรับรองว่ามันจะเกิดขึ้นสำหรับทุกคนและทุกที่ ถ้าหากเราต้องการที่จะควบคุมโรคระบาดนี้จริง ๆ ..."
สืบเนื่องจากปรากฏข่าว กรณี บริษัทไฟเซอร์ ซึ่งบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ได้มีความร่วมมือกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (Medicines Patent Pool: MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถจำหน่ายยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid หรือที่มีชื่อทางการ PF-07321332) ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 95 ประเทศทั่วโลก แต่ไม่มีรายชื่อประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย
ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่ได้รับอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถจำหน่ายยาแพ็กซ์โลวิดดังกล่าว
เบื้องต้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าข่ายได้รับให้เป็นผู้ผลิตยาสามัญแพ็กซ์โลวิด เพราะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างไปทางสูงก็เลยไม่เข้าข่ายในเงื่อนไขนี้
อย่างไรก็ดี ทางกรมการแพทย์จะมีการดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อที่จะทำให้ประชาชนไทยได้รับยาที่มีคุณภาพต่อไป
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ https://medicinespatentpool.org/licence-post/pf-07321332/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์เก็บข้อมูลสิทธิบัตรยาต่าง ๆ พบว่า ปัจจุบันมีการระบุรายชื่อของประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างไปทางสูง (UMIC : Upper Middle-Income Country) เอาไว้จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ ที่มีสิทธิในการผลิตยาแพ็กซ์โลวิด
มีรายชื่อดังต่อไปนี้
1.ประเทศอาร์เมเนีย 2.ประเทศเบลีซ 3.ประเทศบอตสวานา 4.ประเทศอิเควทอเรียลกินี 5.ประเทศกาบอง 6.ประเทศจอร์เจีย 7.กัวเตมาลา 8.ประเทศอินโดนีเซีย 9.ประเทศอิหร่าน 10.ประเทศจอร์แดน 11.ประเทศโคโซโว 12.ประเทศนามิเบีย 13.ประเทศซามัว 14.ประเทศแอฟริกาใต้ 15.ประเทศตองกา และ 16.ประเทศเวเนซุเอลา
อ้างอิงวิดีโอจาก Global News
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นนี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนหรือ Medicine Sans Frontières (MSF) ได้ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์บริษัทไฟเซอร์ว่า การที่บริษัทได้ตั้งเงื่อนไขดังกล่าวทำให้บางประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงการผลิตยาของบริษัทไฟเซอร์ได้นั้น
แท้จริงแล้วก็เป็นการผูกขาดอย่างหนึ่งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรจำนวนมากได้
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้
"เรารู้สึกท้อแท้เมื่อเห็นว่ามีกรณีการกำหนดข้อบังคับอันเข้มงวดในการออกใบอนุญาตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของโรคระบาด ในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ซึ่ง ณ เวลานี้ทั่วทั้งโลกได้รับทราบแล้วว่าการเข้าถึงเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นสิ่งที่ควรจะรับรองว่ามันจะเกิดขึ้นสำหรับทุกคนและทุกที่ ถ้าหากเราต้องการที่จะควบคุมโรคระบาดนี้จริง ๆ
ใบอนุญาตของบริษัทไฟเซอร์ที่มีร่วมกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (Medicines Patent Pool : MPP) สำหรับการใช้ยาแบบรับประทานของบริษัทเพื่อใช้ในการต้านไวรัสนั้นมีการระบุข้อเสนอว่าจะมีการจัดส่งยาที่ว่านี้ไปยัง 95 ประเทศ โดยจำแนกประเทศเหล่านี้ไปตามกลุ่มบริษัทที่มีใบอนุญาตนั้นครอบคลุมไปยัง 53 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกเท่านั้น
ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่ามีกรณีการอนุญาตให้สิทธิ์ด้วยความเต็มใจ
แต่ปรากฎว่ามีผู้ได้รับสิทธินี้เป็นจำนวนที่น้อยและไม่ได้ทำให้เกิดการเข้าถึงขีดความสามารถอันเต็มรูปแบบที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งในแง่ของการควบคุมการผลิตอย่างยั่งยืนและพอเพียง และการจัดส่งทรัพยากรเวชภัณฑ์ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตประชากรทั้งหมดได้
โดยหลายประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อยไปทางสูง อาทิ ประเทศอาร์เจนตินา,ประเทศบราซิล,ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย ประเทศเหล่านี้นั้นมีขีดความสามารถในการจัดตั้งกำลังการผลิตให้เกิดขึ้นได้
แต่ปรากฏว่ากลับถูกกีดกันออกจากขอบเขตของใบอนุญาตดังกล่าว
สืบเนื่องจากที่โรคระบาดนั้นได้สั่นคลอนโครงสร้างระบบสาธารณสุขสาธารณะในหลายประเทศไปแล้ว ซึ่งส่วนมากนั้นจะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง และทรัพยากรของกระทรวงสาธารณสุขในหลายประเทศก็ได้ถูกนำไปใช้จนถึงขีดสูงสุดแล้ว
ดังนั้น การเข้าถึงหนทางใหม่ ๆ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อที่จะใช้รับมือกับไวรัสโควิด-19 สิ่งเหล่านี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อราคาของทรัพยากรเหล่านี้นั้นต่ำลงจนใกล้เคียงกับราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และการดำเนินการจัดจำหน่ายในปริมาณที่มากเพียงพอ
โดยบริษัทไฟเซอร์ ณ เวลานี้ ได้พูดถึงกรณีกลยุทธ์การกำหนดราคาเวชภัณฑ์ในลำดับชั้นที่ลดหลั่นกันออกไป ซึ่งเราก็รู้แล้วจากประสบการณ์ว่านี่เป็นความยุ่งยากที่ไม่มีความจำเป็นเลย
เนื่องจากการรักษาอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไว้กับทางบริษัทยานั้นจะส่งผลอย่างยิ่งที่จะทำให้ราคายาสูงขึ้นในหลายประเทศ
เราได้เป็นประจักษ์พยานและเห็นว่าบริษัทไฟเซอร์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อจะต่อต้านการแบ่งปันเทคโนโลยีวัคซีนแบบ mRNA สำหรับไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการเข้าเทคโนโลยีนี้อย่างเป็นวงกว้าง และตอนนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าไฟเซอร์นั้นดำเนินการอย่างจำกัดมากในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วย
ดังนั้น ถ้าไฟเซอร์มีความต้องการอย่างจริงจังในการที่จะทำตามคำมั่นสัญญาว่าที่ว่าจะให้เกิดการเข้าถึงการรักษาแบบใหม่นี้อย่างเป็นธรรม ทางบริษัทก็ควรที่จะระบุออกมาให้ชัดเจนเลยว่าพวกเขาจะไม่ขวางทางในแง่ของการผลิตและการแข่งขันโดยทั่วไป ซึ่งแทนที่จะมีการเซ็นใบอนุญาตการให้สิทธิโดยสมัครใจที่มีความเข้มงวดในแง่ของรายละเอียดและการระบุว่าจะยกการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ ในช่วงวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้
ทางบริษัทไฟเซอร์ควรที่จะมีการละเว้นจากการแสวงหาการผูกขาดใหม่ ๆ ต่อยาริโทโนเวียร์ (Ritonovir เป็นยาต้านไวรัสที่มักใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งในกรณีของยา PF-07321332 ของบริษัทไฟเซอร์นั้นจะต้องใช้รักษาไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับยาริโทโนเวียร์ด้วยเช่นกัน)
ไม่ว่าจะเป็นทั้งการผูกขาดแค่รายเดียวหรือว่าการผูกขาดร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากว่ายานี้ก็ยังคงมีความสำคัญในแง่ของการต้านไวรัสสำหรับผู้ที่จะต้องอยู่ร่วมกับไวรัสเอชไอวี
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกต้องดำเนินการในทุกวิถีทาง รวมไปถึงปฏิเสธการมอบสิทธิบัตรเกี่ยวกับการรักษานี้ และควรที่จะมีการใช้แนวทางการสละสิทธิข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ความตกลง TRIPS”) อันเป็นข้อตกลงหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงองค์การค้าโลก(WTO) ที่จะมีการประชุมหารือกันภายในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้
เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีกรณีการผูกขาดการผลิตเวชภัณฑ์ที่จะเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และจะทำให้มั่นใจได้อีกว่าทั่วทั้งโลกนั้นจะสามารถเข้าถึงการช่วยชีวิตในจำนวนที่มากที่สุดได้อย่างแท้จริงนั่นเอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/