การฉีดวัคซีนที่ต่ำในพื้นที่บางส่วนของภูมิภาค การที่ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีนในช่วงแรกเริ่มที่จะถดถอยลงไปแล้ว และการเริ่มละทิ้งนโยบายทั้งการใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม หลังจากที่รัฐบาลได้มีการผ่อนปรนมาตรการอันเข้มงวดนั้น ทุกอย่างล้วนกลายเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้การระบาดใหม่นั้นรุนแรง
จากกรณีที่ประเทศไทยได้เริ่มมีนโยบายเปิดประเทศ เพื่อที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเข้ามา แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสในต่างประเทศนั้นก็ยังคงดูน่ากังวลอยู่ โดยเฉพาะกับในทวีปยุโรป ที่มีรายงานการติดเชื้อด้วยจำนวนตัวเลยผู้ป่วยสูงสุดหรือที่เรียกว่านิวไฮในแทบทุกวัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าว Asean Post ได้นำเสนอรายงานข่าวว่าทวีปยุโรปนั้นกำลังจะกลับไปสู่วันที่มืดมิดที่สุดของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมาเรียบเรียง มีรายละเอียดดังนี้
สำหรับสถานการณ์อันเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ในทวีปยุโรปนั้นดูเหมือนว่า การดำเนินกิจกรรม การใช้ชีวิตหลายอย่างเปรียบเสมือนว่าไม่เคยมีโรคระบาดเกิดขึ้นมาก่อน โดยในเมืองโคโลญจน์ ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นก็เริ่มมีการจัดคาร์นิวาลในช่วงวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่ในกรุงปารีส ก็เริ่มมีการเปิดผับและบาร์ในตอนกลางคืน ในช่วงวันสงบศึกซึ่งเป็นวันหยุดประจำชาติแล้ว เช่นเดียวกับในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์เองก็เริ่มที่จะมีการเปิดธุรกิจต่าง รวมไปถึงร้านกาแฟและผู้เข้ามาใช้บริการตามปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้มีความกังวลกันว่าการเฉลิมฉลองของหลายประเทศดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่สถานการณ์ต่างๆจะเลวร้ายลงก็เป็นได้เนื่องจากการะบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 4 ที่เกิดขึ้นทั่วทวีปยุโรป ณ เวลานี้
โดยในอีกด้านหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่ามีหลายเมืองมากกว่า 12 แห่งทียกเลิกเทศกาลการเดินพาเหรด ในเทศกาลวันเพื่อความสุขของเยาวชนของประเทศไปแล้ว ขณะที่ประเทศเยอรมนีก็มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการยกเลิกกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศการคริสมาสต์ในย่านการค้าเช่นกัน
“คุณไม่สามารถจินตนาการได้เลยถึงภาพของการที่ย่านการค้ายังมีผู้คนดื่มไวน์ ในขณะที่โรงพยาบาลนั้นเต็มไปด้วยผู้ป่วยและมีทรัพยากรทางการแพทย์ที่จำกัด” นายไมเคิล เคตชเมอร์ นายกรัฐมนตรีประจำแคว้นแซกโซนีกล่าว และเตือนให้รัฐบาลกลางเยอรมนีได้มีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
รายงานการสถานการณ์โควิดที่พุ่งสูงขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์และในประเทศออสเตรีย ส่งผลทำให้ 2 ประเทศนี้ต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง (เรียบเรียงจาก ITV News)
ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ประเทศเนเธอร์แลนด์ถือว่าเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรป ที่เริ่มดำเนินการล็อกดาวน์บางส่วน นับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน,ที่กรุงเบอร์ลินก็ได้มีการออกมาตรการห้ามไม่ให้ร้านอาหารรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นก็ได้มีการเร่งการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น จะบอกว่าทวีปยุโรปกลับกลายเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดอีกครั้งก็คงจะไม่ผิดนัก
โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พบว่าอัตราการติดเชื้อทั่วทวีปยุโรปนั้นเพิ่มขึ้นสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์และอัตราการเสียชีวิตพุ่งสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่อัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนกว่า 2 ใน 3 ของโลกหรือประมาณ 1.9 ล้านคนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ในทวีปยุโรป โดยทาง WHO ได้รายงานไปแล้วว่านี่ถือเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกันที่ทวีปยุโรปมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทั่วทวีป พร้อมกับกรณีที่มีหลายประเทศต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 4 และ 5 เว้นแต่ประเทศในภูมิภาคยุโรปตอนกลางและตะวันออกที่พบว่ามีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่าประเทศอื่นๆมาก เช่นเดียวกับอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตในประเทศเหล่านี้ก็ต่ำกว่าเมื่อช่วงปีที่แล้วด้วยเช่นกัน และนอกจากนี้ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวนี้ก็ยังมีความแตกต่างค่อนข้างสูงในเรื่องของมาตรการป้องกันโรคเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะสรุปว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่
โดยทางผู้เชี่ยวชาญนั้นก็เริ่มที่จะออกมาให้ความเห็นแล้วว่าทั้งการฉีดวัคซีนที่ต่ำในพื้นที่บางส่วนของภูมิภาค การที่ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีนในช่วงแรกเริ่มที่จะถดถอยลงไปแล้ว และการเริ่มละทิ้งนโยบายทั้งการใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม หลังจากที่รัฐบาลได้มีการผ่อนปรนมาตรการอันเข้มงวดนั้น ทุกอย่างล้วนกลายเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้การระบาดใหม่นั้นรุนแรง
“เราสื่อสารมาตลอดว่าการดำเนินมาตรการเหล่านี้นั้นต้องทำอย่างครบครัน การฉีดวัคซีนถือว่าเป็นการดำเนินมาตรการที่สำคัญเพื่อป้องกันการป่วยร้ายแรงและเสียชีวิต แต่ว่ามาตรการการฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพที่สุดก็ต่อเมื่อมีการใช้มาตรการนี้กับมาตรการป้องกันโรคอื่นๆควบคู่กันไป” นพ.ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการ WHO ประจำภูมิภาคยุโรปกล่าว
โดยภูมิภาคที่มีการฉีดวัคซีนสูงสุดในทวีปยุโรปได้แก่ยุโรปทางตอนใต้ อาทิ ที่ประเทศโปรตุเกส,มอลต้า และสเปนพบว่ามีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 2 โดสให้กับประชากรจำนวนร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศอิตาลีก็มีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณร้อยละ 73 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งข้อมูลในช่วงตลอด 7 วันที่ผ่านมานั้นพบว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเหล่านี้ถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนประชากร 100 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม ในจุดที่มีการฉีดวัคซีนต่ำ ปริมาณผู้ติดเชื้อบริเวณนั้นก็จะพุ่งสูงขึ้น
ยกตัวอย่างที่เมืองทรีเอสต์ ประเทศอิตาลี ซึ่งมีการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านนโยบายบัตรผ่านสีเขียวของรัฐบาลอิตาลีเมื่อเดือนที่ผ่านมา (นโยบายบัตรผ่านสีเขียวเป็นนโยบายที่บังคับให้ภาคแรงงานต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน หลักฐานการตรวจโควิดเป็นลบ เพื่อที่คนงานจะสามารถกลับเข้าไปทำงานได้) ก็ปรากฏว่ามีกรณีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาถึง 2 เท่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ข่าวการประท้วงบัตรเขียวที่ประเทศอิตาลี (เรียบเรียงวิดีโอจาก Global News)
“เรากำลังกลับไปสู่วันที่มืดมนที่สุดในช่วงของการระบาด” หัวหน้าฝ่ายดูแลผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองกล่าวหลังจากที่พบว่าสัปดาห์ที่แล้วยอดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและส่วนมากเกี่ยวข้องกับการประท้วง
แต่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์,ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่าประเทศอิตาลีอยู่เพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็เริ่มจะพบว่ามีการระบาดพุ่งสูงขึ้นบ้างแล้วในบางจุด ซึ่งทำให้กลายเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับทางรัฐบาลที่จะต้องออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
โดยที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสให้กับประชากรอยู่ที่ 73 เปอร์เซ็นต์ ก็มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนนับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งการปิดบาร์,ร้านอาหาร,ร้านขายสินค้าที่จำเป็นนับตั้งแต่เวลา 20.00 น.เป็นต้นไป ปิดร้านค้าที่ไม่จำเป็น และบริการต่างๆตั้งแต่เวลา 18.00 น. และจำกัดการจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในร้านค้าให้อยู่ที่ไม่เกิน 4 รายหลังที่ต้องเจอกับกรณีการระบาดครั้งใหม่
ซึ่งผลจากการระบาดครั้งใหม่ดังกล่าวที่มีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ก็ส่งผลทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่ของประเทศอยู่ในอัตราส่วน 609 ต่อหนึ่งล้านคน
ล้านคน ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินทุกวิถีทางเพื่อที่จะพลิกสถานการณ์ให้ได้ภายในสิ้นปี 2564
ส่วนที่ประเทศฝรั่งเศสที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสให้กับกลุ่มประชากรไปแล้ว 69 ล้านคน และเริ่มมีการใช้นโยบายบัตรผ่านสุขภาพ เพื่อเข้าถึงให้บริการในบาร์ และในร้านอาหาร เข้าถึงการโดยสารรถไฟและเครื่องบิน นับตั้งแต่เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ในตอนนี้นั้นก็พบกรณีการระบาดใหม่ในอัตราเลขเปอร์เซ็นต์สองหลักในทุกสัปดาห์ ตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
“สิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าในฝรั่งเศส ณ เวลานี้ ก็ดูชัดเจนแล้วว่าคือการเริ่มต้นของการระบาดในระลอกที่ 5 ” นายโอลิเวียร์ เวราน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศสกล่าวและกล่าวต่อไปว่ายอดติดเชื้อของประเทศที่ค่อยๆไต่ขึ้นมาตลอดช่วง 7 วันที่ผ่านมานั้นส่งผลทำให้ประเทศมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่อัตราส่วน 134 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน
ส่วนนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ได้กล่าวว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่มีอายุเกิน 65 ปี ถ้าหากว่ายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในโดสสาม ก็จะไม่สามารถเข้าถึงบัตรผ่านทางสุขภาพได้ พร้อมกันนั้นนายมาครงยังได้ประกาศว่าจะมีการลดเพดานการฉีดววัคซีนโดสสามลงมาให้สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี
ขณะที่ประเทศเยอรมนีที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 65.5 เปอร์เซ็นต์ก็อยู่ในจุดสูงสุดของการระบาดในรอบที่ 4 แล้วเช่นกัน แต่ทั้งนี้การระบาดในประเทศเยอรมนีก็อาจจะยังไม่มาถึงจุดที่เลวร้ายสุดก็เป็นไปได้เนื่องจากอัตราส่วนของผู้ติดเชื้อใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 381 ล้านคน ส่วนยอดติดเชื้อใหม่ของประเทศเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 46,640 คน
ส่งผลทำให้หัวหน้าหน่วยงานด้านการควบคุมโรคติดต่อของประเทศเยอรมนีต้องออกมาเตือนว่าในตอนนี้ในส่วนห้องผู้ป่วยหนักกำลังอยู่ในสถานการณ์ซึ่งถูกบีบคั้นเป็นประวัติการณ์ โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าทั้งประเทศนั้นอยู่ที่เวลา 5 นาที ก่อนที่จะถึงเวลาเที่ยงคืนซึ่งจะเป็นเวลาของการระบาดที่รุนแรงที่สุดอันจะนำไปสู่การล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบทั่วทั้งประเทศ
โดยนับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. นี้เป็นต้นไป ในกรุงเบอร์ลิน จะมีแค่ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือว่าเพิ่งหายจากไวรัสโควิด-19 เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้บริการร้านอาหาร,โรงภาพยนตร์ และร้านทำผมได้ ขณะที่นายเจน สฟาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีก็ได้มีการออกระเบียบที่คล้ายกันเมื่อช่วงวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับระเบียบการเข้าไปใช้บริการในงานอีเว้นสาธารณะต่างๆ
ขณะที่ นพ.คริสทอฟ สปินเนอร์ นักระบาดวิทยาที่โรงพยาบาล Rechts der Isar ในเมืองมิวนิกก็ได้ตั้งคำถามว่ามาตรการที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่
“สิ่งที่เราต้องการก็ตอนนี้ก็คือว่าการดำเนินการโดยเข้มงวดจากทางภาครัฐบาล ซึ่งผมไม่มั่นใจว่า ณ เวลานี้เรามีสิ่งนั้นแล้ว” นพ.สปินเนอร์กล่าวกับสำนักข่าว Observer
โดยสถานการณ์ที่โรงพยาบาลของ นพ.สปินเนอร์ ตามที่ นพ.สปินเนอร์ได้ให้ข้อมูลไว้ก็คือเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ที่เข้ารับการศึกษาซึ่งมีอาการร้ายแรงจากไวรัสโควิด-19 นั้นยังเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และอีกประมาณครึ่งหนึ่งนั้นเป็นผู้ที่มีอาการอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ขณะที่สถานการณ์ในประเทศออสเตรียที่ถือว่าเป็นประเทศซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก โดยอยู่ที่ 62.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่อัตราส่วน 1,000 รายต่อหนึ่งล้านคนนั้น ล่าสุดก็ได้มีการออกมาตรการสำหรับล็อกดาวน์กลุ่มประชาชนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 2 ภูมิภาคที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 แล้ว
โดยทางด้านของนายอเล็กซานเดอร์ ชาลเลนเบิร์ก นายกรัฐมนตรีของออสเตรียได้กล่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาว่าประชาชนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในภูมิภาค Upper Austria และในภูมิภาค Salzburg จะได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้ด้วยเหตุผลจำเป็น อาทิ การออกไปซื้อของชำหรือออกไปพบแพทย์เท่านั้น
อนึ่งประเทศออสเตรีย,ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศเยอรมีนั้นถือว่ามีอัตราส่วนของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ซึ่งสาเหตุหลักๆนั้นก็มาจากความลังเลของประชาชนในการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะรับมือ เมื่อเปรียบเทียบประเทศต่างๆในภูมิภาคยุโรปทางตอนใต้ อาทิ อิตาลีหรือสเปน
ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ทั้ง 3 ประเทศนั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่านั้นแท้จริงแล้วก็มาจากความประมาทและไม่คิดว่าไวรัสจะมีความเป็นอันตรายต่อชีวิตนั่นเอง
เรียบเรียงจาก:https://theaseanpost.com/article/why-europe-returning-dark-days-covid
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage