“..วัคซีนส่วนมากที่อยู่ในพอร์ตของเรานั้นก็คือวัคซีนไฟเซอร์ และหลังจากนั้นเราก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยง เราตัดสินใจตั้งแต่แรกแล้วว่ามันคงเป็นเรื่องที่อันตรายถ้าหากจะเอาไข่หลายฟองไปใส่ไว้แค่ในตะกร้าใบเดียวหรือ 2 ใบ...”
จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ ณ เวลานี้ทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยต่างก็เร่งมือที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการวัคซีนครบ 2 โดส การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือที่เรียกวัคซีนบูสเตอร์โดส และการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่เป็นเยาวชน เพื่อให้สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด
ซึ่งจากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวเจแปนไทม์ของประเทศญี่ปุ่น ได้มีเผยแพร่บทความระบุว่าประเทศมาเลเซียนั้นถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในด้านการจัดการวัคซีนของตัวเอง และหลายประเทศควรที่จะศึกษากรณีของมาเลเซียไว้เป็นบทเรียนในการจัดการเรื่องนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำบทความดังกล่าวมานำเสนอ ณ ที่นี้
ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้น ต่างประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสให้อยู่ในอัตราที่ต่ำมากในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา
โดยประเทศ อาทิ เวียดนาม,ไทย พบว่ามีการระบาดที่น้อยมาก และกลายเป็นต้นแบบให้กับโลกในการดำเนินแผนการควบคุมโรคระบาด อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ปรากฏว่าภูมิภาคนี้กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีการดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างมาก เมื่อมีการระบาดภายในภูมิภาคและมียอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในช่วงแรกที่เริ่มต้นเกิดการระบาดนั้น มีเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้นที่สามารถจะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนที่ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันภาระทางโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนประสบกับปัญหาดังกล่าวก็คือการขาดอุปทานวัคซีนเนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยได้มีการเข้าถึงวัคซีนได้เป็นจำนวนมากในช่วงแรก
ประเด็นถัดมาที่ทำให้การฉีดวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนต้องประสบกับปัญหาก็คือความผิดพลาดของประเทศต่าง ๆ ในการวางแผนการจัดหาวัคซีนและข้อเท็จจริงที่ว่ามีพลเมืองของบางประเทศในภูมิภาคนี้มองว่าภัยจากไวรัสเป็นเรื่องเล็กน้องจึงทำให้ไม่เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วนเท่าที่ควร
ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ เขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งมีความมั่งคั่งและสามารถเข้าถึงยาได้ในอัตราที่สูง
แต่ปรากฏว่าฮ่องกงนั้นกลับมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมาก ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุนั้นน่าจะมาจากการที่ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อที่น้อยมาก เนื่องด้วยนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลท้องถิ่น และการควบคุมการเข้าออกทางชายแดนอย่างเข้มงวด ซึ่งผลของการที่มีการติดเชื้อในฮ่องกงที่น้อยมากดังกล่าวนั้นทำให้ประชาชนฮ่องกงไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามจากโรคระบาด
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีแค่ 3 ประเทศในอาเซียนที่เข้าถึงการฉีดวัคซีนครบโดสให้กับกลุ่มประชากรเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนึ่งในประเทศดังกล่าวนั้น คือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กและมีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพในระดับโลกอยู่แล้ว
ขณะที่บางประเทศ อาทิ เมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถานะยากจนและปกครอบด้วยระบอบเผด็จการทหาร ณ เวลานี้ก็กำลังประสบปัญหาสำคัญทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมากและจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี มีประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้านการฉีดวัคซีน และเป็นที่น่าจับตามอง ณ เวลานี้ก็คือประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และไม่ได้มีระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีคุณภาพเท่ากับระบบของประเทศสิงคโปร์,ประเทศเกาหลีใต้ หรือว่าประเทศญี่ปุ่น
แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มาเลเซียมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ โดยประชากรในกลุ่มผู้ใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยกลับมีข้อมูลว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ต.ค.-6 พ.ย.) มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสให้กับประชากรอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ฟิลิปปินส์มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสให้กับกลุ่มประชากรอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ข้อมูลเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนครบโดสของประเทศไทย กับของประเทศมาเลเซียและเปรียบเทียบกับอัตราการฉีดวัคซีนของโลก โดยสีเขียวเข้มคือกลุ่มคือฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะที่สีเขียวอ่อนคือกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแค่โดสเดียว
ซึ่งจากการบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในอัตราที่สูงดังกล่าว ส่งผลทำให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศมาเลเซีย ที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่อหัวสูงที่สุดในโลก มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ความสำเร็จทางด้านการฉีดวัคซีนของประเทศมาเลเซียดังกล่าวนั้น ส่งผลทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือที่เรียกว่าบูสเตอร์ชอตสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึง และการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรที่เป็นเด็กเล็ก ตามมาด้วยการที่รัฐบาลมาเลเซียได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงได้อีกหลายแห่งและอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างรัฐในมาเลเซียได้
เช่นเดียวกับ ประเทศกัมพูชา ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จด้านการฉีดวัคซีนในอัตราที่สูงเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย โดยประเทศนี้ได้มีการจัดหาวัคซีนทั้งจากประเทศจีน ควบคู่ไปกับการจัดหาวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ซึ่งเป็นโครงการเพื่อให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียมกัน
โดยในกรณีของประเทศมาเลเซียนั้น มีการจัดหาวัคซีนจากประเทศจีนมาใช้หลายชนิดเหมือนกัน แต่ทว่าวัคซีนหลักที่มาเลเซียเลือกที่จะพึ่งพาก็คือวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบออนเทค ที่เชื่อกันว่าวัคซีนนี้นั้นน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนจากประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในด้านวัคซีนตามที่กล่าวมานั้น ประเทศมาเลเซียต้องมีการดำเนินการในหลายขั้นตอนเช่นกัน
อาทิ ประเทศมาเลเซียใช้นโยบายจัดหาวัคซีนในเชิงรุกอย่างจริงจัง จนทำให้ได้เป็นประเทศแรกที่สามารถทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ได้ภายในปี 2563
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ยังไม่มีรายงานประสิทธิภาพที่ชัดเจนของวัคซีนเผยแพร่ปรากฎให้เห็นต่อสาธารณชนเลย และเนื่องจากประเด็นที่ว่ายังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพที่ชัดเจนของวัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าว ก็ทำให้มาเลเซียเลือกที่จะจัดหาวัคซีนมาจากแหล่งอื่น ๆ ประกอบกันเพื่อกันไว้ก่อนถ้าหากวัคซีนไฟเซอร์นั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งวิธีการนี้นั้นถือว่าไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนในการดำเนินนโยบายการจัดหาวัคซีน
“วัคซีนส่วนมากที่อยู่ในพอร์ตของเรานั้นก็คือวัคซีนไฟเซอร์ และหลังจากนั้นเราก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยง เราตัดสินใจตั้งแต่แรกแล้วว่ามันคงเป็นเรื่องที่อันตรายถ้าหากจะเอาไข่หลายฟองไปใส่ไว้แค่ในตะกร้าใบเดียวหรือ 2 ใบ” นายไครี จามาลุดดิน ผู้ประสานงานด้านวัคซีนของประเทศมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับนักข่าวออสเตรเลีย
โดยในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซียสามารถที่จะเข้าถึงการมีวัคซีนในจำนวนที่ถือว่ามีนัยยะสำคัญ
แต่ว่าทางการก็ยังคงที่จะดำเนินการกดดันกับเหล่าผู้ผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศจะได้รับวัคซีนที่ตรงหรือว่ากำหนดเวลาเสียด้วยซ้ำ มากกว่าที่จะไปมุ่งเน้นแค่การผลิตวัคซีนภายในประเทศ
ซึ่งมีรายงานว่าสำหรับกรณีของประเทศมาเลเซียนั้น การที่จะผลิตวัคซีนได้นั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ประมาณ 2 ถึง 3 ปีขึ้นไป
นายไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีซึ่งประสานงานเกี่ยวกับโครงการฉีดวัคซีนประกาศว่าวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรกจะมาถึงประเทศมาเลเซียในเดือน ก.พ.(อ้างอิงวิดีโอจาก Free Malaysia Today)
อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ก็คือว่า ในช่วงแรกของการดำเนินการฉีดวัคซีน ประเทศมาเลเซียได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ
โดยมีรายงานว่าที่ศูนย์ฉีดวัคซีน ณ อาคารเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ นั้นสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปได้แล้วมากกว่า 1.2 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ 32 ล้านคน
ขณะที่ในแง่ของการบริหารงาน รัฐบาลมาเลเซีย ได้แต่งตั้งนายจามาลุดดินขึ้นเป็นรัฐมนตรีด้านการประสานงานสำหรับโครงการฉีดวัคซีนของประเทศมาเลเซีย ในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้ความรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนนั้นไม่ถูกกระจายไปยังหลายหน่วยงานมากจนเกินไป ซึ่งรวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกวิจารณ์ในช่วงแรกว่ามีความล่าช้าเกินไปในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรค
การนำเอาแนวทางประสานงานที่ว่านี้มาใช้นั้น ส่งผลทำให้ผู้นำทางการเมืองและทางสาธารณสุขจะต้องมานั่งหารือกัน ณ จุด ๆ เดียว เพื่อที่จะนำเอาข้อความ การสื่อสารที่ชัดเจนอันเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สื่อไปให้กลุ่มประชาชนได้เข้าใจ
โดยประเด็นเรื่องของการสร้างการสื่อสารเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ให้เหลือเพียงแค่สารเดียวที่ต้องการจะสื่อสารไปยังประชาชนนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่หลายประเทศประสบปัญหาเป็นอย่างยิ่ง
แม้แต่กับในหลายประเทศที่ร่ำรวยที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในทวีปยุโรปและในทวีปอเมริกาเหนือก็ตาม
นี่จึงส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญที่ทำให้ประเทศมาเลเซียไม่ต้องเจอกับปัญหาด้านการสื่อสารที่ผิดพลาดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ไม่เหมือนกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา,ประเทศบราซิล หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต้องเผชิญอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ณ เวลานี้ มีหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ได้พยายามเร่งการดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อจะเอาชนะกับโรคระบาด ดังนั้น ประเด็นความสำเร็จของประเทศมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดการด้านวัคซีนนั้น
ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศเหล่านั้นควรที่จะเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง
เรียบเรียงจาก:https://www.japantimes.co.jp/opinion/2021/11/05/commentary/world-commentary/malaysias-pandemic-success/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/