“..คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ปัญหาเกิดจากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ได้เคยตกลงกัน และมักจะด่วนสรุปว่า ลูกหนี้ คือต้นตอของปัญหา โดยอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น อาจเป็นเพราะข้อตกลงในสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นข้อตกลงในลักษณะที่เอาเปรียบ หรือข้อตกลงในลักษณะที่ไม่มีทางที่ลูกหนี้จะปฏิบัติได้ แต่ต้องยอมรับเพราะไม่มีทางเลือก..”
สืบเนื่องจากปัญหาหนี้สินครู หรือ บุคลากรทางการศึกษาครูทั่วประเทศ นับเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศให้ความสนใจมาโดยตลอด ที่ผ่านมาผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เช่น เปลี่ยนเจ้าหนี้ให้ใหม่ หาช่องทางการลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือขยายเพิ่มต้นเงินกู้ให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่นั่นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสำเร็จเสร็จสิ้น จนเวลาล่วงเลยนับสิบปี และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่จบสักที
ปัจจุบัน ครูทั่วประเทศกว่า 9 แสนราย มียอดหนี้รวมสะสมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และดูเหมือนว่าจำนวนหนี้สินของครูจะพอกพูนสูงขึ้นตามระยะเวลาอีกด้วย ซึ่งสวนทางกับอายุการทำงานที่ลดน้อยถอยลง
แหล่งเงินกู้หลักที่สำคัญๆ ของครูทั่วประเทศ มาจากหลายแหล่ง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู, สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ผ่านธนาคารออมสิน, สินเชื่อโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ, โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. รวมถึงบัตรเครดิต และการกู้ยืมเงินหนี้นอกระบบ
นายกฯ ตั้งคณะทำงานเร่งแก้ปัญหาหนี้ครู
‘การแก้ปัญหาหนี้สินครู’ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการคลัง (กค.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้มอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เข้ามาดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นระบบและเห็นผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ทาง ศธ. ได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องโดยมี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.ศธ. เป็นผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยมีเป้าหมายให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือการรวม ‘หนี้ครู’ มาไว้สถาบันการเงินแหล่งเดียว และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ของครูให้ได้มากที่สุด ตลอดจนพัฒนาครูบรรจุใหม่ และครูทุกกลุ่มให้มีความรู้ สร้างวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 157/2564 โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะคณะกรรมการ มีภารกิจรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นรูปธรรม จึงกำหนดให้มีแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
แบ่งเป็น ในระยะแรก ได้กำหนดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบเป็นฐาน โดยดำเนินการศึกษาและถอดบทเรียนกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตัวอย่าง จำนวน 2 แห่ง และขยายไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ อย่างน้อย จำนวน 12 แห่ง
เพื่อให้ครูมีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ส่งผลให้ครูทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีคุณภาพ และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคมต่อไป
ครูกู้อัตราดอกเบี้ยสูง
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของ ศธ. เอง ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากได้มอบหมายเรื่องการแก้ไขปัญหานี้ มาให้ ศธ.ดำเนินการกว่า 2 ปีแล้ว ดังนั้น ตนจะมาดูว่ามาตรการการแก้หนี้ครูของ ศธ.ที่เคยดำเนินการไว้ 5 รูปแบบนั้น จะมีความเป็นไปได้ในรูปแบบใดได้บ้าง
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จะต้องมาหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. และคณะทำงานฯ ว่า ในที่สุดแล้วการแก้ไขหนี้ครูจะตกผลึกแนวทางใด โดยเท่าที่ดูจากการรวบรวมแหล่งเงินกู้ของครู พบว่า ส่วนใหญ่ครูมีหนี้สินที่กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและธนาคารออมสิน และยังเป็นการกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง
นอกจากนี้ยังพบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ก็ไปกู้เงินจากธนาคารมาปล่อยกู้ให้แก่ครูอีกทอดหนึ่งด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือการรวมหนี้ครูมาไว้สถาบันการเงินแหล่งเดียว พร้อมกับหามาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ของครูให้ได้มากที่สุด
เจ้าหนี้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วย
ด้าน นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. และ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมมองว่าหนี้ครูที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดบ้าง เพราะเมื่อพูดถึงหนี้ครู ส่วนใหญ่จะมองเฉพาะมุมของครูอย่างเดียวว่าเกิดจากวินัยการใช้เงิน แต่ตนกลับมองอีกมิติหนึ่งในฐานะของเจ้าหนี้ด้วยว่า มีความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อผู้กู้ด้วย เช่น หลักเกณฑ์การกู้เงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น
ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องมาดูว่าเรื่องใดที่ปรับเปลี่ยนและเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้บ้าง รวมถึงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องแบ่งกลุ่มครูที่เป็นหนี้ตั้งแต่ระดับหนี้ระดับวิกฤตมาก ปานกลาง และครูที่ยังมีสภาพคล่องในการผ่อนชำระหนี้ได้ เพื่อดูว่าจะมีมาตรการใดที่จะช่วยเหลือครูในกลุ่มต่างๆอย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเงินฝากประจำจากกองทุนอื่นๆซึ่งเป็นเงินเก็บให้นำมาตัดเป็นเงินต้นได้หรือไม่
ห่วงครูรุ่นใหม่ติดกับดักวงจรหนี้
นายสุทธิชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เราวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูไปถึงอนาคต เพราะไม่อยากให้ครูรุ่นใหม่เข้ามาติดกับดักวงจรการเป็นหนี้อีก เนื่องจากอาจสร้างความกังวล เครียด จนทำให้จัดการเรียนการสอนได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น จึงคิดว่าหากใครที่จะสอบบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย จะต้องมีวิชาหรือการอบรมพัฒนาความรู้สร้างวินัยการบริหารใช้จ่ายเงิน เพื่อเป็นการป้องกันครูรุ่นใหม่ไม่ให้ไปก่อหนี้อีก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และคิดว่าคงใช้เวลาการดำเนินการไม่นาน เพราะคณะทำงานที่ตั้งขึ้นก็เป็นคณะทำงานชุดเดิมที่ทำเรื่องหนี้ครูไว้ก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากนี้จะเร่งวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และนำเสนอให้ พิจารณาต่อไป
นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ.
ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
แผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
จัดทำโดย ศธ. โดยแบ่งการดำเนินงานในระยะแรก 3 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อม ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นไป
สำหรับรูปแบบการดำเนินงานในโครงการดังกล่าว ได้มีการถอดบทเรียนจากสหกรณ์ตัวอย่าง 2 แห่ง คือ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด’ และ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด’ พบแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นสำคัญ ดังนี้
-
ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3%
-
ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5%
-
จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ไม่น้อยกว่า 30% ของผลกำไร
-
การบริหารความเสี่ยง การลดค่าธรรมเนียมและการค้ำประกันที่ไม่จำเป็น
-
ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยกเลิกการฟ้องคดี รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในอัตรา 2.5 % การปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 0.25-0.50.% ปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน
-
จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินและต้นสังกัด
-
ร่วมกันส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
-
ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิก ให้ความรู้เสริมสร้างวินัยและ การวางแผนทางด้านการเงิน การสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออม และไม่ก่อหนี้เพิ่ม
แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงิน
เพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระดับจังหวัด
แผนงานที่ 3 การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
กลุ่มอายุราชการ 1-5 ปี ให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี เริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ศูนย์ Deep กระทรวงศึกษาธิการ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 นายสุทธิชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะทำงานแก้ปัญหาหนี้ครูของ ศธ. ได้วาง 4 มาตรการหลักสำหรับแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1) มาตรการลดดอกเบี้ย 2) มาตรการยุบยอดหนี้ลงด้วยหุ้นสหกรณ์ 3) มาตรการใช้เงินบำเหน็จตกทอด และ 4) มาตรการนำเงินสะสมจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยจะมาดูว่าในมาตรการดังกล่าวจะสามารถนำมาตรการใดมาใช้แก้หนี้ได้ก่อน เพื่อให้เห็นผลสำเร็จเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“ตามหลักการของการแก้หนี้ครู คือ จะเริ่มจากครูเป็นหนี้ระดับวิกฤติหนัก เพราะต่อจากนี้ไป จะต้องให้ครูที่เป็นหนี้มีเงินเดือนเหลือใช้ในบัญชีให้ได้ 30%”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแก้ไขหนี้ครูด้วยการตัดเฉพาะยอดหนี้ของเงินกู้สหกรณ์ เพื่อให้ครูมีเงินเหลือใช้ในบัญชีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของมาตรการดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหารือร่วมกันอีกครั้งและในวันที่ 8 พ.ย.นี้ จะสรุปมาตรการอีกครั้ง
นายสิทธิชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารออมสิน ซึ่งธนาคารออมสินยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเร่งเข้าไปเจรจาหน่วยงานที่ปล่อยเงินกู้ให้ครู เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ว่าจะไปลดค่าใช้จ่ายให้อย่างไร และทางธนาคารออมสินจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยให้ครูต่อไป ส่วนความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ในระยะที่ 1 มานำเร่งแก้ไขปัญหาครู
ขณะนี้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เข้ารวมโครงการ 20 แห่ง มีสมาชิกทั้งหมดเกือบ 2 แสนราย และอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครสหกรณ์ออมทรัพย์ ในระยะ 2 คาดว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ สนใจเข้าร่วมประมาณ 30-40 แห่ง หากมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ภายใน 2 เดือนนี้ จะเห็นผลการแก้ไขปัญหา เช่น ครูมีสภาพคล่องในการชำระหนี้อย่างไร ครูมียอดหนี้ลดลงมาอย่างไร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต่อไปคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเร่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป คาดว่าจะสามารถ MOU กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในเร็วๆนี้
คนส่วนใหญ่มักด่วนสรุปว่า ลูกหนี้คือต้นตอของปัญหา
ด้าน ดร.นายขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครู ถ้าจะให้สำเร็จจำเป็นต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ว่าจะหนี้อะไร คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ปัญหาเกิดจากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ได้เคยตกลงกัน และมักจะด่วนสรุปว่า ลูกหนี้นั้นนั่นแหละคือต้นตอของปัญหา
โดยอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวอาจจะไม่เป็นธรรม หรือเป็นข้อตกลงที่เจ้าหนี้เป็นผู้กำหนดขึ้นมาแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงในลักษณะที่เอาเปรียบ หรือข้อตกลงในลักษณะที่ไม่มีทางที่ลูกหนี้จะปฏิบัติได้ แต่ลูกหนี้ต้องยอมรับในข้อสัญญาดังกล่าวเพราะไม่มีทางเลือก
นอกจากนี้ การด่วนสรุปว่าปัจจัยความบกพร่องของลูกหนี้ เช่น ความไม่มีวินัย การใช้จ่ายเกินตัว ฟุ้งเฟ้อหน้าใหญ่ ไม่ประหยัดมัธยัสถ์ เป็นปัจจัยรากฐานที่ทำให้ครูมีหนี้ ทำให้ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมักจะเน้นที่การปรับปรุงที่ตัวครูเป็นหลัก ให้มีอุปนิสัยที่พึงประสงค์ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงินก็จะมุ่งเน้นไปช่วยช่วยครูรายที่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ปัญหาหนี้สินของครูก็ยังสร้างความกังวลใจแก่ผู้ที่ติดตามมาอย่างต่อเนื่องข่าวเสมอ โดยเฉพาะในช่วงหลังที่มักจะได้ยินข่าวปัญหาหนี้สินของครูถี่ขึ้น การแก้ปัญหาที่ผ่านมาจึงเหสมือนว่า ไม่ว่าแก้อย่างไรก็ไม่หายสักที เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน
ถ้าเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตำแหน่ง ก็จะทำให้ตำแหน่งของกระดุมเม็ดต่อๆ ไปติดผิดไปด้วย ก็ไม่ต่างจากการเริ่มตั้งโจทย์จากการมองว่าต้นตอของปัญหามาจากปัจจัยฝั่งของครูแต่เพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็น ‘ความเป็นไปได้ในมุมอื่น’ ซึ่งแท้ที่จริงอาจเป็นปัจจัยรากฐานที่สร้างปัญหา เช่น การแข่งขันกันของเจ้าหนี้ทั้งในฝั่งสหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ และประเด็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อาจจะสูงเกินสมควรสำหรับสินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซอง ที่มีความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับชำระหนี้คืนต่ำมาก
ดังนั้น หากต้องการแก้ปัญหาหนี้ครูให้สำเร็จลุล่วง จึงจำเป็นต้องมององค์ประกอบให้ครบถ้วนทั้ง 3 ส่วน คือ ครูซึ่งเป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้ของครู และระบบการตัดเงินเดือน
“ในการแก้ไขปัญหา เจ้าหนี้ทุกฝ่ายจำเป็นต้องหันหน้ามาเจรจากัน เพื่อช่วยหาทางออกให้ครูว่าจะสามารถแบ่งชำระหนี้จากเงินเดือนที่มีอยู่จำกัดได้อย่างไร”
ดร.ขจร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในกรณีการแก้ปัญหาหนี้ที่ประสบความสำเร็จพบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีสิทธิตัดเงินเดือนก่อนเข้าใจปัญหา และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครู ทำให้เงินที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนลดลง ครูมีเงินเหลือพอจ่ายชำระให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ดังเช่นในกรณีตัวอย่าง โจทย์คือเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องจะแบ่งเงินเดือนครูที่สามารถหักหน้าซองจำนวน 25,000 บาท ชำระหนี้อย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายไปต่อได้
ทั้งหมดคือ การแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่เพียงแค่จะเป็นการแห้ไขปัญหาให้กับครูเท่านั้น แต่รวมไปถึงอาจจเป็นจุดเริ่มต้น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
อ่านประกอบ:
กางปัญหา 'หนี้สินครู' เจาะสาเหตุ 3 ประเด็นที่ทำให้เป็นเรื่องเรื้อรังแก้ไม่จบ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage