"...ที่ผ่านมาพบกรณีการขายใบรับรองวัคซีนปลอมของฝรั่งเศส ที่มีราคาอยู่ที่ 75 ยูโร (2,894 บาท) ใบรับรองวัคซีนปลอมของประเทศรัสเซีย ราคาอยู่ที่ 9,500 รูเบิล (4,496 บาท) และขายใบรับรองวัคซีนปลอมของประเทศสิงคโปร์คิดเป็นราคาอยู่ที่ 250 ยูโร (9,642 บาท) ซึ่งแหล่งการขายโดยมากแล้วจะอยู่บนดาร์กเว็บ,บนแอปเทเลแกรม และแอปส่งข้อความอื่นๆ และบัตรผ่านเหล่านี้ก็จะมีลักษณะเหมือนกับของจริงมาก แต่ถ้าหากสแกนดูก็จะรู้เลยว่าเป็นของปลอม..."
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ ที่มีการพูดถึงประเด็นเรื่องการทำวัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งจะเป็นการยืนยันข้อมูลการฉีดวัคซีนที่จะใช้ร่วมกันกับหนังสือเดินทาง เพื่อใช้ในการเดินทางเข้าประเทศอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และอาจจะมีความยุ่งยากตามมามากมายด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าว The Economist ของ ประเทศอินเดีย ได้มีการเผยแพร่รายงานเจาะลึกประเด็นเรื่องการทำวัคซีนพาสปอร์ตเอาไว้ โดยคาดการณ์ว่าการใช้วัคซีนพาสปอร์ตดังกล่าวอาจจะนำมาซึ่งความโกลาหลในหลายประเด็น
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ณ เวลานี้ รัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยีอย่างบริษัทไอบีเอ็มและไมโครซอฟต์ รวมไปถึงหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐบาล อาทิ สภาเศรษฐกิจโลก, สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการทำวัคซีนพาสปอร์ต
ขณะที่ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย Applied Sciences Upper Austria ของประเทศออสเตรีย ได้มีการออกแบบแอปพลิเคชั่นหนังสือเดินทางขึ้นมาเพื่อที่จะใช้เดินทางไปทั่วสหภาพยุโรป
โดยแอปพลิเคชั่นดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า GreenPass มีผู้ดาวน์โหลดเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 100,000 ครั้งแล้ว
ขณะที่ประเทศอินเดียซึ่งมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1 พันล้านโดส ก็เริ่มจะมีการใช้โครงการ “CoWIN” ซึ่งมีลักษณะเป็นการบันทึกข้อมูลลงคิวอาร์โค๊ดข้อมูลการฉีดวัคซีน
เช่นเดียวกับที่ในประเทศอังกฤษที่ประชาชนสามารถจะเลือกได้ว่าจะใช้คิวอาร์โค๊ดจากหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษหรือว่า NHS หรือว่าจะใช้จดหมายรับรองจากทางแพทย์
ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ยืนยันว่าจะไม่สร้างฐานข้อมูลแห่งชาติ แต่ว่าในหลายรัฐรวมไปถึงภาคเอกชนนั้นก็ได้มีการใช้งานสิ่งที่เรียกว่าบัตรผ่านสุขภาพแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้นั้นมีปัญหาสำคัญ ก็คือ ระบบเหล่านี้ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้เลย แม้ว่าหน้าตาจะดูเหมือนกันมากก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทั้งระบบคิวอาร์โค๊ดหรือการใช้กระดาษแบบเดิมๆ
โดยกรณีการสแกนคิวอาร์โค๊ดที่ระบุว่าอาจจะเป็นปัญหาได้นั้นก็เพราะว่ากรณีการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อยืนยันกันถึงข้อมูลบัตรผ่านสุขภาพนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของบัตรผ่านสุขภาพที่ในแต่ละประเทศจะเลือกใช้งาน หลังจากสแกนแล้ว จะมีข้อมูลปรากฎเกี่ยวกับสุขภาพของเจ้าของหนังสือเดินทางอันหลากหลายออกมามาก ซึ่งความหลากหลายที่ว่ามานี้ก็ขึ้นอยู่กับทั้งระบบสุขภาพของแต่ละประเทศนั้น ๆ และขึ้นอยู่กับว่าประเทศต้นทางของเจ้าของหนังสือเดินทางนั้นจะมีความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลลงในระบบได้มากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างของปัญหาที่สำคัญก็คือวัคซีนพาสปอร์ตที่ชื่อว่า CommonPass ซึ่งถูกใช้ในหลายพื้นที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบนี้ แสดงข้อมูลดิบเกี่ยวกับสถานะการฉีดวัคซีนของเจ้าของหนังสือเดินทาง
ขณะที่ระบบอื่นๆ โดยเฉพาะที่ออกโดย NHS จะอนุมัติให้แสดงข้อมูลแค่สัญลักษณ์ ช่องติ๊กถูก หรือแค่กากบาทเท่านั้น
และก็ยังมีปัญหาในเรื่องประเด็นว่ากติกานั้นในบางที่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการระบาดในระลอกใหม่เกิดขึ้นมาจนทำให้ทางรัฐบาลต้องยกเลิกบัตรผ่านสุขภาพจากประชาชนของประเทศตัวเองจำนวนกว่า 2 ล้านคนซึ่งยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์
ปัญหาประการถัดมาก็คือว่าที่ผ่านมานั้นสนามบินต้องรับภาระจากทั้งด้านการจัดการและยอดการค้าที่ลดลงไปมากเมื่อจำนวนนักเดินทางนั้นต้องลดต่ำลงไปกว่า 85-90 เปอร์เซ็นต์ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นการเพิ่มในประเด็นเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตก็จะกลายเป็นอุปสรรคตามมาด้วยเช่นกัน อาทิปัญหาการที่จะต้องรอคิวผู้โดยสารที่จะผ่านประตูนานขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะต้องมีการตรวจทั้งคิวอาร์โค๊ดและตรวจข้อมูลกระดาษอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีประเด็นติดตามตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่าวัคซีนที่ผู้เดินทางฉีดเป็นวัคซีนอะไร ประเทศปลสายทางจะอนุมัติวัคซีนดังกล่าวหรือแม่ และประเทศปลายทางจะยอมรับผลตรวจโควิดซึ่งมีระยะเวลาหลังจากตรวจคิดเป็นระยะเวลานานเท่าไรกันแน่
โดยนายคอร์เนล โคสเตอร์ หัวหน้าฝ่ายลูกค้าที่สายการบินเวอร์จินแอนแลนติกถึงกับกล่าวว่ามันจะเป็นอะไรที่ดูเถื่อนมากแน่ ๆ
ซึ่งตามหลักการแล้ว การออกแบบบัตรผ่านเพื่อสุขภาพในเชิงดิจิทัลนั้นจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน ยุ่งยากมากกว่าการออกแบบหนังสือสำหรับการเดินทางเป็นอันมาก โดยพาสปอร์ตจะบอกแค่อายุเท่านั้น แต่ทว่าบัตรผ่านวัคซีนนั้นกลับเป็นเสมือนการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทางด้านสุขภาพ ซึ่งในกรณีนี้นั้นย่อมทำให้ผู้เดินทางค่อนข้างมีความหวาดกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูล แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วที่ประชากรส่วนมากนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม โดยในต่างประเทศนั้นมีเปอร์เซ็นต์ในเรื่องการสนับสนุนวัคซีนพาสปอร์ตที่ค่อนข้างจะหลากหลายมาก อาทิ ที่สหราชอาณาจักรมีประชากรที่ให้การสนับสนุนอยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ญี่ปุ่นมีประชากรให้การสนับสนุนที่ 43 เปอร์เซ็นต์ และในประเทศเยอรมนีมีประชากรให้การสนับสนุนอยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายเด็บจานี มาซัมเดอร์ ผู้บริการสำนักพิมพ์ในกรุงนิวเดลี ได้แสดงความกังวลว่าระบบบัตรผ่านสุขภาพนี้นั้น เป็นระบบที่ให้บริษัทยาและบริษัทประกันภัยสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกทางด้านสุขภาพได้มากขึ้น และด้วยว่าที่ว่ามันเป็นระบบที่ใหม่ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นหนูทดลองของระบบ
อนึ่ง ตามทฤษฎีแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นควรจะต้องทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้นสำหรับการยืนยันสถาบันวัคซีนของตัวเอง แต่ทว่าปัญหาก็คือแอปฟลิเคชั่นยืนยันตัวที่มีอยู่ ณ เวลานี้นั้นไม่อาจที่จะยืนยันคิวอาร์โค๊ดได้ทั้งหมด
ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ยืนยันข้อมูลจึงใช้แนวทางแบบที่นายเอ็ดการ์ วิทลีย์ ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอนได้ระบุไว้ คือการถ่ายรูปข้อมูลเก็บไว้แล้วก็อนุญาตให้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากการใช้บัตรผ่านสุขภาพดังกล่าวก็ทำให้เกิดกรณีการขายบัตรผ่านปลอมในตลาดมืดพุ่งสูงขึ้น
นายโอเดด วานูนู เจ้าหน้าที่จากบริษัท Check Point Software Technologies ได้รายงานข้อมูลว่าที่ผ่านมาพบกรณีการขายใบรับรองวัคซีนปลอมของฝรั่งเศส ที่มีราคาอยู่ที่ 75 ยูโร (2,894 บาท) ใบรับรองวัคซีนปลอมของประเทศรัสเซีย ราคาอยู่ที่ 9,500 รูเบิล (4,496 บาท) และขายใบรับรองวัคซีนปลอมของประเทศสิงคโปร์คิดเป็นราคาอยู่ที่ 250 ยูโร (9,642 บาท) ซึ่งแหล่งการขายโดยมากแล้วจะอยู่บนดาร์กเว็บ,บนแอปเทเลแกรม และแอปส่งข้อความอื่นๆ และบัตรผ่านเหล่านี้ก็จะมีลักษณะเหมือนกับของจริงมาก แต่ถ้าหากสแกนดูก็จะรู้เลยว่าเป็นของปลอม
การขายบัตรยืนยันการฉีดวัคซีนปลอมบนดาร์กเว็บ (อ้างอิงวิดีโอจาก 9 News Australia)
อนึ่งในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนนั้น เจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการสแกนคิวอาร์โค๊ดจะตรวจสอบข้อมูล 2 ประการด้วยกันก็คือข้อมูลยืนยันว่าเจ้าของหนังสือเดินทางได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดหรือไม่ และข้อมูลอัตลักษณ์ทางดิจิตัลที่จะยืนยันหลักฐานว่าข้อมูลเหล่านี้นั้นมาจากผู้อนุญาตที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งการจะทำให้แนวทางนี้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของบัตรผ่านดิจิทัลเป็นวงกว้างว่าข้อมูลทางสุขภาพใดบ้างที่จะถูกใช้ และจะมีการจัดเรียง,จัดเก็บข้อมูลเหล่านี้กันอย่างไร
โดยในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมานั้นทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้มีการกำหนดหลักการณ์เอาไว้แล้วเบื้องต้นว่าข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใบรับรองนั้นควรจะมีข้อมูลได้แก่วันเกิด,ยี่ห้อและหมายเลขลอตวัคซีนของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่จำเป็น แต่ข้อมูลที่ลงลึกไปในรายละเอียดมากกว่านั้น อาทิ ใครเป็นผู้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ ข้อมูลนี้กลับไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของทาง WHO
ปัจจัยอีกประการที่นำไปสู่ความยุ่งยากที่มากขึ้นในการสร้างระบบบัตรผ่านวัคซีนเชิงดิจิทัลในรูปแบบครบวงจรก็คือว่าการสร้างระบบลายเซ็นสุขภาพอันมีความน่าเชื่อถือนั้นเป็นงานที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงและมีประเด็นเรื่องการเมืองตามมา ประเทศอย่างเช่นสหราชอาณาจักรพบว่า มีผู้ออกลายเซ็นสุขภาพแค่เพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ว่าในสหรัฐอเมริกากลับมีผู้ที่สามารถออกลายเซ็นได้เป็นจำนวนถึง 300 ราย ซึ่งรวมไปถึงทั้งรัฐบาลท้องถิ่น โรงพยาบาลและร้านขายยาต่างๆ
ขณะที่นายอัลเบิร์ต ฟ็อกซ์ คาห์น จากโครงการกำกับดูแลและเฝ้าระวังทางเทคโนโลยีได้ให้ความเห็นไว้เช่นกันว่าค งเป็นการยากที่หลายประเทศนั้นจะร่วมมือกันสร้างระบบในเชิงดิจิทัลร่วมกัน เนื่องจากมีความคิดว่าระบบเก่า ซึ่งก็คือการยืนยันตัวด้วยกระดาษ อาทิเช่นใบเหลืองที่เคยใช้เพื่อยืนยันสุขภาพของทาง WHO นั้นยังคงใช้งายได้ง่ายและมีความครอบคลุมมากกว่าโดยเฉพาะกับในประเทศที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงการมีสมาร์ทโฟนได้ ส่วนการปลอมแปลงข้อมูลนั้นพบว่าการปลอมข้อมูลกระดาษไม่ใช่สิ่งที่จะง่ายกว่าการปลอมข้อมูลดิจิทัลมากนักแต่อย่างใด
ณ เวลานี้พบข้อมูลว่ามีการขายเอกสารปลอมที่รับรองการฉีดวัคซีนซึ่งออกโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ (4,990 บาท) บนแอปเทเลแกรม ซึ่งราคานี้นั้นถือว่าสูงกว่าการปลอมบัตรผ่านสุขภาพเชิงดิจิทัลเสียอีก
@ปัญหาข้ามพรมแดน
อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการนำเอาวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ให้เกิดขึ้นจริงนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากข้อจำกัดในเชิงเทคโนโลยี แต่มาจากภูมิศาสตร์ทางการเมือง เพราะว่าต้องใช้องค์กร และหน่วยงานที่มีทั้งความน่าเชื่อถือและความเชี่ยวชาญในความซับซ้อนของระบบเทคโนโลยีสุขภาพและหน่วยงานนี้จำเป็นจะต้องมีระดับการทูตที่เหมาะสมเพื่อที่จะให้ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันในมาตรฐานระดับโลก ซึ่งตรงนี้ดูเหมือนว่าควรจะเป็นหน้าที่ของทาง WHO เองที่จะต้องดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นมีทั้งปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐฯและจีน กับประเด็นเรื่องที่ WHO ถูกวิจารณ์เป็นอย่างยิ่งจากทุกฝ่ายเพราะเรื่องปัญหาการรับมือกับโรคระบาด และพอมาถึงประเด็นเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ที่แม้ว่า WHO จะเขียนข้อกำหนดเรื่องนี้ไว้เยอะมาก แต่ก็ยังยืนยันอยู่ดีว่ามันไม่ควรที่จะเป็นข้อบังคับสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะว่า ณ เวลานี้ประเทศที่ร่ำรวยนั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงอยู่แล้ว
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ WHO ได้ออกมาปฏิเสธชัดเจนแล้วว่าจะไม่เข้าไปยุ่งกับการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว
ดังนั้นจึงหมายความว่ากระบวนการยืนยันลายเซ็นสุขภาพนั้นจะต้องมีการใช้บุคลากรจำนวนมหาศาลมากที่จะดำเนินการเรื่องนี้ และคำถามที่ตามมาก็คือว่าประเด็นเรื่องลายเซ็นสุขภาพที่มาจากบางประเทศ อาทิ ปาเลสไตน์หรือว่าประเทศอัฟกานิสถานนั้น จะยังคงได้รับการรับรองหรือไม่ และวัคซีนไหนถึงจะดีพอสำหรับการรับรอง และประเด็นถัดมาก็คือ WHO จะออกมาทำอะไรหรือไม่ ถ้าหากมีประเทศไหนที่ฝ่าฝืนมาตรการความปลอดภัยเรื่องการรับรองวัคซีนพาสปอร์ตนี้
ข้อเท็จจริงก็คือว่าแม้ทั่วโลกจะมีมาตรฐานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ครอบคลุมมากมาย แต่มาตรฐานที่ว่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่งุ่มง่ามมาก อาทิ สหภาพยุโรปนั้นก็มีมาตรฐานดิจิทัลเพื่อรับรองการฉีดวัคซีนของตัวเองที่สามารถจะใช้กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศตุรกี ในขณะที่ประเทศศรีลังกาและประเทสฟิลิปปินส์เองก็รับรองมาตรฐานของประเทศอินเดีย
ขณะที่ การที่จะทำให้ระบบเหล่านี้สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งหมดนั้นทาง WHO ได้เคยระบุเอาไว้ว่า แต่ละประเทศจะต้องอาศัยกระบวนการทั้งในระดับทวิภาคี และการทำข้อตกลงในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาเพื่อจะทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริงนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเป็นอย่างมาก
อาทิ กรณีระหว่างประเทศอินเดียและสหราชอาณาจักร ซึ่งทางสหราชอาณาจักรนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับระบบยืนยันวัคซีน CoWIN ของประเทศอินเดีย เพราะมองว่าระบบนี้ไม่ได้แชร์ข้อมูลเรื่องของวันเกิดของผู้ที่ได้รับการรับรองเอาไว้ ซึ่งที่มาของปัญหาเรื่องวันเกิดนี้ก็มาจากการที่ยังคงมีคนยากจนอยู่มากในประเทศอินเดียที่ไม่ทราบแม้แต่วันเกิดของตัวเอง จึงทำให้ทางรัฐบาลกรุงนิวเดลีสามารถทำได้แค่กำหนดปีเกิดลงไปในระบบยืนยันวัคซีน CoWIN เท่านั้น
ประเทศอินเดียยืนยันว่าระบบ CoWIN นั้นเป็นระบบรับรองการฉีดวัคซีนที่ดีที่สุดในโลก (อ้างอิงวิดีโอจาก NDTV)
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาก็คือว่า มีการห้ามการเดินทางและการไปทำธุรกิจกันระหว่างไปเป็นระยะเวลานานกว่าหลายสัปดาห์จนในที่สุด ประเทศอินเดียก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ด้วยการทำข้อตกลงว่าผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศนั้นจะต้องระบุวันเกิดของตัวเองให้ชัดเจน ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศนั้นคงต้องรู้วันเกิดตัวเองอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ คือปัญหาที่โลกจะต้องเผชิญร่วมกันหลังจากที่เจอปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 กับประเด็นที่ว่าแต่ละประเทศนั้นจะสามารถกลับมาเดินทางไปมาหาสู่กันอีกครั้งในอนาคตอย่างไร
โดยการแก้ปัญหานี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องหาทางออกร่วมกัน รวมไปถึงประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกและกำลังเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศในปัจจุบัน
เรียบเรียงจาก:https://www.economist.com/international/why-vaccine-passports-are-causing-chaos/21805939
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/