"..การที่จะพึ่งมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง มาตรการอื่นๆ เป็นเรื่องที่ยาก ภูมิคุ้มกันในร่างกายเท่านั้น ที่จะป้องกันโควิด-19 ได้ดีที่สุด การขยันล้างมือบ่อยๆ แม้จะลำบาก ก็ต้องทำ แต่ก็ไม่ 100% ไม่สามรถป้องกันการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีเท่าฉีดวัคซีน.."
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง 'เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว' สำหรับ 17 จังหวัดนำร่อง ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ได้แก่
กทม. สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ) กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน และ ต.หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (อ.พัทยา อ.เกาะสีชัง อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง เฉพาะ ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) เลย (อ.เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อ.เมือง) หนองคาย (อ.เมือง อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.สังคม) อุดรธานี (อ.เมือง อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.กุมภวาปี และ อ.บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) ตราด (เกาะช้าง) ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า)
การเปิดประเทศในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวจากทุกประเทศจะเข้ามาได้ทั้งหมด แต่เฉพาะ 46 ประเทศเท่านั้น ได้แก่
ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
ส่วนประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ สามารถเดินทางเข้ามาแบบไม่ต้องกักตัวผ่านโครงการแซนด์บ็อกซ์
สำหรับการประกาศเปิดประเทศของนายรัฐมนตรีครั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ 'ถ้าเปิดแล้วเกิดปัญหา ก็ต้องปิด' ย้ำแนวคิดในการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ว่า คือการ 'อยู่กับโควิด-19 ให้ได้'
แต่ทั้งนี้ การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ อาจจะสร้างความกังวลใหกับบุคคลหลายฝ่าย ทั้งสำหรับเจ้าหน้าสาธารณสุขและภาคประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ และอัตรการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุม
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การเปิดประเทศมี 2 ระลอก แบ่งเป็น ระลอกแรก คือ การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่เป็นการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาทางอากาศ น่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาผ่านการฉีดวัคซีนที่ครบโดสแล้ว มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ทั้งจากต้นทางและปลายทาง ซึ่งก็น่าจะมีความปลอดภัยสูง บวกกับสถาการณ์ของประเทศไทยเอง ก็มีการระบาดอยู่พอสมควร เรื่องที่น่าเป็นห่วง อาจจะไม่ใช่การติดเชื้อจากชาวต่างชาติสู่ประเทศไทย แต่เป็นชาวต่างชาติติดเชื้อจากประเทศไทยเอง หรือนำเชื้อกลับประเทศต้นทางมากกว่า จึงคิดว่าในการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่
ส่วนในกรณีที่น่าเป็นห่วง คือ หลังจากวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ที่มีกำหนดผ่อนคลายมาตรการเปิดสถานบริการ สถานบันเทิง เปิดให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามปกติ ในส่วนนี้ มุมมองของเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสาธารณสุขทุกคนเป็นห่วงและกังวล เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแพร่การกระจายของเชื้อไวรัสได้
"โควิดชอบที่แออัด ชอบที่อับอากาศ และสถานบันเทิง คือ ทั้งอับอากาศและแออัด แล้วถ้ายิ่งมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้สติสัมปชัญญะลดลง ทำให้การ์ดตก ขาดความระมัดระวังในการป้องกันตนเอง ก็ยิ่งไปกันใหญ่"
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นพ.สุภัทร กล่าวว่า คือสถานการณ์ติดเชื้อภายในประเทศ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศยังน้อยอยู่ เข็มแรกอยู่ที่ 59% ส่วนเข็มสองอยู่ที่ 42% ในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงแรงงานต่างด้าว ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทย ขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ภูเก็ต โรงแรมในภูเก็ตก็จะต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่มีการตรวจคัดกรองที่ดี ก็อาจจะนำไปสู่การแพร่เชื้อ
รวมถึงแรงงานคนไทยจากพื้นที่อื่นๆ ที่จะต้องเดินทางมาทำงานในพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งกลุ่มชนชั้นล่าง กลุ่มคนยากจน หรือแรงงานส่วนใหญ่เข้าถึงวัคซีนได้น้อยกว่ากลุ่มชนชั้นกลาง หากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลจัดสรรเรื่องวัคซีน ก็ไม่มีภูมิคุ้มกัน และจะกลายเป็นกลุ่มที่มีการระบาด
"ในจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมสูงแล้ว เช่น ภูเก็ตสูงแล้ว พังงาสูงแล้ว แต่เรานับคนที่เป็นแรงงานข้างล่างของระบบเศรษฐกิจ แรงต่างด้าวเข้ารวมด้วยแล้วหรือยัง? เราต้องนับรวมพวกเขาด้วย ไม่งั้นก็มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลับมาแพร่ระบาดได้อีก ไม่งั้นก็ไม่จบ"
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท
สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หากถ้าเปิดประเทศแล้ว มีปัญหาก็ต้องปิดนั้น นพ.สุภัทร กล่าวว่า เมื่อเปิดประเทศแล้ว คงไม่สามารถปิดประเทศได้อีก คาดว่าผู้ประกอบการ รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่คงไม่ยอม เนื่องจากส่งผลต่อธุรกิจแน่ๆ ร้านค้ากิจการเตรียมการเปิด ซื้อข้าวของเตรียมตัว แต่ถ้าเกิดมีคำสั่งปิดก็จะแย่ เพราะเงินลงทุนอาจเสียเปล่า
การเปิดประเทศ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเปิด ก็ต้องเปิด แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ นพ.สุภัทร กล่าวว่า หัวใจหลัก คือ การประเมินความเสี่ยงในรายพื้นที่นั้นๆ ว่า มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ และต้องจัดการหาทางออกเป็นรายพื้นที่ เช่น พื้นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง ประชาชนในพื้นที่มีวินัย ป้องกันตัวเองด้วยมาตรการส่วนตัวอย่างเคร่งครัด ร้านค้าและผู้ประกอบการก็เข้าใจและปฏิบัติตาม ถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
"แต่บางพื้นที่อัตราการฉีดวัคซีนยังน้อยอยู่ คำว่า กระบี่ มันกว้าง คำว่า สมุย หมายถึงทั้งเกาะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีทั้งเกาะ การประเมินความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อที่จะได้ตรวจสอบและมีการเตรียมตัวป้องกันรับมือได้ล่วงหน้า"
นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่า ถ้าหากมีการระบาดหรือติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ต้องรีบควบคุม อาจจะต้องมีการปิดพื้นที่ หรือควบคุมเชื้อในวงจำกัด เพื่อไม่ให้ระบาดกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ให้ได้รับความเสียหาย อีกทั้ง สถานประกอบการในพื้นที่ เช่น โรงแรม จะต้องเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยตัวเลข หากพบมีการติดเชื้อ จะได้รีบดำเนินการเข้าควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด เพื่อไม่ให้เกิดเสียหายต่อการเปิดเมืองในพื้นที่นั้นๆ ของจังหวัด
นพ.สุภัทร กล่าวแนะนำถึงการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศว่า ควรจะเร่งการฉีดวัคซีนในเดือนหน้าให้ครอบคลุม ถึงจะสามารถป้องกัน และควบคุมการระบาดได้จริง ที่ผ่านมาเราเคยฉีดวันละล้านโดส ซึ่งสามารถทำได้ แล้วทำไมถึงจะฉีดล้านโดสทุกวันในเดือนหน้าไม่ได้ เหตุผลคือ 'วัคซีนมีไม่เพียงพอ'
ถ้าเราสามารถหาวัคซีนในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนมาช่วยกัน ภายในเดือนหน้า ทำให้อัตราผู้ได้รับวัคซีนเข็มหนึ่งให้ครอบคลุมมากกว่า 70-80% และดำเนินการฉีดเข็มสองในเดือน ธ.ค. ความเสี่ยงของการเปิดประเทศจะลดลงอย่างแน่นอน
"การที่จะพึ่งมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง มาตรการอื่นๆ เป็นเรื่องที่ยาก ภูมิคุ้มกันในร่างกายเท่านั้น ที่จะป้องกันโควิด-19 ได้ดีที่สุด การขยันล้างมือบ่อยๆ แม้จะลำบาก ก็ต้องทำ แต่ก็ไม่ 100% ไม่สามรถป้องกันการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีเท่าฉีดวัคซีน"
นพ.สุภัทร กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้กำหนดตัวเลขที่ชัดเจนในแผนเผชิญเหตุ หากพบการระบาด โดยให้เหตุผลว่าระบบสาธารณสุขยังเพียงพอและสามารถรองรับได้ ว่า ในส่วนที่ระบบสาธารณสุขยังสามารถรับได้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าตัวเลขการติดเชื้อเพิ่ม จะส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะเข้ามาท่องเที่ยวหรือจะจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ลดลงหรือหยุดชะงัก เนื่องจากการเปิดประเทศ มีเหตุผลหลัก คือ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับมาเดินได้ ให้คนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ดูแลชีวิตตัวเองได้ จึงไม่ใช่เรื่องบริการสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเชื่อมั่นของผู้คน เพราะฉะนั้นจะต้องมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำและสามารถควบคุมได้ก่อน ถึงจะมีความเชื่อมั่น
แต่ทั้งนี้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศนับเพียงแค่จากการตรวจหาเชื้อยืนยันด้วยวิธี RT-PCR เท่านั้น การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ถือเป็นแค่ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ไม่นับรวมเข้าเป็นผู้ติดเชื้อ บางครั้งผู้ป่วยตรวจหาเชื้อเพียงวิธี ATK และเข้าสู่ระบบการรักษาเลย โดยไม่ตรวจด้วย RT-PCR ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงแบบมีนัยยะ นั่นไม่ได้แสดงถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงทั้งหมด
"ถือเป็นเรื่องจิตวิทยามวลชน ที่ทำให้ดูเหมือนว่าปัญหามันเบาบางลง แต่ที่จริงแล้วปัญหาก็พอสมควรอยู่"
นพ.สุภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจหาเชื้อด้วย ATK เพื่อผลตรวจเป็นบวก แปลว่าเชื้อในร่างกายเยอะ ผลตรวจ RT-PCR ก็จะเป็นบวกด้วยเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ผลตรวจ ATK เป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อ แต่อาจจะมีเชื้อน้อย หรือคุณภาพชุดตรวจที่ไม่ดีก็อาจจะตรวจไม่เจอ แต่ถ้าตรวจ RT-PCR ก็อาจจะเจอเชื้อ ซึ่งกลุ่มนี้ เรียกว่า กลุ่มผลลบปลอม และอาจจะหลุดไปแพร่กระจายเชื้อในชุมชน เพราะฉะนั้นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ก็ยังถือว่ามีประโยชน์มาอยู่
นอกจากนี้ นพ.สุภัทร ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลและฝ่ายการเมืองจะเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้ง ก็จะรู้สึกถึงภาวะเกียร์ว่าง ไม่ค่อยจัดการรายละเอียดต่างๆ การดูแลก็จะเป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำไป ส่วนการบูรณาการข้ามกระทรวงก็มีน้อยลง เพราะการจะบูรณาการข้ามกระทรวงได้ดี จำเป็นจะต้องมีรัฐมนตรีเป็นส่วนช่วย ซึ่งถือว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง
ทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งมุมมองของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าในระบบสาธารณสุขที่มีต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวในวันที่ 1 พ.ย. นี้ โดยเน้นย้ำว่า วัคซีนก็ยังถือว่าเป็นอาวุธหลักที่สำคัญในการพิชิตวิกฤติสถานการณ์โควิดในครั้งนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage