"...เป็นกรณีที่ ส.ส. 60 คน นำโดย พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีที่ ‘ไพบูลย์’ ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นขอเลิกพรรคตัวเอง และย้ายไปร่วมสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)..."
20 ตุลาคม 2564 เวลา 15.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัย กรณีสมาชิกภาพของ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
เป็นกรณีที่ ส.ส. 60 คน นำโดย พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีที่ ‘ไพบูลย์’ ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นขอเลิกพรรคตัวเอง และย้ายไปร่วมสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ย้อนกลับไปปี 2562 เขายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอเลิกพรรคการเมือง โดยอ้างถึงมติที่ประชุมครั้งที่ 10/2562 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป พ.ศ.2561 ข้อ 122
ต่อมาราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศ กกต.เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสอง แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุว่า พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ (7) พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ
แม้จะมีเวลา 60 วันในการหาสังกัดพรรคใหม่ แต่ ‘ไพบูลย์’ ใช้เวลาเพียง 3 วันในการประกาศร่วมชายคา พปชร.
อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าว ‘ไพบูลย์โมเดล’ ทำให้ปรากฏความเคลื่อนไหวอีกกรณี คือ พรรคประชานิยม ของ พลตำรวจเอกยงยุทธ เทพจำนงค์ ที่ใช้มติที่ประชุมในการเลิกพรรค และปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สังกัด พปชร. เช่นเดียวกัน
ขณะที่คำร้องของ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ และ 60 ส.ส. เห็นว่าสมาชิกภาพของ ‘ไพบูลย์’ สิ้นสภาพไปแล้วด้วยเหตุผล 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 สมาชิกสภาพ ส.ส. สิ้นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 101 (10) ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง
เห็นว่า เป็นการกระทำโดยเจตนาต้องการที่ให้พรรคสิ้นสภาพ โดยสมัครใจ และ ‘ไพบูลย์’ ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน มีเจตนาซ่อนเร้น และมีเถยจิตไม่สุจริต อีกทั้งยังไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อต่อ กกต.ในการที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ การกระทำอาจเข้าข่ายขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 45 , 50 (7)
กรณีที่ 2 ข้อเท็จจริงเป็นยุติฟังได้ว่า ‘ไพบูลย์’ ไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ต่อ กกต.
หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ย่อมไม่มีสิทธิตามกฎหมายใดที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 90 วรรคสอง
เห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อเรียงลำดับก่อนและหลัง และภายหลังหากผู้ใดสิ้นสมาชิกภาพ ความเป็น ส.ส. พรรคการเมืองนั้นก็จะเสนอชื่อต่อ กกต.ให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อไป
ดังนั้นกรณี ‘ไพบูลย์’ เมื่อตนเองเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป เมื่อสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง การเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อย่อมสิ้นสภาพไปด้วยโดยผลของกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง การที่ พปชร.รับสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค เป็นการซ้ำกันกับรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 56 บัญญัติว่า "พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหน่ึงบัญชี มีจานวนไม่เกิน 150 รายชื่อตามหลักเกณฑ์ (4) รายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่น และไม่ซ้ำกับ รายชื่อ ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง..."
กรณีที่ 3 ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง อันมีผลเป็นการยุบพรรคการเมือง ‘ไพบูลย์’ สมัครเป็นสมาชิก พปชร. และเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ ‘ไพบูลย์’ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร. และผลการสมัครสมาชิกพรรคดังกล่าว มีผลเป็นโมฆะ เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 95 วรรคท้ายบัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีของพรรคการเมืองด้วยโดยอนุโลม และสามารถนำหลักกฎหมายการชำระบัญชีดังกล่าวมาปรับใช้
โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1249 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้ถือว่ายังคงอยู่ตราบเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
ดังนั้น พรรคประชาชนปฏิรูป ยังคงมีสถานะความเป็นพรรคการเมืองอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ดังนั้น ‘ไพบูลย์’ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระบัญชีเพราะสถานะความเป็นพรรคยังอยู่
ทั้งหมดเป็น 3 กรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ‘ไพบูลย์’
ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามดู 15.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2564
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/