"..อาการที่สังเกตได้ คืออาการไข้สูง ซึ่งจะเกิดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจะเป็นเดือน ในส่วนนี้ไม่น่ากังเวลมากนัก เพราะคาดเดาและเฝ้าติดตามอาการหลังหายจากโควิด-19 ได้ แต่ในส่วนที่น่ากังวลคือ ในกรณีที่ไม่ทราบว่าเด็กติดเชื้อโควิด-19 และไม่ได้รับการตรวจ แต่คนรอบข้างติด แต่จะมารู้ต่อเมื่อเกิดอาการ MIS-C แล้ว คือมีไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยทั่วไป ร่วมกับมีการอักเสบของหลายๆ ระบบจึงเป็นข้อกังวลที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแล ถ้าหากรักษาไม่ทันการณ์ เด็กอาจจะเสียชีวิตได้.."
-------------------------------------
จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่กระจายและติดต่อที่ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
ไม่เพียงแค่เฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อวัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีมากขึ้น ผู้ติดเชื้อวัยเด็กก็เช่นกัน จากเดิมที่การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กไม่เป็นที่น่าห่วงหรือน่ากังวลมากนัก เนื่องจากอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก
นพ.วรมันต์ ไวดาบ กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ หัวหน้าแผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 1-2 ในช่วงปีที่ผ่านมา การติดเชื้อในเด็กไม่ใช่ปัญหา และน่ากังวลเท่าไหร่ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อัลฟ่า ที่การติดเชื้อไม่ได้ง่ายมากนัก เป็นสายพันธุ์เดลต้า ที่การติดเชื้อง่ายมากขึ้น ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลให้เด็กใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ติดเชื้อรอบข้างเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายขึ้น
สังเกตได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กสูงสุดในช่วงกลางเดือน ส.ค. ประมาณ 2 หมื่นกว่าคน จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 โดยรวมของเด็กที่ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส-19 ยืนยันด้วยการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR มีประมาณ 184,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิตแล้ว 31 คน คิดเป็นอัตราการการเสียชีวิต 00.17% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ อย่างไรตาม ก็ไม่อยากให้มีเด็กเสียชีวิตเกิดขึ้น โดยอัตราเสียชีวิตในผู้ใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1%
เด็กมีโรคประจำตัวคือกลุ่มเสี่ยง
นพ.วรมันต์ กล่าวถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 ว่า แต่เดิมเด็กและผู้ใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน คือ กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางสมอง โรคปอด โรคหัวใจ เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้สูงกว่าเด็กปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการจัดสรรวัคซีนให้ฉีดก่อน
นพ.วรมันต์ กล่าวว่า ขณะนี้ ในส่วนที่มีความกังวล ไม่ใช่การติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง เพราะเด็กปกติไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่เรียกว่า MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children) หรือกลุ่มอาการอักเสบของหลายๆ ระบบในร่างกาย ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรค Kawasaki แต่แตกต่างกันที่ MIS-C พบในเด็กที่อายุ 7 ปีขึ้นไป ต่างจาก Kawasaki ที่พบในเด็กเล็กอายุต่ำ 5 ปี
"MIS-C คือ ภาวะการอักเสบในหลอดเลือดของเด็ก ที่จะพบภายหลังจากการติดเชื้อไปแล้ว การติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ หรือหายแล้วเป็นเดือนก็ได้ โดยสิ่งที่เป็นกังวลคือ การอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจอักเสบ พอมันเกิดขึ้น ถ้าหากรักษาล่าช้า อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้"
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2564 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในเด็ก ระบุว่า การที่มีเด็กและวัยรุ่นติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น คาดว่าจะมีการพบผู้ป่วย MIS-C มากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรงตามหลังโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
เมื่อเดือน เม.ย. 2563 มีรายงานจาก จากเมืองเบการ์โม ในประเทศอิตาลี พบว่า มีเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Kawasaki-like ในช่วง เดือน มี.ค.-เม.ย. จำนวน 10 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 30 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการระบาด โดยเด็ก 8 ราย ตรวจพบว่าเคยมีการติดเชื้อในช่วงเดือนที่ผ่านมา และมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ อายุเฉลี่ยของเด็กที่มีรายงานคือ 7.5 ปี ซึ่งสูงกว่าเด็กที่ได้รับการวินิจฉัย Kawasaki ก่อนหน้านี้ มีอายุเฉลี่ย 3 ปี)และพบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า อีกทั้งการรักษาโดยทั่วไปได้ผลไม่ดีนัก
เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยเด็กที่มีอาการของ pediatric inflammatory multisystem syndrome (PIMS) ในสหภาพยุโรป และ อังกฤษ อย่างน้อย 230 ราย และเสียชีวิต 2 ราย และในวันที่ 11 พ.ค. 2563 รายงานจากกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยเด็กอย่างน้อย 85 รายที่มีอาการคล้ายกับ Kawasaki-like หรือ toxic shock syndrome ที่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ และอีก 2 รายอยู่ในระหว่างการสอบสวนข้อมูล
ในช่วงระหว่าง 27 เม.ย.- 11 พ.ค.2564 มีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พบผู้ป่วยเด็ก 21 รายที่มีอาการของ Kawasaki-like โดยพบว่ามีอาการนำของระบบทางเดินอาหารเด่น 90% อาทิเช่น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว พบหลักฐานของการติดเชื้อโควิด-19 โดย พบภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 76% มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรค Kawasaki (Kawasaki disease shock syndrome :KDSS) 56%
"อาการที่สังเกตได้ คืออาการไข้สูง ซึ่งจะเกิดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจะเป็นเดือน ในส่วนนี้ไม่น่ากังเวลมากนัก เพราะคาดเดาและเฝ้าติดตามอาการหลังหายจากโควิด-19 ได้ แต่ในส่วนที่น่ากังวลคือ ในกรณีที่ไม่ทราบว่าเด็กติดเชื้อโควิด-19 และไม่ได้รับการตรวจ แต่คนรอบข้างติด แต่จะมารู้ต่อเมื่อเกิดอาการ MIS-C แล้ว คือมีไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยทั่วไป ร่วมกับมีการอักเสบของหลายๆ ระบบจึงเป็นข้อกังวลที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแล ถ้าหากรักษาไม่ทันการณ์ เด็กอาจจะเสียชีวิตได้"
กุมารแพทย์กังวลติดเชื้อโควิด ส่งผลต่อพัฒนาการ
นอกจากภาวะ MIS-C ภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังจากการรักษาหายจากโควิด-19 คือ ภาวะ Long Covid นพ.วรมันต์ กล่าวว่า อาการของ Long Covid ส่วนใหญ่เป็นเกี่ยวกับเรื่องของปอด อาการทางระบบประสาท โดยในผู้ใหญ่จะเห็นอาการได้ชัดเจน แต่เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ ปัญหาเรื่องของปอด ไม่ได้รุนแรงเหมือนผู็ใหญ่ ฉะนั้นอาการจะไม่ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเช่นเดียวกัน
นพ.วรมันต์ กล่าวด้วยว่า แต่สิ่งที่กุมารแพทย์กังวลจากผลกระทบหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 คือ เรื่องของการพัฒนาการที่ล่าช้า ขณะนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับเก็บข้อมูล ติดตามผู้ป่วยเด็กโควิด-19 ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ใน กทม. ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน - 1 ปี เพื่อประเมินผล ติดตามภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปลายเดือน ต.ค.เป็นอย่างช้า และภายในปีหน้าจะได้ทราบข้อมูลว่าการติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้าง
ใช้'ฟาวิพิราเวียร์'รักษาเหมือนผู้ใหญ่
นพ.วรมันต์ กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กว่า เนื่องจากการติดเชื้อในเด็ก ส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก กลุ่มที่มีอาการ หรือปอดอักเสบ จะให้ยาต้านไวรัส 'Favipiravir' เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยที่ปรับขนาดโดสของยา และคำนวณให้เหมาะสมกับเด็กแต่คน
สำหรับการดูแลผู้ป่วยเด็ก นพ.วรมันต์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเด็กมีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่คือ เด็กส่วนหนึ่ง ไม่สามารถอยู่รักษาด้วยตัวคนเดียวได้ และในกรณีสำหรับเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือทารกแรกเกิด ก็มีความต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดในการติดตามอาการ ต้องใช้บุคคลากรที่มีความชำนาญมากขึ้น และต้องได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างที่ยากพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่
"มีกรณีที่เด็กอาจจะติดเชื้อจากคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลัก เช่น อาจจะอยู่กับแม่ แต่รับเชื้อมาจากยาย จากตา ก็จะเกิดปัญหาว่า เด็กติด ผู้ดูแลไม่ติด มันทำให้เกิดความซับซ้อนมากขึ้น เพราะเราต้องดูแล ไม่ให้ผู้ดูแลเด็กติดเชื้อไปด้วย เป็นบริบทที่มีความแตกต่างกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่ อาการก็คือจะหนักไปเลย ก็เข้าไอซียูมีทีมดูแลลไปเลย แต่พอเป็นเด็ก แม้อาการไม่หนัก แต่ต้องพึ่งพาการดูแลจากบุคคลรอบข้างด้วย ทำให้ทีมการดูแลรักษาต้องทำงานอีกแบบหนึ่ง"
นพ.วรมันต์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาตัวแบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับเด็กว่า ไม่ว่าจะทำการรักษาแบบไหนจะต้องขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝั่งเด็ก ความพร้อมของตัวเด็ก และครอบครัว ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง มีข้อบ่งชี้ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ ก็ควรจะต้องเข้าแอดมิดรับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม แต่หากไม่มีข้อบ่งชี้ จะต้องดูความพร้อมของครบครัวว่า สามารถดูแลได้หรือไม่ มีความพร้อมเรื่องสถานที่ น้ำ อาหาร ส่วนเรื่องการติดตามอาการของทีมแทพย์ ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง ถ้ามีคนดูแลที่สามารถดูแลเด็กได้ แพทย์ก็จะมีการติดตามทางไลน์หรือโทรศัพท์ ส่วนครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมเรื่องสถานที่ เช่น หอพัก ใช้ห้องน้ำร่วม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื่อแพร่กระจายในวงกว้าง ก็จะขอความร่วมมือให้ไปอยู่ศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation)
ทั้งหมดนี้ คือสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและความรุนแรงมากขึ้น จะต้องติดตามต่อว่าผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 จะส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ
(นพ.วรมันต์ ไวดาบ กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ หัวหน้าแผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage