"...จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลย มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตนด้วยการหลอกลวงประชาชนทั่วไปในลักษณะวงกว้าง โดยอาศัยการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ไม่ได้จำกัดเพียงผู้เสียหาย นับว่าเป็นภัยต่อสุจริตชนโดยทั่วไป พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจ ก็ไม่เป็นเหตุที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้..."
การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการซื้อขายที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคระบาดอย่างโควิดเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คนหันมาซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มมิจฉาชีพก็ใช้ช่องทางนี้ในการหลอกลวงประชาชนด้วยเช่นกัน
หนึ่งในกลเม็ดที่มักพบเห็นว่ามีการหลอกลวงกันก็คือ การแอบอ้างตัวเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หลอกเอาเงินแต่ไม่มีส่งสินค้าให้แต่อย่างใด
ข้อมูลจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 occ) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.2564 มีผู้บริโภคแจ้งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทั้งหมด 28,393 ครั้ง และสูงที่สุดเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ถึง 62.59%
การกระทำดังกล่าวไม่เพียงทำให้สูญเสียทรัพย์สิน แต่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิด ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กชายอายุ 14 ปีที่ติดต่อซื้อโทรศัพท์มือถือผ่านออนไลน์ในราคา 5,000 บาท แต่สุดท้าย่ไม่ได้รับสินค้า และผู้ขายก็หายตัวไป เป็นเหตุให้เด็กชายมีความเครียดสะสม จนเกิดอาการเส้นเลือกในสมองแตกจนเสียชีวิตในที่สุด (ที่มาข่าว : https://mgronline.com/local/detail/9640000093793)
จนเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการปัญหาฉ้อโกงซื้อขายสินค้าออนไลน์
การหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์มีความผิดหรือไม่ ? โทษเป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อปี 2563 ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
คดีนี้มีโจทก์ คือ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี จำเลย คือ น.ส.บูชิตา โพธิ์ทอง (จำเลยคนที่ 1) และจ่าสิบตรีวิสุทธิ์ กุลคง (จำเลยคนที่ 2) โดยโจทก์ฟ้องว่า ช่วง ธ.ค.2561 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกประชาชนทั่วไปในเขตจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยทุจริตและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้เสียหาย ผู้มีชื่อ ผู้อื่นและประชาชน
โดยจำเลยทั้งสองร่วมกัน ลงข้อมูลภาพถ่ายและข้อความโฆษณาขายเสื้อผ้าในเฟซบุ๊ก Shop by pimmada ด้วยข้อความว่า “โปรลมหนาวราคาเริ่มต้น 550 บาท เมื่อสั่งซื้อ 1 ชุด ลดทันทีเหลือชุดละ 450 บาท เท่านั้น 2 ชุด จ่ายเพียง 900 บาท” ซึ่งความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาจะขายสินค้าตามที่ลงโฆษณาไว้แต่แรก
การลงโฆษณาประกาศขายสินค้าเป็นเพียงอุบายหลอกลวงให้ประชาชนที่ได้อ่านและพบข้อความดังกล่าวหลงเชื่อติดต่อซื้อสินค้าแล้วส่งเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสอง จากนั้นจำเลยทั้งสองจะร่วมกันเอาเงินไปเป็นประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต โดยไม่มีสินค้าส่งมอบให้แก่ผู้สั่งซื้อแต่อย่างใด
ผู้เสียหายซึ่งพบข้อความหลอกลวงโฆษณาประกาศขายสินค้าประเภทเสื้อผ้าของจำเลยทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้ติดต่อซื้อเสือ้ผ้าจากจำเลย 3 ชุดในราคา 950 บาท และตกลงโอนเงิน 950 บาทไปยังธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชีของจำเลยทั้งสอง ทำให้ได้เงินจากผู้เสียหายไปโดยทุจริต ทั้งนี้จำเลยไม่ได้ส่งเสื้อผ้าให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด เหตุเกิดที่ ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้จำเลยทั้งสองคนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.233/2562 ของศาลจังหวัดสระบุรี จำเลยทั้งสองโอนเงิน 950 บาทคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 341 , 343 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 มาตรา 3, 14 นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.233/2562 ของศาลจังหวัดสระบุรี
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ให้นับโทษต่อ แต่ต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยที่ 1 ผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จำคุก 4 ปี แต่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
ต่อมาจำเลยที่ 1 อุทรณ์ โดย ศาลอุทรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จากนั้นจำเลยที่ 1 ฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นเคยพิจารณาก่อนหน้านี้ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลย มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตนด้วยการหลอกลวงประชาชนทั่วไปในลักษณะวงกว้าง โดยอาศัยการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ไม่ได้จำกัดเพียงผู้เสียหาย นับว่าเป็นภัยต่อสุจริตชนโดยทั่วไป พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจ ก็ไม่เป็นเหตุที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้
แต่โทษจำคุกที่กำหนดมานั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี เนื่องจากฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพากษาสาลอุทธรณ์ภาค 7
จากคำพิพากษาศาลในคดีที่เกี่ยวกับการหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เพื่อนำเงินผู้บริโภคไปด้วยการทุจริต ไม่ว่าจะจำนวนมากหรือน้อย ย่อมเป็นเหตุให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย และผู้กระทำผิดก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ทั้งจำคุก ปรับเงิน หรือ ทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage