“..ถ้าผู้ประกอบการรายเล็กๆ แบบเรา มีลูกน้อง 1-2 คน แล้วต้องมาเสียเงินตรงนี้ทุกอาทิตย์ ถามว่าก็เป็นต้นทุนของร้านค้าที่เพิ่มขึ้น ก็อาจจะไม่สะดวก แต่ถ้ารัฐบาลมีการสนับสนุนชุดทดสอบ ATK ที่จะให้สนับสนุนกับผู้ประกอบการรายย่อย ที่ลูกน้องไม่เกิน 3-5 คน ก็จะเป็นการดี เนื่องจาก ประกอบการรายย่อย แผงลอย ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ คือทุกอย่างเป็นต้นทุนหมด..”
----------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันเริ่มต้นข้อกำหนดฉบับที่ 32 มีการปรับมาตรการ และการกำหนดทิศทางในอีก 1 เดือนข้างหน้า มีการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการ กิจกรรมต่าง รวมถึงการเดินทางเข้าออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม 29 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ภายใต้กรอบแนวคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กรณีเปิดสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยมีมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
1.แนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (COVID Free Environment) ได้แก่ สุขอนามัยและความปลอดภัย (Clean and Safe) การเว้นระยะห่าง (Distancing) และด้านการระบายอากาศ (Ventilation) โดยร้านอาหารทุกร้านต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงและยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
- ทำความสะอาดโต๊ะทันทีหลังใช้บริการ และจัดทำสัญลักษณ์แสดงการทำความสะอาด
- ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง
- จัดอุปกรณ์กินอาหารเฉพาะบุคคล กรณีที่ต้องรับประทานหม้อหรือภาชนะเดียวกัน ต้องจัดอุปกรณ์ตักอาหารเฉพาะบุคคลเช่นเดียวกัน และต้องไม่ใช้ช้อนกลางร่วมกัน
- งดจัดบริการอาหารรูปแบบผู้บริโภคบริการตนเอง โดยเฉพาะร้านอาหารประเภทร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์/สลัดบาร์/หมูกระทะ เพราะจะทำให้คนไปรวมกัน หนาแน่น เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
- จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำทุกโต๊ะ
- เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและโต๊ะรับประทานอาหาร 1-2 เมตร หากมีพื้นที่จำกัดมีระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น ในกรณีพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศ เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ 2 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกัน
- เปิดประตู หน้าต่าง อย่างน้อย 30 นาที ก่อนเปิดและปิดระบบปรับอากาศ มีการระบายอากาศที่เหมาะสมต่อจำนวนคน สำหรับพื้นที่ปรับอากาศให้เปิดระบายอากาศในพื้นที่กินอาหารทุก 1 ชั่วโมง ในส่วนของห้องน้ำควรมีระบบระบายอากาศที่ดี
2. แนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการ (COVID Free Personal) โดยกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติ
- ฉีดวัคซีนครบโดสหรือมีประวัติการติดเชื้อ 1-3 เดือน
- มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันผ่านเว็บไซต์ 'ไทยเซฟไทย' หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด
- พร้อมจัดหา ATK ให้พนักงาน และตรวจ ATK ทุก 7 วัน
- มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน และงดการรวมกลุ่ม หรือรับประทานอาหารร่วมกัน
3. แนวปฏิบัติสำหรับผู้รับบริการ (COVID Free Customer)
- คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยเว็บไซต์ 'ไทยเซฟไทย'
- ต้องมี COVID free pass ก่อนเข้าบริการ เฉพาะร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ
- ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ทุกร้านอาหาร ต้องดำเนินการประเมินตนเองผ่านระบบ Thai Stop Covid Plus ของกรมอนามัย และติดประกาศนียบัตรด้านหน้าสถานประกอบกิจการให้ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน และมีการประเมินตนเองซ้ำ หากอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ควรประเมินซ้ำทุก 14 วัน สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ประเมินซ้ำทุก 1 เดือน รวมทั้ง ผู้ประกอบกิจการและผู้ปฏิบัติงานทุกคนในร้านอาหาร ต้องประเมินตนเองก่อนออกจากบ้านและก่อนปฏิบัติงานด้วยแอพพลิเคชั่นที่ทางราชการกำหนด เช่น 'ไทยเซฟ ไทย' เพื่อคัดกรองความเสี่ยงของตนเอง โดยจะต้องมีความเสี่ยงในระดับต่ำ และมีมาตรการควบคุม กำกับ ติดตามพนักงานภายหลังการปฏิบัติงานหรือกลับที่พักเป็นประจำทุกวัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมแล้ว ไม่อยากให้เกิดการระบาดอันเป็นเหตุที่จะต้องมาปิดล็อกดาวน์อีก จึงมีการศซักซ้อมมาตรการ Covid Free Setting เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ โดยในเดือน ก.ย.นี้ ยังไม่ใช่เป็นการบังคับใช้แต่อย่างใด แต่เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการบังคับใช้ในอนาคต ทั้งนี้จะต้องรอการพิจารณาความชัดเจนจาก ศบค.อีกครั้ง
ผู้ประกอบการรับผิดชอบค่าตรวจเอง
สำหรับการตรวจ ATK ในกลุ่มพนักงานในร้านอาหาร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการดำเนินการในกรณีของการตรวจ ATK ในร้านอาหาร โดยทางเจ้าของร้านอาหารจะต้องจัดเตรียม และจัดหา ATK ให้พนักงาน ทำการตรวจทุก 7 วัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการวางแผนการสุ่มเฝ้าระวังร้านอาหารโดยใช้ชุดทดสอบ ATK โดยวางแผนในการสุ่มประเมินร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า เนื่องจากว่าเป็นการประกอบกิจการ ค่าใช้จ่ายชุดทดสอบ ATK ร้านจะเป็นคนดูแลในส่วนของบุคลาการและพนักงาน โดยช่วงต้นของการดำเนินการ ชุดทดสอบ ATK อาจจะยังไม่เข้ามา และยังไม่มีกาแข่งขันเท่าที่ควร ทำให้ยังมีราคาสูงอยู่ แต่เชื่อว่าต่อไปในอีกสักระยะ ราคาชุดทดสอบจะลดลง ตอนนี้มีผู้ประกอบการบางรายนำเข้ามาแล้ว โดยราคาประมาณ 70 กว่าบาท/ชุด
“สำหรับความถี่การตรวจหาเชื้อ ในเดือน ก.ย.นี้ ไม่ได้บังคับ แต่ในอนาคต จะมีการจำแนกตามความเสี่ยงของกิจการ เช่น กิจการที่ผู้ให้บริการและลูกค้า แทบจะไม่ถอดหน้ากากเลย ไม่ได้มีการพูดคุยกันมาก ก็อาจจะพิจารณาลดหลั่นกันไป”
เร่งจัดสรรวัคซีนผ่านสมาคมร้านค้าต่างๆ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงการฉีดวัคซีนว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหาร เข้ามาฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยประสานงานกับสมาคมภัตตาคารไทย และ กทม. ทำการสำรวจข้อมูลของผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนให้ทันท่วงที เพื่อรองรับดำเนินการตามมาตรการ
เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะบังคับใช้ในอนาคตสำหรับในพื้นที่เสี่ยง (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) ประกอบกับการเร่งรัดดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เพื่อรองรับมาตรการสำหรับผู้รับบริการในการนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ หรือในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ขณะนี้ การฉีดวัคซีนในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งหมด 37,461,284 โดส ในกลุ่มของสมาคมภัตตาคารร้านอาหาร ได้มีการฉีดไปแล้ว จำนวน 8,000 คน ยังคงเหลือ อีก จำนวน 15,000 คน ที่ต้องเร่งฉีดให้ครอบคลุม โดยเร็วที่สุด
"สำหรับการฉีดวัคซีนของพนักงาน หากยังไม่ได้รับวัคซีน ให้รีบแจ้งผ่านสมาคม ชมรมของกิจการนั้นๆ เพื่อความปลอดภัย และะเป็นผลดีต่อทั้งร้านค้าและลูกค้า"
ชุดตรวจโควิดแพง ภาระของร้านค้า
น.ส.อรุณพร พงษ์สนิท ร้านลุงน้อยโภชนา เจ้าเก่าสวนอ้อย กล่าวว่า ทางร้านได้มีการเตรียมความพร้อมตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดตั้งแต่แรกแล้ว เช่น มีจุดวัดอุณหภูมิ มีบริหารเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่โต๊ะ เว้นระยะห่าง แต่ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการก็น้อยมาก วันละไม่เกิน 10 โต๊ะ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการซื้อกลับนำกลับไปรับประทานเองมากกว่า
น.ส.อรุณพร กล่าวถึงมาตรการ Covid Free Setting ว่า ทางร้านพร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานและการตรวจหาเชื้อด้วยชุดทดสอบ ATK แต่ภาครัฐควรให้การสนับสนุน เนื่องจากทุกวันนี้ ราคาชุดทดสอบค่อนข้างสูง
"ชุด ATK ปกติที่ซื้อราคา 250 บาท มีพนักงาน 5 คน ถ้าจะตรวจ ก็ต้องตรวจรวมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย รวมต้องใช้ทั้งหมด 10 ชิ้น ค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ที่ 2,500 บาท/สัปดาห์ และเดือนละ 5,000 บาท ถ้าหากรัฐไม่ช่วยให้ราคาถูกลงกว่านี้ ภาระจะตกอยู่ที่ประชาชน"
น.ส.อรุณพร กล่าวอีกว่า แต่ถ้าประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ราคาไม่เกินร้อยบาท เชื่อว่าทางร้านค้าส่วนใหญ่ ก็จะใช้ความร่วมมือ เพราะในแง่ของความปลอดภัย ทางร้านก็ปลอดภัย และลูกค้าก็มั่นใจด้วยเช่นกัน ส่วนการแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนหรือการตรวจหาเชื้อของลูกค้า คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะเป็นการขอความร่วมมือ อีกทั้งยังทำให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย ระหว่างร้านค้าและลูกค้าด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไร ตนคิดว่าก็ยังคงต้องรักษาระยะห่างต่อไป เนื่องจากยังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้อยู่
"เนื่องจากร้านตั้งอยู่ใกล้สถานที่ราชการและโรงพยาบาล ลูกค้าส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และได้รับเข็มที่ 3 แล้ว แต่ข้อกังวลคือร้านค้ารอบๆ ส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ววัคซีนเท่าไหร่ เพราะวัคซีนยังไม่มา และไม่ทั่วถึง"
ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ทุกอย่างคือต้นทุน
นายสิริชัย จันตรี เจ้าของร้าน Steve Brown Coffee กล่าวว่า เมื่อดูตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด เช่น การทำความสะอาดเป็นประจำทุก 30 นาที มีบริการจุดล้างมือ ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจาเป็นมาตรการที่ร้านดำเนินการอยู่แล้ว
แต่ในส่วนของการบังคับฉีดวัคซีนสำหรับพนักงานนั้น เนื่องจากการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย และคนใน กทม.ยังไม่ทั่วถึง จำนวนที่ฉีดได้ยังถือว่าน้อยอยู่ โดยส่วนตนเอง ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม และกำหนดฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ซึ่งหากมาตรการเริ่มบัคงคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ก็จะไม่ทัน และพนักงานในร้านเอง ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยสักเข็ม
"โชคดีที่ได้รับข่าวสารในเฟซบุ๊ก ที่มีชมรมของร้านค้าเปิดรับลงทะเบียนการฉีดวัคซีน พอไปลงทะเบียนเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ได้รับกำหนดการฉีดวันที่ 10 ก.ย. ซึ่งค่อนข้างฉุกระหุก เร็วเกินไป ไม่สะดวก ทำให้ลูกน้องไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันที่จะไปฉีดได้"
นายสิริชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการตรวจหาเชื้อด้วยชุดทดสอบ ATK ทุกๆ 7 วัน จะเป็นภาระของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งราคาของชุดตรวจประมาณ 2-3 ร้อยบาทต่อชุด แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจจะมีแหล่งเงินทุนสนับสนุน ทำให้ไม่กระทบมากนัก
"ถ้าผู้ประกอบการรายเล็กๆ แบบเรา มีลูกน้อง 1-2 คน แล้วต้องมาเสียเงินตรงนี้ทุกอาทิตย์ ถามว่าก็เป็นต้นทุนของร้านค้าที่เพิ่มขึ้น ก็อาจจะไม่สะดวก แต่ถ้ารัฐบาลมีการสนับสนุนชุดทดสอบ ATK ที่จะให้สนับสนุนกับผู้ประกอบการรายย่อย ที่ลูกน้องไม่เกิน 3-5 คน ก็จะเป็นการดี เนื่องจาก ประกอบการรายย่อย แผงลอย ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ คือทุกอย่างเป็นต้นทุนหมด"
ส่วนมาตรการการแสดงเอกสารรับรองฯ ของลูกค้า นายสิริชัย กล่าวว่า เนื่องจากทางร้านเป็นงานบริการ ลูกค้าก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร้าน ทำให้เสียโอกาสทางการค้าแน่นอน เพราะไม่สามารถไปบังคับลูกค้าได้ โดยภาพรวมที่ยังมีความไม่พร้อมในหลายๆด้าน แต่รัฐบาลออกนโยบาย เพื่อมาตรการเป็นการป้องปราม และเป็นการโยนภาระให้ผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า
ผู้ประกอบการพร้อมร่วมมือ แต่วัคซีนไม่พร้อม
น.ส.ธารทิพย์ ราชนิล เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ตรอก-เตี๋ยว กล่าวว่า หลังจากการผ่อนคลายมาตรการให้นั่งรับประทานที่ร้านได้ ลูกค้าก็เยอะขึ้น อีกทั้งที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยว คนส่วนใหญ่อยากนั่งทานที่ร้านอยู่แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการจัดโต๊ะที่ยังคงต้องเว้นระยะห่าง จึงทำให้รับลูกค้าได้เพียงแค่จำนวนจำกัด
น.ส.ธารทิพย์ กล่าวถึงการเตรียมการรับมาตรการ Covid Free Setting ว่า ทางร้านได้พยายามหาวัคซีนให้พนักงานในร้านทุกคน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ที่ทำบริษัทที่ยังพอมีโควต้าเหลือ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการเช่นเดียวกัน เนื่องจากทางร้านต้องจัดหาวัคซีนเอง โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
น.ส.ธารทิพย์ เปิดเผยว่า ตนเคยติดต่อไปปรึกษากระทรวงแรงงานในเรื่องการจัดหาวัคซีนให้กับพนังงานต่างด้าว แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้รอไปก่อน จนกว่าจะมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งสะท้อนกลับไปยังนโยบาย Covid Free Setting ว่า ก่อนจะออกมาตรการอะไร ก็ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ จัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรทำก่อนหลัง ก่อนที่จะมาผลักภาระให้ผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับความเสียหายมามากแล้ว
"ในส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อในเมื่อเป็นนโยบายรัฐ รัฐก็ควรสนับสนุนตรงจุดนี้ไม่ใช่หรือ ทำไมถึงต้องผลักภาระให้ประชาชนเพื่อสนองนโยบายตัวเอง"
น.ส.ธารทิพย์ กล่าวถึงมาตรการแสดงเอกสารรับรองฯ ของลูกค้า ว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยได้เบื้องต้น แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้ ถ้าจะทำ ก็ต้องทำให้เท่าเทียมกันทุกห้างร้าน หรือร้านค้าทุกประเภท เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ แทบจะ 100% เฝ้าระวังป้องกันตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนกลัวการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ทำให้เกิดคำถามว่า ตอนนี้ภาคประชาชนดูแลป้องกันได้ดีมากแล้ว น่าจะเหลือแต่ภาครัฐที่ต้องถามตัวเองว่าทำหน้าที่ตัวเองได้ดีพอแล้วหรือไม่?
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการรายย่อยที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการ Covid Free Setting ที่ภาครัฐอาจจะปรับมาบังคับใช้ในอนาคต
อ่านประกอบ:
ภาพประกอบจาก: bbc.com
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage