"...การบริจาควัคซีนส่วนเกินนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีประเด็นต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวกับ อาทิ ความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีน ความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ความต้องการการใช้วัคซีนในหลายประเทศที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน รวมไปถึงประเด็นความกังวลว่าวัคซีนที่ผลิตในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 มีจำนวนมากและกำลังจะหมดอายุ ทุกอย่างนั้นล้วนกลายเป็นอุปสรรคในด้านการบริจาควัคซีนส่วนเกินที่กำลังเกิดขึ้น.."
....................
สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ ดูเหมือนว่าประเด็นการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและทันเวลาต่อการป้องกันการแพร่ระบาด กำลังเรื่องใหญ่ที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ดี การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลกนั้น อาจจะกลายเป็นเรื่องยากและที่ต้องใช้เวลายาวนาน และยังส่อว่าจะมีปัญหาด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย
ล่าสุด วารสารการแพทย์ บีเอ็มเจของประเทศอังกฤษ ได้รายงานปัญหาการกักตุนวัคซีนและปัญหาอื่น ๆ ที่กำลังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายวัคซีน รวมไปถึงวัคซีนส่วนเกินจำนวนมากที่มีแนวโน้มว่ากำลังจะหมดอายุ หลังจากที่มีการอนุมัติฉุกเฉินไปก่อนหน้านี้
รายงานชิ้นนี้ มีหัวข้อว่า "โลกได้ (ไม่) จัดการกับปัญหาวัคซีนส่วนเกินและหมดอายุอย่างไร"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
ประเทศร่ำรวยหลายประเทศ รวมถึงประเทศอังกฤษ ได้มีการจัดหาวัคซีนเอาไว้เป็นจำนวนนับหลายร้อยล้านโดส และยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนดังกล่าวแล้ว
นี่จึงกลายเป็นข้อครหาสำคัญว่าเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ขณะที่ ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีวัคซีนที่ไม่ใช้งานอยู่ถึง 26 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนจำนวนนี้นั้นเพียงพอที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนกว่า 13.1 ล้านคน โดยวัคซีนดังกล่าวนั้นก็รวมถึงไปวัคซีนไฟเซอร์ที่หมดอายุไปแล้ว ในวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาด้วย
“เรากำลังจมน้ำตายกับสิ่งนี้ ” พ.อ.โรเบิร์ต อะทอร์ นายทหารเกษียณอายุของสหรัฐฯที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการแจกจ่ายวัคซีนในรัฐอาร์คันซอกล่าวกับสำนักข่าว Stat ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศอย่างแคนาดา เยอรมนี อิสราเอล ลิทัวเนีย โปแลนด์ และโรมาเนียเอง ก็ต้องทิ้งวัคซีนไปเหมือนกันเพราะว่าหมดอายุไปแล้ว
ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญกับปัญหาคล้าย ๆ กัน หลังจากในช่วงปลายเดือน ก.ค. มีรายงานว่า วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาจำนวนกว่า 170,000 โดสนั้น เสี่ยงที่จะหมดอายุในชั่วข้ามคืน และอาจจะต้องทิ้งวัคซีนโมเดอร์นาและวัคซีนจากไฟเซอร์อีกกว่านับพันโดส
ขณะที่บริษัทวิเคราะห์ Airfinity ของประเทศอังกฤษ มีการรายงานว่าปัญหาดังกล่าวดูท่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่ผ่านมาอังกฤษ มีการจัดซื้อวัคซีนไปแล้วและคาดว่าจะมีการจัดส่งเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 467 ล้านโดส ซึ่งรูปแบบการสั่งดังกล่าวนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศที่มีรายได้สูงทุกประเทศ
โดยนางแคโรไลน์ เคซีย์ นักวิเคราะห์ของบริษัท Airfinity กล่าวว่า การสั่งวัคซีนของประเทศอังกฤษนั้นเป็นการสั่งก่อนที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติ
เท่ากับว่า ณ เวลานี้ อังกฤษมีจำนวนวัคซีนแล้วมากกว่า 7 โดสต่อประชาชน 1 คน
“นี่หมายความว่ารัฐบาลอังกฤษจะมีวัคซีนส่วนเกินกว่าประชากรของตัวเอง 219 ล้านโดสในช่วงสิ้นปี 2564 ถ้าหากสันนิษฐานว่าจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่มีช่วงอายุ 16 ปี นั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้วประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ไปแล้วนับตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ย.2564 ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะบริจาควัคซีนส่วนเกินไปแล้วจำนวน 30 ล้านโดส ก็ยังคงมีวัคซีนส่วนเกินอีกประมาณ 189 ล้านโดส โดยถ้าหากเป็นไปตามอัตรานี้นั้น ภายในสิ้นปี 2565 ประเทศอังกฤษก็จะมีวัคซีนส่วนเกินสูงถึง 421 ล้านโดส” นางเคซีย์กล่าว
10 อันดับประเทศที่สั่งวัคซีนมาเกินจำนวนประชากรมากที่สุด พร้อมกับชนิดของวัคซีน
@ความยากลำบากเรื่องการบริจาค
อย่างไรก็ตาม การบริจาควัคซีนส่วนเกินนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีประเด็นต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวกับ อาทิ ความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีน ความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ความต้องการการใช้วัคซีนในหลายประเทศที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน รวมไปถึงประเด็นความกังวลว่าวัคซีนที่ผลิตในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 มีจำนวนมากและกำลังจะหมดอายุ
ทุกอย่างนั้นล้วนกลายเป็นอุปสรรคในด้านการบริจาควัคซีนส่วนเกินที่กำลังเกิดขึ้น
ปัญหา วัคซีนไฟเซอร์,วัคซีนโมเดอร์นา,วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า,วัคซีนแจนเซ่น หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนที่อยู่ในตลาด จากการอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน
นพ.จิโน มาร์ตินี่ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันรอยัลฟาร์มาซูติคัลโซไซตี้ (Royal Pharmaceutical Society) ยืนยันว่า นี่คือผลกระทบอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่ต้องมีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ก็มีรายงานว่าผู้ที่ผลิตวัคซีนนั้นกำลังที่จะพิจารณาเรื่องการขยายเวลาเก็บรักษาของวัคซีนออกไปให้นานขึ้นอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี
แต่การหารือดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้วัคซีนส่วนเกินที่มีจำนวนนับร้อยล้านโดสที่ถูกซื้อไปแล้วสามารถแจกจ่ายได้ภายในระยะเวลาก่อนที่วัคซีนนั้นจะหมดอายุการเก็บรักษา
@โศกนาฎกรมในระดับนานาชาติ
ปัญหาเรื่องวัคซีนจะหมดอายุนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายการบริจาคจากประเทศร่ำรวยไปยังโครงการโคแวกซ์ในการที่จะดำเนินการจัดสรรวัคซีนให้มีความเท่าเทียมกันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางที่มีความต้องการวัคซีนสูง
พญ.อาโยเอด อลาคิจา (Ayoade Alakija) ประธานร่วมของพันธมิตรการจัดส่งวัคซีนของสหภาพแอฟริกา ได้กล่าวว่าการบริจาควัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุนั้นทำให้คนมองโครงการโคแวกซ์ด้วยความสงสัยว่าเป็นการให้ของเหลือให้กับผู้ที่ต้องการ
ซึ่งตัวอย่างของปัญหาก็มีให้เห็นแล้วเมื่อบางประเทศปฏิเสธหรือว่าไม่สนใจวัคซีนที่ถูกเสนอโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แม้ว่าประเทศนั้นจะมีความต้องการวัคซีนอย่างยิ่งยวดก็ตาม เนื่องจากว่าวัคซีนที่ได้รับมานั้นกำลังจะหมดอายุ อาทิ ในเดือน มี.ค. ประเทศมาลาวี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในโลกต้องเผาทำลายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นจำนวนกว่า 20,000 โดส เพราะวัคซีนเหล่านี้จะหมดอายุในวันที่ 13 เม.ย.
ข่าวการเผาทำลายวัคซีนของประเทศมาลาวี
ส่วนที่ประเทศซูดานใต้ ก็ต้องมีการทิ้งวัคซีนจำนวน 59,000 โดสด้วยเหตุผลเดียวกัน ขณะที่ประเทศแอฟริกาใต้ก็มีการร้องขอไปยังสถาบันเซรุ่มของประเทศอินเดียในการสับเปลี่ยนวัคซีนจำนวนกว่า 1 ล้านโดสที่ถูกจัดส่งเมื่อเดือน เม.ย. เพราะวัคซีนนั้นจะหมดอายุในวันที่ 13 เม.ย.
อนึ่งประเด็นเรื่องวัคซีนหมดอายุนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีประเทศร่ำรวยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศนั้นใช้วัคซีนแบบ mRNA
ยกตัวอย่างเช่นกรณีชาวนิวยอร์กจำนวนกว่า 899 ราย ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสที่ 2 ในตอนต้นเดือน มิ.ย. แต่ปรากฏข้อมูลในภายหลังว่าวัคซีนเหล่านั้นหมดอายุไปแล้ว จึงทำให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดเรียกร้องการฉีดวัคซีนโดสที่ 3
“เมื่อคุณฉีดวัคซีนหมดอายุ ก็ไม่มีอะไรที่รับรองความอยู่รอดของวัคซีน mRNA และอนุภาคนาโนก่อนที่จะถูกส่งไปยังเซลล์ของร่างกายของเรา” นพ.บรูซ วาล ลี ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและการจัดการด้านสุขภาพที่มหาวิทยาลัยซิตี้ของนครนิวยอร์กกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีหลักฐานเช่นกันว่าหลังจากวันหมดอายุไปแล้ววัคซีน mRNA และวัคซีนชนิดอื่นนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน
ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศอังกฤษหรือว่า MHRA ได้ออกมาระบุว่า ยังไม่มีผู้ผลิตวัคซีนรายใดพยายามที่จะขยายขอบเขตการใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินในประเทศอังกฤษ
ปัญหาวัคซีนหมดอายุที่สหรัฐอเมริกา (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวเอบีซี)
“ในกรณีการอนุมัติทางการตลาดนั้น ถ้าหากผู้ยื่นคำขอต้องการที่จะให้มีการอนุมัติการขยายเวลาการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ก็ต้องมีการส่งข้อมูลสนับสนุนมาและทาง MHRA ก็ต้องมีการอนุมัติข้อมูลนี้” โฆษกของ MHRA ให้สัมภาษณ์กับทางวารสารบีเอ็มเจ
พร้อมทั้งกล่าวต่อว่าการอนุมัติการขยายเวลานั้นจะต้องมีการตรวจสอบความเสถียรของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ใดที่มีขีดความสามารถในการทดสอบนั้นก็สามารถที่จะทำตรงนี้ได้ ส่วนความรับผิดชอบในการรวบรวมและการส่งข้อมูลความเสถียรของผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือสิทธิ์อนุมัติทางการตลาด
ขณะที่องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres - MSF) ระบุว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อขยายเวลาการใช้งานผลิตภัณฑ์วัคซีนที่ใช้งานอย่างฉุกเฉินนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้เวลา
แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำครั้งใหญ่ในเรื่องการเข้าถึงวัคซีน
“เพื่อที่จะขยายเวลาการเก็บรักษา ผู้ผลิตวัคซีนมีความจำเป็นที่จะต้องส่งข้อมูลความเสถียรวัคซีนตามช่วงเวลาจริงเพิ่มเติมไปยังผู้ที่อำนาจ” พญ.ไมเรียม เฮนเคนส์ (Myriam Henkens) ผู้ประสานงาน MSF กล่าว
และว่า “เมื่อได้รับการยอมรับ ผู้ผลิตวัคซีนมีความจำเป็นต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับฉลากของวัคซีน กล่องและข้อมูลที่จะใช้ในแผ่นพับของวัคซีน ซึ่งเราก็ต้องคาดหวังว่าผู้ผลิตวัคซีนจะดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาวัคซีน”
ส่วน พญ.อแมนด้า ฮาร์วีย์-เดฮาเย (Amanda Harvey-Dehaye) หัวหน้าทีมงานของ MSF ที่ทำหน้าที่ในการเร่งประเมินวัคซีนของ WHO กล่าวว่า “เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความเสี่ยงของวัคซีนนับพันโดสที่ถูกทำลาย มันกลายเป็นเรื่องที่น่าขายหน้าอย่างยิ่งที่เรามีข้อมูลความเสถียรของวัคซีนที่มาจากผู้ผลิตวัคซีนน้อยมาก และผลก็คือความพยายามที่จะขยายอายุการเก็บวัคซีน ณ เวลานี้ ซึ่งประเด็นเรื่องวันหมดอายุของวัคซีนนั้นได้กลายเป็นแรงกดดันอย่างยิ่งสำหรับโครงการฉีดวัคซีน ที่ ณ เวลานี้ก็ถูกท้าทายอยู่แล้ว”
@ประเด็นเรื่องการจัดการวัคซีน
มีบางประเทศที่มีการอนุมัติวัคซีนที่หมดอายุให้มีการขยายอายุต่อไป อาทิ หน่วยงานด้านสุขภาพของประเทศแคนาดา ได้มีการขยายเวลาการใช้งานวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนนับแสนโดสออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งจากข้อมูลของทางรัฐออนแทรีโอนั้นพบว่าวัคซีนลอตนี้จะหมดอายุในวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีแถลงการณ์จากนายแพตตี้ ฮัจดูรัฐมนตรีสาธารณสุขประจำรัฐระบุว่า มีข้อมูลความเสถียรภาพชุดใหม่พบว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลคุณภาพวัคซีนแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน กรณีวัคซีนแจนเซ่นซึ่งมีอายุการเก็บรักษาประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่มีการอนุมัติเมื่อเดือน ก.พ. 2564 ก็พบว่ามีการขยายเวลาการใช้งานออกไปอีก 6 สัปดาห์ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดยผู้ที่ให้การอนุมัติก็คือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือเอฟดีเอ ที่ได้อนุมัติขยายวันใช้งานไปจนถึงวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา
แต่ก็มีบางกรณีที่คำขออนุมัติขยายวัคซีนนั้นถูกปฏิเสธ เช่น กรณีวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ซึ่งปฏิเสธคำขอของรัฐบาลอิสราเอลในการขยายเวลาวันหมดอายุของวัคซีนจำนวนกว่า 1 ล้านโดส ที่หมดอายุเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าการฉีดวัคซีนหลังจากวันหมดอายุนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ และนั้นจึงเป็นเหตุผลทำให้เกิดข้อตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีนไฟเซอร์กับประเทศเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา
ขณะที่ สำนักข่าว Stat ได้รายงานเพิ่มเช่นกันว่าปัญหาเรื่องระบบราชการนั้นยังกลายเป็นอีกอุปสรรคสำหรับประเทศร่ำรวยที่จะแจกจ่ายวัคซีนคงเหลือไปยังประเทศอื่น ๆ
ซึ่งในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอริโซน่ามีความต้องการที่จะส่งวัคซีนที่เหลือจำนวนกว่า 1 แสนโดสไปยังคลินิกเคลื่อนที่ที่ประเทศเม็กซิโก แต่ก็ถูกปฏิเสธจากทางรัฐบาลสหรัฐฯ เอง ด้วยข้ออ้างจากอุปสรรคด้านการขนส่ง
สำนักข่าว Stat ยังรายงานด้วยว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ถือเป็นเจ้าของวัคซีนแห่งนี้และมีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าจะไม่ให้รัฐต่าง ๆ ได้ดำเนินการแจกวัคซีนซ้ำ ในขณะเดียวกันทางกลุ่มพันธมิตรการจัดส่งวัคซีนของสหภาพแอฟริกาก็ได้แสดงกังวลว่าวัคซีนอาจจะถูกเร่งแจกจ่ายไปยังหลายประเทศที่ไม่มีการดำเนินการที่ดีพอ
นางเคซีย์ จากบริษัท Airfinity ยืนยันว่า หนทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือในกระบวนการบริจาคนั้นประเทศผู้บริจาคและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าในการบริจาควัคซีนเพื่อจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ประเทศยากจนจะถูกทำให้ท่วมไปด้วยปริมาณวัคซีนจำนวนมาก
“เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใด ๆ ก่อนที่จะได้รับวัคซีนจำนวนมากกว่าประชากรของตนถึง 4 เท่าที่จะสามารถบริหารได้ ซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริงโดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอและมีความจุที่จำกัด” นางเคซีย์กล่าว
เรียบเรียงจาก: https://www.bmj.com/content/374/bmj.n2062
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/