"..การสอบปากคำผู้ต้องหา แม้ว่ากฎหมายจะไม่บังคับให้ผู้ต้องหาให้การก็ตาม แต่มีหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาดังกล่าวในชั้นสอบสวน ในมาตรา 135 ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ ประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น ซึ่งหมายความว่า หากผู้ต้องหาจะให้การอย่างใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับสารภาพหรือภาคเสธ ต้องเกิดจากความสมัครใจของผู้ต้องหานั้น..."
............................
กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผกก.โจ้ พร้อมพวก ถูกสอบสวนเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหาค้ายาเสพติด 2 ล้านบาท และใช้ถุงดำคลุมหัวทำร้ายผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สร้างความสั่นสะเทือนวงการตำรวจไทย และบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของคนในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะเมื่อปรากฏคลิปหลักฐานสำคัญ บันทึกเหตการณ์กรณีนี้ต่อสาธารณชน ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้ กำลังใช้กำลัง ข่มขู่ เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ บอกข้อมูลตามที่ตนเองต้องการ อย่างชัดเจน
"กูจะให้โอกาสมึงเป็นครั้งสุดท้าย บอกมาดีๆ ว่าของอยู่ไหน"
ล่าสุด พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งให้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตา ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนปากคำ และคงจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ หากพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับ กำลังใช้กำลัง ข่มขู่ ให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อวัตถุประสงค์นำข้อมูลไปใช้ประกอบในการทำคดี หรือ การเรียกรับผลประโยชน์แอบแฝง ในเชิงข้อกฎหมาย จะพบว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่คนในสังคมไทย ควรรับรู้ไว้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลงานวิจัย วารสารด้านกฎหมาย มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ สอบสวนให้ได้ความจริงอย่างเป็นธรรม
ศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยนำเสนอบทความเรื่องการสอบสวนให้ได้ความจริงอย่างเป็นธรรมต่อสาธารณชนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
เมื่อเกิดความผิดอาญาขึ้น เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมและศาลจะมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร รวมถึงพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ หรือพยานที่รวบรวมได้ทางเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อมาประกอบในการค้นหาความจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานที่มีบทบาทสำคัญมากและถือเป็นต้นทางแห่งกระบวนการคือ ตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งการสืบสวน และสอบสวนคดีอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดให้มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานและการสอบสวนเพิ่มเติมหลังจากที่พนักงานอัยการพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นว่ายังมีประเด็นที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะส่งมาให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนแล้วส่งกลับไปที่พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีต่อไป
ในการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน กล่าวได้ว่า เป็นหน้าที่หลักของพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา ซึ่งดำเนินการโดยพนักงานอัยการได้อย่างมีคุณภาพและเพียงพอต่อการวินิจฉัยคดี ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของการสอบสวนจึงไม่ใช่การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ความว่าผู้ต้องหากระทำความผิด แต่รวมถึงพยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดด้วย เพื่อให้พนักงานอัยการ หรือศาลได้วินิจฉัยจากพยานทั้งสองด้านแล้วจึงมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ หรือมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ได้กระทำความผิด การรวบรวมพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหานี้มีบทบัญญัติในมาตรา 131 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับ ในมาตรา 133 วรรคสาม ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนตักเตือน พูดให้ท้อใจ หรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำ ซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้เพื่อให้พยานให้การด้วยความสมัครใจ อันจะนำมาซึ่งความจริงตามที่พยานรู้เห็น นอกจากนี้การสอบปากคำผู้ต้องหา แม้ว่ากฎหมายจะไม่บังคับให้ผู้ต้องหาให้การก็ตาม แต่มีหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาดังกล่าวในชั้นสอบสวน ในมาตรา 135 ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ ประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น ซึ่งหมายความว่า หากผู้ต้องหาจะให้การอย่างใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับสารภาพหรือภาคเสธ ต้องเกิดจากความสมัครใจของผู้ต้องหานั้น
ในทางปฏิบัติของการสอบปากคำผู้ต้องหา หรือพยานในคดีอาญา บางครั้งเกิดปัญหาว่าผู้เสียหายได้รับการสอบปากคำอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากคำถามของพนักงานสอบสวนบางท่านที่ไม่เข้าใจความรู้สึกหรือผลกระทบต่อจิตใจผู้เสียหายที่ถูกประทุษร้ายด้านร่างกายหรือจิตใจ หรือในความผิดเกี่ยวกับเพศ จึงทำให้มีคำถามบางคำถามที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจผู้เสียหาย หรือเป็นคำถามที่ถามเพราะมองว่าผู้เสียหายมีส่วนยินยอมหรือนำความเท็จมาแจ้ง เป็นต้น
ซึ่งวิธีการถามดังกล่าวจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของผู้เสียหายโดยเฉพาะในคดีทำร้ายร่างกายหรือความผิดเกี่ยวกับเพศ ผลของการมาร้องทุกข์หรือให้การจึงทำให้ผู้เสียหายถูกประทุษร้ายซ้ำจากคำถามในระหว่างการสอบสวน โดยผู้สอบสวนเองก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่เกิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความไม่รู้ถึงผลกระทบต่อจิตใจของผู้เสียหายในบางคดี
ในทางตรงกันข้าม การสอบปากคำผู้ต้องหาซึ่งกฎหมายให้สิทธิที่จะไม่ให้การ แม้ว่าผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธในการสอบปากคำ แต่มีหลายๆ กรณีที่พนักงานสอบสวนรู้สึกว่าหากเรียกมาสอบปากคำอีก ผู้ต้องหาอาจเปลี่ยนใจ หรือมีเทคนิกในการทำให้ผู้ต้องหาให้การ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการที่จะเป็นการบังคับ ขู่เข็ญหรือทรมานให้รับสารภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกมาสอบในเวลากลางคืน หรือเรียกมาสอบทุกๆ สองชั่วโมง เป็นต้น อย่างไรก็ดี คำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นเพียงพยานหลักฐานหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดีผิดตัว ไม่ใช่แพะในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเมื่อได้คำรับสารภาพแล้วก็จะพาผู้ต้องหาไปขยายผลหรือนำไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม อันทำให้ลดเวลาในการแสวงหาพยานหลักฐานในคดีนั้น แต่หมิ่นเหม่ต่อการที่จำเลยจะต่อสู้ในศาลว่าเป็นคำให้การที่ขัดต่อมาตรา 135 เพราะถูกบังคับให้รับสารภาพ หรือ ถูกทรมาน และหากไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบเพื่อยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลจะยกฟ้องจำเลย
การพัฒนางานสอบสวนของต่างประเทศ เช่น ตำรวจนอร์เวย์ ตำรวจอังกฤษ ได้เพิ่มเทคนิคการสอบปากคำผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายหรือพยาน เพื่อให้ได้ความจริงและให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของผู้ให้ปากคำ โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานสอบสวนในการสอบปากคำ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ได้ความจริง ตามลำดับของเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ให้ถ้อยคำตอบตามลำดับ และมีคำถามที่ตรวจสอบถึงความน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อของคำตอบของพยานหรือผู้ต้องหา รวมถึงเทคนิคที่ทำให้พยานหรือผู้ต้องหาให้การ โดยไม่ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม แต่ไม่ถึงเป็นการบังคับหรือทรมาน การเปลี่ยนตามแนวทางปฏิบัติที่กล่าวข้างต้น เปลี่ยนกรอบความคิดจากพยานต้องตอบคำถาม ตามคำถามที่พนักงานสอบสวนถาม มาเป็นเตรียมข้อมูลหรือพยานหลักฐานแวดล้อมของคดีไม่ว่าจะเป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ พยานวัตถุ พยานเอกสาร ให้พร้อมก่อน และพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบและเตรียมพยานเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะสอบปากคำพยานหรือผู้ต้องหา
โดยมีพื้นฐานว่า แม้พยานหลักฐานแสดงออกชัดว่าผู้ต้องหา เป็นผู้กระทำความผิด แต่อาจมีบางอย่างที่ทำให้เป็นอย่างอื่นได้ เช่นเป็นการทำโดยป้องกัน หรือ จำเป็น หรือเป็นการจับผิดตัว ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ พนักงานสอบสวนจะได้จากผู้ต้องหาที่จะให้การ การสอบปากคำพยานฝ่ายผู้ต้องหาหรือตัวผู้ต้องหาเอง จะทำให้ได้ข้อมูลเหล่านี้ ในทางกลับกันหากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่พนักงานสอบสวนได้นำเสนอพยานที่รวบรวมมาได้ ให้ผู้ต้องหาหรือทนายความที่นั่งฟังอยู่ด้วยทราบ ผู้ต้องหาอาจให้การรับสารภาพด้วยความเต็มใจ
(อ้างอิงที่มาจาก https://siamrath.co.th/n/43828)
@ สิทธิของผู้ถูกจับกุม
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เคยเขียนบทความในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ฉบับที่ 2 ตุลาคม2548-2549 (https://www.ombudsman.go.th/ombstudies/download/Journals/7-13.pdf) เกี่ยวกับเรื่องการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม ไว้ว่า การแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 บัญญัติว่า “ในการจับนั้นเจ้าพนักงานหรือราษฎร ซึ่งทําการจับ ต้องแจ้งแก่ผู้จะถูกจับนั้นว่าเขาต้อง ถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อม ด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนําไปที่ทําการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นําไปที่ทําการพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจําเป็นก็ให้จับตัวไป
ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับต้องแสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะ ไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคําของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือ ผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ ทราบถึงการจับกุมที่สามารถดําเนินการได้โดยสะดวก และไม่เป็นการขัดขวาง การจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทําให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดําเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับไว้ด้วย
ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับ ขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับหรือหลบหนี หรือพยายาม จะหลบหนี ผู้ทําการจับ มีอํานาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่ พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น”
โดยสรุปกฎหมายกําหนดให้ผู้จับต้องแจ้งสิทธิดังต่อไปนี้ แก่ผู้ถูกจับ คือ
1. มีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคําของผู้ถูกจับ อาจใช้เป็น พยาน หลักฐาน ในการพิจารณาคดีได้
2. มีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ
3. แจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม
ตามข้อ 1 และ 2 กฎหมายบังคับเด็ดขาดต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกจับ ส่วนข้อ 3 มีเงื่อนไขประกอบจะต้องแจ้งสิทธิเช่นว่านี้ ก็ต่อเมื่อสามารถดําเนินการได้โดย สะดวก และไม่เป็น การขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทําให้เกิดความ ไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยการแจ้งสิทธิดังกล่าวนี้ จะต้องแจ้งและบันทึก ไว้ในบันทึกการจับด้วย
แล้วถ้าผู้จับไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ระบุว่า ตอบได้เป็น 2 แนวทางด้วย แนวทางแรกเมื่อกฎหมายกําหนดให้เจ้าพนักงาน ต้องปฏิบัติ แล้วไม่ยอมปฏิบัติก็คงจะมีคําตอบอยู่ในตัวแล้ว ส่วนแนวทางที่สอง จะทําให้พยานหลักฐานเสียไปรับฟังไม่ได้
@ การต่อรองคํารับสารภาพ
เกี่ยวกับประเด็นนี้ อาจารย์ สาลิณี สายเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยนำเสนอบทความในชื่อเรื่องว่า ความเป็นธรรมในคดีอาญาต่อรองได้จริงหรือ? ในวารสารนิติสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ระบุข้อมูลสำคัญไว้ดังนี้ การต่อรองข้อกล่าวหานั้น เป็นการที่ฝ่ายจําเลยโดยผ่านทางทนายจําเลย มีข้อตกลงกับพนักงานอัยการว่า หากจําเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดข้อหาหนึ่ง ในคดีแล้ว ซึ่งอาจเป็นข้อหาสถานเบาที่จําเลยกระทําผิด ก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ถูกฟ้องร้องดําเนินคดีในอีกข้อหาหนึ่งซึ่งเป็นข้อหาที่หนักกว่า หรืออาจไม่ใช่การ รับสารภาพในข้อหาที่จําเลยกระทําผิดก็ได้ แต่เป็นข้อหาอื่นที่มีโทษสถานเบากว่า ที่จําเลยกระทําผิดจริง
ในประเทศไทยที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก และยังมีความเห็นว่า การต่อรองคํารับสารภาพยังไม่มีความเหมาะสมในการนํามาใช้กับ ประเทศไทย เพราะอาจกระทบต่อหลักการบังคับให้รับสารภาพ ตามหลักการ คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญก็ได้
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบางครั้งจําเลยหรือผู้ต้องหาอาจไม่ได้กระทําผิดเลยก็ได้ แต่กลัวการต้องโทษในคดีอาญาหรือต้องรับโทษสถานหนัก จึงเลือกที่จะรับสารภาพเพื่อ แลกกับการได้รับการยกเว้นโทษ หรือรับโทษสถานเบา
อาจารย์ สาลิณี ยังมีความเห็นว่า ในการนําการต่อรองคํารับสารภาพมาใช้ในประเทศไทยนั้น ควรจะต้องคํานึงถึงหลักการดําเนินคดีอาญาวัตถุประสงค์ของการดําเนินคดีอาญา วัตถุประสงค์ในการลงโทษในทางอาชญาวิทยาและการให้ความเป็นธรรมในทางคดี ต่อทั้งตัวผู้ต้องหาหรือจําเลย และฝ่ายผู้เสียหายด้วย ซึ่งจําเป็นต้องทําความเข้าใจ ถึงข้อดีและข้อเสียรวมทั้งผลกระทบของการนํามาใช้ในการดําเนินคดีอาญา แม้แต่ในต่างประเทศก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ถึงความเหมาะสมหรือไม่ที่จะนําการต่อ รองคํารับสารภาพมาใช้ในคดีอาญา
อาจารย์ สาลิณี ยังระบุถึงหลักการดําเนินคดีอาญา ว่า วัตถุประสงค์ในการดําเนินคดีอาญานั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นไปเพื่อ การรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ดังนั้น การได้ตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ จึงเป็นวัตถุประสงค์ของการดําเนินคดีซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก บัญญัติว่า
“ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดย ไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพ นั้นกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถาน ที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยกระทําผิดจริง”
จากบทบัญญัติในมาตรานี้ เป็นการกําหนดเงื่อนไขในการรับฟังพยาน หลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาคดีของศาล จะเห็นว่าหากจําเลยให้การรับ สารภาพ ศาลจะไม่รับฟังพยานโดยมีคําพิพากษาไปเลยก็ได้
เว้นแต่ในคดีอาญาที่ มี อัตราโทษขั้นต่ําจําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลจะต้องรับฟังพยานจนกว่าจะพอใจ ว่าจําเลยกระทําผิดจริงก่อนมีคําพิพากษา นั่นก็แสดงว่า กฎหมายยังไม่ให้ศาลเชื่อ ในคํารับสารภาพของจําเลยเสียทีเดียว อันจะใช้เป็นพยานหลักฐานในการลงโทษ จําเลย
เพราะบางครั้งจําเลยอาจให้การในลักษณะที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทํา หรือจัดให้ทําการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กําลังบังคับ หรือกระทําโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อ จูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น” ซึ่งลักษณะของคําให้การที่รับฟัง ได้นั้นจะต้องเกิดจากความสมัครใจอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันมิให้มีการจับผิดคน หรือที่เรียกว่าแพะรับบาป
ข้อสังเกตคือที่ใช้คําว่าสมัครใจอย่างแท้จริงก็ เพราะจะไม่รวมถึงคําให้การอันเกิดจากการจูงใจเข้าไปด้วยนั่นเอง
ข้อควรพิจารณาตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น คํารับสารภาพ ของผู้ต้องหาหรือจําเลยที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกับการถูกพิจารณา สั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องแล้วแต่กรณีนั้น ถือเป็นการจูงใจให้การตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า กรณีนี้หาก ผู้ต้องหาหรือจําเลยทราบถึงผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับก่อนให้การ ก็เท่ากับเป็น การจูงใจอย่างหนึ่งแล้ว ถือว่าคําให้การนั้นไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
ส่วนข้อดีของการต่อรองคํารับสารภาพ นั้น อาจารย์ สาลิณี ระบุเหตุผลหลายข้อ อาทิ ลดปริมาณคดีในชั้นศาลและปัญหานักโทษล้นคุก ซึ่งปัญหานี้นานา อารยประเทศ รวมทั้งประเทศไทยก็เห็นความจําเป็นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีของศาลทําให้ศาลมีเวลา ในการพิจารณาคดีสําคัญๆ หรือคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น อันสืบเนื่อง มาจากปริมาณคดีที่ลดลง
รวมไปถึงใช้เป็นเครื่องมือในการนําผู้กระทําผิดสําคัญมาดําเนินคดีในลักษณะ ของการปล่อยปลาเล็กเพื่อจับปลาใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้ในคดียาเสพติด หรือคดี ที่มีความร่วมมือในลักษณะ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เนื่องจากอาชญากรรม ประเภทนี้นับวันจะทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการวางแผนการทํางาน เป็นทีม โดยแบ่งหน้าที่กันทํา มีการส่งต่องานกันข้ามประเทศ ซึ่งจะมีนายทุนใหญ่ เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง นายทุนพวกนี้อาจจะมาจากนักการเมือง นักธุรกิจที่เป็น นายทุนให้นักการเมืองอีกชั้นหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้มีอิทธิพล ทําให้การเข้าถึง ตัวบุคคลกระทําได้ยาก โดยเฉพาะหากมีการฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทําผิด หรือการนําเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารต่างๆ มาใช้ในการกระทําผิด ก็จะทําให้การ แสวงหาพยานหลักฐานเพื่อจะนําตัวบุคคลเหล่านี้มาดําเนินคดีเป็นไปได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการให้โอกาสจําเลยในคดีกลับคืนสู่สังคมเดิมได้อย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการรับสารภาพทําให้เขารับโทษสถานเบา เช่น จําคุกในระยะสั้น ฯลฯ ทําให้สอดคล้องกับทฤษฎีการฟื้นฟูผู้กระทําผิด และทําให้เขาไม่อยากถูกพิจารณา คดีในฐานะผู้กระทําผิดอีก จึงไม่เกิดปัญหาการกระทําผิดซ้ำ
@ คดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด
อย่างไรก็ดี ข้อเสียของการต่อรองคํารับสารภาพ ถูกมองว่าเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 10 เช่น
สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การนําเรื่องการต่อรองคํา รับสารภาพมาใช้ จะเป็นการสันนิษฐานว่าจําเลยกระทําความผิดยิ่งกว่าสันนิษฐาน ว่าบริสุทธิ์" และจําเลยก็จะถูกสันนิษฐานว่ากระทําความผิดโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ ในประเทศไทยมีการบัญญัติรับรองสิทธินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 33 บัญญัติว่า
“ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อ บุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”
ขณะที่ อาจารย์ สาลิณี แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การให้จําเลยรับสารภาพ ในระบบของการต่อรองคํารับ สารภาพนั้น เท่ากับปฏิบัติต่อจําเลยอย่างเป็นผู้กระทําผิดไปแล้ว โดยไม่มีการ พิสูจน์ความผิด
สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรําตนเอง Ashworth เห็นว่า โดยสภาพแล้วการ ต่อรองคํารับสารภาพจะทําให้เกิดการกดดันผู้ต้องสงสัยและจําเลย ให้สละสิทธิที่ จะไม่ให้การด้วยการให้การรับสารภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ มีบัญญัติรองรับสิทธินี้อยู่ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 243 ดังได้กล่าวมาแล้ว ข้างต้น และยังมีบัญญัติไว้อยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ว่า “ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดําเนินการพิจารณาต่อ ไป” แสดงว่าไม่บังคับจําเลยต้องให้การ เป็นสิทธิของจําเลยที่จะให้การหรือไม่ ให้การอย่างไรก็ได้ในคดีอาญา
การให้จําเลยต้องรับสารภาพในการต่อรองคํารับ สารภาพ จึงเป็นการให้จําเลยต้องสละสิทธิดังกล่าวนี้ และการรับสารภาพก็เท่ากับ จําเลยให้การในลักษณะปรักปรําตนเองแล้ว ซึ่งบางครั้งไม่แน่ว่าจําเลยในคดีอาญา อาจไม่ได้เป็นผู้กระทําความผิดก็ได้ เพียงแต่จําเลยกลัวว่าจะต้องถูกพิจารณา พิพากษาลงโทษจากศาลในข้อหาที่พนักงานอัยการฟ้อง จําเลยจึงเลือกที่จะรับ สารภาพ เพื่อแลกกับการที่จะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษแทน
สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม การต่อรองคํารับสารภาพหาก เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติกับจําเลย ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่มีข้อ ขัดแย้งเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ทุกคนในรัฐจะได้รับสิทธิ ในการต่อรองคํารับสารภาพอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งในประเทศไทยก็มีบทบัญญัติ รับรองสิทธินี้ไว้ว่าบุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย และได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดย ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติภาษา เพศ อายุ จะกระทํามิได้ ฯลฯ เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30
สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมในการต่อรอง คํารับสารภาพ โดยทั่วไปในทางปฏิบัติจะไม่มีการพิจารณาคดีกันจริงๆ ฝ่าย จําเลยอาจไม่ทราบข้อมูลในการเจรจาต่อรองกับฝ่ายรัฐทั้งหมด เพราะในขั้นตอน ของการเจรจาต่อรองนั้นกระทําโดยทนายจําเลยกับพนักงานอัยการ
ขณะที่ คําให้การของจําเลยที่เกิดจากการต่อรองคํารับสารภาพ น่าจะเป็น คําให้การที่ไม่ได้มาจากความสมัครใจอย่างแท้จริงของจําเลยเพราะมีแรงจูงใจหรือ สิ่งล่อใจ คือ การต่อรองข้อหา (charge bargaining) หรือการต่อรองโทษ (sentence bargaining) อาจทําให้ผู้บริสุทธิต้องยอมรับสารภาพเพราะเกรงว่าตน จะถูกพิพากษาลงโทษในความผิดสถานหนักหากให้การปฏิเสธและปล่อยให้ ตนเองเข้าสู่กระบวนพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาล การจับแพะจะเกิดขึ้นในการ ดําเนินคดีอาญามากขึ้นอันทําให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดําเนินคดี อาญา ผู้กระทําผิดจริงกลับลอยนวลอยู่ในสังคม
ขัดต่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญา Ashworth เห็นว่าการ ต่อรองคํารับสารภาพเป็นเรื่องที่กระทบต่อทฤษฎีการลงโทษแก้แค้นตอบแทน เพราะจะทําให้โทษที่ลงไม่ได้ดุลกับความผิดที่ได้กระทําลงไป และหากนําการ ต่อรองคํารับสารภาพมาใช้ อาจทําให้จําเลยหลายคนในคดีเดียวกันที่ต้องหาว่า กระทําผิดอย่างเดียวกันรับโทษไม่เท่ากัน จําเลยที่รับสารภาพอาจได้รับโทษเบา กว่าจําเลยที่ให้การปฏิเสธ นอกจากนี้ยังมีความไม่สอดคล้องกับทฤษฎีป้องกัน สังคม เพราะการต่อรองคํารับสารภาพ จะทําให้จําเลยได้รับโทษสถานเบากว่าที่ได้ กระทําจริง ทําให้จําเลยกลับสู่สังคมได้เร็วขึ้น และอาจไม่เข็ดหลาบที่จะไปกระทํา ผิดซ้ำอีกได้ เป็นผลร้ายต่อสังคมต่อไป
ที่สำคัญการต่อรองคํารับสารภาพอาจเป็นการสนับสนุนการเรียกสินบนของ พนักงานอัยการได้
โดยมีคํากล่าวว่า ทนายจําเลยในคดีอาญาทําหน้าที่คนกลางใน การเรียกสินบน “bagman” เนื่องจากทางปฏิบัติของการต่อรองคํารับสารภาพ ได้มอบดุลพินิจให้อยู่ในมือของพนักงานอัยการในการมีอํานาจตัดสินชะตากรรม ของจําเลยมากเกินไป โดยพนักงานอัยการเป็นผู้ตัดสินใจไม่เพียงแต่เฉพาะเป็น ผู้พิสูจน์ความผิดของจําเลย แต่ยังคงตัดสินว่าจะใช้บทลงโทษใดกับจําเลยโดย ไม่มีศาลยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่ออํานาจทั้งหมดนั้นมารวมอยู่ในบุคคลคนเดียว ความเสี่ยงต่อความไม่เป็นกลางและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจะมีเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ
ส่วนผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ในกรณีที่ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ ต้องหาหรือจําเลยกระทําความผิดจริง เพราะการต่อรองคํารับสารภาพนั้นเป็น เรื่องเฉพาะระหว่างพนักงานอัยการกับฝ่ายจําเลยโดยผ่านทางทนายจําเลยเท่านั้น ดุลพินิจในการทําข้อตกลงอยู่ที่พนักงานอัยการ ผู้เสียหายไม่มีสิทธิคัดค้านที่จะ ไม่ให้มีการต่อรองคํารับสารภาพ ผู้เสียหายไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลย ทั้งๆ ที่ผลของ การเจรจาต่อรองคํารับสารภาพนั้นกระทบสิทธิของผู้เสียหายโดยตรง เพราะจะ ทําให้จําเลยหรือผู้ต้องหาไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคําสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องหรือทําให้จําเลยถูกพิพากษา ว่ากระทําผิดในข้อหาความผิดสถานเบากว่าที่ได้กระทําจริงหรือถูกพิพากษาเฉพาะ ข้อหาความผิดสถานเบาเท่านั้น แต่ในข้อหาความผิดสถานหนักไม่ถูกพิจารณา พิพากษาว่ากระทําผิดซึ่งมีผลให้จําเลยไม่ต้องรับโทษไปตามการกระทําที่เกิดขึ้นจริง
อาจารย์ สาลิณี ยังย้ำด้วยว่า หากจะนําการต่อรองคํารับสารภาพมาใช้ในประเทศไทย จําเป็นจะต้องกําหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะการต่อรอง คํารับสารภาพนั้นค่อนข้างกระทบสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี หากมองภาพ รวมจะเป็นการขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะต้องเสมอภาคเท่า เทียมกันในคดี การนํา plea bargaining มาใช้ จึงควรระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้กับ คดีอาญาประเภทใด ความผิดอาญาแผ่นดินหรือความผิดต่อส่วนตัว หรือควร มองไปที่ฐานความผิดเป็นเกณฑ์ ความผิดลหุโทษ ความผิดที่มีอัตราโทษ ระดับกลางหรือความผิดอุกฉกรรจ์ และควรมีระบบการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ ของพนักงานอัยการมากกว่าที่เป็นอยู่ ควรให้ศาลเข้ามามีบทบาทร่วมกับพนักงาน อัยการในการที่จะพิจารณาว่าคดีใดควรจะเปิดโอกาสให้มีการต่อรองคํารับสารภาพ ในขณะเดียวกัน ควรต้องฟังเสียงฝ่ายผู้เสียหายด้วย ในการใช้หลักฟังความ ทุกฝ่ายมาอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาต่อรองคํารับสารภาพ ซึ่งหลักการนี้กลับมี ปรากฏอยู่ในเรื่องชะลอการฟ้องที่กําหนดให้พนักงานอัยการต้องฟังความยินยอม จากผู้เสียหายในกรณีที่พนักงานอัยการมีความเห็นสมควรสั่งชะลอการฟ้อง
@ ความเป็นธรรมไม่ใช่สินค้า หรือธุรกิจที่จะมาต่อรองราคาหรือแลกเปลี่ยนกันได้
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตว่า การนําการต่อรองคํารับสารภาพ มาใช้ในคดีนั้น ก็ด้วยวัตถุประสงค์สําคัญเพียง 2 ประการ คือ
ประการแรก เพื่อ ประโยชน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณคดีที่ว่าล้นศาล ล้นคุก ประหยัดงบประมาณแผ่นดินประหยัดเวลาในการทํางานของเจ้าหน้าที่ในกระบวน การยุติธรรม
ประการที่สอง ดูจะเป็นการนํามาใช้เพื่อแก้ไขเยียวยากระบวนการ จับกุมผู้กระทําผิดหรือนําตัวผู้กระทําผิดมาดําเนินคดีที่ขาดประสิทธิภาพ
โดย มองว่าการต่อรองคํารับสารภาพจะช่วยให้ได้ตัวผู้กระทําผิดสําคัญมาสู่กระบวนการ ยุติธรรม เห็นว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น
หากกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่จําเป็นเลยที่จะต้องมีระบบ การต่อรองคํารับสารภาพมาใช้ในคดีอาญา จนทําให้มองข้ามหลักการสําคัญใน การดําเนินคดีอาญาหลายประการดังกล่าวมาข้างต้น
ดังนั้น จึงเห็นว่า ไม่มี ความจําเป็นเพียงพอที่จะนําหลักการต่อรองคํารับสารภาพมาใช้กับการดําเนินคดี อาญาไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือนานาอารยประเทศก็ตามเพราะด้วยเพียงเหตุผล ในเชิงเศรษฐศาสตร์เท่านั้นหรือ ที่จะทําให้ความเป็นธรรมที่รองรับโดยหลักการ สําคัญต่างๆ ที่มีมานานแล้วต้องเสียไป
เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า ความเป็นธรรมไม่ใช่สินค้า หรือธุรกิจที่จะมาต่อรองราคาหรือแลกเปลี่ยนกันได้
(อ้างอิงที่มาจาก https://www.tci-thaijo.org)
ทั้งหมดนี้ เป็นมุมมองเชิงกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ สิทธิของผู้ถูกจับกุม การต่อรองคํารับสารภาพ ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมามาได้ ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างมากที่คนในสังคมไทย ควรรับรู้ไว้
และถ้าหากนำไปเปรียบเทียบกับกรณี ผกก.โจ้ พร้อมพวก เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหาค้ายาเสพติด 2 ล้านบาท และใช้ถุงดำคลุมหัวทำร้ายผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้
จะพบว่า ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติทางกฎหมายเลยแม้แต่น้อย และกรณีนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึง การใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของบุคคล ในแวดวงตำรวจว่ามี เถยจิต (โบราณเขียนว่า ไถยจิต อ่านว่า เถย-ยะ-จิด หมายถึง ความคิดจะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ด้วยอาการแห่งโจร ) เป็นโจรในคราบตำรวจ ได้อย่างชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง
ผู้บริหารหน่วยงานตำรวจ ต้องเร่งหาทางกำจัดบุคคลกลุ่มนี้ออกไปให้หมด เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตำรวจไทยให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage