"...เห็นได้ว่านายชนม์สวัสดิ์ ไม่ได้ตรวจสอบและกลั่นกรองงานตามหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดและ ไม่ใช้ความระมัดระวังที่ควรต้องกระทําในฐานะนายก อบจ.สมุทรปราการ ในการตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวสามารถดําเนินการได้ตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือหากไม่แน่ใจนายชนม์สวัสดิ์ ก็ชอบที่จะมีหนังสือหารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่มิได้กระทํา เป็นเหตุให้ อบจ.สมุทรปราการ ได้รับความเสียหาย..."
............................................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 ศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้องคดีที่ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีต นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งนายก อบจ. สมุทรปราการ ที่ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงินกว่า 923,100 บาท กรณีอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนตามโครงการพัฒนากีฬาเยาวชน ประชาชน และนักกีฬาไปสู่ความเป็นอาชีพ จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ อบจ.สมุทรปราการ ได้รับความเสียหาย
(อ่านประกอบ : เลินเล่อเอง! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องคดี ชนม์สวัสดิ์ ขอเพิกถอนคำสั่งชดใช้ 9.2 แสน อุดหนุนกีฬา)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นคำพิพากษาเพิ่มเติมพบว่า คดีนี้ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ได้ยื่นฟ้องคดีต่อ นายกอบจ.สมุทรปราการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีคนที่ 1 และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี คนที่ 2
โดยมูลเหตุการฟ้องร้องคดีเป็นผลสืบเนื่องจากสํานักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีหนังสือ ลับ ที่ ตผ 0043.4 สป/286 ลงวันที่ 30 ก.ค.2555 แจ้ง นายก อบจ.สมุทรปราการ ว่าได้ตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2555 พบว่า มีการจ่ายเงินให้ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการ จํานวน 18,462,000 บาท ให้แก่ทีมฟุตบอล ดิวิชั่น 2 จํานวน 2 ทีม คือ ทีมสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรปราการ เอฟซี และ ทีมสโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ ยูไนเต็ด ซึ่งมิได้เป็นไปในลักษณะการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณ หมวดเงินอุดหนุนตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย พร้อมให้ อบจ.สมุทรปราการ เรียกคืนเงินดังกล่าวคืนคลังจังหวัดสมุทรปราการต่อไป
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 1245/2557 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริง มีความเห็นว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ของ อบจ.สมุทรปราการ ผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีจึงไม่ต้องด้วย มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เห็นควรยุติเรื่อง
ต่อมา กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ นายชนม์สวัสดิ์ ดํารงตําแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบริหารงานราชการของ อบจ. และการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไป ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชนม์สวัสดิ์ ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติในฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่าย ตามฎีกาเลขที่ 811/55 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555 จํานวนเงิน 28,690,200 บาท เพื่อเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับศูนย์การ กีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการ ตามโครงการพัฒนากีฬาเยาวชน ประชาชน และนักกีฬาจังหวัดสมุทรปราการไปสู่ความเป็นอาชีพ (การแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2) สําหรับทีมสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรปราการ เอฟซี และทีมสโมสรฟุตบอล สมุทรปราการ ยูไนเต็ด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมและการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ จํานวน 18,462,000 บาท
โดยโครงการดังกล่าวมิได้เป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นส่วนรวม จึงมิใช่โครงการหรือกิจกรรมที่อยู่ ในอํานาจหน้าที่ของ อบจ.สมุทรปราการอันจะตั้งงบประมาณอุดหนุนได้
ซึ่งหากนายชนม์สวัสดิ์ ได้ใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะทราบได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการ ใช้จ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พฤติการณ์ถือได้ว่า เป็นการกระทําด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ อบจ.สมุทรปราการได้รับความเสียหาย จึงให้ นายชนม์สวัสดิ์ รับผิดร้อยละ 5 ของความเสียหาย จํานวน 18,462,000 บาท คิดเป็นเงินจํานวน 923,000 บาท
@ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม
ต่อมา นายชนม์สวัสดิ์ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 10 มกราคม 2561 อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าว และได้รับแจ้งผลการพิจารณา อุทธรณ์ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด มีความเห็นยืนตามผลการพิจารณาของ กระทรวงการคลังทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
นายชนม์สวัสดิ์ เห็นว่า ตนเองได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและละเอียด รอบคอบ โดยโครงการดังกล่าวเป็นอํานาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 17 (18) ที่กําหนดให้มีการส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น นายชนม์สวัสดิ์ ในฐานะนายก อบจ.สมุทรปราการในขณะนั้น เป็นผู้ลงลงลายมือชื่ออนุมัติ ในฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่าย ตามฎีกาเลขที่ 811/55 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555 สืบเนื่องจากผู้อํานวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และปลัดอบจ.สมุทรปราการ ได้รับรองในฎีกาของผู้เบิกและมีความเห็นว่า เห็นควรให้เบิกจ่ายได้
นายชนม์สวัสดิ์ จึงมีความจําเป็นต้องอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ จะเห็นได้ว่าได้ใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงานชอบด้วยกฎหมาย เท่าที่จําเป็นที่สามารถจะทําได้แล้ว
ส่วนกรณีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือ ที่ มท 0808.2/7403 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เรื่อง หารือการขอรับเงินอุดหนุนโครงการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาค ซึ่งตอบข้อหารือเฉพาะในส่วนของจังหวัดราชบุรีเท่านั้นโดยมิได้แจ้งเวียนให้จังหวัดอื่นทราบและ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
เจ้าหน้าที่จึงไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติดังกล่าวได้
จึงได้เสนอความเห็นตามลําดับสายการบังคับบัญชาจนถึง นายชนม์สวัสดิ์ ในฐานะนายกอบจ.เพื่อพิจารณาสนับสนุนโครงการดังกล่าว
เมื่อการเสนอขอรับการสนับสนุนตามโครงการดังกล่าวได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว จึงได้ให้การสนับสนุน งบประมาณให้กับศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกับภายหลังอบจ.สมุทรปราการ ก็ไม่ได้อุดหนุนงบประมาณในลักษณะดังกล่าวอีกแต่อย่างใด
กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า นายชนม์สวัสดิ์ กระทําการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามที่กระทรวงการคลังกล่าวอ้าง อีกทั้ง อบจ.สมุทรปราการได้ดําเนินการ ตามข้อเสนอแนะของ สตง.ด้วยการเรียกคืนเงินอุดหนุนโครงการ ดังกล่าวจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการแล้ว แต่ศูนย์การกีฬา แห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการไม่ยินยอมคืนเงินดังกล่าว
อบจ.สมุทรปราการ จึงขอความอนุเคราะห์ไปยังสํานักงานอัยการสูงสุดในการนําเสนอข้อพิพาทให้ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเพื่อหาข้อยุติ
ต่อมา สํานักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือ ที่ อส 0020/2753 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2559 แจ้งว่า คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่ง ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วชี้ขาดให้ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการส่งคืนเงินอุดหนุนโครงการพัฒนากีฬาเยาวชน ประชาชน และนักกีฬา จังหวัดสมุทรปราการไปสู่ความเป็นอาชีพสําหรับกีฬาฟุตบอลประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นเงินจํานวน 18,462,000 บาท ให้แก่อบจ.สมุทรปราการ และได้นําเสนอ คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 และอบจ.สมุทรปราการ ได้ขอให้สํานักงานอัยการสูงสุดนําเรื่องเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามมติดังกล่าว
ซึ่งขณะที่ฟ้องคดีนี้ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0415.4/9462 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งผลการพิจารณาความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กรณีดังกล่าวโดยมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ สมควรรอการพิจารณา สั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการเป็นประการใดแล้วจึงให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาและมีความเห็นต่อไป
กรณีดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า อบจ.สมุทรปราการยังไม่ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด
นายชนม์สวัสดิ์ จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฯ
ขณะที่ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุพิพาทนายชนม์สวัสดิ์ ดํารงตําแหน่งนายก อบจ.สมุทรปราการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ เป็นไปตามกฎมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และนโยบาย และเป็นผู้บังคับบัญชา ข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 35/5 (1) และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
เมื่อศูนย์การกีฬาแห่ง ประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการได้มีหนังสือ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.สมุทรปราการเพื่อดําเนิน โครงการพัฒนากีฬาเยาวชน ประชาชน และนักกีฬาจังหวัดสมุทรปราการไปสู่ความเป็นอาชีพ เจ้าหน้าที่ของ อบจ.สมุทรปราการพิจารณาข้อมูลโครงการแล้วเห็นว่า อบจ.สมุทรปราการสามารถดําเนินการได้ตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ พ.ศ 2542 มาตรา 17(18) และได้รวบรวมเป็นร่าง งบประมาณรายจ่ายประจําปี เสนอต่อผู้ฟ้องคดีในฐานะคณะผู้บริหารท้องถิ่นได้พิจารณา อนุมัติก่อนเสนอความเห็นชอบต่อคณะอนุกรรมการ อํานวยการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด
ซึ่งการดําเนินการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่ขอรับการอุดหนุนงบประมาณจะต้องจัดทําบันทึกขอเบิกจ่ายพร้อมแนบรายละเอียด และค่าใช้จ่ายของโครงการเสนอต่อ อบจ.สมุทรปราการ ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ แล้วว่าโครงการพัฒนากีฬาเยาวชน ประชาชน และนักกีฬาจังหวัดสมุทรปราการไปสู่ความเป็น อาชีพเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์เฉพาะแก่ทีมสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรปราการ เอฟซี และ ทีมสโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน มิได้มีลักษณะเป็นการจัดทํา บริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สําหรับประชาชนในท้องถิ่นแต่อย่างใด
โครงการดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของ อบจ.สมุทรปราการที่จะสนับสนุนเงิน งบประมาณให้ได้ และเมื่อศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือ ลงวันที่ 2 มีนาคม 2555 ขอเบิกเงินที่ได้รับการสนับสนุน อบจ.สมุทรปราการ จึงทําการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนจํานวน 28,690,700 บาท ให้แก่ศูนย์การกีฬาแห่ง ประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 ปรากฏตามฎีกาเบิกจ่าย เลขที่คลังรับ ฎ.811 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555 โดยปรากฏลายมือชื่อ นายชนม์สวัสดิ์ ในฐานะ นายก อบจ.สมุทรปราการอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ตามที่ผู้ใต้บังคับบัญชา เสนอความเห็นโดยไม่มีการทักท้วงหรือชะลอการเบิกจ่ายเพื่อทบทวนกรณีดังกล่าวแต่ประการใด
จึงเห็นได้ว่านายชนม์สวัสดิ์ ไม่ได้ตรวจสอบและกลั่นกรองงานตามหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดและ ไม่ใช้ความระมัดระวังที่ควรต้องกระทําในฐานะนายก อบจ.สมุทรปราการ ในการตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวสามารถดําเนินการได้ตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
หรือหากไม่แน่ใจนายชนม์สวัสดิ์ ก็ชอบที่จะมีหนังสือหารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่มิได้กระทํา เป็นเหตุให้ อบจ.สมุทรปราการ ได้รับความเสียหาย
พฤติการณ์จึงถือได้ว่า เป็นการกระทําด้วยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ อบจ.สมุทรปราการได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นายชนม์สวัสดิ์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ.สมุทรปราการ ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
การที่ นายกอบจ.สมุทรปราการ มีคําสั่งให้ นายชนม์สวัสดิ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด ของหน่วยงานรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 5 ของความเสียหาย จํานวน 18,462,000 บาท คิดเป็นเงินจํานวน 923,900 บาท จึงเป็นการกําหนดสัดส่วนความรับผิดที่เหมาะสมแล้ว
ดังนั้น คําสั่งของ นายกอบจ.สมุทรปราการ ตามคําสั่ง อบจ.สมุทรปราการ ที่เรียกให้ นายชนม์สวัสดิ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ.สมุทรปราการ ในอัตรา ร้อยละ 5 ของความเสียหายจํานวน 18,462,000 บาท คิดเป็นเงินจํานวน 923,900 บาท
จึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย คําวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้แจ้งให้ นายชนม์สวัสดิ์ ทราบ โดยให้ยกอุทธรณ์ ของนายชนม์สวัสดิ์ จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ส่วนกรณี นายชนม์สวัสดิ์ อ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่ง ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตัดสินชี้ขาดให้ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการคืนเงินอุดหนุนตามโครงการดังกล่าวให้แก่ อบจ.สมุทรปราการ
ประกอบกับขณะที่ฟ้องคดีนี้ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด แจ้งผลการพิจารณาความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กรณีดังกล่าวถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ สมควรรอการพิจารณาสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ เป็นประการใดแล้วจึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา และมีความเห็นต่อไป กรณีดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า อบจ.สมุทรปราการ ยังไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่มีความจําเป็นที่จะให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามคําสั่งดังกล่าว นั้น
เห็นว่า ข้อพิพาทระหว่างอบจ.สมุทรปราการ กับศูนย์การกีพาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการ เป็นการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เพื่อหาข้อยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติ ในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตัดสินชี้ขาดให้ศูนย์การกีฬา แห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการคืนเงินอุดหนุนตามโครงการดังกล่าวให้แก่ อบจ.สมุทรปราการ จึงเป็นเรื่องการยุติข้อพิพาทในทางแพ่งระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยกันเอง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับกรณีของผู้ฟ้องคดี ที่เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุ ให้หน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดได้รับความเสียหายจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามที่กําหนดในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
นายชนม์สวัสดิ์ จึงไม่อาจนําเหตุที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดําเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตัดสินชี้ขาดให้ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรปราการ คืนเงินอุดหนุนตามโครงการดังกล่าวให้แก่ อบจ.สมุทรปราการ มาปฏิเสธ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากความรับผิดในการกระทําของตนเองได้
ข้อกล่าวอ้างในกรณีนี้ ฟังไม่ขึ้น
ส่วนกรณีนายชนม์สวัสดิ์ อ้างว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือ ที่ มท 0808.2/7403 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เรื่อง หารือการขอรับเงินอุดหนุนโครงการแข่งขัน ฟุตบอลลีกภูมิภาค ซึ่งตอบข้อหารือเฉพาะในส่วนของจังหวัดราชบุรีเท่านั้นโดยมิได้แจ้งเวียนให้ จังหวัดอื่นทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จึงไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์และแนวทาง ปฏิบัติดังกล่าว และภายหลัง อบจ.สมุทรปราการ ก็มิได้อุดหนุน งบประมาณในลักษณะดังกล่าวอีกแต่อย่างใด
กรณีนี้จึงฟังไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่ของอบจ.สมุทรปราการกระทําการด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะสามารถเรียกให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ นั้น
เห็นว่า การที่ นายชนม์สวัสดิ์ หรือเจ้าหน้าที่ของ อบจ.สมุทรปราการจะได้รับหนังสือ ตอบข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดังกล่าว หรือไม่ หรือได้รับเมื่อใด ก็ไม่เป็นเหตุ ให้นายชนม์สวัสดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องที่มีผลใช้บังคับในเรื่องนั้น ๆ ได้แต่ประการใด
ข้ออ้างเพียงการไม่ได้รับหนังสือ ตอบข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นฉบับดังกล่าว ของนายชนม์สวัสดิ์ จึงไม่อาจรับฟัง เพื่อให้นายชนม์สวัสดิ์ หลุดพ้นความรับผิดได้
พิพากษายกฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ปัญหาการอนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนทีมฟุตบอล ซึ่งมิได้เป็นไปในลักษณะการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น เคยถูก สตง. ตรวจสอบพบปัญหาเดียวกันมาแล้ว ในหลายจังหวัด อาทิ พิจิตร สงขลา ชัยนาท บุรีรัมย์ เป็นต้น
โดยกรณี อบจ.บุรีรัมย์ ช่วงที่นางกรุณา ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.บุรีรัมย์ ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง เบิกจ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 20 ล้านบาทให้สมาคมกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการให้ประชาชนร่วมชมและเชียร์สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เดินทางไปแข่งขันตามจังหวัดต่าง ๆ รวม 16 ครั้ง ครั้งละประมาณ 500-4,950 ราย
สตง. เห็นว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการให้เงินสนับสนุนแก่เอกชน ไม่ใช่การใช้เงินเพื่อดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ.บุรีรัมย์ ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 45 พร้อมแจ้งให้นายก อบจ.บุรีรัมย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการเรียกเงินคืนจากสมาคมกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเงิน 59,727,500 บาทแล้ว แต่สมาคมกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ยังไม่ส่งคืน อบจ.บุรีรัมย์ จึงได้ขอให้อัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องเป็นคดีแพ่ง และดำเนินการทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติการกระทำของนางกรุณา ชิดชอบ ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิดอาญา และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ติดตามผลและประเมินผล และรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ พร้อมให้จังหวัดบุรีรัมย์ ติดตามผลการดำเนินคดีทางแพ่ง และรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย
อ่านประกอบ :
ชัดๆผลสอบ สตง.!"อบจ.บุรีรัมย์" จ่าย 20 ล.ให้ส.กีฬาฯ ขนคนเชียร์ ทีมบอลเนวิน
"เนวิน" ยัน"บุรีรัมย์ยูไนเต็ด"ไม่เคยรับเงิน"อบจ."ขนคนเดินสายเชียร์ 20 ล.
โชว์หนังสือ"สตง." จี้มหาดไทยคุมเข้ม!ก่อน"ส.กีฬาบุรีรัมย์"ใช้งบ"อบจ."ขนคนเชียร์บอล
"ชัยนาท"ต้นแบบ"บุรีรัมย์"! สตง.เชือด "อบจ." ใช้งบขนคนเชียร์ทีมกีฬา"นักการเมือง"
ชำแหละคำชี้แจง"เนวิน" Vs. สตง. ปมเงินอุดหนุนอบจ.บุรีรัมย์ ตอบคนละเรื่อง!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/