"..มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่า ล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่งสธ.จะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และจะนำเสนอ ศบค.ต่อไป.."
------------------------------------
เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงาธารณสุข (ศธ.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิดของประเทศไทย ว่า ขณะนี้ ทั่วโลกมีการระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง มีการติดเชื้อมากกว่า 6 แสนรายต่อวัน รวมติดเชื้อสะสมกว่า 198 ล้านราย ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก คาดว่าอีกไม่กี่วันจะมีการติดเชื้อแตะ 200 ล้านราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตมากขึ้น รวมถึงเพื่อนบ้านไทยและประเทศไทย
ขณะที่ประเทศไทย มีการติดเชื้อจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยวันนี้ติดเชื้อ 17,345 ราย โดยภูมิภาคมากกว่า กทม.เล็กน้อย เนื่องจากมีโครงการให้ผู้ติดเชื้อกลับรักษาภูมิลำเนา ปัจจุบันกลับแล้วกว่า 5 หมื่นคน ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะไม่แพร่เชื้อ เพราะจัดระบบดูแลที่บ้านและชุมชน หรือโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขเกือบ 2 แสนราย และสถานการณ์ในรายสัปดาห์ ยังคงทรงตัวอยู่ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์จากโมเดลการติดเชื้อ ปัจจุบันเกือบจะถึงแล้ว เราก็พยายามควบคุมไม่ให้ถึงหรือเกินไปกว่านี้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม.ล่าสุด ว่า ยังพบผู้ติดเชื้อในระดับที่สูง และจะมีต่อไปอีกระยะ การที่จะดูแลชุมชนได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งการแพทย์สาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกคน ในการก้าวข้ามวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปให้ได้ สำหรับการให้การรักษา ได้มีนโยบายสั่งการจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ สธ.จัดสรรให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด ขณะนี้มีการสำรองยาในเดือน ส.ค. จำนวน 40 ล้านเม็ด เดือน ก.ย. 40 ล้านเม็ด ถือว่ามากพอสมควร ขณะนี้ได้ส่งกระจายไปภูมิภาคเพื่อสำรองไว้แล้ว คนไข้ที่อยู่ในระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) มีโอกาสได้รับยาเหล่านี้ เพื่อให้การรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และช่วยลดการป่วยหนัก และการเสียชีวิต พร้อมกับมาตรการการฉีดวัคซีนได้
@ คาดล็อกดาวน์ 1 เดือน ติดเชื้อใหม่เหลือ 3 หมื่นกว่า
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์โควิดตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ SEIR ว่า เส้นสีน้ำเงินแสดงถึงยอดตัวเลขการคาดการณ์ ส่วนเส้นสีส้มหรือสีแดง เป็นตัวเลขจากสถานการณ์จริง เมื่อนำเส้นกราฟทั้ง 2 มาเปรีบเทียบ และใช้สูตรคำนวณ พบว่าใกล้เคียงกัน และจุดหมายที่ใช้เปรียบเทียบคือ หลังมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โดยมีทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบทั้งโมเดล และสถานการณ์จริง เทียบเคียงมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปลายเดือน ก.ค.2564 นำมาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้า
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการเปรียบเทียบสถานการณ์ 3-4 เดือนข้างหน้า จะมีเส้นกราฟอยู่ 5 เส้น โดยเส้นสีน้ำเงิน เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน จากการคาดการณ์หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการเข้มข้นใดๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสูงเกิน 4 หมื่นรายได้ และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ 14 ก.ย.
หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าเส้นกราฟจากการคำนวณในแบบโมเดลมีทั้งหมด 4 เส้น เส้นแรก คือ สีส้ม หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการอยู่บ้านมากที่สุด มาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม หยุดกิจกรรมชุมนุมรวมตัวกลุ่มคน เป็นต้น หากทำได้มีประสิทธิภาพ จะลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน จะลดลงจากเกิน 4 หมื่นกว่าราย เหลือ 3 หมื่นกว่าราย จุดสูงสุดอยู่ที่ต้นเดือน ต.ค.
"หากใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ จะเป็นโมเดลเส้นกราฟสีเหลือง หากทุกคนให้ความร่วมมือมาตรการต่างๆ ลดติดเชื้อได้ 25% นาน 1 เดือนก็จะใกล้เคียงกันกับสีส้ม ถัดมาเป็นเส้นสีเทา หากล็อกดาวน์นาน 2 เดือนและมีประสิทธิภาพ 20% จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 2 หมื่นกว่าราย จาก 4 หมื่นกว่ารายหากไม่ทำอะไรเลย" นพ.โอภาส กล่าว
@ คาดมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 ราย/วัน หากไม่ล็อกดาวน์
นพ.โอภาส กล่าวถึงการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวัน ว่า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่มีมาตรการอื่นๆ จะพบว่า เส้นสีน้ำเงิน แสดงถึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน จุดสูงสุดประมาณวันที่ 28 ก.ย. แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ปลายเดือน ก.ค.จะเป็นเส้นสีส้มและสีเหลือง ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดอยู่ที่ 26 ต.ค. ในมาตรการตั้งแต่ 20-25%
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า หากล็อกดาวน์นานขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง ตามมาตรการที่ทางรัฐบาลและ สธ.ได้ดำเนินการ คือ เส้นสีเขียว ได้มีมาตรการต่างๆ ทั้งล็อกดาวน์ ค้นหาผู้ป่วย มาตรการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่กำลังเร่งพยายามทำอยู่
"แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ความร่วมมือของประชาชน ลดกิจกรรมไม่จำเป็น อยู่บ้านมากที่สุด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ จะช่วยให้มาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นพ.โอภาส กล่าว
@ ประสิทธิภาพล็อกดาวน์ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นพ.โอภาส ตอบคำถาม มาตรการล็อกดาวน์จนถึงวันนี้ได้ผลอย่างไร ว่า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เลย ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงสำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์นั้น แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย จะสังเกตเห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ หน่วยราชการต่างๆ ทำงานที่บ้านจำนวนมาก ศูนย์การค้ามีการปิด มีไม่กี่อย่างที่เปิด เช่น การไปรับการรักษาพยาบาล การไปฉีดวัคซีน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ฉะนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญ จากแบบจำลองก็ชัดเจนว่า หากได้รับความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะลดลง
“มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่า ล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่ง สธ.จะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และจะนำเสนอ ศบค.ต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
@ 4 ข้อ ความหวังควบคุมโรคของประเทศ
นพ.เกียรติภูมิ เปิดเผยถึงสถานการ์เตียงในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้มีเตียงดูแลผู้ป่วยปกติกว่า 100,000 เตียง ปัจจุบัน มีการปรับเตียงและทำเพิ่มเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดรวม 135,000 เตียง เฉพาะพื้นที่ กทม. 40,000 เตียง รวมทั่วประเทศ 175,000 เตียง ปัจจุบัน ต่างจังหวัด มีอัตราการใช้เตียง 80% ส่วน กทม. 90% โดยเตียงสีแดง สีเหลือง มีการใช้เตียงแล้ว เกือบทั้งหมด ส่วนสีเขียวยังสามารถรองรับได้ แต่ในระบบโรงพยาบาลไม่สามารถเพิ่มเตียงได้อีกแล้ว
"แต่คำตอบหนึ่งคือ การเชื่อมระบบสาธารณสุข ให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน และแยกกักในชุมชน หากอาการมากขึ้นก็ส่งเข้าโรงพยาบาลต่อไป เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการใช้ชุดตรวจเร็ว (ATK) ทำให้ดักจับผู้ติดเชื้อในชุมชนได้มากขึ้น พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อยากให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยมีการจัดทีม CCRT เข้าไปดูแลในชุมชนด้วย ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบาง" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันเรื่องสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ 1) การใช้ ATK ตรวจหาผู้ติดเชื้อ 2) การทำการแยกตัวที่บ้าน และการแยกกักในชุมชน และจัดทีม CCRT 3) นำวัคซีนโควิดไปฉีดตามชุมชนหรือบ้านของประชาชนโดยทีมเชิงรุก CCRT และ 4) การให้ยาในผู้ป่วยติดเชื้อไม่มีอาการ (Home Favipiravir) หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนักให้เร็วขึ้น โดยส่งถึงผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ไปแล้วจำนวนมาก
นพ.ยงยศ กล่าวด้วยว่า 4 ข้อสำคัญนี้ จะเป็นความหวังในการควบคุมโรคของประเทศ หรือ กทม. โดยยอมรับว่า ขณะนี้สถาการณ์เตียงในระบบเต็มมาก แต่จะต้องยิ่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนให้มากที่สุดโดยใช้ ATK และเมื่อพบผู้ติดเชื้อ จะต้องแยกกัก เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในรายที่มีความจำเป็น อาจจะราว 20-30% ของผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องให้ยาอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง พร้อมดูแลโดยทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ และให้วัคซีนเชิงรุก
@ ดึงนักรบภูมิภาค ช่วยปฏิบัติการใน กทม.
นพ.ยงยศ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานนี้ จะเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขต ในช่วงระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค.2564 ทั้งนี้ ยังมีการเชิญชวนแพทย์ชนบทระบบสาธารณสุขที่อยู่ในภูมิภาค ให้ส่งเจ้าหน้าที่ ที่ถือว่าเป็นนักรบภูมิภาค มีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ยากลำบากค่อนข้างสูงและปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพพื้นที่การทำงาน โดยตั้งเป้า 40-50 ทีม ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ทั้ง 69 ศูนย์
นพ.ยงยศ เปิดเผยว่า สำหรับทีมเชิงรุกที่มาร่วมปฏิบัติการ ตั้งเป้าว่าจะสามารถตรวจเชิงรุกได้อย่างน้อย 400,000-500,000 ราย และแยกผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 70,000-80,000 ราย เป็นความร่วมมือร่วมใจในการจัดการปัญหาพื้นที่ กทม. ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทาง กทม.ในการจัดเตรียมพื้นที่ ทีมฉีดวัคซีนเสริม ทาง กทม.ก็มีการจัดทีม CCRT ลงพื้นที่ต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์ แต่เนื่องจากปริมาณของประชาชนมีมาก จึงต้องมีทีมจากภูมิภาคเข้ามาเสริม โดยจะทำพร้อมกันเพื่อให้การควบคุมโรคดีขึ้น และชะลอการใช้เตียง รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ของสาธารณสุข ยืนยันว่าจะทำอย่างรวดเร็วตั้งใจเพื่อประเทศ
@ ยันใช้สูตรวัคซีน SA เผยจัดสรรให้ต่างจังหวัดอีก 10 ล้านโดสในเดือนนี้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนในปัจจุบันว่า มีการฉีดไปแล้ว 17,011,477 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 13,225,233 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 3,786,244 โดส โดยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีการฉีดครอบคลุม 44.20% แต่ในพื้นที่กทม.เพียงที่เดียว ครอบคลุมแล้ว 61% โดยผู้สูงอายุ ใน กทม.มีการฉีดแล้วถึง 70% ส่วนต่างจังหวัดมีการฉีด 12.43% เพราะวัคซีนมีจำนวนจำกัด จะต้องเกลี่ยมาใช้ในพื้นที่ กทม. ที่มีการแพร่ระบาดหนัก
นพ.เกียรติภูมิ เปิดเผยว่า ในเดือนนี้ ต่างจังหวัดจะได้รับวัคซีนอีก 10 ล้านโดส โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่เหลือจะเป็นส่วนอื่น จะใช้สูตร SA หรือวัคซีนสูตรผสม ทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ มีการจัดซื้อไปแล้ว 20 ล้านโดส พ่วงอีก 10 ล้านโดส ที่คาดว่าจะได้รับภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะจัดสรรให้ประชาชนต่อไป
ขณะที่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ในเดือน ส.ค.ใช้วัคซีนสูตร SA หรือวัคซีนสูตรผสม โดยข้อดีคือเวลาให้วัคซีนต่างชนิด ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นค่อนข้างเร็ว และตัวเลขภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมาก การฉีดซิโนแวค แล้วจึงฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่า ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน และสามารถฉีดให้กับประชาชนได้เร็วขึ้น อีกทั้งพบว่า ความปลอดภัยของวัคซีน ยืนยันว่าไม่ได้ต่างไปจากเดิม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage