"...ในปีการศึกษา 2564 คาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษานี้ จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาประมาณ 6.5 หมื่นคน โดยช่วงรอยต่อของระดับชั้นการศึกษา ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของช่วงระดับชั้นต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง เช่น เมื่อสอบได้แล้ว ก็จะต้องวางเงินมัดจำ หรือเงินแรกเข้า ไม่รวมถึงค่าใช้แฝงอื่นๆ เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ หรือค่าเดินทาง เป็นต้น..."
-----------------------------------
จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลกระทบต่อชีวิตในทุกด้าน และแนวโน้มของโรคก็ยังจะคงอยู่กับไปอีกนาน ทำให้วิถีชีวิตในปัจจุบันต้องปรับตัวเป็นในรูปแบบวิถีใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ด้านการศึกษาก็ตาม แต่การปรับเป็นวิถีใหม่ของการศึกษา ไม่ว่าเป็นการปรับการเรียนการสอนเป็นในรูปแบบออนไลน์ สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นให้กับบางครอบครัว ทั้งค่าอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สถานการณ์โดยทั่วไปในสภาวะปกติ ระดับความแตกต่างเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ระยะคนรวยและคนจนนั้น อยู่ที่มีอยู่ประมาณ 20 เท่า จัดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ จากวิกฤตโควิด ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำถ่างตัวมากขึ้นอีก รายได้ของผู้ปกครองจะลดลงกว่า 7% สถานการณ์ของครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง เช่น เงินเฟ้อขึ้น พ่อแม่มีรายได้ลดลง กู้หนี้ยืมสินทั้งในและนอกระบบ เกิดปรากฏการณ์ความยากจนซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2564 คาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษานี้ จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาประมาณ 6.5 หมื่นคน โดยช่วงรอยต่อของระดับชั้นการศึกษา ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของช่วงระดับชั้นต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง เช่น เมื่อสอบได้แล้ว ก็จะต้องวางเงินมัดจำ หรือเงินแรกเข้า เป็นต้น
รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ หรือค่าเดินทาง เป็นต้น สำหรับ อัตราเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา แบ่งเป็น ระดับชั้นประถมศึกษาราว 4% ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากหนักเนื่องจากเป็นการศึกษาภาคบังคับ ระดับมัธยมศึกษา ตอนต้น อยู่ที่ 19-20% และระดับชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย อยู่ที่ 48% เป็นอัตราส่วนที่มากที่สุด และเด็กนักเรียนจำนวนนี้มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียง 8-10% เท่านั้น
ศ.ดร.สมพงษ์ เปิดเผยว่า จากการเปิดภาคเรียนเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สถานศึกษาในหลายจังหวัดสามารถกลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติ พบว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว ประมาณ 7,568 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมี 10 จังหวัดจากผลการสำรวจ ชี้ว่าครูผู้สอนต้องตามเด็กกลับมาเรียนหนังสือ โดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน และจังหวัดรอยต่อที่มีตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
"สถานการณ์โควิด ทำให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน ผู้ปกครองตกงาน ขาดรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายกลับสวนทาง ส่งผลให้มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อของระดับชั้นมากขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ตามมา จังหวัดภูเก็ต มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 38,000 บาท แต่จากสถานการณ์โควิด ลดลงเหลือ 1,600 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่งนับว่าหายไปเยอะมาก ทำให้เกิดภาวะจนเฉียบพลัน โดยมีเด็กหายไปจากระบบการศึกษาแล้ว 10% ส่วนในพื้นที่ กทม. ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่รับรู้ได้ว่าเด็กมีความเสี่ยง เนื่องจากมีคลัสเตอร์ใหญ่หลายแห่ง ทำให้ไม่สามารถไปเรียนตามปกติได้ พ่อแม่ต้องหายืมเงิน ในการซื้ออุปกรณ์เรียนออนไลน์" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
@ เงินอุดหนุนเท่าเดิมมากว่า 10 ปี กับค่าเงินที่ปรับเปลี่ยนทุกนาที
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีเด็กยากจนและยากจนพิเศษอยู่ที่ 16% ขณะนี้มีเด็กที่อยู่ในความดูแลช่วยเหลือของ กสศ.ประมาณเกือบ 1 ล้านคน โดยอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่ปีละ 3,000 บาท แต่เนื่องจากต้นทุนการศึกษา มีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร อยู่ประมาณ 2,058 – 6,034 บาท ทำให้การเรียนต่อเป็นไปไม่ได้ ทำให้การเรียนหยุดชะงัก ไม่สามารถไปต่อได้ อีกทั้ง นโยบายการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวก็ใช้อัตราเดิมมา 10 กว่าปี ไม่มีการปรับเพิ่ม
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวเน้นว่า จะต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง เนื่องจากตอนนี้ เงินช่วยเหลือ ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2 – 3 พัน ไม่เช่นนั้นในภาคเรียนที่สองจะเห็นการหลุดจากระบบมากกว่านี้
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการประนอมหนี้การศึกษา ว่า จะต้องเรียนฟรีแบบไม่มีค่าเทอม และการหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง พร้อมทั้วยกตัวอย่างโมเดลของจังหวัดพิษณุโลกและภูเก็ตเป็นการทำงานเชิงรุก บูรณาการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ
"เด็กที่ใกล้เสี่ยงหลุดหรือหลุดแล้ว ทัศนคติหรือความมุ่งมั่นทางการศึกษาจะลดลงเหลือน้อยมาก การดึงกลับมาเรียนหนังสือ ถ้าไม่ทำแบบประณีต หรือสามารถเข้าถึงวิธีคิดปัญหาจริงได้ ในช่วงเทอม 2 ที่จะถึงนี้ จะเห็นเด็กหลุดมากขึ้นและเป็นวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.
@ ระบบไม่ยืดหยุ่น ไม่เอื้อเด็กกลับเข้าระบบ
ด้าน ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานโยบายและการจัดการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น การเรียนรู้ของเด็ก ไม่ควรจะต้องถูกหยุด ไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตหรือไม่ โดยสาเหตุของการหลุดจากระบบ เพราะถูกบีบบังคับให้อยู่ในสภาวะจำยอมและไม่มีอะไรรองรับ เนื่องจากระบบการศึกษาไทยไม่ยืดหยุ่น
"การศึกษาของประเทศไทยไม่ Flexible เราไม่ไปเรียน เนื่องจากที่บ้านไม่พร้อม ถ้าไม่ไปเรียนครูก็ให้ตก เนื่องจากไม่มีระบบที่ยืดหยุ่น ซึ่งเด็กไม่ได้ผิดอะไร โควิดทำให้มีปัญหา พ่อแม่ก็ไม่สามารถ support ได้ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ"ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าว
ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิดไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ ระบบการศึกษาที่ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะดูแลเกี่ยวกับการศึกษาในภาวะวิกฤตได้ โดยจะต้องดึงเด็กที่หลุดจากระบบทั้งหมด กลับเข้ามาในระบบอีกครั้งหมด เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา
@ แนะตั้งโครงการ 'เด็กพักเรียนได้ ก็กลับมาเรียนได้'
โดยข้อเสนอในการแก้ปัญหา ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่การที่เด็กหลุดจากระบบในช่วงโควิด เพราะไม่มีกำลัง เบื่อหน่าย ไม่มีจุดมุ่งหมายในการเรียนนั้น รัฐบาลควรจะมีแนวทางแก้ไข โดยการจัดตั้งโครงการหยุดพักการเรียน (Leave Year) เมื่อเด็กไปโรงเรียนไม่ครบเทอม ก็สามารถดรอปออกไปได้เลย และกลับเข้ามาเก็บแต้มคะแนนในเทอมใหม่ หรือตอนที่เด็กพร้อมได้ ถ้าโครงการดังกล่าวให้เด็กสามารถทำได้ เด็กก็จะมารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ แม้ว่าจะหยุดพักไปกลางคัน แต่ก็กลับมาเรียนใหม่ได้
"สมมติเด็กเรียน ป.5 แล้วเรียน ป.6 ต่อไม่ได้ หายไปพักหนึ่ง หายไปปีนึง กลับมาก็เรียน ป.6 ได้ แต่ทั้งนี้ควรปรับเปลี่ยนการรองรับวุฒิการศึกษา ที่แบ่งเป็นชั้นประถม ม.ต้น ม.ปลาย เป็นวุฒิทุกๆ ปี เพื่อให้เด็กกลับมาเรียนได้ เช่น ตอน ม.3 หายไป ไม่ว่าจะหายไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม กลับมาก็เรียนต่อได้ ซึ่งถ้าอยากลองทำโครงการนี้ อยากให้เริ่มในช่วงโควิดนี้เลย เราจะสามารถเก็บเด็กพวกนี้เข้าสู่ระบบได้มาก รวมถึงเด็กที่ประสบปัญหาท้องก่อนวัยด้วยเช่นกัน" ศ.ดร.ปังปอนด์
@ จี้ ศธ.ดูแลเด็กในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะด้านการเรียน
ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวถึงในกรณีถ้าเด็กไม่สามารถอยู่ในระบบต่อไปได้ไหว และไม่สามารถปรับระบบของโรงเรียนได้ ว่า สิ่งที่ควรจะต้องทำ คือ การดูแลเด็กในมิติอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่ดูแลเด็กเกี่ยวกับด้านการเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย นับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ฉะนั้นถ้า ศธ.ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเป็นการดูแลองค์รวมทั้งหมด เรื่องเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
ศ.ดร.ปังปอนด์ อธิบายถึงการดูแลองค์รวมว่า เป็นการดูแลในทุกๆ ด้านควบคู่กับการดูแลเรื่องการเรียน เช่น ดูแลความปลอดภัยควบคู่พัฒนาการของเด็กด้วย โดยเฉพาะที่เกิดในวิกฤติต่างๆ
เด็กทั้งหมดจะต้องเรียนออนไลน์บ้าน ศธ.ควรจะมีการดูแลในองค์รวม ที่ไม่ใช่ในแง่ของการเรียนอย่างเดียว แต่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้ไปโรงเรียน และพ่อแม่ยังต้องดิ้นรนหาเงินในสภาวะวิกฤตต่างๆ มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูงมาก อาจจะเสี่ยงถูกกระทำ การทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพ่อแม่เครียด
@ ตั้งตัวชี้วัดให้โรงเรียนวางแผนป้องกันเด็กออกระบบ
เมื่อเปลี่ยนจุดมุ่งหมายการดูแลเด็กเฉพาะการเรียน เป็นการดูแลองค์รวมแล้ว ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวว่า โรงเรียนควรจะมีระบบการระเมินอีกด้วย ไม่ใช่เป็นการประเมินว่าเด็กเข้ามหาลัยได้เท่าไหร่ หรือสอบได้คะแนนเท่าไหร่ แต่เป็น KPI Drop Out เพื่อให้โรงเรียนเกิดการแข่งขันว่าจะใช้วิธีใดเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ
"KPI Drop Out เป็นการประเมินของประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งประเทศไทยอาจจะต้องกลับมาใช้ เพราะว่าขณะนี้ในช่วงโควิด มีเด็กที่น่าเป็นห่วงมากที่จะหลุดจากระบบการศึกษา" ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าว
ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานโยบายและการจัดการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
@ การเรียนรู้หยุดชะงัก ผลักเด็กหลุดระบบการศึกษา
นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ว่า การหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 เงื่อนไข คือ 1.ประสบปัญหาด้านการเงินของพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น ในพื้นที่พัทยา ผู้ปกครองไม่มีรายได้ ทำให้เด็กไม่ได้ไปเรียนหนังสือ 2.การจัดการเรียนการสอนที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น กลุ่มเด็กยากจน ไม่มีความพร้อมด้านการเรียนออนไลน์ ไม่มีอุปกรณ์ ทำให้การเรียนหยุดชะงัก แต่ถ้าเรียนที่โรงเรียน จะสามารถเรียนรู้ได้เท่าๆ กัน และ 3.เด็กไม่มีใจที่อยากจะเรียน โดยตามทฤษฎีที่เหมือนกันทั่วโลก เมื่อเด็กหยุดเรียนรู้เป็นเวลานาน จะเกิดความขี้เกียจ และอาจจะหลุดออกจากระบบได้ในที่สุด เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้
นายตวง กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องตระหนักถึงและให้ความสำคัญอยู่เสมอ เนื่องจากการหยุดเรียน ปิดโรงเรียนเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่เมื่อปิดแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และเมื่อปิดเรียนแล้ว จะอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอด ไม่หยุดชะงักนั้น เป็นเรื่องที่ยาก โดยการจัดการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากการศึกษาในประเทศไทยไม่มีการปรับให้มีการเตรียมความพร้อม อีกทั้งไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบใหม่อีกด้วย
นายตวง อธิบายถึงการเรียนรู้แบบใหม่ ว่า ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน หรือเรียนเฉพาะความรู้ ความจำ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน และพัฒนาศักยภาพในตัวของผู้เรียนเอง ตามหลักของพหุปัญญา เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน โดยการเรียนควรมุ่นเน้นการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของผู้เรียนร่วมด้วย
"เด็กแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนควรจะเป็นการค้นหาศักยภาพของเด็กแต่ละคน ไม่ใช่การเรียนเฉพาะความรู้ความจำ แบบที่สังคมไทยเข้าใจ และไม่ใช่การเรียนการสอนเฉพาะในห้องเรียน เพราะการเรียนการสอนเป็นแบบการพัฒนากาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของผู้เรียน ถ้าหากหลังโควิด เราไม่ได้พัฒนาผู้เรียนครบด้าน การหลุดออกไปจากระบบ กับการหลุดจากระบบแบบไม่ได้พัฒนาทั้ง 3 มิติ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะสูญเสียโอกาสของการพัฒนา" นายตวงกล่าว
@ แนะ ศธ.ยึดหลักการหลากหลายทางปฏิบัติ แต่เป้าหมายเดียวกัน
ส่วนเรื่องแนวทางหรือนโยบายการรับมือ ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ นายตวง กล่าวว่า ที่เคยเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปหลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิดว่า โรงเรียนไม่ควรที่จะปิดพร้อมกัน แต่ควรเป็นการเปิดตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการจัดการเรียนรู้เช่นกัน ส่วนโรงเรียนที่เปิดได้ ก็ควรจะสนับสนุนดูแลเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เช่น เจลแอลกอฮอล์หน้ากากอนามัยสำหรับนักเรียนและครูด้วยเช่นกัน
สำหรับพื้นที่โซนสีแดงเข้ม สีแดง หรือสีส้ม ที่มีการระบาดอยู่ ยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้นั้น นายตวง กล่าวว่า จำเป็นต้องปรับรูปแบบการสอนเป็นออนไลน์ก็จริง แต่ต้องไม่ใช่ลากยาวเป็นระยะเวลานาน หรือในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด จะต้องปรับในศักยภาพของเขา เพิ่มศักยภาพ กลไก ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียน ไม่ใช่การใช้รูปแบบเดียวของกระทรวงเหมือนกันหมด
"กระทรวงฯ จะต้องเตรียมความพร้อมให้เขา ถ้าจะให้เรียนออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดออกจากระบบให้ครบถ้วนในทุกด้าน ปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ อย่าใช้โมเดลกระทรวงฯ ในการสั่งการ ให้ยึดตามแนวคิด 'เอกภาพทางนโยบาย หลากหลายทางปฏิบัติ แต่เป้าหมายเดียวกัน' โดยผู้เรียนต้องเรียนเต็มศักยภาพ เต็มหลักสูตร และปลอดภัย สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนให้เหมาะสมกับความแตกต่างหลากหลาย และจะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบันได้" นายตวงกล่าว
ทั้งหมดนี้ คือภาพสะท้อนอีกมุมหนึ่งของผลพวงจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะนำและแนวทางการแก้ไขปัญหาและป้องกัน จะต้องติดตามกันต่อไปว่าภาครัฐจะมีแนวทางการช่วงเหลือกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงนี้อย่างไร
นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage