สปสช.ส่งมอบหุ่นยนต์สนามจาก มจธ. ให้ สบยช.สำหรับนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชี้นวัตกรรมที่ไทยไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น สปสช.ยินดีเป็นคนกลางสนับสนุนให้นำนวัตกรรมฝีมือคนไทยไปใช้ในโรงพยาบาล ด้าน ผอ.สบยช.เผยหุ่นยนต์สนามช่วยได้มากในเรื่อง Social Distancing และยังช่วยลดภาระงานเจ้าหน้าที่ลงได้บางส่วนด้วย
.........................................
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) หรือ สถาบันธัญญารักษ์ ได้มีพิธีมอบหุ่นยนต์ภาคสนาม โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มอบหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากบริษัท อาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัด ให้แก่ สบยช.สำหรับนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ภารกิจเดิมของสถาบันคือโรงพยาบาลฯที่ดูแลรักษาผู้มีปัญหายาเสพติด แต่ในเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทางสถาบันจึงได้เปิดหอผู้ป่วยเฉพาะกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 33-34 เตียง กลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องได้รับออกซิเจนและการดูแลอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีผู้ป่วย 30 ราย เป็นชาย 13 รายและหญิงอีก 17 ราย นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยายอีกจำนวน 200 เตียง เน้นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลืองที่มีอาการเล็กน้อย ปัจจุบันมีผู้ป่วย 142 ราย เป็นชาย 80 รายและหญิงอีก 62 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยที่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบัน 1,054 ราย รักษาจนกลับบ้านได้แล้ว 818 ราย
นพ.สรายุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับมอบหุ่นยนต์มาแล้ว 1 ตัวและจะได้รับเพิ่มรวมเป็น 5 ตัว ซึ่งทางสถาบันฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานนามแก่ชุดหุ่นยนต์ดังกล่าวว่า "มดบริรักษ์" โดยคำว่ามด มาจากชื่อของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าวิศวะบางมด ส่วนคำว่ารักษ์ก็หมายถึงสถาบันธัญญารักษ์นั่นเอง ซึ่งการนำหุ่นยนต์มาใช้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ลดการเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพราะการเข้าไปหลายครั้งต่อวันก็มีความเสี่ยง การนำหุ่นยนต์มาใช้ สามารถนำอาหาร ยา สิ่งของให้กับคนไข้ได้ และข้อดีอีกข้อคือหุ่นยนต์นี้มีระบบเว็บแคมทำให้เจ้าหน้าที่สามารถพูดคุยกับคนไข้เป็นรายบุคคลได้ ซึ่งปกติแล้วคนไข้จะต้องได้คุยกับแพทย์ พยาบาล เพื่อสอบถามและสังเกตอาการ แต่ก็อาจจะมีคนไข้บางรายที่เหนื่อยมากจนลุกไม่ไหว ก็สามารถนำหุ่นยนต์นี้ เดินไปที่เตียงเพื่อพูดคุยและสังเกตอาการได้
"หุ่นยนต์ช่วยได้มากในเรื่อง Social Distancing บุคลากรจะต้องใส่ชุด PPE แล้วเข้าไปทำกิจกรรมบางอย่างกับคนไข้ เช่น พูดคุยสอบถามอาการหรือแจกยา ตรงนี้ก็ลดการเข้าไปของบุคลากรลง ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่บางส่วนได้ เช่น การให้พยาบาลเอายาไปให้คนไข้แต่ละเตียง ตรงนี้ก็ช่วยลดได้แล้ว ตอนนี้เราได้รับมาแล้ว 1 ตัวและจะได้รับเพิ่มรวมเป็น 5 ตัวเพราะตึกหอผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนขยายเรามี 3 ชั้น ก็ใช้ชั้นละตัว และตึกหอผู้ป่วยเฉพาะกิจเรามี 2 ชั้น ก็ใช้ชั้นละ 1 ตัวเหมือนกัน"นพ.สรายุทธ์ กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับมอบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากบริษัท อาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัดมีจำนวน 10 ตัว ซึ่งนอกจากนำไปใช้ที่ สบยช. 5 ตัวแล้ว ส่วนที่เหลือทาง สปสช.จะเป็นคนกลางนำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สปสช.มีนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมของคนไทย ตั้งแต่มีโควิด-19 ก็ทำให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผลิตโดยคนไทยมากขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเรื่องหุ่นยนต์ก็เป็นนวัตกรรมที่ไทยเราไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น การนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการทางการแพทย์ก็จะทำให้มีโอกาสใช้งานมากขึ้น
"การส่งมอบในวันนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาของไทยสามารถตอบสนองโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากและช่วยแบ่งเบาภาระได้ หากเป็นที่พอใจของโรงพยาบาล สปสช.ก็ยินดีสนับสนุนเทคโนโลยีแก่โรงพยาบาลอื่นๆ รวมทั้งอยากเชิญชวนบริษัทต่างๆที่มีนวัตกรรมว่า สปสช.ยินดีเป็นกลไกกลางในการนำมาทดลองใช้ในโรงพยาบาล ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ไทยที่จะพัฒนานวัตกรรมต่อไปในอนาคต" นพ.จเด็จ กล่าว