ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เผยข้อมูลจาก “รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021” สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่ม HNWI พบกระแส 'การใช้วิจารณญาณในการบริโภค' (Conscious Consumption) กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 “บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด” (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกของประเทศ และ “จูเลียส แบร์” (Julius Baer) ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผย “รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021” (Global Wealth and Lifestyle Report 2021 -GWLR) ที่จัดทำโดย “จูเลียส แบร์” โดยนำเสนอข้อมูล ผลการวิเคราะห์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (High-Net-Worth Individual - HNWI) ใน 25 เมืองสำคัญทั่วโลก โดยดัชนีในรายงานฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก จัดทำขึ้นต่อเนื่องจากฉบับดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 2011 โดยรายงานฉบับล่าสุดนี้ยังรวบรวมพัฒนาการของ 'การเคลื่อนไหวด้านการใช้วิจารณญาณในการบริโภค' (Conscious Consumption Movement) ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่ได้เพิ่มความมุ่งมั่นและการตระหนักถึงการจับจ่ายใช้สอยอย่างมีจริยธรรม และยั่งยืนของผู้บริโภค
ภายใต้ดัชนีชี้วัดที่มีความหลากหลาย จูเลียส แบร์ ได้ทำการติดตามราคาสินค้า และบริการ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อตรวจวัดอัตราเงินเฟ้อของราคาสินค้า และบริการต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภค HNWI ในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนที่ควรเก็บรักษาไว้หรือเพิ่มกำลังซื้อของพวกเขาต่อไปได้ ประเด็นสำคัญในรายงานฉบับล่าสุดคือผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการบริโภคของลูกค้าระดับไฮเอนด์ ด้วยคำถามที่ว่า การระบาดครั้งใหญ่นี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริโภคทั่วโลกจากวิถีเดิมหรือไม่ หรือมีบทบาทในการเร่งให้เกิดเทรนด์การบริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ให้กลายมาเป็นกระแสความนิยมหรือไม่ โดยผลการวิจัยของดัชนีไลฟ์สไตล์ ประจำปี 2021 ได้แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของแนวโน้มพื้นฐานหลายประการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อราคาสินค้า และบริการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทียวบิน และห้องพักโรงแรม
จากรายงานพบว่ามีความแตกต่างกันในระดับภูมิภาคต่าง ๆ แต่โดยรวมแล้วราคาสินค้าที่สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของผู้มีความมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.05 โดยทวีปเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีมูลค่าการบริโภคที่ราคาแพงที่สุดในโลกสำหรับกลุ่ม HNWI ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาการบริโภคระดับไฮเอนด์ของภูมิภาคนี้
ข้อมูลของดัชนีดังกล่าวเหมือนกับในปีที่ผ่านมา ยังคงชี้ให้เห็นข้อสรุปที่ชัดเจนทั้ง 2 ข้อเกี่ยวกับผู้บริโภคที่ต้องการรักษาความมั่งคั่ง ข้อแรก คือการลงทุน โดยอัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยอื่น ๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และกฎระเบียบท้องถิ่นต่าง ๆ นั้นมีบทบาทอย่างมากต่ออำนาจการซื้อเพื่อความมั่งคั่งของผู้บริโภค และข้อที่ 2 คือการรับรู้ถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในท้องถิ่นหรืออัตราเงินเฟ้อส่วนบุคคล และปรับใช้กลยุทธ์การวางแผน และการจัดการความมั่งคั่งที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความมั่งคั่งไม่ให้สูญสลายไปตามกาลเวลา
ในรายงานฉบับก่อนหน้า มีการระบุถึงเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือ การเพิ่มขึ้นของการใช้วิจารณญาณในการบริโภค (Conscious Consumption) โดยในปีนี้ แนวโน้มการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสหลักที่ถือเป็นแก่นสำคัญของประเด็นในเกือบทุกภาคส่วน
ประเด็นที่สำคัญจากรายงานฉบับล่าสุด ประกอบด้วย:
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมุ่งมั่น และตระหนักถึงการซื้ออย่างมีจริยธรรม และยั่งยืนมากขึ้น โดยมีหลักฐานมากมายที่พิสูจน์ว่ารูปแบบการบริโภค และความชื่นชอบของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคยเป็นมา ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจกับเทรนด์นี้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และได้กลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน โดยในรายงานตั้งข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยจะฟื้นตัวขึ้นตามสถานการณ์ แต่ความต้องการซื้อสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรม และยั่งยืนก็จะยังคงเติบโตขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะเกิดการผลักดัน และสนับสนุนแนวทางการบริโภคอย่างมีสติมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในการอุปโภคบริโภค การใช้ชีวิต การทำงาน และการลงทุน
แม้ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าระดับไฮเอนด์หรือการใช้บริการระดับพรีเมียม ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในทวีปต่าง ๆ ก็พากันหันมาสนใจทางเลือกที่นำเสนอความใส่ใจมากขึ้น โดยปัจจัยนี้อาจส่งผลให้เกิดการสร้างราคาที่ยุติธรรมยิ่งขึ้นในหมู่ผู้ผลิต
แนวโน้มดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นในพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่ม HNWI ในด้านการจัดการความมั่งคั่ง โดย จูเลียส แบร์ เห็นถึงความพยายามจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการบริหารทรัพย์สินให้มีความมั่นคงสืบต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน และอาจจะเป็นความพยายามในการรักษาความมั่งคั่งโดยรวมให้กับโลกนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนที่มองการณ์ไกล การลงทุนที่สร้างผลกระทบ (Impact Investment) การใช้โซลูชันอย่างยั่งยืน หรือการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคม (Philanthropy) ในฐานะผู้บริหารความมั่งคั่ง จูเลียส แบร์มีบทบาทในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้ด้วยการช่วยเหลือให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจไปสู่ทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างมีความรู้ ความเข้าใจอันถ่องแท้ เกี่ยวกับนัยยะของผลกระทบในวงกว้างจากการลงทุนมากขึ้น
สาระสำคัญจากดัชนีไลฟ์สไตล์ ประจำปี 2021 ของจูเลียส แบร์
ดัชนีไลฟ์สไตล์มีการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของการบริโภคระดับไฮเอนด์ โดยในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการที่ส่งผลดีต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างมาก จากการที่สินค้าใหม่มีแนวโน้มว่าราคาจะถูกลง อย่างไรก็ตาม เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีราคาการบริโภคสินค้าที่แพงที่สุด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตสุขภาพทั่วโลก เสถียรภาพของค่าเงิน และความยืดหยุ่นของราคาในรายการดัชนี โดยปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้ถือเป็นเมืองที่ถูกจัดอันดับว่าแพงที่สุด ตามด้วยโตเกียว และฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับสอง และสามตามลำดับ แต่ในสภาพการณ์โดยรวม มุมไบยังคงเป็นหนึ่งในเมืองที่ความมั่งคั่งสามารถไปได้ไกลที่สุด
ทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีราคาเข้าถึงได้มากที่สุด (Most Affordable) สำหรับการใช้ชีวิตอย่างหรูหราในปีนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาของดอลลาร์สหรัฐฯ และดอลลาร์แคนาดาที่ลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินในละตินอเมริกา เม็กซิโกซิตี้ และแวนคูเวอร์ถือเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพที่เข้าถึงได้มากที่สุดในดัชนี มีเพียงนิวยอร์กเมืองเดียวเท่านั้นที่ยังคงติดอันดับ 10 เมืองที่แพงที่สุด โดยการดูแลสุขภาพในภูมิภาคนี้จะมีราคาแพงที่สุด แต่ด้านเทคโนโลยีส่วนบุคคล (Personal Technology) ยังคงมีราคาไม่แพงเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นที่ตั้งขององค์กรด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก
โจฮันเนสเบิร์กได้กลายมาเป็นเมืองที่ราคาดีที่สุดในการมีไลฟ์สไตล์แบบหรูหรา (Most Well-Priced) ในดัชนีปีนี้ ซึ่งเป็นเมืองในทวีปแอฟริกาเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ และเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่ระดับราคาร่วงลงอย่างมากในปีที่ผ่านมาเนื่องจากค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้อ่อนค่าลงอย่างมาก สำหรับเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ที่ได้ไต่ขึ้นอันดับในดัชนีนั้น เป็นผลสืบเนื่องด้วยแรงหนุนจากค่าเงินยูโร และฟรังก์สวิสฯ ที่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นลอนดอนที่ไม่ได้เลื่อนอันดับขึ้นหรือลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของเงื่อนไขข้อตกลงเบร็กซิท (Brexit)
วิกฤตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2020 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อดัชนีในปีนี้ โดยในภูมิภาคเอเชีย กรุงเทพฯและสิงคโปร์ต่างก็ลดอันดับลง ในขณะที่หลาย ๆ เมืองในยุโรปก็เกิดภาวะการขาดแคลนนักท่องเที่ยวอย่างเป็นปรากฏการณ์เช่นกัน นอกจากนี้ ด้านค่าใช้จ่ายของเที่ยวบินชั้นธุรกิจทั่วโลก ยอดการขายบัตรโดยสารกลายเป็นศูนย์หรือแทบไม่มีเลยในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ส่งผลให้สายการบินต้องเพิ่มราคาค่าโดยสารให้สูงขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุน หรือลดราคาบัตรโดยสารแบบถูกกว่าท้องตลาดเพื่อสร้างความคุ้มค่า และดึงดูดนักเดินทาง ในปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะดำเนินไปอย่างไรท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงที่สถานการณ์และข้อจำกัดต่าง ๆ อาจจะคลี่คลายลง และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้บริโภค และความระมัดระวังรักษาระยะห่างเพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนมากขึ้น อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาวได้
หมวดสินค้าฟุ่มเฟือยที่ราคาตกลงมากที่สุดในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ รองเท้าสำหรับสุภาพสตรี (-11.7%) และห้องสวีทในโรงแรม (-9.3%) ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีกำไรสูงสุดคือเที่ยวบินชั้นธุรกิจ (+ 11.4%) และวิสกี้ (+ 9.9%) การใช้จ่ายเชิงประสบการณ์ (Experiential Spending) เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากรายงานเผยว่าค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารแบบไฟน์ไดน์นิ่ง (Fine Dining) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อเปิดประสบการณ์ด้านอาหารหลังช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การใช้จ่ายแบบ “เชิงประสบการณ์” ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน หลังจากการกักตัว และการได้รับผลกระทบที่จำกัดการใช้ชีวิตจากการล็อกดาวน์หลายครั้งในทั่วโลก ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากการใช้จ่ายสินค้าอย่างรอบคอบไปสู่การจับจ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว จัดงานอีเวนท์ และประสบการณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่น่าจดจำ
นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวปิดท้ายว่า “จากรายงานความมั่งคั่ง และไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021 ที่จัดทำขึ้นโดยจูเลียส แบร์ เราพบว่าการลงทุนคือสิ่งจำเป็น ในช่วงที่ผ่านมานี้ถือว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาไลฟ์สไตล์ที่สะดวกสบาย และความเป็นอยู่ที่ดีนั้นเพิ่มสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดัชนีแสดงให้เห็นว่ามูลค่าสินค้า และบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นผลจากค่าเงินเฟ้อ ความผันผวนของสกุลเงิน ผลกระทบจากกฎระเบียบในท้องถิ่น และอัตราภาษี การรักษาระดับความมั่งคั่งในระดับที่เคยทำมาอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพื่อรักษาระดับความมั่งคั่งนั้นไว้ กลุ่ม HNWI จะต้องมีความเชื่อมั่น และยังคงลงทุนต่อไป การรักษาความมั่งคั่งให้กับคนรุ่นต่อไปจะต้องใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว โดยจะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ได้ด้วยการวางแผนด้านความมั่งคั่งอย่างชาญฉลาดให้กับครอบครัว และสามารถปฏิบัติตามเส้นทางของกลยุทธ์เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะรักษา และส่งต่อความมั่งคั่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่เพียงมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าความมั่งคั่งสูงสุดเท่านั้น แต่เป็นการสร้างค่านิยมด้านความมั่งคั่งแบบใหม่ที่จะสามารถยืนหยัดท้าทายบททดสอบของกาลเวลา และสร้างอิทธิพลในเชิงบวกให้กับโลกนี้ต่อไปได้ โดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ พร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญ โดยมีทีม Expert Advisory ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่มีความรู้ และมีประสบการณ์ ความสามารถด้านการบริหารความมั่งคั่งที่ได้มาตรฐานของจูเลียส แบร์ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาแก่ลูกค้าคนสำคัญเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถประเมินผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งให้กับรุ่นถัดไปได้อย่างยั่งยืน”
ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม และดาวน์โหลดรายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021 “Julius Baer - Global Wealth and Lifestyle Report 2021” ได้ ที่นี่