สสส. – เครือข่ายงดเหล้า เสวนา Online “เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” ชวนคนไทยเที่ยวทิพย์คลายเครียด หยุดคลัสเตอร์เพิ่ม ตัดวงจรระบาด แนะ วิธีพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนรูปแบบใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย วางระบบท่องเที่ยววิถีใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
........................................
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายงดเหล้า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาออนไลน์ “เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” มีเป้าหมายพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ดึง Unseen Thailand เป็นจุดขาย เน้นอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีไทยท้องถิ่น ชวนประชาชนแชร์ประสบการณ์เที่ยวเพื่อต่อยอดเป็นฐานข้อมูลชุมชน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเป็นภารกิจหลักที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ทำงานขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์มาโดยตลอด เห็นได้จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีการทำงานสื่อสารเพื่อให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยง ผ่านการใช้ชีวิตวิถีใหม่ คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง อย่างสม่ำเสมอ สำหรับการจัดเสวนา “เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” วันนี้ มีเป้าหมายสร้างความรู้ความเข้าใจ และรวบรวมประสบการณ์การทำงานเรื่องการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านการท่องเที่ยวในชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำมาถอดบทเรียน พัฒนายกระดับเป็นโมเดลท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ระหว่างที่ประเพณีวัฒนธรรมและเทศกาลท่องเที่ยวไม่สามารถจัดขึ้นได้ในช่วงนี้ เพื่อสร้างเกราะป้องกันในท้องถิ่นหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
“การลดการตั้งวงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดโอกาสติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ในชุมชนได้ การเสวนาในวันนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จะชวนทุกคนตั้งวงคุยทำงานในรูแบบ Online เพื่อรักษาระยะห่างแบบ Social Distancing ทุกภาคส่วนจะร่วมกันแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวในชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมและหยุดวงจรระบาดโควิด-19 ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการไม่ยอมจำนนกับปัญหา และร่วมกันค้นหาแนวทางใหม่พัฒนาศักยภาพชุมชนของตัวเอง ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน สสส.เชื่อว่า การ่วมมือ ร่วมใจ จะเป็นพลังยิ่งใหญ่ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นำพาชุมชนและสังคมฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการวัฒนธรรมสร้างสุข-ท่องเที่ยวปลอดภัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร่วมมือร่วมใจอยู่บ้านในตอนนี้ด้วยการไม่ออกไปไหนตามคำแนะนำของภาครัฐ และบางส่วนเลือกสื่อสารเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านคำว่า “เที่ยวทิพย์” มีทั้งการบอกเล่าภาพหรือกิจกรรมในอดีตที่เคยมีประสบการณ์ท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศ หรือแนะนำวิธีการไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เครือข่ายงดเหล้าเห็นว่า ปรากฏการณ์เที่ยวทิพย์มีประโยชน์และสร้างผลดีต่อบรรยากาศโดยรวมในโลกออนไลน์ สามารถนำมาใช้ต่อยอด เพิ่มคุณค่า และเพิ่มทุนทางสังคมให้กับชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายในประเทศได้จากการรีวิวหรือแชร์ประสบการณ์ของคนที่ออกมาโพสต์
“หากเราพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการออกแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ จะเป็นการสร้างคลังข้อมูลท่องเที่ยวที่มีคุณค่า จนอาจนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเมื่อโควิด-19 ผ่อนคลาย ชุมชนท้องถิ่นอาจสร้างทริปท่องเที่ยววิถีใหม่แบบ New Normal มากมายซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าการรีวิวท่องเที่ยวผ่านคำว่าเที่ยวทิพย์ช่วงนี้ ทำให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง และลดโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง” นางสาวมาลัย กล่าว
นางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ยุคปัจจุบันแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 เราทุกคนยังจำเป็นต้องพัฒนา ส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในภาพรวม ช่วงโควิด-19 อาจทำได้โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยว เช่น การดึงเอาวิถีวัฒนธรรมของชุมชน อาหารการกิน หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในพื้นที่มาสื่อสารให้สังคมได้รู้ และใช้โอกาสนี้พัฒนาจุด Check in รูปแบบใหม่ อาทิ QR Code หรือ Link แสดงข้อมูลท่องเที่ยวแบบละเอียด เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ทดลองทำแอปพลิเคชัน ”มานะมานครฯ” ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ประกอบการ และชุมชนในพื้นที่ โดยแอปพลิเคชันสามารถใช้บนมือถือได้ ในนั้นจะมีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลและเรื่องราวต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ง่าย นอกจากนี้ยังจัดโปรแกรม “เที่ยวทิพย์ ทริปคอนลุง แบบ Slowlife สไตล์โหม๋เรา” ติดตามรายละเอียดได้ทางเพจเฟซบุ๊ก TAT : Nakhon Si Thammarat + Phatthalung
นายกล้ายุทธ ช่างยันต์ บล็อกเกอร์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กลาพักเที่ยว กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเป็น “นักท่องเที่ยวชุมชน” และสร้างเพจเฟซบุ๊กแชร์ประสบการณ์เที่ยว เกิดขึ้นหลังเลือกเส้นทางการทำงานใหม่จากพนักงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัวที่ทำให้มีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวสนใจการท่องเที่ยวชุมชนดั้งเดิมเป็นพิเศษ เพราะได้เห็นอัตลักษณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีเสน่ห์ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง จึงอยากใช้โอกาสนี้แนะนำเทคนิคทำเพจท่องเที่ยวกับประชาชนที่สนใจการรีวิวท่องเที่ยวทิพย์จากรูปภาพที่เคยไปมา ด้วยการเลือกรูปภาพที่มีจุดเด่น แสดงความเป็นตัวเอง 1-4 ภาพ โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเพื่อสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้ที่พบเห็น ส่วนประโยครีวิวให้สะท้อนเรื่องราวการเดินทางด้วยความสุขในแบบฉบับของตัวเอง เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถเป็นบล็อกเกอร์เที่ยวทิพย์ในช่วงโควิด-19 ได้
นางสาวสาวิกา กาญจนมาศ ดารานักแสดง กล่าวว่า มีโอกาสท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ มากมายในช่วงปกติ แต่ในช่วงโควิด-19ไม่สามารถทำได้ การใช้โอกาสนี้รีวิวหรือพูดเรื่องการเที่ยวทิพย์ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ จนค้นพบว่าตัวเองสามารถเป็นจิตอาสาท่องเที่ยวได้ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวชุมชนที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระหว่างการเดินทางเข้าไปเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษกับเด็ก ๆ หลายจังหวัด จึงค้นพบว่าชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกล ไม่มีที่ท่องเที่ยวชื่อดัง กลับมีความโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของไทยซ่อนอยู่ในท้องถิ่นไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปกัน และแน่นอนว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนเผชิญปัญหาชีวิต แต่อยากให้ใช้โอกาสนี้คลายความเครียดด้วยการนำรูปเก่ามาเล่าใหม่ ด้วยการเล่าเรื่องท่องเที่ยวทิพย์ควบคู่กับการวางแผนเที่ยวแบบใหม่อีกครั้งหลังโควิด-19 คลี่คลาย
นอกจากนี้ในงานเสวนาออนไลน์ ยังมีผู้แทนจากพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวต่างๆ ที่ได้ร่วมพูดคุยทางระบบออนไลน์ อาทิ ชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ ชุมชนบ้านหนองส่าน จังหวัดสกลนคร ชุมชนบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ ชุมชนบ้านกระแชง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนบางกะม่า จังหวัดราชบุรี และสมาชิกสมาคมท่องเที่ยว โดยชุมชนภาคใต้ ส่วนใหญ่ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น และใช้โอกาสช่วงโควิด-19 พัฒนารูปแบบการทำงาน นำข้อมูลที่ที่เก็บในชุมชนมาต่อยอดเป็นต้นทุนทางวิถีวัฒนธรรม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย