สสส. ผนึก “นักรบชุดขาว” เครือข่ายวิชาชีพฯ วอนประชาชนลดความเสี่ยงติด-แพร่เชื้อโควิด-19 ชวน ลด ละ เลิก บุหรี่ทุกชนิด ลดปัจจัยเสี่ยง รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์
............................
วันที่ 18 พฤษภาคม รศ.ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทยและเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพและการพยาบาลฯ เล็งเห็นถึงปัจจัยเสี่ยงสำคัญการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะปัจจัยจากยาสูบทุกชนิด คนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจและปอด เมื่อติดโควิด-19 อาการจะรุนแรงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า กลายเป็นผู้ป่วยวิกฤตจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดที่ติดโควิด-19 อาการจะสาหัสมาก เพราะสภาพของปอดที่แย่อยู่แล้ว ปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถนำออกซิเจนจากอากาศเข้าไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
“อยากวอนขอให้นักสูบเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่คนมักเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ทั้งที่จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่แบบมวนและมีสารประกอบที่อันตรายใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้บุคลากรทีมสุขภาพทุกภาคี ทำงานกันอย่างสุดความสามารถ ทำงานต่อเนื่อง 18-20 ชม.ต่อวัน ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมบอกความจริงว่าตนเองมีความเสี่ยงสูงและไม่ได้ถูกกักโรคอย่างถูกต้อง ทำให้บุคลากรที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นไปอีก หากช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการระบาดลงได้ ทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สังสรรค์ จะช่วยลดผู้ป่วยวิกฤต และช่วยให้บุคลากรทีมสุขภาพช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น ใช้อุปกรณ์การช่วยชีวิตได้อย่างเพียงพอต่อผู้ป่วยโควิด-19 และโรคอื่นๆ ได้” รศ.ดร.ผ่องศรี กล่าว
ด้านรศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบ กล่าวว่า บุหรี่เป็นตัวแพร่เชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากควันบุหรี่มือสองที่ปล่อยออกไปในอากาศ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่มีละอองไอน้ำจำนวนมาก บุหรี่ไฟฟ้ายิ่งสูบก็ยิ่งติดเพราะมีปริมาณสารนิโคตินที่สูง ยังคงมีสารที่ก่อมะเร็ง ที่อันตรายคือผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทำให้เมื่อติดโควิด-19 ได้ง่าย และเมื่อติดแล้วจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เพราะอวัยวะภายในอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับโรคได้ และอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อปกป้องสุขภาพของตนเอง และไม่เป็นการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ควรเลิกสูบบุหรี่ทันที การเลิกบุหรี่จะเป็นเกาะกำบังในการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และไม่มีคำว่าสายในการเลิกบุหรี่
รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเภสัชกรจะไม่ใช่หน่วยที่ทำงานในส่วนด่านหน้าของการควบคุมโควิด-19 โดยตรง แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยากต่อการที่ผู้ป่วยจะเข้ามารับการรักษาและรับยาที่โรงพยาบาล เภสัชกรจึงต้องวางแผนหาวิธีจ่ายยาให้ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องขาดยาที่จะต้องใช้รักษาโรคประจำตัวและลดภาระแพทย์ที่จะต้องมาดูแลผู้ป่วยที่อาจจะเกิดอาการกำเริบจากการขาดยาในส่วนนี้ หลายๆ ครั้งได้เห็นบุคลากรทางการแพทย์ออกมาสะท้อนปัญหาการทำงานหนักในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เราทุกคนควรช่วยกันลดเชื้อให้ได้มากที่สุด หากลดจำนวนผู้ป่วยลงได้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จะสามารถดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ การช่วยกันลด ละ เลิก บุหรี่ทุกประเภท ถือเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง ลดภาระแพทย์ เพื่อให้ทุกคนรอดปลอดภัย ห่างไกลจากโควิด-19 ได้
ทนพญ.วรรณิกา มโนรมณ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้นักเทคนิคการแพทย์เรียกได้ว่าเป็น “นักรบในห้องแล็บ” และเป็นหนึ่งในด่านหน้าสำคัญของการควบคุมป้องกันโควิด-19 ต้องเร่งเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก (Swab) และนำส่งมาตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ เพื่อการวินิจฉัยโรคและทันต่อการรักษาในขั้นตอนต่อไป ซึ่งการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 นักเทคนิคการแพทย์จะต้องเข้าเวรหมุนเวียนการทำงานตลอด 24 ชม. และต้องเรียนรู้เพื่อให้มีความชำนาญในการตรวจหาเชื้อ เพื่อการรายงานผลที่แม่นยำ ทันเวลา ต่อการควบคุมโรคและการรักษา รวมถึงการป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ
“คนที่สูบบุหรี่ปอดจะไม่แข็งแรงทำให้เวลาติดเชื้ออาการจะรุนแรง ยิ่งกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นในผู้ที่สูบมาเป็นเวลานานสภาพปอดจะแย่กว่าคนปกติมาก ห่วงว่าปอดจะรับไม่ไหว ขอเตือนนักสูบหน้าเก่าและหน้าใหม่โดยเฉพาะคนที่นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้า ควันและละอองไอของบุหรี่ ประกอบด้วย สารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย และไวรัสของผู้สูบ เมื่อมีการพ่นควันออกไป สารเหล่านั้นจะลอยเป็นระยะทางไกล ดังนั้นหากผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูบบุหรี่และปล่อยควันหรือละอองไอออกมา ก็จะทำให้เชื้อไวรัส แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้เช่นกัน วิกฤตของการระบาดช่วงนี้ ขอให้เลิกบุหรี่เพื่อตัวเราและคนรอบข้าง ไม่ปล่อยควันบุหรี่มือสองแพร่เชื้อให้ผู้อื่น อย่าทำลายสุขภาพตนเอง ลด ละ เลิก เพื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลง ”ทนพญ.วรรณิกา กล่าว