สปสช.ย้ำ จ่ายค่าตรวจรักษาโควิด-19 ตามกติกาในราคาที่ตกลงร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้จ่ายน้อยกว่าที่ควรเป็นหรือจ่ายไม่เต็มแต่อย่างใด ย้ำถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือแพทย์สั่งให้ตรวจ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และถ้าถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินให้ร้องเรียนที่สายด่วน 1330 หรือ 1426
..............................
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวผ่าน Facebook Live เรื่อง “ป่วยโควิด-19 รักษาฟรี แม้ไปเอกชน รพ.ห้ามเรียกเก็บจากผู้ป่วย”เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 โดย นพ.จเด็จ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชนให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆจาก สปสช. โดยไม่ต้องเก็บจากประชาชน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะจ่ายตามรายการต่างๆ 4,000 กว่ารายการ ในอัตราที่มีการตกลงร่วมกันกับโรงพยาบาลเอกชนและผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว หรือหากมีรายการไหนไม่ครอบคลุม สามารถเสนอมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายรายการเพิ่มได้
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาที่มีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากประชาชน พบว่ามี 3-4 สาเหตุ ประกอบด้วย 1.อ้างว่า สปสช.จ่ายเงินช้าทำให้ต้องเรียกเก็บเงินจากประชาชนไว้ก่อน แต่ขณะนี้ สปสช.ปรับรอบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นเป็นทุกๆ 15 วัน ดังนั้นไม่ควรมีการเก็บเงินจากผู้ป่วยด้วยเหตุผลนี้อีก 2.เบิกค่าใช้จ่ายแพงกว่าหรือเกินกว่าอัตราที่มีการตกลงกับ สปสช.ไว้ กรณีนี้ต้องขอให้เก็บตามอัตราที่กำหนด 3.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่มีในประกาศ ประเด็นนี้ทาง สบส.จะพิจารณาขยายรายการจ่ายให้ และเมื่อขยายแล้ว สปสช. จะจ่ายเงินคืนให้ย้อนหลัง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุต้องเก็บจากผู้ป่วย และ 4.โรงพยาบาลตามกติกาไม่ทัน เช่น เกณฑ์คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นระยะๆ จากเดิมที่ต้องแสดงอาการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้แพทย์พิจารณา บางโรงพยาบาลตามกติกาไม่ทัน จึงไม่ตรวจเพราะกลัว สปสช.ไม่จ่ายเงิน
"นี่เป็น 4 สาเหตุที่มีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ตอนนี้แก้ปัญหาหมดแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งให้ข้อมูลทำนองว่า สปสช.จ่ายไม่เต็มจำนวนที่ขอเบิก ขอชี้แจงว่า สปสช.จ่ายตามอัตราที่กำหนดซึ่งเป็นราคาที่ได้มีการตกลงร่วมกันกับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ไม่ได้จ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และจากการตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลเรียกเก็บตามรายการมา 717,282 บาท แต่เก็บในราคาเกินกว่าที่มีการประกาศกำหนด สปสช.ทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลแล้วว่าจะจ่ายตามอัตราที่ตกลงกันไว้ที่ 542,643 บาท ไม่ได้จ่ายน้อยแต่จ่ายตามกติกาและราคาที่มีการตกลงกันไว้ นอกจากนี้พบว่ายังมีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนอกรายการที่กำหนดอีก 174,639 บาท ซึ่งกรณีนี้ต้องแจ้งทาง สบส. พิจารณาขยายรายการและคืนเงินแก่โรงพยาบาลย้อนหลัง
"ต้องย้ำว่าเราจ่ายตามกติกา จ่ายตามราคาที่มีการตกลงกันไว้ ไม่ได้จ่ายต่ำกว่าที่ควรเป็น" นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีการร้องเรียนว่าถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินไปที่ สบส. 74 กรณี ขณะนี้โรงพยาบาลคืนเงินให้หมดแล้ว ส่วนที่ร้องเรียนมาที่ สปสช. ยังค้างในระบบเกือบ 200 กรณี กำลังอยู่ระหว่างการประสานให้โรงพยาบาลคืนเงินแก่ผู้ป่วย ซึ่งหากประชาชนไปตรวจรักษาและได้จ่ายเงินไปแล้ว สามารถร้องเรียนที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือ 1426 ของ สบส. เพื่อประสานขอเงินคืนต่อไป
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน กรณีค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้าผู้ป่วยมีประกันสุขภาพ ให้เรียกเก็บจากประกันก่อน ถ้ามีค่าใช้จ่ายเกินกว่านั้นให้มาเก็บจาก สปสช. โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด สามารถแจ้งมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายเพิ่มเติมแล้วจะคืนเงินให้เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว โดยขณะนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอเพิ่มเติมรายการเข้ามา 6-7 รายการ
นพ.ธเรศ กล่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวชายน้ำหนักตัวสูงเข้าตรวจที่โรงพยาบาลและพบว่าติดเชื้อ ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ใช้เครื่องช่วยหายใจ แล้วโดนโรงพยาบาลแจ้งค่าใช้จ่าย 5 หมื่นบาท กรณีนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆอยู่ในรายการที่ สปสช.จ่าย จึงไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย และเข้าใจว่าการแจ้งค่าใช้จ่ายนั้นเป็นไปตามระบบของโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องแจ้งค่าใช้จ่ายทุก 3-5 วัน ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตัวเองต้องจ่าย ขณะนี้ สบส.กำลังทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนต่างๆว่ากรณีผู้ป่วยโควิด-19 ขอให้ไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้ไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
ทั้งนี้ กรณีที่มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งบอกว่าตรวจรักษาฟรีในบางเครือข่ายเท่านั้น ขอแจ้งว่าประกาศของ สบส. ครอบคลุมโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ใช่เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง แต่เป็นทุกสถานพยาบาลทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. จึงไม่เป็นข้อยกเว้นว่าโรงพยาบาลเครือนี้รับ เครือนี้ไม่รับ แต่อย่างใด