วิจัย สวรส.ชี้ “รับยาที่ร้านยา” ช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อ-ลดเวลารอรับยา-ลดแออัดใน รพ.- เภสัชพร้อมให้บริการในสถานการณ์โควิดระลอกใหม่
.......................................
จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นเร่งด่วน ตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ตั้งแต่ 16 เมษายน 2564 เป็นต้นมา
สาเหตุการระบาดระลอกใหม่นี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความแออัดของการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งนี้ โรงพยาบาล เป็นอีกหนึ่งสถานที่เสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากเป็นจุดรองรับการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและรักษาผู้ติดเชื้อ ขณะที่ยังเป็นสถานที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องเดินทางเข้ารับบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จำเป็นต้องมาพบแพทย์หรือรับยา ซึ่งหากได้รับเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามการดำเนินนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ครั้งที่ 2/2564 (ภายใต้คำสั่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่ 47/2562) มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน ณ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีการนำเสนอผลการวิจัย “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2” ซึ่งได้ทำการศึกษาโครงการให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา ในกลุ่มผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืดหรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ซึ่งได้มีการขยายผลนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของผู้ป่วยทั้ง 4 กลุ่มโรค
ดร.รุ่งนภา คำผาง นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า “ปี 2563 ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ 141 แห่ง จากเป้าหมาย 50 แห่ง ส่วนร้านยาเข้าร่วมโครงการ 1,081 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง เป็นจำนวนเกินกว่าเป้าหมายที่ สปสช. กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โดยวางแผนดำเนินการด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 โรงพยาบาลเป็นผู้จัดยาสำหรับผู้ป่วยรายบุคคลและส่งยาไปที่ร้านยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย รูปแบบที่ 2 โรงพยาบาลนำยาไปสำรองไว้ที่ร้านยา และให้เภสัชกรร้านยาเป็นผู้จัดและจ่ายยาให้ผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ ทั้งสองรูปแบบมีการดำเนินการจริงแล้ว และรูปแบบที่ 3 ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยาสำรองยา จัดและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ แล้วเบิกค่ายาจากโรงพยาบาล ทั้งนี้ในส่วนของรูปแบบที่ 3 ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีข้อจำกัดด้านความแตกต่างของราคายาที่บริษัทจะขายให้โรงพยาบาลและร้านยา องค์การเภสัชกรรมจึงมาช่วยในการจัดหาและจัดซื้อยา โดยรูปแบบที่ 3 นี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะดำเนินการได้จริงเดือนมิถุนายน 2564 โรงพยาบาลสามารถเลือกรูปแบบบริการที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง
จากการเก็บข้อมูลใน 15 โรงพยาบาลจาก 13 เขตสุขภาพ รวมถึงร้านยาที่เป็นเครือข่ายในการดำเนินงานตามรูปแบบที่ 1-2 พบว่าโครงการมีประโยชน์ต่อผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ในด้านช่วยลดระยะเวลาการรอรับยาและเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล เฉลี่ยรวม 58 นาทีต่อผู้ป่วย 1 คน ผู้ป่วยมีเวลาปรึกษาเภสัชกรเพิ่มขึ้น 3 นาที คิดเป็น 42% ลดความแออัดในโรงพยาบาลได้เฉลี่ย 8.5% ต่อโรงพยาบาล และประหยัดต้นทุนการเดินทางของผู้ป่วยได้ 71% เมื่อเทียบกับการรับยาที่ รพ. ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ พบว่าผู้ป่วยพึงพอใจมาก โดยเฉพาะในด้านการใช้เวลารอคอยรับยาไม่นาน ความสะดวกในการเดินทาง และความกะตือรือร้นของเภสัชกรในการให้คำปรึกษา”
ดร.รุ่งนภา อธิบายถึงผลของการให้บริการภายใต้โครงการนำร่องฯ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยใช้เวลารอรับยาที่ร้านยาไม่นาน การเดินทางสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสามารถนัดหมายเวลาไปรับยาได้ นอกจากนั้นเภสัชกรยังมีเวลาในการอธิบายการใช้ยาให้กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการลดความเสี่ยงในการติดโรคระบาดได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งนี้ การศึกษายังพบด้วยว่า หากแพทย์เป็นผู้แนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ ผู้ป่วยมีแนวโน้มตอบรับเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น
ดร.รุ่งนภา กล่าวด้วยว่า ในประเด็นที่ผู้ป่วยไม่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า ผู้ป่วยต้องการที่จะพบแพทย์ทุกครั้งเพราะต้องการเข้ารับการตรวจติดตาม บางรายไม่มีร้านยาใกล้บ้านหรือเดินทางไม่สะดวก ผู้ป่วยไม่มั่นใจคุณภาพการให้บริการของร้านยา และบางรายยังไม่ทราบว่าตนเองสามารถเข้าร่วมโครงการได้ สำหรับข้อเสนอในการพัฒนาด้านบริการของโครงการฯ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง และในระดับโรงพยาบาลควรประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ป่วยทราบผ่านในหลายช่องทาง นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการและจะเข้าร่วมโครงการ ต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้กับแพทย์เพื่อให้เห็นความสำคัญของการไปรับยาที่ร้านยา และให้แพทย์มีส่วนร่วมกำหนดกลุ่มเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งเชิญชวนผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ เช่น ประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ป่วยทราบ ในประเด็นการลดระยะเวลารอคอยรับยา ผู้ป่วยได้รับยาเดิมที่เหมือนกับการรับยาที่โรงพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ป่วยมีเวลามากขึ้นในการสอบถามข้อมูลการใช้ยาจากเภสัชกรร้านยา รวมทั้งช่วยลดการมาโรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
ทางด้าน โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการฯ โดย โรงพยาบาลได้ปรับรูปแบบการให้บริการเภสัชกรรมเพื่อมุ่งสู่ New Normal Pharmacy Service ภายใต้แนวคิด “ลด เร่ง สร้าง” ลดการมาโรงพยาบาลเพื่อลดแออัดลดความเสี่ยงโควิด-19 เร่งระบายคือลดระยะเวลาการรอคอย และสร้างรูปแบบบริการใหม่ โดยมีการดำเนินงานพัฒนาระบบจำแนกผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่ระบบการรับยาที่ร้านยา และพัฒนาระบบสารสนเทศเครือข่ายโรงพยาบาล - ร้านยา - สปสช., เพิ่มจำนวนเครือข่ายร้านยาให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภออื่นๆในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้มีการขยายบริการมากกว่า 4 กลุ่มโรคข้างต้น เช่น โรคต้อ โรคต่อมลูกหมากโต และบางโรคตามดุลวินิจฉัยของแพทย์ รวมทั้งมีการจัดยาให้ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถไปรับยาที่ร้านยาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมถึงการจัดบริการส่งยาข้ามอำเภอเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้ป่วยที่ใกล้กับสถานพยาบาลหรือร้านยานั้นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการดังกล่าวมากขึ้น
นอกจากนี้ สวรส. ยังมีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยโครงการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานบริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ในประเทศไทย และการประเมินระบบบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบริการด้านยา โดยเสนอให้กับกระทรวงสาธารณสุขนำไปพิจารณาสนับสนุนการขยายการดำเนินงานของโรงพยาบาลในสังกัดในการพัฒนาควบคู่ไปกับบริการด้าน Telemedicine และการจัดส่งยาทางไปรณษีย์เพิ่มเติมในอนาคตต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- ฐิติมา นวชินกุล (เดียร์) โทร. 02 832 9245 / 081 686 4147 / [email protected]
- ศุภฑิต สนธินุช (ดิษ) โทร. 02 832 9246 / 089 050 1165 / [email protected]