สำรวจพบ ผู้สูงอายุ ช่วงอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 96.9 ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระลูกหลาน ต้อนรับวันผู้สูงอายุแห่งชาติ สสส. – สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ ชวน คนรุ่นใหม่ สานสัมพันธ์ ลดปัญหาครอบครัว แนะ ตรวจสุขภาพทุกปี ลดเสี่ยงโรคเรื้อรัง ซึมเศร้า สร้างสังคมสูงวัยสุขภาวะดี
........................................
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน สสส. มีเป้าหมายขับเคลื่อนงานสุขภาวะเพื่อสังคมสูงวัย 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2565 และจะเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ประมาณปี 2576 จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2562 พบ ผู้สูงอายุ 60-69 ปี ร้อยละ 96.9 ซึ่งส่วนใหญ่มีศักยภาพดูแลตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น และมีผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น ที่มีความเสื่อมถอยของร่างกายมากขึ้น มีความจำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น เพราะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงมีภาวะติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ สสส. มีแนวคิดปรับมุมมองคนรุ่นใหม่ ให้เข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย มีเป้าหมายเพื่อ “เปลี่ยนภาระเป็นพลัง” สร้างสังคมสูงวัยสุขภาวะที่ดีรอบด้านทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม
“ประเทศไทยมีแผนรองรับสังคมสูงอายุที่ดีติดอันดับโลก แต่ยังพบปัญหาคนรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุมีช่องว่างระหว่างวัย ที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้คนทั้ง 2 วัยได้ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวและสังคม เช่น การสร้างสรรค์วงดนตรีผู้สูงอายุ ธนาคารเวลาสำหรับดูแลผู้สูงอายุ และพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ต่างๆ เพื่อคนวัยเกษียณ ให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อปรับทัศนคติให้คนต่างวัยมองเห็นคุณค่ากันและกัน” นางภรณี กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้สูงอายุในไทยร้อยละ 95 มีปัญหาสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงวัยทำงาน มีผู้สูงอายุเกินครึ่งที่ไม่ได้รับการคัดกรองสุขภาพประจำปี เพราะอยู่ลำพังคนเดียว อยู่ลำพังกับคู่สมรส และมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ ได้ทำงานเชิงรุก สร้างเสริมความเข้าใจให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดตอนปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ภาวะความจำบกพร่อง หรือสมองเสื่อม และลดจำนวนผู้ป่วยสูงอายุติดเตียงได้ เพื่อทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ผู้สูงอายุ 100% สามารถดูแลและเห็นคุณค่าของตัวเองได้
“นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปี สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องทำ คือ รู้เท่าทันร่างกายและหัวใจของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพและป้องกันภาวะโรคซึมเศร้า แต่ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกาย นอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ทานอาหารวันละ 2 มื้อ เน้นผัก-ผลไม้ และหากิจกรรมทำร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน สำหรับ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ปีนี้ ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ประเทศไทยจะมีการเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดอีกทางสำหรับผู้สูงอายุ คือ ควรเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่คนพลุกพล่าน หากต้องเดินทางออกนอกบ้านต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง รวมถึงงดการพบปะกับคนนอกครอบครัวในช่วงวันสงกรานต์นี้ อยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันสร้างสังคมสูงวัยที่ดีด้วยกัน ” ศ.เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ กล่าว