สอวช. ร่วมกับ Thai SCP Network ลงนามความร่วมมือพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสร้างความยั่งยืน โดยมี สอวช. เป็นกลไกสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย
.........................................
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network เนื่องจากได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในด้านการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ รวมถึงการศึกษาแนวทางการจัดกิจกรรม หรือการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่ทำงานด้านที่เกี่ยวข้องได้มาใช้บริการ จึงได้ร่วมมือกับ สมาคมส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนพบปะพูดคุย และลงนามทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญมากทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สำหรับประเทศไทยเป้าหมายคือการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง สอวช. พยายามเชื่อมโยงแนวปฏิบัติและการดำเนินงานในประเทศให้สอดคล้องไปกับแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงต้องทุ่มเทและลงแรงเพื่อการไปสู่เป้าหมาย อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญคือด้านกลไกตลาดที่ยังมีหลายส่วนไม่เอื้อต่อการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น กระบวนการผลิตสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ยังมีต้นทุนสูง และต้องแข่งขันกับสินค้าทั่วไปในตลาดที่ทำได้ง่ายและมีราคาถูกกว่า การนำการวิจัยและพัฒนาเข้ามาเสริมจึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้
“ในปีที่ผ่านมา สอวช. ทำการศึกษาและพบว่าการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างความยั่งยืนนั้นต้องทำแบบ Duo-Tract คือการจัดการปัญหาขยะเดิมที่มีอยู่แล้ว และการสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มขึ้นมา เช่น CE Design Platform เป็นช่องทางการสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยต้องมีโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมนำมาใช้ร่วมด้วย การที่ SCP มาร่วมกันช่วยขับเคลื่อน ท้ายที่สุดแล้วคาดว่าจะทำให้ได้รูปแบบธุรกิจ แนวทางการจัดทำแผนธุรกิจระดับองค์กร ที่เน้นการมองผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม (Total Social Benefit) ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรม” ดร.กิติพงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สอวช. และ สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับที่ปรึกษา PACE Business Partners ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดย อ.สิงห์ อินทรชูโต ในการพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยถอดบทเรียนจากหน่วยขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบขององค์การมหาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือเอกชน เพื่อออกแบบหน่วยขับเคลื่อนที่เหมาะสมกับบริบทการดำเนินงานของประเทศไทย การทำงานร่วมกับ SCP จึงต้องร่วมกันคิดหาแนวทางที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนด้านนโยบาย ที่ สอวช. จะสามารถนำไปเป็นโจทย์และเสนอต่อสภานโยบายฯ เพื่อนำไปปฏิบัติจริงทั้งในแง่กฎระเบียบข้อบังคับ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุน
ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา นายกสมาคมส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมฯ ได้เริ่มขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยให้การสนับสนุน สามารถแบ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมสมาคมออกเป็น 11 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรม, ด้านเกษตรกรรม, ด้านท่องเที่ยวและบริการ, ด้านตลาดทุน, ด้านการศึกษาและการวิจัย, ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม, ด้านประชาสังคมและองค์กรเอกชน, ด้านนโยบายและแผน, ด้านการเผยแพร่สร้างความตระหนักและวิถีชีวิต, ด้านการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ และความเชื่อมโยงด้านต่างๆ ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน เช่น การประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการ, ประชุมประจำปี เป็นต้น
“การจะขับเคลื่อนร่วมกันต้องทำให้ง่าย และเกิดประโยชน์ผูกโยงกับเรื่องอื่นๆ เน้นการมองแนวทางที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งสมาคมฯ มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนยังถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ละภาคส่วนอาจมีมุมมองที่ต่างกัน หากจะทำให้เกิดความร่วมมือได้ ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนในบริบทของประเทศไทยว่าจะเริ่มจากจุดไหน จะขยายผลอย่างไร และมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายในส่วนใดบ้าง ต้องศึกษาวางกรอบให้ชัดเจน เพื่อให้จุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศได้ในอนาคต” ดร.วิจารย์ กล่าว
หลังพิธีลงนามความร่วมมือ ยังได้มีการหารือต่อเนื่องถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สอวช. และสมาคมฯ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดย ดร.กิติพงค์ เสนอแนวคิดให้มีการจัดกิจกรรม CE Innovation Policy Forum เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน สร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน และหากมี Forum ประจำปีที่เกี่ยวเนื่องกับ Innovation Policy จะสามารถดึงความร่วมมือจากภาคอุดมศึกษามาช่วยได้อีกทางหนึ่ง อีกส่วนสำคัญคือการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ด้วยการเชื่อมเป้าหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนกับหน่วยงานในสมาคมฯ ทั้ง 11 ด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กร และสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมาคมฯ ไปพร้อมกัน
ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ กรรมการสมาคมฯ เสนอว่า หากจะนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง สามารถนำมาเชื่อมโยงกับหน่วยงานทั้ง 11 ด้านของสมาคมได้ โดยให้แต่ละด้านกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน แนวทางการปฏิบัติในองค์กรหรือหน่วยงานให้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หารือกันว่าจะร่วมขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไร หรือพบข้อติดขัดใดบ้างที่ต้องการการส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มเติม เชื่อมโยงไปสู่การจัด Policy Forum ที่อาจจัดต่อเนื่องทั้งในกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ในการประชุมประจำปี ทำให้เกิดความยั่งยืนในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปเป็นเป้าหมายของหน่วยงาน และได้ผลออกมาเป็น Policy Recommendation ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละด้านของสมาคมฯ ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางนี้ สมาคมฯ จะมีบทบาทเป็นหน่วยงานกลาง ส่วน สอวช.เป็นกลไกการสนับสนุน อำนวยความสะดวก เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ สอวช. ที่ผ่านมาส่งผลให้การดำเนินงานในภาพรวมเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องอาศัยกลไกในการบูรณาการแต่ละภาคส่วนให้มีการทำงานสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ต้องมองหาวิธีที่จะเรียงร้อยแต่ละหน่วยย่อยให้เข้ามารวมเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนของประเทศ หากมีหน่วยงานกลางที่ช่วยในการขับเคลื่อนประสานการทำงาน จะถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ได้
ด้าน ดร.ไชยยศ บุญญากิจ อุปนายกสมาคมฯ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก แต่เมื่อนำมาสื่อสารในแต่ละภาคส่วนอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน การจะขับเคลื่อนในด้านนี้ให้เป็นไปได้ในระยะยาวจึงควรสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยการกำหนดให้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน อีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคประชาชนตื่นตัวคือต้องมีตลาด มีผู้ขายผู้ซื้อที่ชัดเจน โดยอาจมีการจัดทำ Pilot Project เพื่อดึงความสนใจจากประชาชน