คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โชว์ความสำเร็จโครงการความร่วมมือ “ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดระบบน้ำหมุนเวียน” ห้องเรียนสำหรับนิสิตประมงเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เกี่ยวกับระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ปลอดสาร พัฒนาคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์ความต้องการภาคการประมงที่ยั่งยืน
..................................
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โชว์ความสำเร็จโครงการความร่วมมือ “ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดระบบน้ำหมุนเวียน” ห้องเรียนสำหรับนิสิตประมงเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เกี่ยวกับระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ปลอดสาร พัฒนาคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์ความต้องการภาคการประมงที่ยั่งยืน ณ อาคารบุญอินทรัมพรรย์ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะประมง ม.เกษตรฯ กล่าวว่า คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการประมงน้ำจืดให้ทันสมัยตอบโจทย์กระแสการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดระบบน้ำหมุนเวียน” กับซีพีเอฟ เปิดโอกาสนิสิตสาขานี้ได้เรียนรู้ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควบคู่กับมุมมองเชิงธุรกิจ รวมถึงปลูกฝังความใส่ใจและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟโดยตรง และได้ลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงเพิ่มแนวความคิดความเข้าใจในด้านการผลิตสินค้าคุณภาพตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้โครงการฯ ยังเป็นโมเดลในการร่วมมือกับซีพีเอฟในการพัฒนาหลักสูตรเรียนรู้ของนิสิตภาควิชาอื่นๆ ในคณะประมง อีกด้วย
“การเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยมีการพัฒนาการเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ โครงการฯ ช่วยให้นิสิตได้รับการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากองค์กรชั้นนำด้านการเกษตร ช่วยให้นิสิตมีความเข้าใจในการผลิตสินค้าประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยจากการใช้ยาและสารเคมี ไม่เพียงเราจะได้พัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่เข้าใจการผลิตสินค้าสัตว์น้ำสะอาด ปลอดภัย และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของไทยตามหลักสากลและส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจ” ผศ.ดร.เมธี กล่าว
นายวิโรจน์ ยุทธยงค์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือฯ กับ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มดำเนินมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 โดยซีพีเอฟนำองค์ความรู้ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทันสมัย เรียกว่า CARE Aquaculture Model ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่เน้นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางอาหารและการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นระบบที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ต้องมีความรู้ทางการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปต่อยอดในการดำเนินอาชีพของนิสิต ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและมีส่วนช่วยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
"ความสำเร็จของความร่วมมือในครั้งนี้ ซีพีเอฟจะนำโครงการฯ ไปขยายผลต่อกับนิสิตประมงใน ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยจะพัฒนาห้องเรียนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้นิสิตได้เรียนรู้ระบบ CARE Aquaculture Model อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงผลักดันให้นิสิตมีส่วนร่วมกับการพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้ทันสมัยและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น" นายวิโรจน์ กล่าว
ด้าน นายรชต ทองสุวรรณ์ อายุ 21 ปี นิสิตภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์ ชั้นปีที่ 3 คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่มีโครงการฯ นี้ในหลักสูตรถือเป็นประโยชน์กับนิสิตอย่างมาก เพราะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริงควบคู่กัน รวมถึงฝึกทักษะหลายๆ ด้าน อาทิ ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่เพียงแค่เพื่อนร่วมภาควิชาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาควิชาอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากตรงนี้ อนาคตจะนำไปประยุกต์กับธุรกิจของที่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้การเลี้ยงปลาน้ำจืดดีขึ้น มีระบบน้ำหมุนเวียนที่ไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และจะส่งต่อข้อมูลไปยังเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจ เพราะเป็นระบบที่จะช่วยให้เกษตรกรรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดี
สำหรับโครงการความร่วมมือ “ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดระบบน้ำหมุนเวียน” ซีพีเอฟได้นำระบบการเลี้ยง ที่เรียกว่า CARE Aquaculture Model หรือ CARE เป็นกระบวนการผลิตที่ใช้ระบบน้ำหมุนเวียนที่มีการบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ทำให้ประหยัดการใช้น้ำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังออกแบบฟาร์มให้ประหยัดพลังงาน โดยนำหลักการ Gravity Flow มาใช้ ลดการใช้ยาและสารเคมี ที่สำคัญยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ประกอบกับในอนาคตจะมีการใช้พลังงานโซล่าเซลส์มาร่วมในออกแบบฟาร์ม มีการบริการจัดการง่ายโดยการนำระบบอัติโนมัติต่างๆ มาใช้ อาทิ การเปิด-ปิดเครื่องให้อาหารและเครื่องให้อากาศได้จากทางโทรศัพท์ เหมาะกับเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะมาช่วยพัฒนาและยกระดับธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำภายในประเทศ