ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในหลายประเทศรวมถึงไทย ได้ย้ายแหล่งการซื้อขายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC
.........................
เนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี องค์กรไวล์ดเอดเผยแพร่สื่อรณรงค์ทางโซเชียล มีเดียชุดใหม่ ชวนทุกคนต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ และทุกรูปแบบ ด้วยการไม่ซื้อ ไม่ใช้ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อพบเห็นการค้าและการครอบครองสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมถึงการปฏิเสธการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนอย่างเมนูฉลาม
สื่อรณรรงค์ชุดใหม่ทั้ง 5 ภาพ สร้างสรรค์โดย บริษัท BBDO Bangkok เอเจนซี่โฆษณาระดับแนวหน้าของไทยให้กับองค์กรไวลด์เอด
โดยได้หยิบยกสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่มักถูกลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมาย อย่าง ช้างแอฟริกา เสือโคร่ง แรด และนกชนหินมานำเสนอ รวมถึง ฉลาม สัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศซึ่งถูกล่าเพื่อการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน พร้อมกับนำอีโมติคอน หรือ สัญลักษณ์แทนอารมณ์โกรธที่ผู้ใช้โซเชียล มีเดียอย่างเฟซบุ้คคุ้นเคยเป็นอย่างดี ใส่ไว้ตรงส่วนที่เป็นที่ต้องการของการค้าสัตว์ป่า สะท้อนให้เห็นว่า การล่าสัตว์ป่าที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้และถูกนำเข้าสู่กระบวนการการค้าอย่างผิดกฎหมายในโลกออนไลน์ หรือทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ควรจะยอมรับให้มีอยู่อีกต่อไป
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในหลายประเทศรวมถึงไทย ได้ย้ายแหล่งการซื้อขายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC พบว่า ในช่วงเวลาเพียง 5 วันของเดือนกรกฎาคมปี 2562 มีการโพสต์จำหน่ายผลิตภัณฑ์งาช้างจำนวน 2,489 ชิ้น ใน 545 โพสต์ ทางโซเชีย มีเดียในประเทศอินโดนิเซีย ไทย และเวียดนาม ส่วนการสำรวจเวบไซต์และช่องทางอี-คอมเมิร์ซของจีนระหว่างปี 2555-2559 พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์งาช้างมากที่สุด (60%) รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์จากนอแรด (20%)
นอกจากนั้น การสำรวจเพื่อประเมินและประมาณขนาดการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊กในไทยขององค์กร TRAFFIC พบการโพสต์ขายผลิตภัณฑ์จากนกชนหิน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมดซึ่งถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562 และด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดกระแสจากองค์กรอนุรักษ์หลายแห่งในไทยกำลังพยายามผลักดันให้นกชนหิน เป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย
“เราหวังว่า สื่อรณรงค์ชุดใหม่จะมีส่วนทำให้สังคมไม่ยอมรับการซื้อขายผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าผิดกฎหมายทางออนไลน์และทุกรูปแบบ รวมถึงการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนอย่างเมนูฉลามมากยิ่งขึ้น เพราะ ‘หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า’ ไวล์ดเอดให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สื่อรณรงค์ที่คำนึงถึงเทรนด์ใหม่ๆ ในสังคม บนพื้นฐานของข้อมูลการค้าและผู้บริโภคเพื่อให้การรณรงค์เกิดประสิทธิผลสูงสุด” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอดกล่าว
สหประชาชาติ ประเมินว่าการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลก มีเม็ดเงินเกี่ยวข้องอยู่ระหว่าง 7,000ล้านเหรียญ ถึง 23,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอาชญากรรมอันดับ 4 ของโลกรองจากการค้าอาวุธ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ เพียงเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อในทวีปเอเชีย โดยการครอบครองและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า สะท้อนถึงฐานะ บารมี และความเชื่อผิดๆ ว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรค แต่จริงๆ แล้วนอกจากจะเสี่ยงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ยังเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่คนจากการที่สัตว์หลายชนิดต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดทั้งๆ ที่ไม่ควรอยู่ด้วยกัน การขนส่ง ความเครียด และปัจจัยอื่นๆ อีกมาก
“บีบีดีโอ กรุงเทพฯ ภูมิใจที่ได้มีส่วนปกป้องสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด เราเป็นกังวลต่อแนวโน้มประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดที่กำลังลดลงต่อเนื่องทั่วโลกและการค้าซากและชิ้นส่วนสัตว์ป่าเหล่านั้น เช่น ผลิตภัณฑ์งาช้าง นอแรด เสือโคร่ง รวมถึงการบริโภคเมนูจากฉลาม เราเชื่อมั่นว่า สื่อรณรงค์ชุดนี้ซึ่งได้เผยความจริงที่น่าเป็นห่วงอย่างตรงไปตรงมา จะหยุดยั้งการซื้อการใช้ และทำให้ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าต้องฉุกคิดกับผลกระทบของตนเอง ที่กำลังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของโลก” นายสมเกียรติ ลาภธนัญชัยวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีบีดีโอ กรุงเทพฯ กล่าว
“ทุกการกระทำของเราทุกคน แม้เพียงเล็กน้อยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง #ReactAgainstWildlifeTrade กดโกรธทุกครั้งให้กับการฆ่าสัตว์ป่าเพื่อการค้าและการบริโภค” นายอนุวรรต นิติภานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ บีบีดีโอ กรุงเทพฯ กล่าว
พบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โทรแจ้ง 1362 เฟซบุ้คเพจ สายด่วน 1362 เฟซบุ้คเพจ ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง และเฟซบุ้คเพจ บก.ปทส.Greencop-Thailand
สื่อรณรงค์ชุดใหม่ จะเผยแพร่ทางโซเชียล มีเดียขององค์กรไวล์ดเอด ในสหรัฐฯ ฮ่องกง และ ไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป