“รมว.ศธ.” ถกผู้รู้ เร่งปรับหลักสูตรด้านประวัติศาสตร์ทั้งการ“เรียน-สอน”ให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมสอดรับแผนยกระดับโรงเรียน “ประถม-มัธยม-อาชีวะ” ที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมไว้ เน้นนำภูมิปัญหาท้องถิ่นเข้ามาเสริมความรู้หนุนเศรษฐกิจทั่วประเทศ และสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
.......................................
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการกระชุมผู้ทรงคุณวุฒิรายวิชาประวัติศาสตร์ว่า วันนี้ (22 ก.พ.) มีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านหลักสูตรประวัติศาสตร์เข้าร่วมประชุมหลายท่าน โดยแต่ละท่านมีประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์หลากหลายแขนง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น ซึ่งบางท่านเคยร่วมทำหลักสูตรกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาก่อนด้วย
สำหรับ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มนี้ ได้นำเสนอแนวทางการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ และสามารถทำให้เกิดการซึมซับในความภาคภูมิใจของความเป็นไทย ซึ่งสอดคล้องและสามารถนำไปผสมผสานกับแผนงานที่กระทรวงศึกษาธิการที่กำลังเตรียมทำไว้ในแผนการบูรณาการการศึกษา ในการจะรวมโรงเรียนเครือข่ายในการสร้างโรงเรียนคุณภาพชุมชน
“ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การนำความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ามาให้ความรู้ แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการเชื่อมต่อในการที่จะบูรณาการการศึกษา แต่เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าในอนาคต มีหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือความสามารถทักษะที่เราจะนำสินค้าท้องถิ่นมาโปรโมท เพื่อให้มีการต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราจำเป็นต้องวางรากฐานให้มีความเข้มแข็งตั้งแต่วันนี้” นายณัฏฐพล กล่าว
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังย้ำด้วยว่า การปรับหลักสูตรนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานด้านหลักสูตร ที่จะต้องนำเอาไปพิจารณาว่า วิธีการจะเป็นอย่างไร และทำให้เกิดการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้จริงอย่างไร หรือวิชาประวัติศาสตร์นั้น จะนำมาปรับในหลักสูตรพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ก็จะต้องนำหลักสูตรไปผสมผสานกับฝ่ายวิชาการของ สพฐ. และฝ่ายคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว โดยจะนำไปผสมผสานกันในศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างไร
สำหรับหลักสูตรด้านประวัติศาสตร์ส่วนนี้ ที่ต้องนำมาผสมผสานกันนั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า สิ่งที่ตนเองต้องการเห็น ก็คือ อยากให้เด็กๆ ได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีเสน่ห์หลายอย่าง มีความหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการสู้รบอย่างเดียว และเป็นสิ่งที่เราต้องทำการประชาสัมพันธ์ หรือโปรโมทอย่างเต็มที่ เพราะเราต้องการที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย
“ดังนั้นอะไรที่จะมีเสน่ห์เท่าประวัติศาสตร์ อย่างเวลาที่เราเดินทางไปประเทศต่างๆ เพราะว่าเราการไปเห็นประวัติศาสตร์ของประเทศเขา หากเราสามารถยกระดับความสวยงามในท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศได้ โดยผ่านกระบวนการการศึกษา ผ่านคนที่มีความรู้ ผ่านนักเรียน และผู้ปกครองที่มีความรู้มากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถต่อยอดให้ประเทศได้เป็นอย่างดี และจะยิ่งดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอีก”
ขณะเดียวกันในส่วนของครู แม้มีความตั้งใจอยู่แล้ว แต่ความมั่นใจ หรือความรอบรู้ในด้านประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน จึงต้องเข้าใจว่าครูในทั่วประเทศกระจายทั่วไปหมด ไม่ใช่ว่าครูอยู่ที่จังหวัดระยองเป็นคนระยอง ดังนั้นความกล้า และความเข้าใจ ในการที่จะนำเสนอด้านประวัติศาสตร์ในจังหวัดนั้นๆ ก็จะมีความเข้มข้นไม่มาก ซึ่งเรื่องนี้จึงต้องมีการบูรณาการกันทั้งระบบ
“ดังนั้นเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากมีการจัดระบบองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัด ส่วนในวิธีการนำเสนอผมมั่นใจว่า ครูสามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่แล้ว”นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวเพิ่มด้วยว่า สำหรับวันนี้ครูเอกสังคม มีองค์ความรู้การผสมผสานในหลายๆ ด้าน แต่ในเบื้องต้นต้องขอให้คณะทำงานด้านหลักสูตรนำเสนอมาก่อน เนื่องจากประวัติศาสตร์ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ และพุทธศาสนา ซึ่งต้องมาดูว่าจะทำการเชื่อมต่อได้อย่างไร
“เด็กที่สนใจ เลข วิทย์ อาจจะไปเป็นวิศวะ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เพื่อสามารถนำรูปแบบต่างๆ ไปออกแบบ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้นจึงต้องรอให้ทีมงานนำเสนอหลักสูตรมาก่อนโดยคำนึงถึงความเหมาะสม”นายณัฏฐพล กล่าว