สปสช. ดึง 24 คลินิกกายภาพบำบัด เข้าร่วมระบบบัตรทอง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค
..................................
สปสช. ดึง “คลินิกกายภาพบำบัด” ร่วมหน่วยบริการบัตรทอง เพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค หลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ และไขสันหลังบาดเจ็บ เผยมี 24 คลินิกกายภาพร่วมนำร่อง ให้บริการแล้วเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) และผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนสู่ภาวะคงที่ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากการเข้ารับบริการทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลและการบริการโดยหน่วยบริการปฐมภูมิ (PCC) แล้ว ในปีนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มทางเลือกการเข้ารับบริการการทำกายภาพบำบัดในชุมชนที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มนี้ โดยเพิ่มการให้บริการที่ “คลินิกกายภาพบำบัด” ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบก่อนหน้านี้
ทั้งนี้คลินิกกายภาพที่เข้าร่วมให้บริการนี้จะต้องเป็นสถานบริการได้มาตรฐาน ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะกำหนดให้ต้องมีนักกายภาพบำบัดปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการอย่างน้อย 1 คน เชื่อมโยงข้อมูลการบริการระหว่างโรงพยาบาลกับคลินิกกายภาพที่รับการส่งต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนงบประมาณที่นำมาสนับสนุนในการจัดบริการนั้น สปสช. จัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ (PHC) ปีงบประมาณ2564 ในส่วนของหมวดการเพิ่มการเข้าถึงบริการโดยหน่วยบริการร่วมให้บริการเพื่อสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ลดความแออัดในโรงพยาบาล จำนวน 10.00 ล้านบาท เบื้องต้นกำหนดเป้าหมายนำร่องคลินิกกายภาพบำบัดในเขตเมืองใหญ่ เขตปริมณฑล และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในพื้นที่ สปสช. เขต 1, 4, 6, 9, 10 และ 13 จำนวน 24 แห่ง
“การดูแลผู้ป่วยบัตรทองนอกจากสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมแล้ว เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงจำเป็นต้องมีหน่วยบริการรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วย โดยคลินิกกายภาพบำบัดจะทำให้ผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการสาธารณสุขที่เป็นการปรับรูปแบบบริการ ลดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะวิถีชีวิตใหม่ (New normal) และสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างสภากายภาพบำบัด หน่วยบริการ และ สปสช. ที่ได้ร่วมกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว