สสส. - เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ พัฒนาหลักสูตร อสต.ออนไลน์ ตัดตอนโควิด-19 ระลอกใหม่เต็มกำลัง ดัน สร้างผู้นำขับเคลื่อนงานสุขภาวะกว่า 2,000 คน ส่งต่อความรู้สุขภาพเชิงรุก ตั้งเป้าแรงงานและผู้ติดตามดูแลตัวเองได้ ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพระยะยาว
...........................................
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า หลักสูตรอบรมแรงงานข้ามชาติ หรือ อสต.ออนไลน์ มีเป้าหมายทำงานเชิงรุกให้คำปรึกษาแรงงานข้ามชาติที่มีปัญหาสุขภาพในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างรวดเร็ว รัดกุม และทำงานได้จริง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพเท่าเทียม ขณะที่สถิติเดือนตุลาคมปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 3 ล้านคน ขึ้นทะเบียนในระบบประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน และคาดว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนประมาณ 5 แสนคน ในจำนวนนี้มีอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติกว่า 4 พันคนเข้ามาเป็นจิตอาสาให้ความรู้ด้านสุขภาพ ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้ตรวจคัดกรองรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการให้ความรู้เรื่อง Covid-19 ด้วย ปีที่ผ่านมาสสส.ได้สนับสนุน มหาวิทยาลัยมหิดลในการสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพ พบว่าแรงงานข้ามชาติมีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพต่ำกว่าคนไทยทุกมิติ โดยพบว่าแรงงานข้ามชาติร้อยละ 77 มีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ขณะที่มีคนไทยร้อยละ 19 มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นความแตกต่างในการเข้าถึงกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพจนนำมาสู่การมีสุขภาวะที่ดีของแรงงานข้ามชาติ
“สสส. พยามเต็มที่ที่จะให้ความรู้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นต่าง ๆ ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อยากให้มั่นใจว่า เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ควรเลือกปฏิบัติ หรือตีตราว่าเขาเป็นคนนำเชื้อเข้ามาสู่เรา เพราะปัจจุบันใครๆก็มีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงถ้าไม่ดูแลตัวเองให้ดี ไม่ควรแยกเขา แยกเรา หรือเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม ขณะที่แรงงานข้ามชาติก็ควรระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ ซึ่งหลักสูตร อสต.ออนไลน์ จะสร้างทักษะ Health literacy คือ ทำให้รู้จักวิธีป้องกันและควบคุมโรคทั้งติดต่อและไม่ติดต่อผ่านชุดข้อมูลความรู้ต่าง ๆ” นางภรณี กล่าว
ผศ.ดร.ดำรงเกียรติ อาจหาญ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในชุมชนคนไทยและเมียนมา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการฯคือ ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติทุกคนมีสุขภาวะที่ดี จนนำไปสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ จ.สมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติถูกตีตราว่าเป็นต้นเหตุติดเชื้อและแพร่เชื้อ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแพลทฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ และโควิด-19 กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั้ง เมียนมา ลาว กัมพูชา ผ่านการจัดทำอินโฟกราฟิก และตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาหลักสูตรอบรม อสต.ออนไลน์ ด้วยการออกแบบการเรียนการสอนลักษณะ V-Shape 6 ข้อ คือ 1.เข้าถึง 2.เข้าใจ 3.โต้ตอบซักถาม 4.ตัดสินใจ 5.เปลี่ยนพฤติกรรม และ 6.บอกต่อ โดยหลักสูตรนี้จะเน้น 8 บทเรียน เช่น การจัดบริการสุขภาพโดยชุมชน การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในชุมชน กฎหมายที่เข้าถึงสิทธิด้านรักษาพยาบาล ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมไม่เกิน 10 ชั่วโมง โดยผู้เข้าเรียนจะต้องทำแบบทดสอบก่อนและหลังเพื่อวัดทักษะ และเมื่อจบคอร์สจะได้ใบประกาศนียบัตรรองรับ ตอนนี้อยู่ในกระบวนการพัฒนาเนื้อหาและแพลทฟอร์มเพื่อทำให้เข้าถึงได้ทุกคน
“ประเทศไทยมีอาสาสมัครสุขภาพแรงงานข้ามชาติประมาณ 4,000 คน เทียบสัดส่วนกับแรงงานข้ามชาติทีมีประมาณ 3 ล้านคนถือว่าน้อยมาก การเสริมศักยภาพด้วยการอบรม อสต.แบบออนไลน์ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น โดยร่วมกับมูลนิธิเยาวชนชนบท และมูลนิธิศุภนิมิต ตั้งเป้าสร้างอาสาสมัครแรงงานข้ามและผู้นำในสถานประกอบการเป็นผู้นำขับเคลื่อนงานสุขภาวะในให้ได้ 2,000 คน ใน 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด ชุมพร ระนอง เพราะยิ่งแรงงานชาติต่าง ๆ เข้ามาร่วมมากเท่าไหร่ เชื่อว่าจะทำให้การป้องกันโรคติดต่อและไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร ส่งผลให้ อสม. ไม่สามารถเข้าถึงแรงงานข้ามชาติได้ด้วยตนเอง ขณะที่รูปแบบการทำงานโครงการฯ แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.การสร้างความรู้ ค้นหาปัญหาในพื้นที่ 2.สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง 3.สร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ให้มีศักยภาพในการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาวะและการป้องกันโรคกับอาสาสมัครฯ 4.สร้างสื่อใช้ภาษาและวิธีการนำเสนอที่แรงงานต่างข้ามชาติเข้าใจ” ผศ.ดร.ดำรงเกียรติ กล่าว