แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ การเพิ่มยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ในสิทธิบัตรทอง ช่วยลดขั้นตอนการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบและช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้กว้างขึ้น ด้านกรมควบคุมโรคตั้งเป้าขยายการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงให้ครบทุกกลุ่ม 100% ทุกจังหวัด
.................................
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ "การตรวจคัดกรองและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หลังจากที่คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติได้มีมติบรรจุยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Direct Acting Antiviral : HCV DAA) ได้ทุกสายพันธุ์เข้ารายการบัญชียาหลักแห่งชาติและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติเห็นชอบเพิ่มยาสูตรดังกล่าวอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไต่อันดับจากอันดับ 10 มาอยู่อันดับ 7 แซงหน้าโรคติดเชื้ออย่างเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย ซึ่งหากไม่มีโควิด-19 เกิดขึ้น โรคไวรัสตับอักเสบน่าจะเป็นปัญหาที่คนตระหนักมากกว่านี้
นพ.พิสิฐ กล่าวต่อไปว่า สำหรับยาเพิ่งได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้ เป็นยาสูตรผสมที่สามารถได้ทุกสายพันธุ์และมีอัตราการรักษาหาย 95% คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยลดความยุ่งยากในการตรวจคัดกรองอย่างมาก โดยไกด์ไลน์การตรวจคัดกรองและรักษาไวรัสตับอักเสบซีฉบับใหม่ จะเริ่มต้นจากการตรวจหา Anti HCV ซึ่งถ้าพบเชื้อ ขั้นต่อไปคือการตรวจปริมาณไวรัสเพื่อดูความรุนแรงของโรคโดยใช้ APRI Score หรือ FIB-4 Score เป็นตัววัด หากมีปริมาณไวรัสมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือมีอาการรุนแรงก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เลย
"ขั้นตอนเหล่านี้ลดความยุ่งยากลงไปเยอะมาก ไม่ต้องทำไฟโบรสแกน ทำให้การรักษาทำได้กว้างขึ้น อายุรแพทย์ก็รักษาได้ หรือถ้าเป็นแพทย์ทั่วไปต้องผ่านการทำงานมา 5 ปีและผ่านการรับรองจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่ถ้าหากในอนาคตมีระบบที่สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ เช่น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่าน Telehealth ก็จะขยายขอบเขตการรักษาได้มากขึ้นไปอีก" นพ.พิสิฐ กล่าว
ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นเรื่องสำคัญมากแต่เงียบหายไปในสังคม เพราะช่วงนี้โควิด-19 กำลังระบาด เชื้อไวรัสนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นมะเร็งตับถึง 90% เป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสตับอักเสบ ซี ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้ในระยะเวลาเพียง 10 ปีและเมื่อแสดงอาการแล้วก็จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
นพ.ปรีชา กล่าวว่า ค่าประมาณการจำนวนคนไทยที่ติดไวรัสตับอักเสบ ซี อยู่ที่ประมาณ 400,000 คน ซึ่งหากมีสัก 20% ที่พัฒนาไปเป็นมะเร็งตับก็จะทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าปีละ 80,000 ราย ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่กรมควบคุมโรคใช้ในการจัดการ ประการแรกต้องรู้สถานะเสียก่อน ปัจจุบันมีกลุ่มเสี่ยงสูง 7-8 กลุ่ม เช่น ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสารเสพติด แต่การคัดกรองยังทำได้เพียงบางกลุ่ม ดังนั้นในขั้นแรกจะต้องขยายการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงให้ครบทุกกลุ่มให้ได้ 100% ทุกจังหวัด
"ในส่วนของการคัดกรองในกลุ่มประชากรทั่วไป เราจะร่วมมือกับท้องถิ่นดำเนินการตรวจคัดกรองจังหวัดละ 1 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดูว่าในกลุ่มประชากรทั่วไปมีอัตราการติดเชื้อเท่าใด เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 1% ในกลุ่มประชากรทั่วไป เมื่อตรวจคัดกรองพบก็จะได้นำเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายขาดต่อไป
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงแรกของระบบหลักประกันสุขภาพ ใครที่ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ได้แต่รักษาแบบประคับประคองเพราะยาราคาแพงมาก เม็ดละ 30,000 บาท รักษาให้จบคอร์สต้องทานต่อเนื่อง 3 เดือนหรือใช้เงินกว่า 2 ล้านบาท จนกระทั่งปัจจุบันสามารถต่อรองได้จนราคาลดลงเหลือประมาณเม็ดละ 280 บาท รักษาได้ทุกสายพันธุ์ ประสิทธิภาพการรักษามากกว่า 90%
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า แต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละประมาณ 30,000 คน ดังนั้นคนที่เคยตรวจคัดกรองแล้ว เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสารเสพติด ขอให้กลับไปพบแพทย์เพื่อรับสิทธิประโยชน์เรื่องยาที่ สปสช. เพิ่มให้ ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่งรู้ตัวว่ามีเชื้อก็ไปตรวจเพื่อจะได้รับการรักษาโดยเร็ว หรือคนทั่วไปหากมีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาได้เช่นกัน